Skip to main content
sharethis

องค์กรพัฒนาเอกชนร่วมกันส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสถานทูตประเทศต่างๆ ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานที่ว่ายังคงมีการดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างต่อเนื่อง รวมถึงประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าจะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วประเทศไทยแล้ว โดยให้เรียกร้องรัฐบาลไทยหยุดกดดัน คุกคาม และยุติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ข้อมูล และชุมนุมโดยสงบโดยทันที 

10 พ.ย.2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า 24 องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสถานทูตประเทศต่างๆ ประจำประเทศไทย ขอให้ท่านเอกอัครราชทูตเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการกดดัน คุกคาม และการดำเนินคดีบุคคลเพียงเพราะพวกเขาออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ สิทธิในการเคลื่อนไหว และสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบทางปกครองโดยมิชอบ อีกทั้งยังเรียกร้องให้ถอนฟ้อง หรือมีคำสั่งไม่ฟ้อง และไม่ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับบุคคลต่างๆ รวมถึงบุคคลที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบแต่กำลังถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยทันที 

ในจดหมายเปิดผนึกตอนหนึ่งระบุว่า เพื่อเป็นการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 โดยนับแต่นั้นรัฐบาลฝ่ายบริหารได้มีการขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง ในระยะเวลาดังกล่าวมีการประกาศใช้ข้อกำหนดและมาตรการต่างๆ โดยอาศัยอำนาจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงมาตรการที่มีความคลุมเครือและกว้างเกินไป ส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ในการแสดงออก ในการชุมนุม และในการมีส่วนร่วมของประชาชน 

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 และส่งผลเป็นการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ รวมถึงส่งผลให้ข้อกำหนดอย่างน้อย 47 ฉบับ ประกาศ และคำสั่งอันเนื่องมาจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศและคำสั่งที่ออกตามกฎหมายเฉพาะเป็นอันยกเลิกเช่นเดียวกัน โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้มีผลบังคับใช้รวมทั้งสิ้นยาวนานกว่า 2 ปีครึ่ง 

โดยในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า องค์กรพัฒนาเอกชนเหล่านี้ได้เคยทบทวน ประเมิน และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อตอบสนองสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บทวิเคราะห์ต่างๆ ค้นพบว่ามาตรการทางกฎหมายและทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไทยที่ถูกใช้โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและพันธกรณีทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินคดีอาญาภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบนั้นไม่ถือว่ามีความจำเป็นและได้สัดส่วนแม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่มีโรคระบาด อีกทั้งขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์อันชอบธรรมเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน 

และในจดหมายเปิดผนึกให้ข้อมูลเสริมว่า สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 -เดือนกันยายน 2565 มีผู้ถูกฟ้องร้องและ/หรือดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากการชุมนุมสาธารณะไม่น้อยกว่า 1,468 คน ใน 661 คดี (คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน (อายุไม่เกิน 18 ปี) จำนวน 241 คน ใน 157 คดี โดยการดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นับว่ามีจำนวนประชาชนและคดีมากที่สุดในเหล่าคดีทางการเมืองในห้วงระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ตามมาด้วยการดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา 

ดังนั้นทั้ง 24 องค์กรพัฒนาเอกชน จึงมีข้อเสนอแนะต่อทางสถานทูตต่างๆ ประจำประเทศไทยดังนี้ ขอให้รัฐบาลของท่านเรียกร้องรัฐบาลไทยให้หยุดกดดัน คุกคาม และยุติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ข้อมูล และชุมนุมโดยสงบโดยทันที 

เจ้าหน้าที่รัฐประเทศไทยควรถอนฟ้อง หยุดการสืบสวนสอบสวน มีคำสั่งไม่ฟ้อง ยุติการดำเนินคดี ถอนอุทธรณ์ ไม่อุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้อง โดยใช้เหตุ เช่น การกระทำของผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ผิดกฎหมายอีกแล้วในปัจจุบัน และไม่ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับบุคคลที่กำลังถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งนี้ อาจพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่าเมื่อพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ อัยการสูงสุดมีอํานาจสั่งไม่ฟ้องได้ โดยอำนาจดังกล่าวนั้นรวมถึงการถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ หรือถอนฎีกาด้วย 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐประเทศไทยยังควรพิจารณาเพิกถอนคำตัดสินว่าบุคคลมีความผิดทางอาญาภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ประเทศไทยยังควรประกันและอำนวยความสะดวกแก่การเข้าถึงการเยียวยาและการชดเชยให้เป็นไปโดยรวดเร็ว โดยง่าย มีประสิทธิภาพ อย่างเท่าเทียมกัน สำหรับทุกคนที่โดนละเมิดสิทธิผ่านการกดดัน คุกคาม และดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพของตน 

สำหรับ 24 องค์กรพัฒนาเอกชนประกอบด้วย ALTSEAN-Burma, Amnesty International, ARTICLE 19, ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR), Asia Democracy Network (ADN), Asian Cultural Forum on Development Foundation (ACFOD), Asian Network for Free Elections (ANFREL), CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation Community Resource Centre, Cross Cultural Foundation (CrCF),  ENLAWTHAI, Foundation Human Rights and Development Foundation (HRDF), Human Rights Lawyers Association (HRLA), Human Rights Watch, iLaw, International Commission of Jurists (ICJ) International Federation for Human Rights (FIDH), Lawyers’ Rights Watch Canada, Manushya Foundation, People's Empowerment Foundation (PEF), Protection International Thai Lawyers for Human Rights (TLHR), The Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA), Union for Civil Liberty (UCL) 

อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.amnesty.or.th/latest/news/1052/ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net