Skip to main content
sharethis

กลุ่ม 'Blood Money Campaign' ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่รณรงค์รัฐบาลและบริษัทต่างๆ ให้หยุดทำธุรกิจกับกองทัพพม่า ตัดแหล่งทุนเผด็จการ 'มินอ่องหล่าย' แถลงเตรียมส่ง จม.ประณาม ปตท.ของไทย-เปิดโปงความสัมพันธ์ด้านธุรกิจกับกองทัพพม่า ผ่านโครงการซื้อก๊าซฯ ในอ่าวเมาะตะมะ

 

30 ต.ค. 2565 เพจเฟซบุ๊ก "Friends against Dictatorship - FAD" ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่ดูประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่า แปลแถลงการณ์ของกลุ่ม "บลัดมันนีแคมเปญ" (Blood Money Campaign) เตรียมเปิดโปงความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง ปตท. กับกองทัพพม่า ผ่านการจ่ายเงินค่าก๊าซที่นำเข้ามาผลิตไฟฟ้าในไทย โดยจะมีการส่งจดหมายถึง ปตท.ก่อนเบื้องต้น เพื่อประณามรายได้ที่ ปตท.จ่ายเงินให้กองทัพพม่า และเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปร่วมกันส่งจดหมายประณาม ปตท.

สำหรับกลุ่ม Blood Money Campaign เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมที่รณรงค์กดดันไม่ให้รัฐบาล หรือบริษัทประเทศต่างๆ ทำธุรกิจกับกองทัพพม่า เพื่อสกัดกั้นแหล่งเงินทุนของกองทัพ ซึ่งเป็นผู้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD เมื่อ 2564 

รายละเอียดแถลงการณ์

ขณะที่กลุ่ม ปตท. บริษัทก๊าซและปิโตรเลียมของไทยร่วมกับ เอ็มโอจีอี (Myanmar Oil and Gas Enterprise - MOGE) อยู่ในอันดับต้นๆ ของรายชื่อบริษัทที่ให้การสนับสนุนกองทัพเป็นหลัก

กองกำลังปฏิวัติและพันธมิตรให้ความสำคัญสูงสุดในการหยุดยั้งกลุ่ม ปตท. ซึ่งสนับสนุนกองทัพเมียนมา และช่วยให้เผด็จการทหารสังหารประชาชนเพื่อบรรเทาความสูญเสีย ความเสียหาย และความทุกข์ทรมานที่ประชาชนเผชิญได้ดีที่สุด

ด้วยเหตุนี้ เราชาวเมียนมาจึงต้องออกมากระชากหน้ากากและเปิดโปงกลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ได้รับรางวัลต้นแบบในระดับสากลด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังคงมีการร้องเรียนเป็น "0" เกี่ยวกับความเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา และเรียกร้องให้ระงับเงินไหลเข้าเผด็จการทหาร

ในขั้นแรกในการเปิดโปงกลุ่ม ปตท.นั้น Blood Money Campaign จะส่งจดหมายเปิดผนึกถึงกลุ่ม ปตท. โดยตรงเพื่อประณามรายได้ที่ตนจ่ายให้กับกองทัพเผด็จการทหารเมียนมา

นอกจากนี้ เรายังขอให้ประชาชนเข้าร่วมการรณรงค์ในครั้งนี้และส่งจดหมายแสดงความปฏิเสธและประณามการกระทำของบริษัท ปตท.ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าของ

บริษัท ปตท.สผ. ซึ่งบริษัท ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถูกวิจารณ์จากนักกิจกรรมพม่าอย่างกว้างขวางว่ากำลังช่วยเหลือด้านเงินทุนกองทัพพม่า นำเงินไปซื้ออาวุธปราบประชาชน และต่ออายุให้เผด็จการทหาร เนื่องจากหลังทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 บรรษัทข้ามชาติจากตะวันตกหลายแห่งทยอยถอนตัวการลงทุนในธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา เนื่องจากข้อกังวลสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพพม่า กลับกัน เมื่อ มี.ค. 2565 ปตท.สผ. กลับเพิ่มสัดส่วนการลงทุน และขึ้นแท่นเป็นผู้จัดการโครงการ 'ยานาดา' ซึ่งเป็นแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ สัดส่วนหุ้นของ ปตท.สผ. ก่อนบริษัทโททาลเอเนอร์ยี่ส์ ถอนตัวจากโครงการยานาดา มีจำนวน 21.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด แต่หลังบริษัทโททาลเอเนอร์ยี่ส์ ถอนตัวแล้ว สัดส่วนหุ้นของ ปตท.สผ. เพิ่มเป็น 37.1 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้น 11.6 เปอร์เซ็นต์ โดย ปตท.สผ.อ้างเหตุผลว่าเพื่อรักษาความมั่นคงและผลกระทบด้านพลังงานในระยะยาวของทั้งไทย และเมียนมา

ข้อมูลจากงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียนปีนี้ (2565) ระบุด้วยว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาในอ่าวเมาะตะมะ 3 โครงการหลัก ได้แก่ ซอติก้า เยตากุน และยาดานา คิดเป็น 14% ของการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ขณะที่ ปตท.สผ.ระบุด้วยว่ามีการนำเข้าก๊าซฯ จากโครงการยานาดา โครงการเดียวคิดเป็นจำนวน 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน ปีนี้ระบุด้วยว่าธุรกิจการส่งออกก๊าซธรรมชาติถือเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับกองทัพพม่า คิดเป็น 33,012 ล้านบาทต่อปี หรือ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา หรือ เอเอพีพี เปิดเผยสถิติระบุว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564 จนถึงวันที่ 28 ต.ค. 2565 มีผู้เสียชีวิตจากเงื้อมมือทหารพม่า อย่างน้อย 2,401 ราย ถูกจับกุมอย่างน้อย 15,986 ราย และยังถูกคุมขัง 12,783 ราย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 'ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ' หรือ UNHCR เปิดสถิติระบุว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564-11 ก.ย. 2565 มีผู้พลัดถิ่นภายในอย่างน้อย 986,500 ราย โดยมีผู้ลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้านแล้ว อย่างน้อย 47,200 ราย ทั้งนี้ จากข้อมูลพบด้วยว่า ผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคสะไกน์ ทางตอนกลางของประเทศพม่า คิดเป็นจำนวน 526,700 คน 

 

 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net