อาจารย์นิติ มธ.ชี้มติ กสทช. รับทราบและให้ควบรวมทรู-ดีแทค เป็นโมฆะ-ปธ.ใช้สิทธิโหวตซ้ำไม่ได้

'ปริญญา' นักวิชาการด้านกฎหมาย มธ. มองที่ประชุม กสทช. มีมติเสียงข้างมาก ‘รับทราบแบบมีเงื่อนไข’ ควบรวมทรู-ดีแทคนั้น ต้องเป็น 'โมฆะ' ปธ.ใช้สิทธิโหวตซ้ำชี้ขาดไม่ได้ ด้านอดีต ปธ.ครป. จี้ กสทช.เสียงข้างมาก เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน

 

5 พ.ย. 2565 สมาองค์กรเพื่อผู้บริโภค รายงานต่อสื่อวานนี้ (5 พ.ย.) สืบเนื่องจากเมื่อ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) มีมติเสียงข้างมาก ‘รับทราบ แบบกำหนดเงื่อนไข’ การควบรวมกิจการของบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ๋ 2 บริษัท ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ด้วยคะแนน 3 ต่อ 2 ต่อ 1 หรือเห็นด้วย 3 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย มองว่ามติดังกล่าวผิดกฎหมาย เนื่องจากการลงมติครั้งแรกที่มีผล 2 ต่อ 2 ต่อ 1 ถือว่าเป็น ‘โมฆะ’ ไปแล้ว ด้วยเหตุผลที่ไม่มีผลโหวตเป็นเสียงข้างมาก และเนื่องจากมติก็ไม่ได้มีผลเท่ากับกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด 5 คน ประธานจะโหวตจึงซ้ำไม่ได้ การโหวต “รับทราบ” ซ้ำของประธานจึงเห็นได้ว่าเป็นเจตนาอนุญาตให้เกิดการควบรวมโดยไม่ต้องขออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญติ แม้จะมีเสียงทักท้วง และมีการวินิจฉัยจากศาลปกครอง คณะกรรมการกฤษฎีกา และอนุกรรมการตรงกัน อีกทั้งการที่ กสทช.มีอำนาจในพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวม

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"ข้อนี้จะโยงไปสู่การใช้อํานาจโดยมิชอบ เพราะเท่ากับเป็นการอนุญาตโดยไม่ต้องพิจารณาว่าควรอนุญาตหรือไม่ เพราะถ้าหากพิจารณาว่าขออนุญาตหรือไม่นั้น จะมีประเด็นหลักเกณฑ์ที่อาจทําให้อนุญาตไม่ได้ จึงต้องอนุญาตด้วยวิธีการนี้คือด้วยการตีความว่าตัวเองไม่มีอํานาจในการพิจารณา คืออนุญาตให้ควบรวมนั่นเอง ซึ่งผิดทั้งในแง่ของประเด็นที่มีมติแล้วการลงมติก็ผิดอีก เป็นความผิดหลายชั้นมาก" ปริญญา เน้นย้ำ และระบุว่า “เรื่องนี้เราต้อง ต้องไปให้ถึงศาลปกครอง และอย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วหากไม่เกิดการแข่งขันประชาชนต้องจ่ายเงิน เพื่อใช้คลื่นความถี่ ที่เป็นสมบัติของประชาชนเองในราคาที่แพงขึ้น กสทช. ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้”

ภายหลังจากการมีมติดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ได้มีเสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้ประชาชนร่วมกันฟ้องร้องต่อ กสทช. อย่าปล่อยให้เกิดการรวมระหว่างสองบริษัทที่จะทำให้เกิดผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจ ภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และสิทธิการเข้าถึงคลื่นความถี่ ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคอยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมคำร้องขอเพิกถอนมติ กสทช. และขอไต่สวนคุ้มครองฉุกเฉินเมื่อวันที่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2565 ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา "ย้อนรอยอำนาจ กสทช. : หลังมติให้ควบรวม ทรู-ดีแทค" ขึ้นโดยมี ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช., จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค และพิภพ ธงไชย อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเลขาธิการอาสามูลนิธิเด็ก ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้ ปริญญา มีความเห็นว่า การลงมติของ กสทช. เข้าข่ายมาตรา 235 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง และหากเห็นว่ามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ไต่สวนก็สามารถฟ้องคดีต่อศาล หรือดำเนินการอื่นตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้

ใช้สิทธิโหวตซ้ำไม่ได้-เป็นโมฆะ

กรณีที่ประธานที่ประชุมใช้สิทธิโหวตซ้ำ ปริญญา อธิบายเพิ่มว่า กรณีที่ประธานจะลงคะแนนเสียงเพื่อชี้ขาดได้คือคะแนนเสียงที่ประชุมเท่ากัน และไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด เช่น กรรมการ กสทช. มี 4 คน แล้วลงมติ 2 ต่อ 2 คะแนนเสียง หรือมีกรรมการ 6 คน แล้วลงมติ 3 ต่อ 3 เป็นต้น ทั้งนี้ การพิจารณาเมื่อวันที่ 20 ต.ค. มีกรรมการเพียง 2 เสียงที่ลงมติรับทราบ ซึ่งน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ดังนั้น ประธานสามารถออกเสียงเพิ่มเพื่อชี้ขาดไม่ได้ มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก

นอกจากนี้ ปริญญา ตั้งข้อสังเกตว่า กสทช.ได้ส่งให้ศาลปกครองและคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. ซึ่งศาลปกครองและกฤษฎีกาก็ได้มีคำสั่งว่า กสทช. มีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าว และ กสทช.มีอำนาจห้ามการควบรวมได้ ยังไม่นับรวมองค์กรของผู้บริโภค รวมถึงนักวิชาการ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกมาบอกว่า กสทช.มีอำนาจพิจารณาเรื่องควบรวม ดังนั้น หากจะบอกว่า กสทช.ไม่ทราบว่าตัวเองมีอำนาจก็คงจะไม่ได้

"ถ้าหาก กสทช. ทำหน้าที่อันพึงกระทำ เราคงไม่ต้องจัดเวทีเสวนา หรือฟ้องร้องศาลปกครอง สิ่งที่ประชาชนทำทั้งหมดนี้ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย นอกจากให้ กสทช. ทำหน้าที่ปกป้องประโยชน์สาธารณะซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย

สอบ. มองกระบวนการก่อนมีมติรับทราบควบรวมทรู-ดีแทคอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากการลงมติ กสทช. รับทราบและให้ทรู-ดีแทคควบรวมกิจการโทรคมนาคมนั้น มีข้อสังเกตถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย 2 ส่วน ได้แก่ ขั้นตอนก่อนที่จะลงมติให้ควบรวมกิจการเป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากการควบรวมกิจการดังกล่าวเป็นส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก ทั้งราคาค่าบริการที่สูงขึ้น หรือทางเลือกในการใช้บริการลดลงเหลือเพียง 2 ค่าย อีกทั้งประเด็นที่มีการตั้งคำถามว่า กสทช.ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนแล้วหรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็น แสดงว่ากระบวนการลงมติรับทราบการควบรวมกิจการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค

รวมถึงประเด็นความไม่โปร่งใสในการจัดจ้างที่ปรึกษาอิสระ ซึ่งจากข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ในสื่อต่างๆ มีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและความอิสระ เพราะอาจมีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวโยงกับหนึ่งในบริษัทที่ขอควบรวมกิจการ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงมติใดๆ กสทช.ต้องตอบโจทย์ข้อสงสัยหรือข้อร้องเรียนทั้งหมดก่อน หากไม่ชอบด้วยกฎหมาย กสทช.ไม่ควรมีการลงมติใดๆ 

“หาก กสทช.ยังตอบไม่ได้ว่ากระบวนการก่อนที่จะลงมติให้ควบรวมกิจการชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับลงมติให้ควบรวมกิจการ จึงเกิดคำถามว่ากรรมการ กสทช. ใช้สิ่งใดเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจลงมติรับทราบให้ควบรวมกิจการ และหากคณะกรรมการ กสทช. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งตัวคณะกรรมการและผลประโยชน์ประชาชนและประเทศโดยภาพรวม” จิณณะ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ กสทช. จะมีมาตรการหรือเงื่อนไขออกมาหลังจากการลงมติให้ควบรวมกิจการ แต่ กสทช. การันตีได้หรือไม่ว่าเมื่อผ่านระยะเวลาที่กำหนดแล้ว บริษัทจะไม่ดำเนินการที่เป็นการผูกขาดทางการค้า ไม่มีใครรับประกันได้ หรือมีช่องว่างทางกฎหมายที่เอาเปรียบประชาชน หรือทำให้เกิดการผูกขาดได้หรือไม่ หรือมีช่องทางที่ทำให้การประมูลคลื่นความถี่อยู่ในอำนาจ หรืออยู่ในมือคนจำนวนหนึ่ง

ด้าน อารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. อธิบายถึงการทำงานของ กตป. ว่าเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงเลขาธิการ กสทช. ในประเด็นการลงมติของ กสทช. ที่รับทราบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู-ดีแทค พร้อมกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ

อารีวรรณ กล่าวอีกว่า กตป. ทำหน้าที่เหมือนกระจกที่สะท้อนภาพการทำงานของ กสทช. ว่าคุณกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่อย่างไร โดย กตป.จะแบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ด้านคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ การควบรวมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 2 ด้านคือ ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และด้านกิจการโทรคมนาคม

ปัจจุบันอยู่ระกว่างการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ต่างๆ ทั้งนี้ พบว่าประชาชนที่ตื่นตัวและให้ความสนใจในเรื่องนี้ และหลังจากนี้จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาให้ความเห็นในเรื่องนั้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายๆ เรื่องทั้งกฎหมาย เศรษฐกิจ โทรคมนาคม รวมทั้งจะเชิญจากสภาองค์กรของผู้บริโภค เข้ามาให้ข้อมูลในฐานะที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย 

อดีต ปธ.ครป. ชี้องค์กรอิสระต้องทำเพื่อ ปชช.-จี้ กสทช.ต้องเปิดคำวินิจฉัยส่วนตนทุกคน

ด้านพิภพ ธงไชย อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเลขาธิการอาสามูลนิธิเด็ก กล่าวว่า ย้อนไปก่อนที่จะเกิดรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ประชาชนรวมตัวกันต่อสู้เรื่องคลื่นวิทยุ กิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์ เพราะที่ผ่านมาคลื่นเหล่านี้ถูกรัฐควบคุมเกือบทั้งหมด จนมาถึงคลื่นมือถือมาจากการผลักดันของประชาชน และหลังจากนั้นจึงเกิดองค์กรอิสระมากมาย อาทิ กรรมการสิทธิมนุษยชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้พรรคการเมืองไม่ถูกผูกขาด เศรษฐกิจไม่ถูกผูกขาด และเรื่องการศึกษาต้องถูกพัฒนา ให้ทุกคนเข้าถึงได้

พิภพ ธงไชย อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

กสทช. เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติของชาติไม่ให้ผูกขาด กรณีที่มีความต้องการควบรวมกิจการและดีลนั้นมีแนวโน้มจะเกิดการผูกขาด ประชาชนเสียประโยชน์ เสียอำนาจต่อรอง องค์กรอิสระนี้ก็ต้องไม่อนุญาตให้ควบรวมเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น องค์กรอิสระทั้งหลายต้องตระหนักว่าการได้มาหรือการได้เป็นกรรมการในองค์กรอิสระนั้นเกิดมาจากเลือดเนื้อของประชาชน จึงต้องตระหนักถึงเจตนารมณ์ในการต้องมีความเป็นอิสระและใช้สติปัญญาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

“ดีลทรู-ดีแทคเป็นเรื่องใหญ่ระดับนโยบาย เพราะเป็นการรวมกิจการที่จะทำให้เหลือเพียง 2 รายในตลาดคลื่นมือถือ กระทบกับทุกคน ดังนั้น กสทช.ควรต้องออกแถลงการณ์ให้ชัดเจนถึงผลการโหวตในที่ลับเมื่อ 20 ต.ค. 2565 ออกมาให้สาธารณะรับรู้ โดยเฉพาะคำวินิจฉัยส่วนตัวของกรรมการแต่ละคน” พิภพ กล่าว

ก่อนหน้านี้ 2 กรรมการ กสทช.ที่เป็นเสียงข้างน้อย ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต  กรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ และรองศาสตราจารย์ ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ออกมาชี้แจงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมทรู-ดีแทคแล้ว เหลือเพียงคณะกรรมการอีก 3 คน ได้แก่ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ ต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นเสียงข้างมาก และธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ด้านกิจการกระจายเสียง ซึ่งเป็นผู้งดออกเสียง ที่ยังไม่ได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พิภพ ย้ำทิ้งท้ายไว้ว่า เศรษฐกิจผูกขาดเป็นความล้มเหลวในประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่กำลังจะกลายมาล้มเหลวในคลื่นมือถือด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะคลื่นมือถือที่ประชาชนต้องใช้ในชีวิตประจำวันกำลังจะถูกผูกขาด และรัฐต้องยืนอยู่บนฐานการไม่ผูกขาดด้วยการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนน่าจะสามารถแก้ไขเรื่องการผูกขาดต่างๆ ได้ แต่เกิดคำถามว่ารัฐสนับสนุนให้เกิดการผูกขาดหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดการผูกขาดตลาดมากมายในไทย เช่น ซีพี-โลตัส ควบรวมกิจการค้าปลีกจนทำให้มีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 80

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท