Skip to main content
sharethis

คนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ลุกขึ้นค้านเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง หลังรู้ข่าวกรมชลฯ ปลุกผีเขื่อน ปัดฝุ่นเตรียมสร้างอีกครั้ง หลังจากเมื่อสิบปีก่อน นั้นชาวบ้านออกมาต้าน จนทางกรมชลประทาน มีหนังสือแจ้งยืนยันว่าจะยุติดำเนินการศึกษาโครงการนี้ไปแล้ว แต่แล้ว จู่ๆ ล่าสุดมีข่าวว่ามีการบรรจุโครงการดังกล่าวเข้าไปไว้ในแผนปีงบประมาณ 2566 นี้ จนทำให้ชาวบ้านโป่งอาง ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน นี้กันอีกครั้งหนึ่ง

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2553 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเข้ามาทำการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สัญญาจ้างเลขที่ จ.46/2553 (กสพ.1) ลงวันที่ 20 กันยายน 2553 วันที่เริ่มปฏิบัติงาน 24 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 รวมระยะเวลา 600 วัน

เบื้องต้น ทางคณะศึกษาฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้เข้ามาจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง 3 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม 2554 ครั้งที่ 2 วันที่ 24 มีนาคม 2554 และครั้งที่ 3 วันที่ 5 เมษายน 2554 ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน นอกจากการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว ทางคณะศึกษาฯยังได้ลงพื้นที่ ณ ที่ตั้งโครงการ ในบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดทำข้อมูลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ระบบนิเวศพื้นที่และสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งในการลงพื้นที่ในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นทางชาวบ้านในชุมชนไม่ได้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ผลกระทบจากการดำเนินการต่างๆ

ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านโป่งอาง ได้ออกมาโต้แย้งกันว่า ที่ผ่านมา การให้ข้อมูลกับชุมชนที่ผ่านมายังมิได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งชุมชนได้ตั้งข้อสังเกตจากกระบวนการศึกษาตามโครงการฯดังกล่าวดังนี้ นั่นคือ (1) การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานตามโครงการ ชุมชนไม่มีโอกาสเข้าถึง รับรู้ข่าวสาร รายละเอียดโครงการฯ ที่เป็นจริง เช่นกรณีการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางคณะศึกษาได้อธิบายในเรื่องการพัฒนาและซ่อมแซมระบบชลประทานเดิมให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงความพยายามในการการสร้าง(เขื่อน)อ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน (2) กระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง เพราะคนในชุมชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทางตรงแต่กลับดึงเอา หน่วยงานราชการ ชุมชนนอกพื้นที่ มาเข้าร่วมกิจกรรมเป็นหลัก (3) ขั้นตอน กระบวนการศึกษามีลักษณะเร่งรัดในการดำเนินการ ขาดความละเอียดของการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

(4) ที่ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนโป่งอาง ดังกล่าว อยู่ห่างจากชุมชนเพียงแค่ 1 กิโลเมตร และมีขนาดโครงสร้างที่ใหญ่ รวมถึงพื้นที่น้ำท่วมอยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ไม้ใช้สอยของคนในชุมชนและซึ่งถือว่าเป็นขุนน้ำสำคัญไหลหล่อเลี้ยงชุมชนผ่านระบบเหมืองฝายของหมู่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา

จากการดำเนินงานของกรมชลประทานและคณะทำงานตามโครงการฯดังกล่าว ชุมชนบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียและได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเห็นว่า การดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ของกรมชลประทานและคณะทำงานฯ เป็นไปในลักษณะที่จะส่งผลต่อการเข้ามาละเมิดสิทธิของชุมชน ฐานทรัพยากรฯที่ชุมชนได้อาศัยเป็นแหล่งอาหาร แหล่งไม้ใช้สอย แหล่งสมุนไพร เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน(กาดชุมชน) ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรม องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่างพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติมาช้านานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ดังนั้น ชาวบ้านบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ซึ่งมีกว่า 100 หลังคาเรือน จึงร่วมกันลงลายมือชื่อคัดค้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับกระบวนการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน

ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้ยืดเยื้อกันมานาน จนกระทั่งมีการล้มเวทีขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 โดยกลุ่มชาวบ้านพี่น้องประชาชนบ้านโป่งอาง ชุมชนลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ลุ่มน้ำแม่คอง เครือข่ายทรัพยากรอำเภอเชียงดาว ปลายน้ำลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน และชุมชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม ประมาณ 500 คน ได้เคลื่อนขบวนไปยังหอประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว เพื่อร่วมกันคัดค้านการดำเนินการจัดเวที ซึ่งการประท้วงเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ชาวบ้านได้เรียกร้องให้ยุติการดำเนินการโดยทันที เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนบ้านโป่งอางและชุมชนใกล้เคียงเป็นอันมาก จนทำให้เวทีดังกล่าวต้องล่ม ยุติไปในที่สุด

“เราไม่ยอมรับ เราขอยุติ เราขอคัดค้านทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่าเรา จะไม่เอาเขื่อน และทางพวกท่านเองจะไม่ต้องเข้ามาในหมู่บ้านของเราอีก โครงการนี้เป็นเรื่องที่สกปรก หมู่บ้านโป่งอางไม่ยอม แม้ว่าตายก็ไม่ยอม จะมีการสู้จนถึงที่สุด เพราะสิ่งที่จะทำนั้นจะเป็นเรื่องของการส่งผลกระทบให้กับพี่น้องบ้านโป่งอาง” บัวเขียว ชุมภู ตัวแทนแม่บ้านโป่งอาง ลุกขึ้นถือไมค์กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ขณะที่ เสาร์ กุละ ตัวแทนชาวบ้านโป่งอางอีกคนหนึ่ง ก็กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบนหรือเขื่อน ท่านเคยมาประชาคมกับชาวบ้านเมื่อไหร่ ชาวบ้านไม่ได้รับรู้เลย ชาวบ้านบางคนไม่รู้เรื่องเลย ว่ากรมชลประทานจะมาสร้างเขื่อนบ้านเรา พวกท่านมาโกหก มาหลอกชาวบ้านทำไม พวกท่านหลอกลวงมาตลอด ท่านเอาคนเฒ่า คนแก่มาถ่ายรูปเพียงไม่กี่คน แล้วรวบรัด แล้วตีความเอาเองว่าชาวบ้านยินยอมแล้วว่าชาวบ้านเห็นดีเห็นงามกับการสร้างเขื่อน แล้วยังบอกว่าได้ผ่านการประชุมกับชาวบ้านสองครั้งแล้ว”

ภาพชาวบ้านต่อต้านไม่เอาเขื่อน ณ เทศบาลตำบลเชียงดาว | แฟ้มภาพประชาไท

“วิธีการกระทำของท่าน สกปรกมาก รู้ไปทั่วประเทศ ก็อายไปทั่วประเทศ ท่านทำแบบนี้ไม่รู้ละอายใจบ้างเลยหรือ แล้วผมขอถามว่าสร้างเขื่อนขึ้นมา ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์อะไร ชาวบ้านไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย มีแต่เสีย กุ้ง หอย ปู ปลา ผัก หน่อไม้ ซึ่งเป็นตลาดย่อยของชาวบ้าน นาไร่ชาวบ้านจะเอาน้ำที่ไหนมาทำไร่ ไถนา เมื่อชาวบ้านไม่ได้ทำนาปลูกข้าวแล้วชาวบ้านจะเอาข้าวที่ไหนมากิน แล้วจะเอาน้ำที่ไหน มาใช้มาบริโภค ขอถามว่าท่านลองมาเป็นชาวบ้านโป่งอางดูสิ แล้วท่านจะมีความรู้สึกเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าชาวบ้านไม่ได้มีความรู้ ไม่มีการศึกษา แต่ชาวบ้านก็มีชีวิตมีจิต มีวิญญาณ มีหัวใจ เหมือนกับท่าน ชาวบ้านโป่งอางก็กินข้าวสุกเหมือนกัน ชาวบ้านโป่งอางไม่ได้กินแกลบ ในเมื่อชาวบ้านไม่เอาเขื่อน ชาวบ้านมาต่อต้าน หวังว่าท่านคงยุติการสำรวจและการศึกษาได้แล้ว” นั่นเป็นคำพูดของตัวแทนชาวบ้านโป่งอางที่พูดออกมาในวันนั้น

ต่อมา ทางกรมชลประทาน ได้มีหนังสือตอบกลับมา อ้างถึง หนังสือที่ กษ 0336/759 ถึง ผู้ใหญ่บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 จากสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มจัดการข้อร้องเรียน ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2555 โดยระบุว่า “กรมชลประทานจึงได้ยุติการศึกษาและแจ้งสถานะและความก้าวหน้าของโครงการให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน เพื่อระงับความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนโครงการกับผู้คัดค้านโครงการในพื้นที่”

ซึ่งทำให้ชาวบ้านโป่งอางรู้สึกเบาใจ เพราะอย่างน้อยทางกรมชลประทานได้ยอมถอย ยุติการศึกษาโครงการนี้ไปแล้ว...

2565 กรมชลฯ ปลุกผีเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน ขึ้นมาอีกครั้ง

หลังจากที่โครงการนี้ ถูกพับเก็บไว้นานนับสิบปี จู่ๆ กลางปี 2565 ที่ผ่านมา ได้เกิดวิกฤติปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงกันหลายพื้นที่ ทำให้ทางกรมชลประทาน หยิบโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเขื่อน มาปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งทางคณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ทราบข่าวว่า ทางกรมชลประทานได้มีการจัดประชุมช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่จะมีการดำเนินการตามแผนปีงบประมาณ 2566 นั้น และพบว่า มีแผนในการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในแผนที่จะเปิดดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 และจะดำเนินการก่อสร้างในระหว่างปี 2570-2572 รวมระยะเวลา 3 ปี

จนทำให้ชาวบ้านโป่งอาง ได้ออกมาลุกขึ้นต้านกันอีกครั้ง โดยมีการติดป้ายไม่เอาเขื่อน บริเวณประตูทางเข้าหมู่บ้าน นอกจากนั้น ยังทำป้ายธงเขียว “บ้านนี้ไม่เอาเขื่อน” ปักติดตามแต่ละหลังคาเรือนด้วย นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ชาวบ้านโป่งอาง ยังได้ทำหนังสือคัดค้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเมืองนะ, นายอำเภอเชียงดาว เพื่อแสดงเจตนารมณ์ ขอยืนยันคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน ตำบลเมืองนะ พร้อมสำเนา แถลงการณ์คัดค้าน และเหตุผลการคัดค้าน รวมทั้งได้ทำหนังสือคัดค้านนี้ไปถึงกรมชลประทานอีกด้วย

ชาวบ้านยื่นหนังสือคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง กับตัวแทนนายอำเภอเชียงดาว และเทศบาลตำบลเมืองนะ

ในหนังสือยื่นคัดค้านนั้น ระบุอีกว่าพี่น้องชาวบ้านโป่งอาง ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงขอแสดงเจตนารมณ์และยืนยันคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน ไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ถึงที่สุด จนกว่าจะมีการยกเลิกโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ตั้งของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนโป่งอาง นั้นอยู่ห่างจากชุมชนไปเพียง 1 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ และจะต้องเกิดพื้นที่น้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำปิง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ป่าชุมชนของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ไปหล่อเลี้ยงชุมชน ผ่านระบบเหมืองฝายของหมู่บ้านโป่งอางและชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ชาวบ้านชี้จุดที่จะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

ชาวบ้านย้ำ เขื่อนสร้างผลเสีย ทำลายป่าต้นน้ำ ทำลายวิถีชุมชน

กัญญารัตน์ คำมั่น ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง กล่าวว่าหมู่บ้านของเรานั้นเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม อาศัยอยู่กันมาช้านานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมาแล้ว เรามีวิถีชีวิตอยู่กับป่า อยู่กันเรียบง่าย ทำไร่ทำนา ปลูกข้าว และเรายังได้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าผืนนี้ไว้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ในป่ายังมีพืชสมุนไพร มีสัตว์ป่า ในลำน้ำเราก็มีสัตว์น้ำหลายชนิดที่หายาก อย่างเช่น อิโอ๋น หรือลูกอ๊อดภูเขา ตัวใหญ่อวบอ้วน ซึ่งมีอยู่แห่งเดียวคือที่ลำน้ำแม่ปิงบริเวณบ้านโป่งอางนี้ เพราะฉะนั้น ชาวบ้านโป่งอางมีความกังวลใจกันว่า ถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตรงนี้จริงๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากให้มันเกิด เพราะเราไม่อยากจะทิ้งพื้นที่ชุมชนตรงนี้ไปที่ไหน ถึงแม้ว่าหมู่บ้านของเราจะเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ แต่ทุกวันนี้เรามีความตั้งใจอนุรักษ์ผืนป่าผืนนี้เอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นผืนป่าผืนสุดท้ายนี้เอาไว้

กัญญารัตน์ คำมั่น ชาวบ้านบ้านโป่งอาง

เช่นเดียวกับ เจริญ จองจาย ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง ก็ออกมาคัดค้านในครั้งนี้ด้วยว่า สาเหตุที่ชาวบ้านได้ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงที่บ้านโป่งอาง นี้ก็เพราะว่า ชาวบ้านมีความกังวลใจว่าถ้ามีการสร้างเขื่อนตรงนี้ จะทำให้ชาวบ้านต้องถูกย้ายอพยพออกไปอยู่ที่อื่น ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ไม่อยากย้ายออกไปที่ใหม่ เพราะไม่คุ้นเคยกับสถานที่แห่งใหม่และไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร เพราะทุกวันนี้ ชาวบ้านโป่งอาง นั้นมีวิถีชีวิตอยู่แบบพึ่งพากับป่า มีความสมดุลกันระหว่างธรรมชาติ ป่ากับชาวบ้าน หากินกันป่ากับแม่น้ำสายนี้มานานเป็นร้อยๆ ปีมาแล้ว

“อีกเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านวิตกกังวลกัน ก็คือ บริเวณจุดสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง อยู่ห่างจากชุมชนประมาณแค่ 1 กิโลเมตรเอง ซึ่งทุกคนกังวลกันว่า ถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อน แนวสันเขื่อนอยู่เหนือหมู่บ้าน แล้วถ้าเกิดแผ่นดินไหว เกิดมันไม่แข็งแรง สันเขื่อนร้าวพังลงมา ชาวบ้านจะอยู่กันยังไง ก็อยู่กันไม่ได้”

เจริญ จองจาย ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง

ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง บอกย้ำว่า ชาวบ้านจึงลงมติกันว่า จะขอคัดค้านไม่ให้กรมชลประทานมาสร้างเขื่อนตรงนี้ และชาวบ้านทุกคนก็จะไม่ยอมย้ายอพยพไปไหน เพราะทุกคนเกิดที่นี่ คุ้นเคยกับที่นี่ อาศัยอยู่กันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาเป็นร้อยๆ ปีมาแล้ว และอยากจะให้ทางกรมชลประทานออกมาชี้แจงให้ชาวบ้านได้เข้าใจว่า ทำไมต้องมาสร้างเขื่อนตรงนี้ และสร้างไปเพื่ออะไรกันแน่ สร้างเขื่อนแล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร ซึ่งจากที่เรารู้มา ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย เพราะครั้งแรกที่เรารู้มาก็คือ จะมีการสร้างเขื่อนนี้เพื่อต้องการผันน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านนั้นไม่ได้อะไรเลย ดังนั้น พวกเราจะยังยืนยันคัดค้านไม่ให้มีการสร้างเขื่อนในพื้นที่บ้านโป่งอางนี้อย่างแน่นอน

เอกสารโครงการอ่างเก็บน้ำตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ของกรมชลประทาน

ทางด้าน นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานพื้นที่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ เปิดเผยว่าเดิมทีโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนโป่งอาง ในปี 2553 นั้น มีขนาดความจุอ่างเก็บน้ำระดับเก็บกักประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างระดับน้ำสูงสุด ประมาณ1,500 ไร่ ตัวเขื่อนสูงประมาณ 62.0 เมตร ยาวประมาณ 500เมตร ล่าสุด ได้มีการปรับโครงสร้างเป็น ขนาดความจุอ่างเก็บน้ำระดับเก็บกักประมาณ 38.64 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างระดับน้ำสูงสุด ประมาณ1,500 ไร่ ตัวเขื่อนสูงประมาณ 58 เมตร ยาวประมาณ 345 เมตร งบประมาณ 410,000,000 บาท

นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานพื้นที่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ

“ซึ่งอาจเป็นเพราะว่างบประมาณมีจำกัด เลยต้องมีการปรับโครงสร้างของตัวเขื่อน แต่ดูระดับความสูงก็ต่างกันไม่มากนัก ก็ยังคงสร้างผลกระทบต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำเช่นเดิม และกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวบ้านโป่งอางเหมือนเดิม ซึ่งสาเหตุที่โครงการนี้ฟื้นกลับมาอีกครั้งคงเป็นเพราะปีนี้ปริมาณน้ำฝนที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่เผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ต่างไปจากเมื่อปี 2548 ทั้งนี้ โครงการฯดังกล่าว ตอนนั้นกรมชลประทานบอกว่า ยุติการศึกษา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยุติการก่อสร้าง โครงการฯดังกล่าวจึงผุดขึ้นมาอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐหลายโครงการเริ่มผุดขึ้นมาเช่นกัน และเป็นช่วงเดือนเดียวกันของปลายปีงบประมาณ 2565 ก่อนที่จะเข้าสู่ปี 2566 ซึ่งจะมีเลือกตั้งทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net