Skip to main content
sharethis

จุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง และอดีตรอง ผบ.ตร. เสียชีวิตแล้วในวัย 72 ปี ด้วยอาการปอดติดเชื้อที่ รพ.ศิริราช ก่อนหน้านี้เจ้าตัวเคยถูกดำเนินคดีบุกรุกป่าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.โคราช เมื่อปี’60 และเป็นเหตุให้ถูกถอดยศ ตร. และเรียกคืนเครื่องอิสริยาภรณ์ในเวลาต่อมา

 

1 พ.ย. 2565 หลายสื่อรายงานตรงกันวันนี้ (1 พ.ย.) นายจุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสียชีวิตแล้วในวัย 72 ปี ด้วยอาการปอดติดเชื้อ เมื่อเวลา 00.38 น.ของวันนี้ (1 พ.ย.) ที่โรงพยาบาลศิริราช หลังรักษาตัวมาร่วม 2 เดือน

สำหรับนายจุมพล มั่นหมาย เกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2493 ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นนักเรียนโรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 34, โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 26 รุ่นเดียวกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ศึกษาเพิ่มเติม สาขาพัฒนาบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), หลักสูตรบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 15, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4212

เว็บไซต์ เดลินิวส์ รายงานเพิ่มด้วยว่า แต่แรก จุมพลเริ่มจากรับราชการตำรวจตระเวนชายแดนที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ก่อนได้ย้ายเข้ามาทำงานที่สำนักงานตำรวจนครบาล ตำแหน่งสารวัตรป้องกันการปราบปราม สถานีตำรวจนครบาล บางซื่อ (สวป.สน.บางซื่อ) จากนั้น ย้ายไปอยู่กองบังคับการปราบปราม จนเป็นรองผู้บังคับการปราบปราม (รอง ผบก.ป.) เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี และเลื่อนตำแหน่งสู่ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผู้ช่วย ผบช.ภ.1) ก่อนขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3) ต่อมา จุมพล ย้ายมาดูแลงานด้านการข่าวและปราบราม ด้วยการเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล

จุมพล มั่นหมาย เข้าใกล้เส้นทางการเมืองมากขึ้น หลังได้เป็นรักษาการ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ คนที่ 12 (มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 21 ก.ย. 2549) ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. คณะรัฐประหารนำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน) ที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหาร 11) ที่ปรึกษา (สบ. 10) (ได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาด้านความมั่นคง) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

จุมพล ถือเป็นหนึ่งในแคนดิเดตชิงเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 7 เมื่อปี 2552 ต่อจาก พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คนปัจจุบัน โดยจุมพล ได้รับการเสนอชื่อเคียงคู่กับ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ 

นอกจากนี้ จุมพล ยังได้รับการสนับสนุนจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สมัยนั้นเป็นรองนายกฯ ดูแลด้านความมั่นคง นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกลุ่มเนวิน ชิดชอบ แต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น (พ.ศ. 2551-2554) กลับเลือกเสนอชื่อ ‘ปทีป’ เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนเกษียณอายุราชการ พร้อมกับจุมพล เมื่อปี 2553

จนกระทั่งเมื่อ 23 ก.ย. 2559 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จุมพล มั่นหมาย ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ

อย่างไรก็ตาม เส้นทางของจุมพล สะดุดลง เมื่อ 7 มี.ค. 2560 เมื่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ตัดสินจำคุก จุมพล มั่นหมาย ในความผิดฐานบุกรุกป่า 2 ปี ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โทษจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 6 ปี แต่นายจุมพล รับสารภาพ จึงลดโทษเหลือ 3 ปี และมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่พิพาทออกไป และให้ชดใช้ความเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 892,302 บาท จากกรณีถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งดำเนินคดีบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา

ภาพข่าวของจุมพล (ที่มา: Banrasdr Photo)

วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ถอดยศตำรวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอด พล.ต.อ.จุมพล ออกจากยศตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ

รายละเอียดประกาศ

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ให้ถอดยศตำรวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถอด พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย ออกจากยศตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ไม่เหมาะสมในการเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางไม่ถูกต้อง แสวงหาประโยชน์ให้ตัวเอง ฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ประกอบข้อ 1(4) ของระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุถาภรณ์ช้างเผือก เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา ที่บุคคลดังกล่าวได้รับพระราชทาน ตามข้อ 6 และข้อ 7 (4) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548

สำหรับกำหนดการงานสวดพระอภิธรรมและฌาปนกิจ มีขึ้นที่ศาลา บุพการีอนุสรณ์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน (เข้าทาง ถนน พหลโยธิน ประตู 3 มี พระเจดีย์สีขาวด้านหน้า) 2 พ.ย. 2565 รดน้ำ 16.00 น. สวดพระอภิธรรม 17.30 น. 3-8 พ.ย. 2565 สวดพระอภิธรรม 18.30 น. ฌาปนกิจ 9 พ.ย. 17.00 น. เมรุ 1

หมายเหตุ - เมื่อ 1 พ.ย. 2565 เวลา 16.06 น. มีการเปลี่ยนภาพปก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net