112WATCH คุยกับนักวิชาการด้านกฎหมายชาวไทย ต่อมุมมอง ม.112

112WATCH คุยกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชาวไทย ต่อมุมมอง ม.112 มุมต่อคนที่ทำงานใน UN เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย

 

โครงการ 112WATCH สัมภาษณ์  สัมภาษณ์ ภัทรพงษ์​ (ฟิล) แสงไกร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชาวไทยและอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับบทบาทขององค์การระหว่างประเทศในการจัดการปัญหามาตรา 112

 

ภัทรพงษ์​ (ฟิล) แสงไกร (ที่มาภาพ)

โดยมีรายละเอียดบทสัมภาษณ์ดังนี้ : 

112WATCH: ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายศึกษา คุณมองมาตรา 112 อย่างไร และอะไรเป็นสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดของมาตรานี้?

ภัทรพงษ์: ในมุมมองของกฎหมายสิทธิมนุษยชน บทบัญญัติเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lése-majesté) ตามกฎหมายอาญานั้นขัดแย้งกับเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสองสิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ไม่ใช่เพียงเพราะว่าความเห็นในสังคมไทยแบ่งออกเป็นขั้วตรงกันข้าม แต่เพราะกฎหมายก็ไม่ได้อนุญาตให้แก้ปัญหานี้ได้โดยง่าย ในทางหนึ่ง เสรีภาพในการแสดงออกนั้นได้รับการปกป้องในระดับสากล เพราะเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมประชาธิปไตย และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอาจขัดขวางการใช้สิทธิที่สำคัญดังกล่าวได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง เสรีภาพก็มีขอบเขตที่จำกัด และการใช้เสรีภาพในการแสดงออกนั้น อาจถูกจำกัดได้ด้วยกฎหมายภายในประเทศ ยกตัวอย่างเช่นกฎหมายกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (The International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) อนุญาตให้รัฐกำหนดข้อจำกัดที่จำเป็นอย่างยิ่ง “เพื่อเคารพสิทธิและชื่อเสียงของผู้อื่น” หรือ “เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ หรือของความสลบเรียบของสังคม หรือสาธารณสุข หรือศีลธรรม” ผมขอย้ำให้ชัดว่าข้อจำกัดนั้นๆ ต้องเป็นความจำเป็น “อย่างยิ่ง” ประเด็นนี้ค่อนข้างชัดเจนในทางกฎหมาย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญภายใต้ ICCPR ก็ได้แสดงความกังวลเช่นเดียวกับข้างต้น แต่คณะกรรมการดังกล่าวก็ไม่เคยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพละเมิด ICCPR โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเคยชี้แจงต่อรัฐที่เป็นภาคีของ ICCPR ในการให้ความเห็นทั่วไปหมายเลขที่ 34 ว่า “คณะกรรมการได้สังเกตการถกเถียงในทางสาธารณะในเรื่องบุคคลสาธารณะในแวดวงการเมืองและองค์กรสาธารณะ พบว่าตัว ICCPR ให้ความสำคัญกับการแสดงออกโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นอย่างมาก ดังนั้น แม้ว่าการแสดงออกบางประการอาจมองได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลสาธารณะ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่เพียงพอให้มีการคาดโทษ แม้บุคคลสาธารณะอาจได้รับประโยชน์จากข้อบัญญัติของ ICCPR ก็ตาม

เช่นนี้แล้ว คำถามที่พวกเราทุกคนควรพิจารณาและถกเถียงกันก็คือ เราจะขีดเส้นของการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่ตรงไหน ผมคิดว่านี่ควรเป็นกรอบที่ใช้ในการถกเถียงประเด็นนี้รวมถึงประเด็นความเป็นไปได้ในการปฏิรูปกฎหมาย เราควรตระหนักอยู่เสมอว่าเสรีภาพในการแสดงออกนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการถกเถียงทางการเมืองและสถาบันประชาธิปไตย แน่นอนว่าอาจมีผู้ถกเถียงต่อไปอีกด้วยว่า การกระทำผิดอาญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกก็ควรได้รับการพิจารณาผ่านกรอบความคิดเดียวกัน ทั้งหมดนี้เราต้องถกเถียงกันอย่างเปิดใจ

ตอนนี้คุณกำลังเรียนและทำวิจัยที่เจนีวา มุมมองของคนที่ทำงานในสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยเป็นอย่างไร?

คงเป็นเรื่องยากถ้าจะเหมารวมความเห็นและเสียงสะท้อนของผู้คนที่ทำงานที่นี่ แต่ผมสามารถบอกได้ว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ระดับโลกจำนวนมากที่เป็นวาระลำดับต้นๆ ของหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ เช่น สภาสิทธิมนุษยชน หรือ OHCHR ยกตัวอย่างเช่นสถานการณ์ในอัฟกานิสถานหลังการถอนกำลังของสหรัฐฯ ความโหดร้ายในเมียนมาร์หลังการรัฐประหาร และสงครามในยูเครนที่ส่งผลเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ โดยวิกฤตการณ์เหล่านี้คงยังไม่ยุติลงในเร็วๆ นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับวิกฤตการณ์เหล่านี้แล้ว สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยดูจะยังไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก เช่นถ้าหากคุณลองเลื่อนดูเว็บไซต์ของ OHCHR คุณจะพบว่ารายงานหรือข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยมีจำนวนไม่มากนัก

สหประชาชาติสามารถมีบทบาทในการปฏิรูปมาตรา 112 ได้หรือไม่?

สหประชาชาติและประเทศสมาชิกสามารถมีบทบาทได้แน่นอน เช่น รัฐบาลของประเทศอื่นๆ สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยภายใต้กรอบของกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ได้ ผู้ตรวจการพิเศษว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดเห็นก็สามารถรับตรวจสอบประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของไทยและขอเดินทางมายังประเทศไทยได้ ผู้ตรวจการพิเศษในด้านอื่นๆ ก็อาจสามารถทำแบบเดียวกันได้หากมีขอบเขตอาณัติครอบคลุมประเด็นเรื่องที่ว่า เช่น ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนาย นอกจากนี้ หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญภายใต้สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีด้วยก็สามารถมีบทบาทได้ แม้ว่าช่องทางนี้อาจจะไม่ได้อยู่ภายใต้ “สหประชาชาติ”​ โดยตรง ที่ผมนึกถึงคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภายใต้ ICCPR และคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ถ้าคุณได้บริหารคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย อะไรจะเป็นเรื่องที่คุณให้ความสนใจเป็นเรื่องต้นๆ และเพราะอะไร?

ผมนึกออกหลายเรื่องใหญ่ๆ เลยครับ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการโควิดน่าจะยังส่งผลกับชีวิตคนอยู่ ชาวเมียนมาร์ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่รุนแรงของทหารก็คงยังจะอพยพเข้ามาอยู่

แต่ก็มีบางประเด็นที่ผลอยากจะเน้นให้เห็นด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป ได้แก่ การปฏิรูปทางกฎหมายว่าด้วยการแต่งงานของเพศเดียวกัน กฎหมายคู่ชีวิต กฎหมายห้ามทารุณและบังคับหาย และการไต่สวนและดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและความผิดที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ที่มีจำนวนมากอย่างน่าตกใจ เหล่านี้เป็นโอกาสให้คณะกรรมการได้สร้างคุณูปการต่อสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยยะสำคัญ

สังคมไทยสามารถเผชิญหน้ากับประเด็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้อย่างไร ในเมื่อการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูงจะยังคงทำให้ถูกจับภายใต้มาตรา 112?

ด้วยการเปิดใจ เราจะต้องมุ่งถกเถียงกันอย่างเปิดใจ เราจะต้องพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายอย่างจริงใจ และเราก็ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนใจด้วย ในทางรูปธรรม เราอาจจะต้องหาพื้นที่ที่ผู้ร่วมจะสามารถถกเถียงกันได้อย่างสบายใจ ผมคิดว่าเราอาจจะเริ่มด้วยการถกเถียงในรัฐสภา ซึ่งเป็นที่ที่นักการเมืองมีเอกสิทธิและได้รับการคุ้มครอง นักวิชาการซึ่งรวมถึงนักวิชาการด้านกฎหมายก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการถกเถียงและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้มากขึ้นด้วยการผลิตผลงานที่เป็นไปตามแบบแผนทางวิชาการ สื่อเองก็สามารถมีบทบาทได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ส่วนต่างๆ ของสังคมสามารถขับเคลื่อนประเด็นนี้ได้พร้อมกันและเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องมีการประสานกันอย่างชัดเจน

แต่คุณก็ถามคำถามได้ถูกต้อง ผมไม่ได้บอกว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้ทำได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อยังมีการไต่สวนและดำเนินคดีในขณะที่เรากำลังพูดนี้อยู่ การมีอยู่ของบทบัญญัติเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบั่นทอนเสรีภาพในการแสดงออก แต่แนวทางที่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องตีความและใช้บทบัญญัติดังกล่าวยิ่งทำให้การเปิดบทสนทนายิ่งทำยากเข้าไปใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายในประเทศหลายคนได้ชี้ให้เห็นว่า การกล่าวหาในหลายกรณีมีหลักฐานไม่เพียงพออย่างไรบ้าง การตีความตัวกฎหมายผิดอย่างไรบ้าง และการจับกุมคุมขังไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างไรบ้าง ทั้งหมดนี้ส่งผลทางลบไม่เพียงต่อการอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ได้เนื้อได้หนัง แต่ส่งผลทางลบต่อหลักนิติธรรมด้วย ผมอยากเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษายืนอยู่บนหลักการทางกฎหมายและมาตรฐานในอาชีพอย่างถี่ถ้วน คนเหล่านี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท