Skip to main content
sharethis
  • การต่อสู้ทางทหารระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่นำไปสู่ความตึงเครียดยิ่งขึ้น จากคำขู่ของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี
  • ขบวนการต่อต้านสงครามในยูเครนในรัสเซียและประเทศตะวันตกยังมีพลังกดดันไม่เพียงพอแต่กำลังพัฒนาการเมืองของภาคประชาชนเพื่อรอดพ้นวิกฤตซ้อนวิกฤต
  • มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปและอเมริกาส่งผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจในยุโรปและเอเชีย จึงต้องผ่อนคลายมาตรการ
  • ทางออกของสงครามต้องเอาชนะรัสเซียหรือต้องเจรจาสันติภาพ

นับจากวันแรกที่กองทัพรัสเซียรุกรานยูเครนก็เข้าสู่เดือนที่ 9 แล้วซึ่งไม่มีทีท่าว่าสงครามจะจบลง แต่อาจรุนแรงขึ้นอีก คำถามคือ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และคนธรรมดาสามารถทำอะไรเพื่อบรรเทาปัญหา

ในช่วง 3 เดือนแรกของสงครามรุกรานยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อดันต้นทุนพลังงานและอาหารโลก จนทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์และส่งผลให้คนจำนวน 71 ล้านคนต้องตกอยู่ในภาวะยากจน หลังจากการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นเวลา 18 เดือนที่ทำให้ผู้คนราว 125 ล้านคนตกอยู่ในภาวะยากจนไปก่อนหน้าแล้ว (VOA Thai 8 ก.ค. 65) แม้รัสเซียจะยอมตกลงกับยูเครนให้ส่งออกธัญพืชที่ตกค้างกว่า 20 ล้านตันในทะเลดำเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนอาหารโลกของคน 40 กว่าล้านเมื่อ 22 ก.ค.65 แต่ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็มีการโจมตีท่าเรือโอเดสซาของยูเครนชายฝั่งทะเลดำซึ่งระบุไว้ในข้อตกลง แต่รัสเซียปฏิเสธการโจมตีดังกล่าว

การรุกรานและความพ่ายแพ้ของรัสเซีย ณ กันยายน 65

แม้รัสเซียจะสามารถรุกคืบล้อมปราบจากทางตะวันออกมาทางใต้ได้ในช่วง 3-4 เดือนแรก แต่จากโพลความคิดเห็นในรัสเซียได้สะท้อนว่า ชาวรัสเซียเริ่มเบื่อหน่ายสงคราม เพราะทหารรัสเซียอย่างน้อย 15,000 นายถูกสังหารใน 11 สัปดาห์ของการสู้รบ มากกว่าที่เสียชีวิตในสงครามในอัฟกานิสถานในทศวรรษ 1980 (เดอะเทเลกราฟ 17 พ.ค. 65) กระทั่งต่อมาเมื่อช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ทหารรัสเซียสูญเสียแนวรบคาร์คิฟให้แก่ยูเครน รวมทั้งเมืองอิซูมและเมืองคูเปียนสก์ (บีบีซี นิวส์ 12 ก.ย. 65)

จากนั้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม สะพานเคิร์ชเชื่อมแคว้นไครเมียกับรัสเซียถูกโจมตี รัสเซียจึงตอบโต้ด้วยการยิงจรวดมิสไซล์เข้าใส่กรุงเคียฟเมืองหลวง และบางเมืองในภาคตะวันตก ภาคกลาง ตะวันออกและใต้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตแล้ว 10 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก จุดนี้คือ ความตึงเครียดที่สูงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปูตินออกมาแถลงทางโทรทัศน์ในวันเดียวกันว่า รัฐบาลเคียฟกับพฤติกรรมของพวกเขาก็ไม่ต่างอะไรจากองค์กรก่อการร้ายระหว่างประเทศที่ชั่วร้ายที่สุด และขู่ว่าจะมีการโจมตีอีกในอนาคต หากยูเครนยังโจมตีดินแดนของรัสเซีย ส่วนทางด้านประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า การโจมตีของรัสเซียเจาะจงช่วงเวลาเพื่อสังหารผู้คน รวมถึงทำลายระบบไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ถูกโจมตีใน 8 แคว้น ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไม่มีไฟฟ้าน้ำประปา หรือแก๊สให้ความร้อน นั่นคือ รัสเซียต้องการทำลายยูเครน และลบประเทศนี้ออกจากพื้นโลก ซึ่งตรงกับความคิดเห็นของ Vladyslav Starodubtsev นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายชาวยูเครน จากองค์กร Sotsyalnyi Rukh ว่า รัสเซียพยายามแก้ตัวหรือหาคำอธิบายต่างๆ เพื่อรุกรานยูเครน รวมถึงการอ้างการขยายตัวขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือข้อโต้แย้งของปูตินที่ว่า ยูเครนไม่มีสิทธิ์ดำรงอยู่ (The Real News Network. 20 ก.ย. 65)

การตอบโต้ของยูเครนและนาโต

แนวร่วมยุติสงครามในสหราชอาณาจักร มองว่า ตั้งแต่เริ่มต้นการรุกราน การตอบสนองของตะวันตกได้เพ่งเล็งไปที่การแก้ปัญหาทางการทหาร ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากการรุกราน กองกำลังของนาโตได้ระดมกำลังทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น เป้าหมายตั้งแต่เริ่มต้นคือชัยชนะทางทหารต่อรัสเซียอย่างเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้กระบวนการเจรจาสันติภาพชะงัก

การป้องกันประเทศของยูเครนได้รับการสนับสนุนอาวุธมูลค่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และพันธมิตรนาโตอื่นๆ สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้กับยูเครนและให้เงินช่วยเหลือทางทหารกว่า 2.5 พันล้านปอนด์ ผลที่ได้คือความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่สงครามตัวแทน (proxy war) และยูเครนกำลังดำเนินกลยุทธ์ใหม่คือ โจมตีเป้าหมายในดินแดนที่รัสเซียยึดครอง ประธานาธิบดีเซเลนสกีกล่าวว่า สงคราม “เริ่มต้นที่ไครเมียและต้องจบลงที่ไครเมีย ซึ่งจะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ” (Shadia Edwards-Dashti 24 ส.ค.65) 

ขณะนี้ รัสเซียยังคงยึดครองพื้นที่ของยูเครนไว้ได้ราว 1 ใน 5 ของพื้นที่ทั้งประเทศคือ ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ได้แก่ ลูฮันสก์ ดอนบาส โดเนตสก์ มาริอูโปล แคร์ซอน ไครเมีย (ยึดครองเมื่อปี 2557) การรุกรานยูเครนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมหลายหมื่นคน มีชาวยูเครนลี้ภัยมากกว่า 13 ล้านคน ซึ่งถือเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุด

ขบวนการต่อต้านสงครามในยูเครน

จะพบว่า มีขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามในยูเครน 4 ขบวนการด้วยกัน คือ

1. ขบวนการต่อต้านสงครามของประชาชนในรัสเซีย เช่น ขบวนการสตรีต่อต้านสงคราม (Feminist Anti-War Resistance-FAR) กลุ่มท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ในไซบีเรีย คอเคซัส ตะวันออกไกล ชุมชนต่อต้านสงครามในออนไลน์นับร้อยชุมชน ตัวอย่างเช่น กิจกรรมของขบวนการเยาวชนเสรีประชาธิปไตย Vesna ซึ่งล่าสุดรัฐบาลระบุว่าเป็นพวกหัวรุนแรง Vesna ได้รณรงค์เปลี่ยนการเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของรัสเซียเป็นการประท้วงต่อต้านสงครามในยูเครน ซึ่งชุมชนออนไลน์ของ Vesna มีสมาชิกมากกว่า 100,000 คน

ที่มาภาพ : เพจ Feminist Anti-War Resistance

อย่างไรก็ตาม ขบวนการยังไม่เข้มแข็งพอที่จะโค่นล้มรัฐบาลปูตินอย่างที่คาดหวัง เพราะเพียง 2-3 สัปดาห์แรกของการประท้วงสงครามก็ลดลง ผู้คนในเมืองใหญ่ใช้ชีวิตปกติและเริ่มชินกับสถานการณ์การถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ  ทว่ามีอุปสรรคการชุมนุมคือ การปราบปราม คุกคามผู้ชุมนุม การดำเนินคดีกับผู้ประท้วง ปิดสื่อต่างๆ ทำให้ขบวนการภาคประชาชนอ่อนแอ จากรายงานของ OVD-Info หน่วยงานตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของรัสเซีย ชาวรัสเซียกว่า 16,000 คนถูกจับกุมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และยังมีกรณีตัดสินจำคุก 7 ปีด้วย (What happened to Russia’s anti-war movement?. ในอัลจาซีรา. 15 ก.ค.65)

ดังนั้น กลุ่มต่อต้านสงครามต่างๆ มองหาวิธีการต่อต้านสงครามใหม่ๆ เพราะการประท้วงบนท้องถนนกับการรณรงค์อย่างสันติถูกปราบปรามและขัดขวางอย่างมาก และสื่อครอบงำสนับสนุนการทำสงครามตลอดเวลา นั่นคือ การต่อต้านอย่างเงียบ ๆ (Stealth resistance) ไปจนถึงการลอบวางเพลิงสำนักงานทะเบียนและเกณฑ์ทหาร โดยมีการปาระเบิดขวดใส่ไปแล้ว 14 ครั้ง หรือกรณีที่ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียถูกปิดกั้นโดยกลุ่ม Stop the Trains เพื่อขัดขวางเสบียงทางการทหารของรัสเซียเมื่อปลายเดือนมิถุนายน

อีกวิธีหนึ่งคือ เปลี่ยนจากการลงถนนมาทำงานสังคมสงเคราะห์ มีองค์กรหลายสิบแห่งที่ผู้คนหลายพันคนทั่วรัสเซียกำลังช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครนโดยจัดหาอาหาร เสื้อผ้า ที่พักพิง  ดูแลสุขภาพ และช่วยเหลือทางการเงิน ด้านกฎหมายและให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาอีกด้วย ที่สำคัญกลุ่มเหล่านี้ช่วยเหลือชาวยูเครนที่ต้องการย้ายออกจากรัสเซียไปยังยุโรป

2.  การหนีเกณฑ์ทหารของชาวรัสเซีย  มีเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร (mo-killization) คือมีชุมชนออนไลน์และโครงการต่างๆ ผุดขึ้นมาช่วยเหลือชาวรัสเซียที่ปฏิเสธเข้าร่วมสงครามและต้องการออกจากประเทศหรือซ่อนตัวจากหน่วยงานภายในประเทศ ความช่วยเหลือที่กลุ่มเหล่านี้เสนอมีตั้งแต่ให้คำแนะนำทางกฎหมายและด้านลอจิสติกส์ ไปจนถึงความช่วยเหลือทางการเงินและจัดหาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยให้แก่ผู้หนีเกณฑ์ทหาร (วอชิงตันโพสต์ 18 ต.ค.65)

กระทั่ง ปูตินประกาศการเกณฑ์ทหารรอบใหม่จำนวน 300,000 นายเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา เพราะทหารรัสเซียเสียชีวิตราวแสนคนแล้ว  แต่ประชาชนไม่ต้องการจึงชุมนุมต่อต้านใน 40 เมือง ถูกจับกุมไปแล้ว 2,000 คน ทั้งยังมีการเผาทำลายสำนักงานเกณฑ์ทหาร และเดินทางออกนอกประเทศเกือบสองแสนคน (Solidarity 14 ต.ค. 65)

3. การต่อต้านรัสเซียของชาวยูเครน  สิ่งที่ชาวยูเครนรวมทั้งฝ่ายซ้ายต้องการคือ สิทธิในการกำหนดอนาคตของตัวเอง (self-determination) และไม่ต้องการที่เป็นเหยื่อของพวกฝ่ายขวาคลั่งชาติ จึงสนับสนุนการต่อต้านรัสเซีย Taras Bilous นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายชาวยูเครนมองว่า การเจรจามักจะมีการกำหนดประเด็นเงื่อนไขว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องยอมจำนน หรือห้ามหยุดยิงชั่วคราว แต่ก็ไม่เคยเกิดสันติภาพอย่างแท้จริงเห็นได้จากกรณีดอนบาส หยุดยิงเป็นเวลา 7 ปีและความขัดแย้งก็ปะทุขึ้นอีก  สำหรับฝ่ายซ้ายจำนวนมากในต่างประเทศมักอภิปรายในมุมมองภูมิรัฐศาสตร์ที่กว้าง แต่จริงๆ ในการประเมินความขัดแย้งนี้ นักสังคมนิยมควรให้ความสนใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อน นั่นคือความเจ็บปวดของชาวยูเครน (Taras Bilous. 6 ส.ค.65)

นอกจากนี้ ฝ่ายซ้ายในยูเครนเห็นด้วยกับการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา เพราะหากมองในแง่ประวัติศาสตร์ สงครามในยูเครนไม่ใช่สงครามตัวแทนเหมือนสงครามเวียดนามที่เป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตและจีนอย่างชัดเจน  และยังมีสงครามปลดปล่อยชาติของชาวเวียดนามจากสหรัฐฯ อีกด้วย เช่นเดียวกับสงครามกลางเมืองระหว่างผู้สนับสนุนเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เกือบทุกสงครามมีหลายชั้นซ้อนกัน  โลกอาจไม่ใช่สงครามตัวแทนเท่านั้นแต่เป็น “โลกหลายขั้ว” (multi-polar world)

Vladyslav Starodubtsev ฝ่ายซ้ายในยูเครน บอกว่า 99% ของคนในสังคม รวมทั้งฝ่ายซ้ายมองตรงกันข้อหนึ่ง คือ ต้องการให้ยูเครนเอาชนะรัสเซีย และสนับสนุนการส่งอาวุธหนักให้ยูเครน การคว่ำบาตรมากขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องของการอยู่รอด เป็นสิทธิในระบอบประชาธิปไตย สิทธิของชาติ และชีวิตที่สงบสุข ไม่ใช่ถูกพวกฟาสซิสต์ที่โหดร้ายยึดครองแบบนี้ การเจรจาประนีประนอมกับรัสเซียจะไม่สามารถหยุดการกระทำอันโหดร้ายของระบอบเผด็จการปูตินได้เพราะเขาจะรุกรานพื้นที่อื่นต่อไป  ซึ่งรัสเซียกระทำกับเชชเนีย จอร์เจียและยึดครองไครเมียมาแล้วก่อนหน้านี้

4. การต่อต้านสงครามในประเทศสมาชิกนาโต เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมในฝรั่งเศสหลายพันคนต่อต้านการสนับสนุนสงครามของประธานาธิบดีมาครงที่ทำให้สงครามยืดเยื้อ จึงเรียกร้องให้นายมาครงถอนตัวออกจากนาโตและลาออก การต่อต้านนาโตของประชาชนในยุโรปเข้มแข็งขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน มีผู้ประท้วงเดินขบวนต่อต้านนาโตก่อนการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ผู้จัดชุมนุม กล่าวว่า พันธมิตรทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ไม่ใช่ทางออกของสงครามในยูเครน และผู้ผลิตอาวุธของสหรัฐฯ ทำกำไรมหาศาลจากสงคราม อีกทั้ง เมื่อเดือนกันยายน ในกรุงปราก ผู้ชุมนุมประมาณ 70,000 คนประท้วงรัฐบาลเช็ก เรียกร้องให้รัฐบาลผสมดำเนินการมากกว่านี้เพื่อควบคุมราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และคัดค้านสหภาพยุโรปและนาโต (Modern Diplomacy 10 ต.ค.65)

เป็นเวลาหลายปีที่รัฐบาลเครมลินได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า หากนาโตยังคงส่งกองกำลังและอาวุธจำนวนมากมายังชายแดนรัสเซียต่อไป จะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากรัสเซีย  แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศที่มีชื่อเสียงของอเมริกาบางคนก็ยังสนับสนุนเหตุผลนี้  วิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการซีไอเอคนปัจจุบัน ได้รับคำเตือนถึงเรื่องการยั่วยุและผลที่จะตามมาจากการขยายอิทธิพลของนาโตในรัสเซียมานานกว่า 20 ปีแล้ว 

ผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

การใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ ยกเลิกการแลกเปลี่ยนกับธนาคารกลางรัสเซีย ทำให้ความต้องการเงินสดในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 58 เท่า และธนาคารกลางของรัสเซียต้องเร่งจ่ายเงินสดออกสู่ท้องตลาด ตลอดจนการย้ายเงินทุนออกนอกประเทศ อีกทั้ง มีการกีดกันการส่งออกสินค้าของรัสเซีย หยุดค้าขายกับรัสเซีย ยกเว้นสินค้าจำเป็น ยกเลิกการเดินทางเข้า-ออกรัสเซีย ห้างร้านแบรนด์ดังหยุดกิจการ มีการถอนการลงทุนและธุรกิจในรัสเซียกว่า 600 แห่ง (ไทยรัฐออนไลน์ 13 พ.ค. 65) เช่น ค่ายรถยนต์ต่างๆ แทบทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจถูกคว่ำบาตร ซึ่งนำมาสู่การหดตัวของรายได้ การผลิต ภาวะเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพงขึ้นในประเทศ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อประชาชนในยุโรปและทวีปอื่นในเวลาต่อมาด้วย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกเลิกซื้อก๊าซจากรัสเซีย ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ส่งผลให้คนนับล้านยากจน เมื่อเกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในทวีปและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เกิดอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลของตัวเอง เช่น ในอังกฤษ ฝรั่งเศส มีคนเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรลดลง อีกทั้ง รัฐบาลฝรั่งเศส เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป กำลังพิจารณามาตรการฉุกเฉินต่างๆ ก่อนฤดูหนาว เช่น ให้ไฟฟ้าดับเป็นเวลาสามชั่วโมงในสหราชอาณาจักร  นอกจากนี้ กลุ่มปัญญาชนชาวฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้ผู้คนเข้าร่วมการประท้วงที่จัดขึ้นโดยฝ่ายซ้ายในกลางเดือนตุลาคม ในขณะที่คนยากจนลง แต่ผลกำไรของบริษัทบางแห่งพุ่งสูงขึ้น และรัฐบาลไม่ยอมขึ้นภาษีกับคนพวกนี้

ตามที่นักวิจารณ์กระแสหลักยอมรับ การเกิดสงครามและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของอัตราเงินเฟ้อทั้งด้านอาหารและเชื้อเพลิง สงครามได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศต่างๆ ในตอนใต้ของโลก รวมถึงอียิปต์ ศรีลังกา และบังคลาเทศ ทั้งกำลังจะสร้างหายนะให้แก่ส่วนอื่น ๆ ของโลกในฤดูหนาวที่จะมาถึง เพราะการส่งออกก๊าซของรัสเซียคิดเป็น 40% ของการบริโภคในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนีพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอย่างมาก จึงมีแนวโน้มว่าจะเกิดไฟฟ้าดับ รวมทั้งในประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วย

กระทั่งเมื่อ 20 ก.ค. สหภาพยุโรปจะปรับแก้มาตรการคว่ำบาตรธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำของรัสเซียบางแห่ง แต่จะมีผลเฉพาะกับธนาคารที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าอาหาร การเกษตร และปุ๋ย เท่านั้น ทั้งนี้ หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้นำในแอฟริกาเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบของการคว่ำบาตรสถาบันการเงินรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารรุนแรง  อีกทั้ง อียูพยายามจำกัดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาค ด้วยการเปิดทางให้รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซียอย่าง รอสเนฟต์และก๊าซพรอม สามารถส่งออกน้ำมันไปประเทศที่สามได้ (กรุงเทพธุรกิจ 24 ก.ค. 65)  อียูจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ใหม่เกี่ยวกับการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรลงโทษรัสเซียไม่ได้ผล พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียและยูเครน เปิดเจรจากันโดยตรงเพื่อหาทางยุติสงคราม

กระนั้น ในสหราชอาณาจักร รัฐบาลสนับสนุนการทำสงคราม และไม่ต้องการให้มีการคัดค้านนาโต แต่การต่อต้านสงครามเกิดขึ้นในหลายประเทศ พร้อมกันที่มีการประท้วงค่าครองชีพสูงขึ้น การเรียกร้องสันติภาพจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนไปด้วย  อีกด้านหนึ่ง เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า แรงงานในประเทศสมาชิกนาโตต้องเตรียมพร้อมที่จะเสียสละเพื่อสนับสนุนสงคราม (Lindsey German. 24 ก.ย.65. A Prolonged War of Attrition – Or Worse – Must Be Averted. ใน Stopwar.org.uk) 

หากจะสรุป ณ จุดนี้ บทเรียนที่ต้องพิจารณาคือ การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่พยายามครอบครองพื้นที่ทางยุทธศาสตร์และเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก และก่อสงครามอย่างที่เคยเป็นมานำไปสู่การต่อต้านของชนชั้นของแรงงาน การต่อสู้กับวิกฤตที่ประชาชนไม่ได้ก่อ ในกรณีประเทศมหาอำนาจ รัสเซียกับนาโตที่นำโดยสหรัฐอเมริกา หากจะประเมินสถานการณ์ดังที่กล่าวมา ยูเครนต้องการเอาชนะรัสเซียในระดับที่พอจะได้เปรียบในการเจรจาสันติภาพกับรัสเซียก็เป็นได้ กระนั้น รัสเซียก็เอาคืนเพื่อกู้หน้า ซึ่งคงไม่ง่ายที่ยูเครนจะเอาชนะ และสงครามก็จะยืดเยื้อ แต่มีตัวแปรสำคัญคือ การต่อต้านของขบวนการภาคประชาชนในยุโรปและเอเชียที่ประสบวิกฤตซ้อนวิกฤต กำลังกดดันให้รัฐบาลของตัวเองถอนตัวจากนาโต เรียกร้องการเจรจากับรัสเซียให้หยุดยิง พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศด้วย อันเป็นภารกิจทางการเมืองที่สำคัญของภาคประชาชน

อ้างอิง

  1. ยูเอ็น ชี้ ภาวะเงินเฟ้อพุ่งจากสงครามยูเครนดันตัวเลขคนยากจนเพิ่มอีก 71 ล้านคน. 8 ก.ค.65. ใน VOA Thai.
  2. เอลซา เมชแมน. 12 ก.ย. 65.  รัสเซีย ยูเครน : ปธน. เซเลนสกี ระบุ ไฟดับในเมืองคาร์คิฟ เกิดจากการโจมตีของรัสเซีย. ใน บีบีซี นิวส์
  3. Russian military recruitment centres hit by spate of arson attacks. 17 พ.ค. 65. ใน เดอะเทเลกราฟ.
  4. One Ukrainian Democratic Socialist’s Opinion on the War. 20 กันยายน 2565. ใน The Real News Network.
  5. Shadia Edwards-Dashti. 24 ส.ค.65. 6 Months into the War in Ukraine We Must Renew Our Call for Peace and Sanity. ใน Stop the War Coalition.
  6. What happened to Russia’s anti-war movement?. 15 ก.ค.65. ใน อัลจาซีรา.
  7. Russia’s antiwar movement goes far beyond street protests. 18 ต.ค.65. ใน วอชิงตันโพสต์
  8. War in Ukraine risks spiralling out of control. 14 ต.ค. 65. ใน Solidarity.
  9. Taras Bilous. 6 ส.ค.65.  I’m a Ukrainian Socialist. Here’s Why I Resist the Russian Invasion. ใน International Viewpoint.
  10. The French call for NATO exit. 10 ต.ค.65 ใน Modern Diplomacy.
  11. Lindsey German.  24 ก.ย.65. A Prolonged War of Attrition – Or Worse – Must Be Averted. ใน Stopwar.org.uk.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net