BRN เผยเอกสารสำคัญ 'ความริเริ่มเบอร์ลิน' กรอบการพูดคุยสันติภาพกับฝ่ายไทย

BRN ปล่อย 2 คลิปและเปิดเอกสารสำคัญอธิบาย 'ความริเริ่มเบอร์ลิน' และ หลักทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ เผยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ หาทางออกจากความขัดแย้งในทางการเมืองที่สอดคล้องกับเจตนาของชุมชนปาตานีภายใต้กรอบรัฐเดียว (unitary state) ของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ เชื่อมั่นหลักกระจายอำนาจและประชาธิปไตยรับรองอัตลักษณ์มลายู-ปาตานี ชี้ความริเริ่มเบอร์ลิน (Berlin Initiative) คือหลักของความจริงใจ ซื่อสัตย์และศักดิ์ศรี เป็นกรอบการพูดคุยที่มีฝ่ายที่สาม ให้ความสำคัญแก่การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย (inclusivity) สร้างกลไกที่ปลอดภัยและมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

31 ต.ค.2565 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ บีอาร์เอ็นได้ปล่อยคลิป YouTube 2 ชิ้นและเอกสาร 4 ฉบับ เพื่อชี้แจงและอธิบายเกี่ยวกับกรอบการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี คลิปแรกมี นิมาตุลเลาะห์ โฆษกคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นเป็นผู้นำเสนอเป็นภาษามลายู แปลเป็นภาษาไทยโดย ฮาร่า ชินทาโร่ นักวิชาการอิสระด้านภาษามลายู ดังนี้

คลิปแรก https://www.youtube.com/watch?v=3aPlq23nNCo

นิมาตุลเลาะห์ ระบุว่า ตั้งแต่การลงนามในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ รัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นได้ดำเนินการเจรจาเป็นเวลา 9 ปีเพื่อสร้างสันติภาพที่แผนดินปาตานี

ตระหนักถึงความจำเป็นของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

“ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คู่กรณีหลักได้ตระหนักถึงความจำเป็นของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เคารพศักดิ์ศรีและเอกภาพของแต่ละฝ่าย บนพื้นฐานของเจตนาที่บันทึกไว้ในความริเริ่มเบอร์ลิน (Berlin Initiative, 16 พฤศจิกายน 2562) และหลักการทั่วไปกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Principles of the Peace Dialogue Process, 31 มีนาคม 2565)”

นิมาตุลเลาะห์ ชี้แจงว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้อง เมื่อเร็วๆ นี้ บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยได้พูดคุยร่างข้อตกลงที่มีประเด็นสำคัญหลายประเด็นเพื่อยุติการสูญเสียชีวิต ซึ่งสามารถนำไปสู่ทางออกทางการเมืองที่มีศักดิ์ศรี

กระจายอำนาจและประชาธิปไตยรับรองอัตลักษณ์มลายู-ปาตานี

“บีอาร์เอ็นเชื่อมั่นว่า ข้อตกลงนี้ต้องมีรูปแบบการปกครองตนเองอย่างมีลักษณะเป็นการกระจายอำนาจและประชาธิปไตย รวมไปถึงการรับรองอัตลักษณ์ของชาวมลายู-ปาตานีซึ่งเป็นประชากรส่วนมากของชุมชนปาตานีที่มีหลากหลายเชื้อชาติและศาสนา นอกจากนี้ พวกเรายังมองว่า จำเป็นต้องมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและการพัฒนาสังคม-เศรษฐกิจ” นิมาตุลเลาะห์ กล่าว

โฆษกคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็น ระบุว่า อย่างไรก็ตาม หลายคนในชุมชนปาตานียังไม่ทราบถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกระบวนการสันติภาพ แต่จะเผยแพร่ข้อมูลและชี้แจงเนื้อหาของเอกสา“หลักการทั่วไปกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” ที่ลงนามเมื่อ 31 มีนาคม 2565 และคำอธิบายเกี่ยวกับเอกสารที่ลงนามเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2562 ที่มีชื่อว่า “การออกแบบกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ความริเริ่มเบอร์ลิน” ในโอกาสต่อไป

ความริเริ่มเบอร์ลิน คือหลักของความจริงใจ ซื่อสัตย์และศักดิ์ศรี

คลิปที่ 2 มาจาก https://www.youtube.com/watch?v=O2r5oy_iyJI เป็นการคำอธิบายเกี่ยวกับเอกสารความริเริ่มเบอร์ลินจากตัวแทนของบีอาร์เอ็น 3 คน คือ นิกมาตุลเลาะห์, เจ๊ะ มูดอ และ อุสตาซอับดุลการิม กาลิบ แปลเป็นภาษาไทยโดย ฮาร่า ชินทาโร่ เช่นกัน มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

ความริเริ่มเบอร์ลิน (Berlin Initiative) เป็นข้อตกลงระหว่างคู่กรณีหลักเพื่อริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่สามารถเป็นที่ยอมรับได้และมีตารางที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งกันอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย พื้นฐานของข้อตกลงดังกล่าวคือหลักการต่าง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกัน ได้แก่ ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและความยุติธรรม

เป็นกรอบการพูดคุยที่มีฝ่ายที่สาม

บีอาร์เอ็น ชี้แจงต่อไปว่า “ความริเริ่มเบอร์ลิน” เป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ในเอกสารชิ้นนี้ได้กำหนดข้อระเบียบสำหรับการไกลเกลี่ยและการอำนวยความสะดวกโดยฝ่ายที่สามที่สามารถดูแลคู่กรณีหลักทั้งสองฝ่ายอย่างเสมอภาค เคารพศักดิ์ศรีและให้เกียรติต่อคู่กรณีหลัก และรับรองการสื่อสารอย่างปลอดภัยระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วย

“เอกสารชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า ตัวละครอื่น ๆ ก็ยังสามารถมีบทบาทในการไกลเกลี่ยได้ และยอมรับการมีส่วนร่วมของฝ่ายที่สามอื่น ๆ ที่ได้รับความไว้วางใจดังเช่นผู้เชี่ยวชาญ (expert) พยาน และผู้รับรอง”

ให้ความสำคัญแก่การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย (inclusivity)

เอกสารความริเริ่มเบอร์ลินนี้ยังยืนยันว่า ฝ่ายรัฐบาลไทยจะรับรองความปลอดภัยของฝ่ายบีอาร์เอ็นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และกำหนดระเบียบในการรักษาความลับ

“ตามความริเริ่มบีอาร์เอ็น ฝ่ายบีอาร์เอ็นให้ความสำคัญแก่การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย (inclusivity) ตามแนวคิดสังคมหลากหลายวัฒนธรรมและหลากหลายเชื้อชาติ”

บีอาร์เอ็นระบุว่า ดังนั้นความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยสันติภาพควรได้รับการเผยแพร่ต่อสังคมทั่วไป ตามจรรยาบรรณสื่อและการสื่อสารที่เคารพศักดิ์ศรีของคู่กรณีหลัก

หลักการทั่วไปกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

ส่วนเอกสาร “หลักการทั่วไปการะบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Principle of the Peace Dialogue Process) ฝ่ายบีอาร์เอ็นเผยแพร่ทาง twitter ชื่อ Jurucakap-BRN (https://twitter.com/jurucakap/status/1586765790325477376) เป็นฉบับภาษาอังกฤษและภาษามลายู แปลเป็นภาษาไทยโดย ฮาร่า ชินทาโร่ เช่นกัน ดังนี้

คณะพูดคุยรัฐบาลไทย (PEDP) กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ตระหนักถึงความจำเป็นของกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย (inclusive) เคารพศักดิ์ศรีและเอกภาพของแต่ละฝ่าย ตามเจตนาที่บันทึกไว้ในฉันทามติทั่วไป (ว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้) กับความริเริ่มเบอร์ลิน ตัวแทนจากรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นได้ตกลงเกี่ยวกับหลักการทั่วไปกระบวนการพูดคุยสันติภาพดังต่อไปนี้

แสวงหาทางออกภายใต้กรอบรัฐเดียวตามรัฐธรรมนูญไทย

1. คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยและแสวงหาทางออกทางการเมืองที่สอดคล้องกับเจตนาของชุมชนปาตานีภายใต้กรอบรัฐเดียว (unitary state) ของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงรูปแบบการปกครอง การรับรองอัตลักษณ์ของชุมชนปาตานี สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและประเด็นเกี่ยวกับกฎหมาย เศรษฐกิจและการพัฒนา การศึกษา วัฒนธรรม และกิจการเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคง

สร้างกลไกที่ปลอดภัยและมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

2. คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะพยายามเพื่อสร้างกลไกที่ปลอดภัยและมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายสำหรับการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ (public consultation) บนพื้นฐานของศักดิ์ศรี ความปลอดภัย เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อสะท้อนความเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติอะไรหรือนับถือศาสนาอะไรก็ตาม ทั้งนี้ ตัวแทนบีอาร์เอ็นที่จะเข้าร่วมการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่จะได้รับการรับรองความปลอดภัยที่เหมาะสม

3. คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะลดการใช้ความรุนแรง และมีการติดตามผ่านกลไกที่ตกลงกัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพและรับรองความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ทุกคน

4.  คู่กรณีทั้งสองฝ่ายพยายามเพื่อพูดคุยรายละเอียดของประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ข้างบน และทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างสันติภาพและนำความเจริญแก่ชุมชนปาตานีที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

ตกลงและลงนาม ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย 31 มีนาคม 2565 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท