Skip to main content
sharethis

‘อิรวดี’ สื่อพม่าที่รายงานข่าวสนับสนุนประชาธิปไตยมานานกว่า 30 ปี ถูกเผด็จการทหารสั่งปิดอย่างเป็นทางการแล้ว หลังถูกคุกคามหลายครั้งนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2564 

 

1 พ.ย. 2565 เว็บไซต์สื่อ 'อิรวดี' รายงานเมื่อ 31 ต.ค. 2565 เผด็จการทหารพม่าสั่งปิดสื่ออิรวดี อย่างเป็นทางการ และสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์แล้ว (23-29 ต.ค. 2565) หลังการทำรัฐประหารโดยกองทัพพม่าเมื่อปี 2564 อิรวดี ต้องเผชิญการคุกคามจากกองทัพพม่าด้วยหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีทางกฎหมาย บุก ทำลาย จับกุม และอื่นๆ 

กระทรวงสารสนเทศของเผด็จการทหารพม่าประกาศผ่านทางสื่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเผด็จการได้ทำการเพิกถอนใบอนุญาตสื่อสิ่งพิมพ์ของอิรวดี ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2565 และกล่าวหาว่าสื่ออิรวดี สร้างความเสียหายต่อ "ความมั่นคงของรัฐ" และ "ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง" ผ่านงานข่าวของพวกเขา

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่กองทัพพม่ายึดอำนาจเมื่อเดือน ก.พ. 2564 สื่ออิรวดี ถือเป็นองค์กรสื่อแนวหน้าในการรายงานข่าวความโหดร้ายของกองทัพพม่าที่กระทำต่อผู้ต่อต้านการทำรัฐประหาร เช่น การวิสามัญฆาตกรรม การจับกุมโดยพลการ การโจมตีทางอากาศใส่พลเรือน เผาทำลายบ้านเรือนประชาชน และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเป็นสื่อที่ทำการเปิดโปงเครือข่ายนักธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพพม่าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

เมื่อ มี.ค. 2564 กองทัพพม่าเคยดำเนินคดีอิรวดี ด้วยกฎหมายมาตรา 505 (a) โดยอ้างว่า "เพิกเฉยต่อ" กองทัพพม่าในการรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนั้น ตำรวจดำเนินคดีนี้ต่อสื่ออิรวดีในฐานะองค์กรโดยรวมทั้งหมด และไม่ได้ฟ้องร้องคนทำงานอิรวดีเป็นรายบุคคล ทำให้อิรวดีกลายเป็นสื่อแห่งแรกที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแบบทั้งองค์กรจากเผด็จการทหารพม่าหลังจากที่มีการรัฐประหารครั้งล่าสุด

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่กองกำลังความมั่นคงบุกทลายสำนักงานอิรวดีในนครย่างกุ้ง เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในปี 2564 จำนวน 2 ครั้ง ไม่มีใครถูกจับกุมจากการบุกรุก เนื่องจากอิรวดีหยุดทำงานภายในประเทศพม่าแล้วหลังจากที่มีการรัฐประหาร

หลายสัปดาห์ก่อนที่จะมีการสั่งปิดสื่ออิรวดีลงอย่างเป็นทางการ เผด็จการพม่าได้จับกุม อูต่องวิน ผู้ตีพิมพ์เผยแพร่สื่ออิรวดี ซึ่งในปัจจุบันเขายังคงอยู่ในที่คุมขัง มีอดีตช่างภาพข่าวที่เคยทำงานให้อิรวดีชื่อ ‘ซอซอ’ ถูกตัดสินให้ต้องรับโทษจำคุก 3 ปี จากข้อกล่าาหาเรื่องยุยงปลุกปั่นเมื่อเดือน ส.ค. 2565 มีคณะทำงานรายหนึ่งของอิรวดีถูกคุมขังชั่วคราวในช่วงต้นปีนี้ และเมื่อไม่นานนี้ก็มีการบุกทลายบ้านของกองบรรณาธิการอีกคนหนึ่ง

สื่ออิระวดี ก่อตั้งขึ้นในไทยเมื่อปี 2536 เป็นสื่อที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบเผด็จการทหารในพม่าจากการที่พวกเขารายงานข่าวเชิงส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพสื่อ และสิทธิมนุษยชนในพม่า เมื่อมีการเปิดประเทศ อิรวดีจึงย้ายสำนักงานใหญ่เข้าไปในพม่าเมื่อปี 2555 เพื่อรายงานข่าวสถานการณ์ในพม่าจนถึงการทำรัฐประหารปี 2564

การปิดสื่อออิรวดีอย่างเป็นทางการครั้งนี้เกิดขึ้นหลังเผด็จการทหารพม่าได้ประกาศเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาว่า พวกเขาจะดำเนินการทางกฎหมายต่ออิรวดีโดยอาศัยกฎหมายการสื่อสาร, กฎหมายสื่อสารมวลชน และอื่นๆ จากการที่อิระวดีรายงานข่าวกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดฉากยิงใส่กลุ่มฝูงชนผู้แสวงบุญที่พระธาตุอินทร์แขวน ในรัฐมอญ สาเหตุที่เผด็จการพม่าไม่พอใจและจะฟ้องร้องพวกเขา เพราะว่าอิรวดีไม่ได้เผยแพร่ข่าวนี้ในแบบที่ลอกตามเรื่องเล่าของฝ่ายเผด็จการทหาร

นอกจากนี้ อิรวดียังสืบทราบว่า ผู้นำเผด็จการหมายเลข 2 ของเผด็จการทหารพม่า ‘โซวิน’ และกลุ่มที่ปรึกษาเผด็จการทหารคนอื่นๆ เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจดำเนินการทางกฎหมายต่ออิรวดีจากเรื่องการรายงานข่าวของพวกเขา การสั่งแบนอิรวดีเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่กลุ่มที่ปรึกษาเผด็จการพม่าตัดสินใจดำเนินตดีต่อสื่อในเรื่องนี้

โซวิน รองผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า

พม่ากลายเป็นประเทศที่สั่งคุมขังนักข่าวมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก นับตั้งแต่ที่เผด็จการทหารก่อเหตุยึดอำนาจในปีที่แล้ว (2564) ปัจจุบันมีนักข่าวมากกว่า 140 รายถูกควบคุมตัว และมีมากกว่า 60 รายที่ถูกขังในเรือนจำ มีอยู่ 4 รายที่เสียชีวิตในที่คุมขัง


เรียบเรียงจาก

After Repeated Crackdowns, Myanmar Junta Officially Bans The Irrawaddy, The Irrawaddy, 31-10-2022
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net