Skip to main content
sharethis

อรรถสิทธิ์ ผู้เสียหายจากการทรมาน ยืนยันไม่ใช่เฟกนิวส์ เสนอให้ ปอท. ยกเลิกความพยายามดำเนินคดี สุณัย ผาสุข ชี้การออกหมายเรียกพยานเป็นการข่มขู่ ปิดปากไม่ให้เปิดเผยเรื่องที่ตนถูกซ้อมทรมาน นักสิทธิฯ ขอสื่อมวลชนและประชาชน ติดตามความคืบหน้าของคดีนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด 

31 ต.ค.2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า ตามที่กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญกรรมทางเทคโนโลยี ได้มีหมายเรียก สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติฮิวแมนไรท์วอทช์ อ้างถึงข้อความที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ว่า  “เถื่อน ซ้อมทรมาน อีกรายที่ สน.ดินแดง อรรถสิทธิถูกตำรวจจับขณะร่วมชุมนุม#ม็อบ29 ตุลาคม 64 แล้วเอาตัวเข้า สอบสวนในโรงพัก โดนต่อย เตะ บีบคอ เอา กระแทก เก้าอี้ ใช้กระบองกระแทกชายโครงและกดคอให้หายใจไม่ออก ส่งทวิตยามเช้า” โดยสุณัย จะเข้าพบกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจตาม หมายเรียกพยานในวันที่ 31 ต.ค. เวลา 13.00 น. นี้ ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อาคารบี ศูนย์ราชการ

อรรถสิทธิ์ นุสสะ ผู้เสียหายจากการทรมานที่ถูกบังคับให้สารภาพ กล่าว ตนรู้สึกว่ากำลังมีความพยายาม ทำให้เรื่องร้องเรียนที่ตนถูกจนท. ตำรวจสน ดินแดง ทำร้ายเป็นเรื่องเท็จให้ได้ เพื่อไม่ให้องค์กรเสื่อมเสีย ทั้งที่ตนได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษตำรวจแล้วด้วยความสุจริต ทั้งที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (กมธ.กฎหมาย) สภาผู้แทนราษฎร สน.ดินแดง กรมสอบสวนคดีพิเศษและกระทรวงยุติธรรม คดีอยู่ในขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวนของ  หน่วยงานรัฐหลาย หน่วยงาน และได้ส่งเรื่องร้องเรียนยูเอ็นแล้ว

ผู้เสียหายจากการทรมานที่ถูกบังคับให้สารภาพ กล่าวด้วยว่า การออกหมายเรียกนักสิทธิมนุษยชนแบบนี้น่าข่มขู่ทางอ้อม และพยายามทำให้เป็นข้อมูลเท็จเจ้าหน้าที่ควรต้องทำงานด้วยความรอบครอบมากกว่านี้ ไม่ใช่ตั้งธงไว้ว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จโดยใช้แหล่งอ้างอิงจากจนท. รัฐฝ่ายเดียว ตนจะไปให้กำลังใจและพร้อมจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทรมานวันนั้น ส่วนคดีของตนนั้นพร้อมจะดำเนินคดีทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย ตามข้อเท็จจริงโดยสุจริต

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24  ต.ค. ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ 120 วันข้างหน้า โดยบททั่วไป มาตรา 5 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือ ความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด  เป็นความผิดอาญาแล้ว แม้กฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถนำมาดำเนินคดีในคดีนี้ได้ ดำเนินคดีตามกฎหมายเดิมได้   ซึ่งเท่ากับว่าเรามีมาตรฐานทางกฎหมายที่สูงขึ้นจะส่งเสริมให้เป็นมาตราการป้องกันไม่ให้เหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังเรียกร้องต่อสื่อมวลชนและประชาชน ให้ติดตามความคืบหน้าของคดีนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด จะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมและดำเนินการทางกฎหมายต่อไปอย่างไร และกฎหมาย พ.ร.บ. ดังกล่าวจะส่งผลให้คดีนี้จะสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้มีการกระทำนอกเหนืออำนาจและเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงดังเช่นนี้ต่อไปหรือไม่

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ข้อมูลเบื้องหลังด้วยว่า

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. อรรถสิทธิ์ นุสสะ ได้เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยและทวงถามความยุติธรรมให้แก่ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าสน.ดินแดงระหว่างที่มีการชุมนุมในบริเวณดังกล่าว โดยระหว่างที่เข้าร่วมกิจกรรมไว้อาลัย อรรถสิทธิ์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง เข้าจับกุมและควบคุมตัวไว้ใน สน.ดินแดง เป็นเวลาหนึ่งคืน และถูกซ้อมทำร้ายร่างกายบังคับให้สารภาพในคืนนั้น จนปรากฏเป็นภาพถ่ายบาดแผลที่อรรถสิทธิ์มีเลือดออกด้านในดวงตา ก่อนที่อรรถสิทธิ์จะได้รับการปล่อยตัวในช่วงบ่ายของวันที่ 30 ต.ค. 64 ต่อมา อรรถสิทธิ์ นุสสะ พร้อมด้วยทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในนามภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ดินแดง และเดินหน้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน รวมถึงดีเอสไอ ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกราย

ในวันเกิดเหตุมีผู้เสียหายจากการทรมานสองรายคืออาลีฟและอรรถสิทธิ์ ทั้งสองได้เข้าให้ข้อมูลพร้อมยื่นหลักฐาน คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (กมธ.กฎหมาย) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 64 ต่อมาวันที่ 17 พ.ย. 2564 ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษและรองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับหนังสือร้องเรียนจากทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อรรถสิทธิ์ นุสสะ และวีรภาพ วงษ์สมาน หรืออาลีฟ กรณี อรรถสิทธิ์ และวีรภาพถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดินแดง ทำร้ายร่างกายบังคับให้สารภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามเรื่องร้องเรียนดังกล่าว  อีกทั้งในวันที่ 10 มี.ค. 65 อรรถสิทธิ์ นุสสะ ผู้เสียหาย พร้อมพยานจำนวน 2 คน ได้แก่ ทนายความที่นายอรรถสิทธิ์อ้างเป็นพยาน และนักข่าวจากสื่อออนไลน์ Side Story ผู้บันทึกภาพเหตุการณ์ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ดินแดงควบคุมตัวและทำร้ายร่างกาย อรรถสิทธิ์ บริเวณหน้าสน.ดินแดงในเกิดเหตุวันที่ 29 ต.ค. 64 ได้เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) ไว้แล้วด้วยเช่นกัน

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 65 ประเทศไทยได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ 120 วันข้างหน้า โดยบททั่วไป มาตรา ๕ ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือ ความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1)       ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม

(2)       ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม

(3)       ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม

(4)       เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net