Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนา "สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ" หวังสร้างความเปลี่ยนแปลงนโยบาย 'ทวงคืนผืนป่า' จากกรอบคิดการจำกัดสิทธิที่ดินบนความบอบซ้ำของคนอยู่กับป่า สู่ 'แผนการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนโดยชุมชน' ปลดล๊อคข้อพิพาทอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ

6 พ.ย. 2565 หลังจากหัวหน้าคณะ คสช.ใช้อำนาจและกฎหมายที่ถือครองอยู่ในมือ ออกคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66/57 “ทวงคืนผืนป่า” ตามความอ้างว่า จะมุ่งเม้นจำกัดนายทุนที่ถือครองที่ดินในพื้นที่ป่าไม้

แต่ในทางเป็นจริง ผู้ตกเป็นเหยื่อกลับกลายเป็นชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร คนยากจน ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐเข้ามาไล่รื้อ ตัดฟันทำลายผลอาสิน ข่มขู่คุกคาม จำกัดสิทธิการทำประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งฟ้องดำเนินคดี

เช่น กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองกระทำกับชาวบ้านมาต่อหลายครั้ง เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนความจริงแห่งความบอบซ้ำ นับแต่โครงการ คจก.ในยุคคณะรัฐประหาร รสช.ช่วงปี 2534 ชาวบ้านถูกอพยพออกจากพื้นที่ เมื่อประชาชนผู้เดือเร้อนต่อสู้เรียกร้อง รัฐบาลจึงมีมติยกเลิก คจก.เมื่อชาวบ้านกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม ปรากฎว่าถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง แล้ว

ชะตากรรมชีวิตเกษตรกรหลายชุมชนทั่วประเทศที่ถูกประกาศเขตป่าทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ต้องตกอยู่ภายใต้เส้นทางการจัดการที่กินบนกรอบอำนาจที่ผูกขาดโดยรัฐมาตลอดทุกยุคสมัย

หลังการทวงคืนผืนป่า ช่วงปี 2559 เจ้าหน้าที่ได้รุกล้ำเข้ามาปฎิบัติการทวงคืนผืนป่า ทั้งคุกคาม ข่มขู่ ลวงล่อและบังคับให้เซ็นยินยอมส่งมอบพื้นที่ ตลอดจนการจับกุม แจ้งความดำเนินคดี

นับจากนั้น ชาวบ้านได้รวมกลุ่มต่อสู้เพื่อผลักดันให้มีกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน พร้อมกับยื่นหนังสือให้มีการรับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ด้วยคาดหวังว่าจะเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง และปลดล๊อกปัญหาข้อพิพาทที่ดิน

กระทั่งที่ประชุมคณะทำงานระดับจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2561นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2562  คณะทำงานฯ ได้มีการรับรองสถานภาพผู้ยากจน ยากไร้ จำนวน 167 ราย

การเดินทางไกลของแผนการจัดการทรัพยากรและธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ที่ชาวบ้านร่วมทำมาต่อเนื่อง นำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม โดยกลางปี 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ (รมว.ทส.) มอบหมายให้ที่ปรึกษาทีมยุทศาสตร์ ทส.สั่งการให้ปลัด ทส. พร้อมกับทีมคณะยุทธศาสตร์ ทส.ลงพื้นที่เพื่อประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา และลงสำรวจขอบเขตพื้นที่

ต่อมา รมต.ช่วยฯ ทส.(นพดล พลเสน) ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหา ในวันที่ 9 มี.ค. 2564 ถัดมาอีกหนึ่งอาทิตย์ ได้มีมติคณะทํางานร่วมในการจัดทําแผน บันได 6 ขั้น สู่แผนการจัดการที่ดินและ ทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม

จึงเป็นที่มาของคณะทำงานแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินซ้อนทับอุทยานแห่งชาติไทรทอง จัดประชุมในวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ประกอบด้วยผู้แทนชาวบ้าน ตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และนายวรพล ดีปราสัย (หัวหน้าอุทยานฯไทรทอง ในขณะนั้น) ณ ห้องประชุมอุทยานฯไทรทอง โดยมีนายสุเทพ เกตุเวชสุริยา (ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 นครราชสีมา) เป็นประธาน

มติที่ประชุมครั้งนั้นได้กำหนดแนวทางการแก้ไขที่ดินและบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันตามมาตรา 64 และสำรวจพื้นที่ตามมาตรา 65 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ได้มีการนัดหมายลงพื้นที่และเร่งจัดทำแผนให้แล้วเสร็จ ตามแผนการจัดการบันได 6 ขั้น เพื่อหาทางออกร่วมกันตามกรอบแนวคิดของคนอยู่ร่วมกับป่า ในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตพื้นที่ชุมชนทั้ง 167 ราย จำแนกเป็นป่าชุมชน,พื้นที่ทำกิน,พื้นที่ริมฝั่งห้วย,ป่าวัฒนธรรม,พื้นที่ป่ากันชน

นอกจากนี้ ยังได้มีโครงการกิจกรรมทำงานแบบมีส่วนร่วมกันระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับหน่วยงานรัฐ เช่น การอบรมสำรวจ GPS ลงพื้นที่ปัญหาชาวบ้าน จัดทำแผนการจัดการทรัพยากรของชุมชนและกิจกรรม “แนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิในที่ดินในเขตป่า" เป็นต้น

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา สมาคมพื้นฟูระบบนิเวศชุมชนอีสาน (ARERE) เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนนำร่องทั้ง 3 พื้นที่ คือ ซอกตะเคียน หนองผักแว่น และหินรู ได้จัดเวทีเสวนา "สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ",ณ ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติไทรทอง โดยมีนายชม มาแดง หัวหน้าอุทยานฯ ไทรทอง กล่าวเปิดต้อนรับ และร่วมเวทีเสวนา

ซึ่งเวทีเสวนาที่จัดครั้งนี้เป็นการสรุปบทเรียน “โครงการผสานความร่วมมือการเข้าถึงสิทธิการจัดการที่ดินและทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม”  และที่สืบเนื่องมาจากการประชุมวางแผนออกแบบการจัดที่ดินทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม เมื่อวันที่ 8 - 10 ก.ค. 2565 โดยมีพื้นที่นำร่องทั้ง 3 ชุมชน ได้จัดทำแผนร่วมกันกับทางอุทยานแห่งชาติไทรทอง ตามแผนกการจัดการที่ดินสู่บันได 6 ขั้น  ซึ่งชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาสู่การปลดล๊อคข้อพิพาท

สำหรับเวทีเสวนาครั้งล่าสุดนี้ มีมติข้อเสนอความเห็นว่า ชุมชนมีแผนโครงการออกแบบมาชัดเจนแล้ว จึงให้มีการนัดหมายหน่วยงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาประชุมครั้งใหญ่ให้เบ็ดเสร็จ เพื่อความร่วมมือในการทำแผนพัฒนาพื้นที่อย่างละเอียดโดยสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือน พ.ย.- ธ.ย. 2565 นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net