สนทนา #สงครามยาเสพติด แน่ใจว่าดีนะวิ?? เตือนระวังการผลักผู้เสพไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ายาเสพติด

สนทนาบนแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ ในหัวข้อ “#สงครามยาเสพติด แน่ใจว่าดีนะวิ??” อดีตผู้ตรวจสอบนโยบายสงครามยาเสพติดปี 2546 ไม่เห็นด้วยที่พรรคการเมืองชูเรื่องสงครามยาเสพติดเพื่อเอาชนะกัน มันเท่ากับว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากกรณี 2,500 ศพเลย - กสม.ระบุหากใช้มาตรการกฎหมายที่รุนแรงกับผู้เสพยิ่งไม่แก้ปัญหา ทั้งยังผลักคนเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ายาเสพติด

ทีมสื่อคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2565 ครป. ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย จัดวงสนทนาบนแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ ในหัวข้อ “ #สงครามยาเสพติด แน่ใจว่าดีนะวิ??” โดยมีผู้สนทนาประกอบด้วย สมชาย หอมลออ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ตรวจสอบ จัดทำรายงานสถานการณ์การดำเนินนโยบายสงครามยาเสพติดปี 2546 สมศรี หาญอนันทสุข ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ชวนสนทนาโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป.

ทั้งนี้ในการสนทนานี้ยังมีนักวิชาการนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา และผู้ประสบปัญหาจากการที่คนในครอบครัวติดสารเสพติดเข้าร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยน โดยมีสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมรับฟังข้อคิดเห็นตลอดรายการ

สมศรี หาญอนันทสุข ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และกรรมการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่าวันนี้ยาเสพติดมีราคาที่ถูกลงมากกว่าแต่ก่อน เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในส่วนที่ตนทำงานให้องค์กรด้านสตรีและเด็ก ก็ค่อนข้างกังวลใจกับเรื่องนี้ด้วยการที่ยาเสพติดนำมาสู่ประเด็นความรุนแรงในครอบครัวด้วย จริงอยู่ว่าเราก็ยอมรับว่ายาเสพติดเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่ที่ผ่านมาช่วงปี 2546 ที่มีการประกาศนโยบาย “สงครามยาเสพติด” ปลุกเร้าว่ายาเสพติดราคาถูกกว่าหมากฝรั่งแล้ว มีความต้องการปราบปราม มีการกำหนดนโยบายให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องปราบปรามให้เด็ดขาดภายใน 3 เดือน ซึ่งเมื่อประกาศแบบนี้ ทหารและตำรวจก็ต้องดำเนินนโยบายในลักษณะที่เหมือนการทำสงคราม เกิดการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการละเลยที่จะตรวจสอบปัญหาการ “ฆ่าตัดตอน” (หมายถึงการที่ผู้ที่อยู่ในขบวนการค้ายาเสพติดทำการฆ่ากันเอง) รวม 2,500 กว่าศพที่เสียชีวิตไป รวมถึงมีการฉวยโอกาสจากสถานการณ์เพื่อฆ่าล้างผู้ที่มีความขัดแย้งกันในประเด็นอื่น ขณะเดียวกันผู้เสพยาก็ถูกเหมารวมเป็นผู้ค้ายาไปเสียหมด แม้แต่ผู้ครอบครองยาเสพติดในปริมาณน้อยยังถูกตั้งข้อหาเป็นผู้ค้ายา แล้วกระแสสังคมก็ยินยอมกับแนวทางการแก้ปัญหาที่รวบรัดโดยไม่สนใจกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ด้วยคิดว่ามันเห็นผลในการลดยาเสพติดเป็นรูปธรรม แต่สุดท้ายก็แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ยาเสพติดก็ยังกลับมาเหมือนเดิม เพราะผู้ค้ายารายใหญ่ โดยเฉพาะคนในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องเองก็ยังคงอยู่ คนที่ตายไปในสงครามยาเสพติดก็ไม่ได้รับการสืบสวนเพื่อหาสาเหตุของการถูกฆาตกรรมอย่างแน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริงๆ หรือไม่กันแน่ ทั้งเราก็ไม่ตั้งคำถามว่า เมื่อมีเรื่องการฆ่าตัดตอนเกิดขึ้น นั่นแปลว่าตัวการใหญ่ของขบวนการค้ายาก็ไม่ถูกสืบสวนไปถึงใช่หรือไม่ แต่เราพอใจกับการเห็นการตายของคนที่ต้องสงสัยว่าค้ายา และการลดหายอย่างรวดเร็วของยาเสพติดซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราว

อย่างคดีสะเทือนขวัญที่อดีตตำรวจถือปืนเข้าไปกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำพู ก็มีความพยายามกล่าวชี้นำให้สังคมเชื่อว่ามาจากปัญหายาเสพติด ทั้งๆ ที่ผลการตรวจชันสูตรศพผู้ก่อเหตุ (ที่ยิงตัวตายในภายหลัง) ก็ไม่พบสารเสพติดในร่างกาย รวมถึงลักษณะการก่อเหตุที่ต้องใช้ทักษะสูง มีการวางแผนมาดี จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำของคนที่ขาดสติเพราะฤทธิ์ยา แม้มีความพยายามชี้แจงจากอดีตหน่วยงานต้นสังกัดว่า ผู้ก่อเหตุถูกให้ออกจากราชการเพราะพบว่ามีการเสพยา เราก็ควรสงสัยว่า แล้วทำไมหน่วยงานต้นสังกัดถึงไม่ดำเนินการให้ผู้ก่อเหตุได้เข้ารับการบำบัดเลิกยา หรือเมื่อให้ออกจากราชการแล้ว ทำไมถึงไม่มีการติดตามต่อว่าเขาอาจจะออกไปกระทำความผิดที่ร้ายแรงขึ้นได้ นอกจากนี้เรายังมีการตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการที่ผู้ก่อเหตุถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจากหน่วยงานต้นสังกัดอันก่อให้เกิดความคับแค้นใจด้วย ดังนั้นเรื่องว่ากรณีนี้ยาเสพติดเป็นต้นเหตุนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้ก่อเหตุกับหน่วยงานอดีตต้นสังกัด หรือความคับแค้นที่สั่งสมมาจากหน่วยงานอดีตต้นสังกัดเป็นเหตุนำไปสู่การใช้สารเสพติด ก็คงเป็นความจริงที่ต้องค้นหากันให้แน่ชัด

ทั้งนี้เหตุกราดยิงประชาชนที่เกิดมา 2 ครั้ง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุล้วนเป็นคนที่อยู่ในระบบราชการที่มีการบริหารงานแบบ “เหล่าทัพ” ทั้งทหารและตำรวจ เราก็จำเป็นต้องวิเคราะห์กันไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างขององค์กรเหล่านี้ปัญหาของระบบที่ไม่เป็นธรรม ใช้ความรุนแรง ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความกดดันให้กับบุคลากระดับผู้ใต้บังคับบัญชาจนแปรความคับแค้นในใจออกมาเป็นความรุนแรงต่อผู้อื่นอย่างกรณีกราดยิงที่โคราชกับที่หนองบัวลำพู ไปจนกรณีที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมากโดยไม่เป็นข่าวให้สังคมได้รับรู้

อีกแนวหนึ่งที่เราควรนำมาพิจารณาเมื่อเราเห็นบทเรียนแล้วว่า การประกาศสงครามยาเสพติดมันไม่ได้ให้ผลที่ดีจริงในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกับผู้เสพยา เราอาจศึกษาโมเดลของประเทศโปรตุเกส ที่รัฐเป็นคนให้ยากับผู้ติดยาเองเลย ให้ในปริมาณน้อยๆ และมีการควบคุมคุณภาพยา ไม่มีการผสมสารที่มีฤทธิ์ทำลายสมองหรือสุขภาพ แล้วพาไปหาหมอ เข้ารับกระบวนการบำบัด มีแพทย์มีนักจิตวิทยาให้คำแนะนำ ตั้งแต่เรื่องว่าผู้ป่วยไปติดยาได้อย่างไร ไปจนการให้ผู้ป่วยได้ใช้ยา โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ดูแลในรายละเอียดการใช้ยาทุกขั้นตอนให้เอง อุปกรณ์การเสพย์ต้องสะอาด ไม่ให้ใช้ยาเกินขนาด ผลสุดท้ายประเทศมีประชาชนตายจากยาเสพติดต่ำมาก งบประมาณที่ต้องใช้กับเรื่องยาเสพติดก็ต่ำลงไปด้วย ผิดกับประเทศที่ใช้งบมากมายกับการปราบปรามแต่ลดปริมาณความต้องการเสพย์สารเสพติดไม่ได้ และที่สำคัญคือ เราต้องจัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม ที่เป็นปัจจัยสร้างความกดดันให้คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

สมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ในฐานะอดีตรองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ตรวจสอบ จัดทำรายงานสถานการณ์การดำเนินนโยบายสงครามยาเสพติดปี 2546 ได้เล่าถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีร้องเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสงครามยาเสพติดว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชน มักชี้นิ้วกล่าวโทษผู้เสพยา ทั้งๆ ที่ควรจัดคนเหล่านี้เป็นผู้ป่วย ควรได้รับการบำบัดรักษาแบบบูรณาการ ไม่ใช่เฉพาะด้านการแพทย์ แต่ชุมชน สังคมต้องมีส่วนร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้แค่เป็นเรื่องการใช้สารเสพติดของปัจเจกชน มีกรณีศึกษาจากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังหญิงคดี ยาเสพติดโดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตที่ทำให้กับโครงการกำลังใจในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังหญิงที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ผู้ต้องขังหญิงที่เข้ารับโทษจำคุกจากคดียาเสพติด ซึ่งใกล้พ้นโทษจำคุกแล้ว มีความคิดว่าจะกลับไปค้ายาเสพติดอีกรอบ ด้วยเหตุที่ว่าไม่รู้จะกลับไปประกอบอาชีพอะไรที่ทำแล้วได้เงินมากเพียงพอแก่การดำรงชีวิต ซ้ำต้องโทษมาแล้ว มีประวัติอาชญากรรมติดตัวมาแล้วอีก โอกาสไปหาอาชีพสุจริตก็เป็นไปได้ยาก นี่คือปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำให้คนเหล่านี้เข้ามาสู่เส้นทางของการเป็นเหยื่อในนโยบายสงครามยาเสพติด

ช่วง 14 ม.ค.-30 เม.ย. 2546 ระยะเวลา 3 เดือนนี้ที่มีคนตายถึง 2,500 กว่าศพ นโยบายสงครามยาเสพติดดำเนินโดยการจัดทำบัญชีดำผู้ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งในแต่ละท้องที่ เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ต้องจัดทำบัญชีดำขึ้นมาว่าใครบ้างต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด วิธีการก็ใช้การดูประวัติ ฟังจากสายสืบ หรือทำประชาคม เรียกประชุมชาวบ้านเพื่อระดมว่าใครบ้างที่น่าสงสัยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตนได้ตรวจสอบกรณีนี้เอง ชาวบ้านมาประชุมแล้วชี้เบาะแสว่าสงสัยบุคคลที่ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 ซึ่งเป็นคนที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ มานานมาก จนถูกสลากรางวัลที่ 1 แต่ไม่ยอมบอกใคร เพราะกลัวคนจะมาเกาะเกี่ยวหาประโยชน์ เมื่อกลับบ้านที่ครบุรี นำเงินที่ถูกรางวัลไปซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถ 6 ล้อมือ 2 เพื่อมาวิ่งรถรับโดยสาร คนในชุมชนมาทำประชาคมก็ชี้ว่าบุคคลนี้น่าสงสัย จึงอยู่ในบัญชีดำ วาระสุดท้ายของชีวิตของบุคคลนี้และภรรยาคือ ตอนเช้ามืดออกมาวิ่งรถส่งผู้โดยสาร มีชายฉกรรจ์มาโบกให้หยุดรถ ไล่ผู้โดยสารลงไป ก่อนที่บุคคลเคราะห์ร้ายนี้และภรรยาจะเสียชีวิตด้วยกระสุนปืน

อีกกรณี มีการไล่ยิงคนหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เหยื่อถูกยิงตายหน้าศาลากลางในเวลากลางวันแสกๆ เลย ที่นครสวรรค์ มีคนถูกไล่ยิงบาดเจ็บสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล สุดท้ายถูกตามไปยิงซ้ำตายคาโรงพยาบาลในเวลากลางวันเช่นเดียวกัน

ต่อมาในการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการ กสม. ที่ตนเป็นผู้ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่นำรายงานบัญชีดำมาให้ดู ซึ่งจะมีรายชื่อผู้ต้องสงสัยในบัญชีดำซึ่งได้มาโดยวิธีที่กล่าวไปข้างต้น ตนพบว่ามีการขีดฆ่ารายชื่อบนรายงาน เมื่อสอบถามจึงได้คำตอบว่า ชื่อที่ถูกขีดฆ่าคือ หมายถึงว่า ในช่วงนโยบายสงครามยาเสพติด เจ้าหน้าที่จะถูกตั้งเป้าในการสืบหา กวาดล้างให้ได้อย่างน้อย25% ภายใน 1 เดือน (ภายใต้ระยะเวลา 3 เดือนของนโยบาย) 25% ที่ถูกขีดออกได้จากบัญชีดำนี้ หนึ่งคือผู้ที่ถูกจับเข้าคุกแล้ว สองคือตายไปแล้ว ไม่ว่าจะตายด้วยวิธีใดก็ขีดออกจากบัญชีดำได้ แต่หากเจ้าหน้าที่ไม่บรรลุเป้าหมาย 25% ต่อเดือน จะมีปัญหาในหน้าที่การงาน อาจถูกโยกย้าย ไม่ได้รับการเลื่อนขั้น เจ้าหน้าที่ก็จำใจต้องทำทั้งที่ไม่อยากทำ ทั้งตนยังได้เห็นบันทึกการสั่งการทางวิทยุ ก็มีข้อความจากหน่วยเหนือว่า “หากปฏิบัติไม่ได้ตามเป้า จะส่งหน่วยพิเศษเข้าไปในพื้นที่”

หลายกรณีถูกยิงตายโดยที่ไม่รู้ว่าใครยิง เหมือน 3 กรณีที่เล่ามา ซึ่งเหตุการณ์การฆาตกรรมเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ไม่ทำการสอบสวนคดีเพื่อหาสาเหตุการฆาตกรรมและจับตัวผู้ก่อเหตุเลย จึงไม่มีรายงานการสอบสวนการตายของคนเหล่านี้ ไม่มีการจับกุมผู้ก่อเหตุฆาตกรรมเลยทั้งๆ ที่เป็นการก่อเหตุอย่างอุกฉกรรจ์ สรุปคือ 3 เดือน มีสรุปรายชื่อผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่กับ 2,500 กว่าศพที่ถูกฆ่าตายอย่างอุกอาจ กลับไม่มีการสรุปรายละเอียดการเสียชีวิตเลย ว่าถูกฆาตกรรมเพราะเกี่ยวพันกับยาเสพติดจริงหรือไม่ จับผู้ลงมือไม่ได้เลยสักราย พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการลงความเห็นเป็นให้ยุติการสอบสวนหมด ไม่นับรวมการตายจากการถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งอ้างเรื่องการถูกโต้ตอบ ขัดขืน ซึ่งก็มีลักษณะการตายในที่เกิดเหตุที่ดูประหลาดอย่าง มียาเสพติดโรยรอบศพ และกว่า 30-40 คดี ที่เป็นการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเลย

การตายเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ดำเนินคดีสืบหาคนร้ายเลย จนเมื่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากๆ ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ผู้นำประเทศเวลานั้นก็ชูวาทกรรม “ฆ่าตัดตอน” ขึ้นมาอ้าง ซึ่งจากวาทกรรมฆ่าตัดตอนก็สะท้อนได้ว่า เป็นการที่รัฐปล่อยให้ผู้ค้ารายใหญ่ ฆ่ากันเองกับผู้ค้ารายย่อย แน่นอนว่า ผู้ค้ารายใหญ่ก็ย่อมต้องลอยนวล เพราะไม่สามารถสืบมาถึงรายใหญ่ได้

ทั้งนี้ตนไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคการเมืองทั้งฟากฝ่ายค้านและซีกรัฐบาลต่างชูเรื่องสงครามยาเสพติดกลับมาเพื่อแข่งขันเอาชนะกันทางการเมือง มันเท่ากับเราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากกรณี 2,500 ศพเลย เท่ากับเราไม่เรียนรู้จากบทเรียนปี2546ที่ผ่านมาเลย เราไม่เรียนรู้ปัญหาความรุนแรงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าไม่แก้ไขเราก็จะอยู่ในวังวนแบบนี้ สุดท้ายผู้ใช้ยาก็เป็นเหยื่อจากนโยบายแบบนี้ เพราะตัวการใหญ่ก็มีวิธีเอาตัวรอดได้ ส่วนคนชายขอบ คนยากจนก็เป็นเหยื่อสังเวยนโยบายแบบนี้ไป การถูกจับยัดคุก รวมไปถึงความรุนแรงนอกกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ล้วนเกิดแต่กับคนไม่มีสถานะ คนไม่มีเสียง ไม่มีอำนาจต่อรองทางสังคม นี่ยังไม่นับการยืมมือเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อใช้จัดการศัตรูของตน ทั้งๆ ที่นักวิชาการมาทำวิจัยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ก็ได้สรุปผลแล้วว่า การทำสงครามยาเสพติดนั้น ล้มเหลว และแก้ปัญหาแบบไม่ยั่งยืน แต่งานวิจัยนี้ก็ไม่ถูกนำมาทบทวน

นอกจากนี้ล่าสุดในรัฐบาลปัจจุบัน การมี พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ก็ยังคงเหมารวมว่าผู้ใช้สารเสพติด เป็นอาชญากรอยู่ ไม่ได้ปฏิบัติต่ออย่างผู้ป่วยโดยแท้จริง ไม่ว่าจะกับผู้มีภาวะติดสารเสพติด หรือกับผู้ที่ใช้ยาเป็นครั้งคราว ไม่ได้เสพจนติด รวมถึงการตีตราทางสังคมต่อผู้ติดยาโดยชุมชน รวมถึงคนในครอบครัว ยังกลายเป็นอีกอุปสรรคในการทำให้คนเข้าสู่กระบวนการเลิกยา

สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อดีตนักพัฒนาเอกชนด้านสิทธิในระบบสาธารณสุข ให้มุมมองว่าเราอาจต้องทำความเข้าใจกับเรื่องยาเสพติดกันใหม่ เมื่อ ค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) ในที่ประชุมระดับสูงของสหประชาชาติ ผู้นำทั่วโลกมีการสรุปบทเรียนจากการปราบปรามยาเสพติดโดยมุ่งหวังให้มันหมดไป แต่50ปีผ่านไป การใช้ยาเสพติดก็ไม่ลดลงเลย จึงเกิดแนวคิดว่า เมื่อปราบยังไงก็ไม่ได้ เราจะอยู่กับมันอย่างไร? ก็สรุปกันว่าเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ แต่สำหรับผู้เสพหากเรายังคงใช้มาตรการกฎหมายที่รุนแรง โดยเฉพาะการที่ยังมีโทษทางอาญา ยิ่งไม่แก้ปัญหา ทั้งยังผลักคนเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ายาเสพติด เพราะเมื่อเขาเป็นอาชญากรตามกฎหมาย มีประวัติอาชญากรเกิดขึ้น การไปสมัครงานทำอาชีพสุจริตก็ทำไม่ได้ เมื่อหนทางนี้ถูกปิด ขบวนการอาชญากรรมก็อ้าแขนต้อนรับคนเหล่านี้สู่วงจรสีดำ

และเราต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช้ผู้ใช้ยาเสพติดทุกคนที่จะต้องติดยา ผู้ใช้ยาเสพติด 4 ล้านคน มีประมาณ 10% เท่านั้นที่เป็นผู้มีอาการติดยาในระดับที่จำเป็นต้องเข้ารับการฟื้นฟู อีก 90% เป็นผู้ใช้ยาเสพติดเป็นครั้งคราว ไม่ได้จำเป็นต้องเข้ารับการบำบัด แต่ควรได้รับการบริการอย่างอื่นเพื่อให้เขาลด ละ เลิกได้ในที่สุด ข้อมูลเหล่านี้ คนใน ป.ป.ส. ก็รู้ แต่ไม่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบนโยบายแก้ปัญหา ซึ่งกลุ่ม10% ที่ติดยาเสพติดแล้วถูกตั้งเป้าว่าต้องบำบัดให้หายให้ได้ แต่บำบัดอย่างไรก็ไม่หาย กดดันทั้งคนทำการบำบัด แล้วไปกดดันที่คนเข้ารับการบำบัดอีกต่อ ถูกกดดันว่ามาบำบัดแล้วต้องหาย ถ้าไม่หายก็ถูกตำหนิ ถูกตราหน้าว่าเป็นสันดานแก้ไม่หาย ดังนั้นแค่การตั้งเป้าว่าบำบัดแล้วต้องหาย มันก็ผิดหลักการแล้ว

ทั้งประมวลกฎหมายยาเสพติดที่บังคับใช้ตั้งแต่ 9 ธ.ค. 2564 มีการระบุว่าให้ผู้เสพยาต้องถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัด ซึ่งก่อนที่กฎหมายนี้จะออกมา ภาคประชาสังคมพยายามให้แนวคิดจากการประชุมของสหประชาชาติเมื่อปี 2016 เรื่องการยกเลิกโทษทางอาญา เอาหลักวิธีการด้านสาธารณสุข ติด หลักสิทธิมนุษยชนมาใช้ และมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดหรือ How Deduction เครือข่ายประชาชนก็พยายามเสนอผู้ร่างกฎหมายว่าเราควรเอาหลักแนวคิดใหม่เหล่านี้มาใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางสากล คนติดยาหรือมียาเสพติดครอบครองไว้เพื่อเสพอาจมีโทษทางปกครอง มีโทษปรับก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่การใช้กฎหมายอาญาให้เป็นอาชญากร

มีงานวิจัยและข้อมูลเชิงประจักษ์ในหลายๆประเทศ ว่าการใช้มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดมาแทนมาตรการลงโทษทางกฎหมาย ช่วยแก้ปัญหาได้มากกว่า และด้วยมายาคติว่ายาเสพติด ถูกสร้างให้เป็นสิ่งเลวร้ายอย่างที่เรารับรู้กันมาตั้งแต่เด็ก คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็ถูกตีตราเป็นคนไม่ดี เรียกเป็นขยะสังคม ถ้าทำให้หายไปแผ่นดินจะสูงขึ้น สังคมจะปลอดภัยมากขึ้น โดยที่ลืมว่าสุดท้าย พวกเขาก็คือลูกหลานของคนในชุมชน สังคมนั่นเอง

ที่จริงประมวลกฎหมายยาเสพติด มีการระบุถึงเรื่องการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดด้วย แต่ไม่มีการให้นิยามที่ชัดเจน และไม่มีความชัดเจนที่จะนำมาปฏิบัติ ซึ่งที่จริงแล้ว เราควรมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดที่ถูกต้อง มีข้อมูลรอบด้านแก่คนเพื่อประกอบการตัดสินใจว่า ถ้าตนต้องการใช้สารเสพติดแล้ว สารที่ตนต้องการใช้จะมีผลอย่างไรต่อร่างกาย ควรใช้ในปริมาณเท่าไหร่ อย่างไร หรืออย่างกัญชา จะต้องใช้เท่าไหร่ มีผลต่อร่างกายอย่างไร แต่เมื่อเราไม่มีข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ผู้คน เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ ประกอบการตัดสินใจเพื่อเตรียมตัว ก็เลยทำให้เกิดการไปแอบทดลองใช้กันแบบผิดๆ โดยที่รัฐก็คุมไม่ได้ การใช้สารเสพติดไม่อยู่ในกระบวนการที่แพทย์สามารถมาดูแลควบคุมได้ พอเข้าขั้นติดยา ก็ถูกสังคมตีตรา นำมาซึ่งการเลือกปฏิบัติ

เมื่อ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติดได้มายื่นหนังสือให้แก่ตนในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยชี้ปัญหาว่ารัฐบาลกำลังจะมีนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดโดยวิธีการคล้ายๆ เมื่อปี 2546 ซึ่งอาจกลายเป็นสงครามยาเสพติดรอบ2 เราจึงต้องมีมาตรการจับตาดูการดำเนินนโยบายของรัฐในรอบนี้

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และกรรมสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวสรุปว่าเราได้เห็นบทเรียนแล้วว่าไม่ว่าจะมาตรการการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ผลิตและค้ายาเสพติดก็ดี หรือแม้แต่มาตรการบำบัดก็ดี หากตราบใดที่วิธีการแก้ปัญหายังคงเป็นแบบนโยบายบังคับสั่งการจากบนลงล่าง โดยขาดหลักวิชาการ ขาดการทำงานแบบบูรณาการองค์ความรู้ด้านการแพทย์ มุ่งเป้าเอาผลสำเร็จสนองความสะใจของสังคม ใช้อำนาจนิยมในการการสั่งการกดดันเจ้าหน้าที่ในกระบวนการเพื่อมุ่งแต่ผลลัพธ์โดยไม่สนใจว่าแนวนโยบายเอื้อต่อการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ เราก็จะยังต้องอยู่ในวังวนปัญหานี้ต่อไป เราควรสรุปบทเรียนว่า ท้ายที่สุดแล้ว หลักสิทธิมนุษยชนยังเป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้ทั้งในกระบวนการยุติธรรมขั้นการสืบสวนขบวนการค้ายาเสพติด ไปจนถึงในวิธีการบำบัดผู้ใช้สารเสพติดที่ควรถูกปฏิบัติอย่างผู้ป่วยโดยแท้จริงด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็จะยังอยู่ในวังวนปัญหาแบบเดิมๆ โดยไม่ถอดบทเรียนว่ามันล้มเหลววนเวียนอยู่เช่นนี้

ช่วงท้ายการพูดคุยครั้งนี้ มีตัวแทนครอบครัวผู้ติดยามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก็ได้มีการอภิปรายกันไปถึงความล้มเหลวในขั้นตอนการปฏิบัติต่อผู้ติดยา อันเนื่องจากการที่ผู้ติดยาไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างผู้ป่วยที่ควรได้รับการรักษา สถานบำบัดไม่มีอำนาจในการนำผู้ป่วยเข้ารับการบำบัด ต้องให้ครอบครัวนำผู้ติดยาไปส่งตำรวจ ให้ศาลสั่งลงโทษ มีความผิดอาญาก่อน ต้องเข้ารับโทษจำคุกก่อน ถึงจะนำตัวเอาไปบำบัดได้ ทั้งการเข้าถึงบริการบำบัดยังเป็นเรื่องยากมาก มีค่าใช้จ่ายสูง มีขั้นตอนที่เป็นภาระมากมายอีกด้วย ไม่ได้มีลักษณะความเป็นสิทธิด้านสาธารณสุข สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้ติดยาไม่ได้รับการบำบัดตามกระบวนการที่พึงควรจะได้รับ ทั้งยังมีประวัติอาชญากรรมติดตัวเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตต่อไป สุดท้ายชีวิตก็ยังต้องอยู่ในวังวนการติดยา ถูกจับ แล้วกลับมาติดยาใหม่ไม่รู้จบ นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ยาเสพติดมีราคาแพงเพราะการปราบปราม หรือแม้วันนี้ที่ยาเสพติดราคาถูกลงไปมาก ก็ไม่ได้มีผลในการลดอุปสงค์-อุปทานของยาเสพติดเลย ยาเสพติดราคาถูกลง ผู้ขายก็แค่เปลี่ยนมาขายประเภทยาให้หลากหลายขึ้น ผู้เสพย์ก็ซื้อยาได้หลากหลายขึ้น เกิดสูตรการผสมกันเอง อย่างที่เป็นที่นิยมเช่น เอายาบ้ามาผสมกับไอซ์ เป็นต้น

                   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท