นิธิ เอียวศรีวงศ์: โรงเรียนในพิพิธภัณฑ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โชคดีที่คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ แบ่งปันข้อมูลจาก The Study Times ลงในเฟซบุ๊กของเธอ จึงทำให้ผมได้อ่านข่าวที่น่าสนใจมากเรื่องนี้

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซียได้พบว่า นักเรียน 72.1% ในบรรดานักเรียนที่สำรวจกว่า 5 แสนคน ไม่สนใจเรียนต่อ แต่อยากจะเริ่มอาชีพอิสระของตนเอง (คือไม่อยู่ในวงการจ้างงาน) เช่น ทำคอนเทนต์กับสื่อออนไลน์ หรือยูทูบเบอร์ เป็นต้น ผมเดาเอาเองว่า ในบรรดานักเรียนเกือบ 6 แสนคนนั้น คงมีผู้พูดถึงอาชีพอิสระอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยกระมัง เช่น เปิดบูธขายกาแฟ หรือขับแกร็บส่งอาหาร (ซึ่งคือการ “เรียนต่อ” อีกช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะหา “อะไร” เจอ)

สถาบันดังกล่าวแสดงความเห็นต่อปรากฏการณ์นี้ว่า การที่เด็กกว่าครึ่งไม่อยากเรียนต่อ (ในระบบการศึกษาที่จัดกันอยู่) ก็เนื่องจากสาเหตุสามประการ 1.นักเรียนอยากทำรายได้ของตนเองให้เร็วขึ้น 2.การศึกษาในระดับอุดมศึกษาต้องลงทุนสูงเกินไป และ 3.นักเรียนส่วนใหญ่ยากจน

ผมออกจะแปลกใจต่อความเห็นดังกล่าว เพราะไม่น่าจะตอบอย่างนั้นได้โดยปราศจากการสำรวจเพิ่มเติม ฉะนั้น ก็ต้องถือว่าสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซียใช้การเดาล้วนๆ ผมเชื่อว่าถ้าให้สถาบันทำนองเดียวกันในเมืองไทยอธิบาย ก็คงเดาไปในทางเดียวกัน เหตุผลก็เพราะถ้าถือว่าการศึกษาในแบบที่รัฐต่างๆ จัดอยู่เวลานี้ เกือบเป็นเส้นทางชีวิตเดียวที่ทำให้ผู้ตอบกลายเป็นนักวิชาการประจำสถาบันทางวิชาการต่างๆ ได้อยู่ในเวลานี้ พูดง่ายๆ คือทำมาหาเลี้ยงตัวได้สบายดีพอสมควร เพราะโลกของพวกเขาเป็นโลกที่ต้องเดินผ่านทางนี้ไปให้ไกลๆ จึงจะบรรลุจุดหมายอันน่าพอใจนี้ได้ ฉะนั้นจึงต้องเดาอย่างเดียวกันอย่างหลีกไม่ได้

ดังนั้น ถ้าจะพูดว่าคำตอบของนักวิชาการที่ผ่านยุคสมัยซึ่งทำให้เขาอย่างน้อยก็เข้าสู่วัยกลางคนแล้ว กับความเห็นของนักเรียนในโรงเรียนนั้นมาจากความต่าง “รุ่นอายุ” ก็ได้ และเมื่อไรที่เราพูดถึงความต่างของ “รุ่นอายุ” เรากำลังพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่ทั้งกว้างและลึกจนเราเองก็จับได้ไม่ค่อยมั่น แต่สำนึกได้ดีว่าเป็นเหตุให้คนรุ่นปู่, ต่างจากรุ่นพ่อ และรุ่นพ่อต่างจากรุ่นเรา… มากด้วย

คำตอบของนักเรียนที่สำรวจคงมากพอจะเป็นตัวแทนของนักเรียนทั้งหมดได้ว่า กว่าครึ่งของนักเรียนเห็นว่าโรงเรียนและการศึกษาในแบบที่เขาได้รับอยู่เวลานี้ ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเขา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือในโลกของเขานั้น ต้องเตรียมตัวหรือรับการศึกษาที่แตกต่างสิ้นเชิงจากการศึกษาที่เราจัดให้เยาวชนอยู่ในเวลานี้

อันที่จริงระบบการศึกษาที่เรารู้จักในเวลานี้ (โรงเรียน-หลักสูตรร่วม-การสอบ-วุฒิบัตร-ตลาดงาน) ก็คิดและสร้างกันขึ้นเพื่อตอบโจทย์ชีวิตที่เปลี่ยนไปเหมือนกัน นั่นคือจากยุคสมัยของการผลิตเกษตรกรรมเพื่อยังชีพและจ่ายรัฐ มีตลาดรับซื้อผลิตผลขนาดเล็กในเขตเมือง ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่แห่ง มาสู่ยุคแห่งการผลิตทางอุตสาหกรรม ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญคือโรงงาน และตลาดทั่วโลก

โรงงานอย่างเดียวก็เปลี่ยนชีวิตคนไปแทบจะสิ้นเชิงแล้ว เช่น “เวลา” ซึ่งในชีวิตเกษตรกรรม ค่อนข้างเป็นของใครของมันอยู่มาก แต่โรงงานกลายเป็น “เวลา” ร่วมของทุกคน (จนกระทั่งดวงอาทิตย์ไม่สามารถบอก “เวลา” แก่ใครได้อีกต่อไป นาฬิกาจักรกลจึงกลายเป็นความจำเป็น) “เวลา” บางช่วงในชีวิตเช่นเข้าโรงงานทำงาน อาจแผ่ไปกำหนด “เวลา” ส่วนอื่นที่เหลือทั้งหมด นับตั้งแต่เข้านอน, กินข้าว ไปจนถึงธุระส่วนตัวอื่นๆ

จะสอนชาวนาที่ถูกเบียดให้หลุดจากที่ดินของตนเข้าสู่โรงงานให้ดำเนินชีวิตใน “เวลา” ร่วมของโรงงานได้อย่างไร ก็ให้ลูกหลานชาวนารับการศึกษาในโรงเรียนสิครับ เพราะโรงเรียนคือการจำลองชีวิตโรงงานมาปลูกฝังให้เด็กคุ้นเคยนั่นเอง กระดิ่งโรงเรียนนำไปสู่หวูดโรงงาน

ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ระบบโรงเรียนยังปรับตัวไปตามการพัฒนาสลับซับซ้อนมากขึ้นของโรงงานไปด้วย มหาวิทยาลัยเปลี่ยนจากแหล่งสอนลูกผู้ดีมาเป็น แหล่งผลิตผู้บริหารโรงงานระดับสูง, วิศวกรระดับสูง, พ่อค้าระดับสูง, นักโฆษณาระดับสูง ฯลฯ เปิดรับนักศึกษาทีละเป็นหมื่นเป็นแสน พร้อมทั้ง “คณะ” ต่างๆ ที่มีเป้าหมายชัดเจนแน่นอนแล้วว่า จะเรียนจบไปทำอะไร (ในสมัยก่อน เขาสอนให้ลูกผู้ดีมีความสามารถเป็นผู้ดีเป็นเท่านั้น ส่วนจะไปทำอะไรกินเป็นเรื่องของมึง ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องทำอะไรเพราะขึ้นชื่อว่าผู้ดีย่อมเป็นปรสิตชนอยู่แล้ว

อาจเป็นด้วยเหตุนี้ ที่ทำให้ผู้คน โดยเฉพาะนักการศึกษาคิดว่า ระบบโรงเรียนสามารถสร้าง “ทักษะใหม่” ได้ในราคาถูก แม้ว่าเงื่อนไขการผลิตได้เปลี่ยนไปแล้ว ก็ได้แต่ปรับโน่นเติมนี่ลงไปในระบบโรงเรียน แทนที่จะรื้อมันทิ้งไปแล้วคิดถึงระบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกเลย

(อันที่จริง สังคมต้องจ่ายให้แก่ระบบโรงเรียนน้อยที่สุดจริงหรือไม่ ผมก็คำนวณไม่ถูก แต่มองเห็นราคาในทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่ตัวตึกและเงินเดือนครูและผู้บริหารระดับต่างๆ อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้วเท่านั้น ผมคิดว่ามีความสิ้นเปลืองที่เราเคยชินไปแล้วอีกหลายอย่างในระบบโรงเรียน เช่น ครอบครัวสูญเสียแรงงานไปแก่โรงเรียน จนบางครั้งเราไปคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียนสำคัญเสียยิ่งกว่าเด็กกับบ้าน โรงเรียนตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ผิดว่า เด็กทุกคนเหมือนกันหมด ตลอดไปจนถึงคนงานทุกคน, ผู้บริหารทุกคน, ศิลปินทุกคน, นักวิทยาศาสตร์ทุกคน ฯลฯ ก็เหมือนกันหมดไปด้วย ความเป็นปัจเจกหายไป ทั้งๆ ที่นวัตกรรมในทุกด้านเกิดจากความเป็นปัจเจกทั้งสิ้น ในโลกที่นวัตกรรมไม่สู้สำคัญก็คงไม่เป็นไร แต่ในโลกที่นวัตกรรมกลายเป็นหัวใจของการแข่งขัน ระบบโรงเรียนจึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง)

และนั่นคือเหตุผลที่สถาบันวิทยาศาสตร์ (ผมเข้าใจว่า นอกจากของมาเลเซียแล้ว อีกหลายร้อยแห่งทั่วโลกก็คงเหมือนกัน) ให้คำอธิบายแก่ปรากฏการณ์นักเรียนเลิกเรียนกลางคันจำนวนมากไว้แบบอย่างที่กล่าวข้างต้น คือเกาะระบบโรงเรียนไว้แน่นไม่ปล่อยให้ใครเฉไฉออกไปได้ เว้นแต่การคิดผิด, ความไม่อดทน และความยากจน

ในโลกที่เขาผลิตหุ่นยนต์ที่มีทักษะแรงงานเฉพาะได้เป็นล้านๆ ตัว นับตั้งแต่เสิร์ฟกาแฟ ไปจนถึงดูแลคนแก่ ประกอบรถยนต์หรือเครื่องบินทั้งลำได้อย่างในทุกวันนี้ การผลิตคนเข้าโรงงาน เพื่อเป็นแรงงาน “ระดับ” ต่างๆ ดูจะหมดความจำเป็นไปแล้ว แต่โรงงานก็ยังคงต้องการแรงงานคนอยู่ต่อไป คือเป็นแรงงานที่สามารถพลิกผันทักษะของตนให้แปรเปลี่ยนไปได้ในท่ามกลางความไม่คงที่ของ “ปัจจัยการผลิต” ด้านต่างๆ จะผลิตหุ่นยนตร์ให้เผชิญกับความไม่คงที่คงทำได้ยาก ถึงทำได้ก็เผชิญความไม่คงที่ได้จำกัด

ผมไม่ทราบหรอกครับว่า งานดังกล่าวที่ต้องให้คนทำต่อไปในโรงงานคืออะไร แต่ผมเชื่อว่า คนที่มีความรู้ด้านโรงงานจะสามารถระบุได้ โดยเฉพาะโรงงานที่สลับซับซ้อนด้วยฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเครื่องมือ ซึ่งจะเป็นโรงงานในอนาคตมากกว่าโรงงาน “รับจ้างทำของ” อย่างในไทยหรือมาเลเซียปัจจุบัน

อันที่จริง ผมใช้คำว่า “โรงงาน” อาจทำให้ไขว้เขวไปได้ แหล่งผลิตใหญ่ในโลกอนาคต (ซึ่งเห็นได้แม้ในปัจจุบัน) คืองานภาคบริการครับ หุ่นยนต์ตัดหญ้าได้เร็วและเนี้ยบกว่าคนแน่นอน แต่การตัดสินใจตัดให้เหลือหญ้ายาวไว้สักเท่าไร และสนามหญ้าควรจะยักเยื้องไปท่ามกลางหมู่ต้นไม้และไม้ดอกอย่างไร จึงจะดึงดูดคนให้เข้ามานั่งกินกาแฟถ้วยละ 250 บาท ต้องอาศัยคนออกแบบ (ซึ่งอาจใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือแทนปากกาและกระดาษ)

ลองคิดไปเถิดครับ งานในโลกข้างหน้ามันเปลี่ยนไปอย่างไร และต้องการกำลังแรงงานคนประเภทไหนบ้าง ระบบโรงเรียนที่เรารู้จักคุ้นเคยจะสามารถผลิตคนอย่างที่กล่าวได้หรือ

(นายทุนไทยชอบพูดถึง คนที่สามารถเขียนคำสั่งและใช้งานหุ่นยนต์ได้ คุณคิดจากโรงงานรับจ้างทำของของคุณเท่านั้น อย่าลืมว่าโรงงานผลิตเสื้อยืดก็ยังต้องทำงานต่อไป แต่ถ้าทั้งโรงงานใช้แรงงานแค่ 10 คน เขาจะย้ายฐานการผลิตมาที่บ้านมึงหรือ)

ผมไม่ได้หมายความแต่เพียงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้เราต้องฝึกคนที่ใช้เครื่องมือใหม่ๆ เป็น แต่ดำรงระบบโรงเรียนไว้ต่อไป ผมต้องการจะพูดว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมันใหญ่กว่าเทคโนโลยี จนทำให้ระบบโรงเรียนไม่รองรับการฝึกทักษะของผู้คนได้ต่อไป แน่นอนการอ่านออกเขียนได้และการคำนวณพื้นฐานยังคงจำเป็นในชีวิตข้างหน้า แต่จะทำให้คนทำสิ่งเหล่านี้เป็นได้อย่างไร คงมีวิธีการที่มีประสิทธิภาพหลายอย่าง โรงเรียนอาจเป็นวิธีที่ด้อยประสิทธิภาพที่สุดก็ได้

ยิ่งคิดถึงการคิดนอกกรอบ ซึ่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของการผลิต ไม่เฉพาะแต่เรื่องวิทยาการดิจิทัล ซึ่งถูกสื่อทำให้เป็นพ่อมดใหม่ ที่ง่ายในการขายสื่อ แต่ที่จริงแล้ว การคิดนอกกรอบสร้างนวัตกรรมในด้านอื่นๆ ไม่น้อยเลย เพียงแต่อธิบายยากกว่า เช่นการผ่าตัดแบบใหม่, การวินิจฉัยโรค, วิศวกรรม, การศึกษา, การตลาด, การจัดการทรัพย์สิน ฯลฯ คิดไปเถิดครับ ไม่ว่าในด้านอะไร ก็ล้วนมีความคิดนอกกรอบและความสำเร็จรูปต่างๆ นอกจากเงินทั้งนั้น

ความสามารถที่จะคิดให้ต่าง (แม้อาจไม่นำไปสู่ความสำเร็จอะไรในบั้นปลาย) เป็นอริโดยตรงกับระบบโรงเรียนนะครับ เราสร้างระบบโรงเรียนขึ้นมาเพื่อสร้าง “แรงงาน”, ผู้บริโภค, ศิลปิน, นักวิชาชีพ, พลเมือง (และข้าราษฎร) ฯลฯ ที่อยู่ในพิมพ์เดียวกัน ทั้งเพื่อประโยชน์ในการผลิตแบบอุตสาหกรรม, การเมืองแบบรวมศูนย์, การพาณิชย์แบบตลาดขนาดใหญ่, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบรัฐประชาชาติที่เท่าเทียมกันโดยทฤษฎี ฯลฯ หลายอย่างที่ได้ประโยชน์จากระบบโรงเรียนเปลี่ยนไปแล้ว หรือเปลี่ยนไปบางส่วน (เช่น คนส่วนใหญ่ดูภาพยนตร์ที่บ้านเรือนของตน มากกว่าในโรงภาพยนตร์ ทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต้องหาแนวทางที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะแนวและเล็กลง) และอีกหลายอย่างกำลังจะเปลี่ยนอย่างแน่นอนในภายหน้า

ดังนั้น การศึกษาที่เหมาะกับปัจจุบันและอนาคต จึงไม่เหมือนกับระบบโรงเรียนเสียแล้ว แทบจะกล่าวได้ว่าการศึกษาไม่ควรมีบุคลิกภาพเป้าหมายในอุดมคติเพียงหนึ่งเดียวอีกแล้ว หากถามว่ารับการศึกษาแบบนี้ไปทำไม คำตอบจึงน่าจะเป็นว่าเพื่อให้เขาเป็นเขาที่เก่งกว่าและดีกว่าเขา หรือการศึกษาคือการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนไปสู่จุดสูงสุดของมัน

เป้าหมายดังกล่าวนั้น ไม่จำเป็นต้องบรรลุได้ด้วยโรงเรียนเพียงอย่างเดียว ฟองสบู่เศรษฐกิจแตกใน 2540 ทำให้หลายคนทั้งหนุ่ม-สาวหรือแก่ ได้เรียนรู้อะไรอีกมากสำหรับชีวิตของตนเอง ชนิดที่ไม่อาจเรียนรู้ได้ในโรงเรียน (และจนถึงวันนี้ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป 25 ปีแล้ว เรายังไม่มีการศึกษารวบรวมความรู้ดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ตราบเท่าที่ความรู้ยังไม่ถูกจัดให้เป็นระบบ โรงเรียนก็สอนไม่ได้ และด้วยเหตุดังนั้น โรงเรียนของทั้งโลกจึงมักสอนอะไรที่ล้าสมัยเสมอ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย)

โดยสรุปก็คือ การศึกษาระบบโรงเรียนมุ่งให้แต่ละคนได้เรียนรู้ “ความรู้คนจำนวนมากมีร่วมกัน” ในขณะที่ระบบการศึกษาของปัจจุบันและอนาคตมุ่งให้แต่ละคนเรียนรู้สิ่งที่ตนสนใจ เพื่อต่อยอดความรู้นั้นด้วยการนำไปใช้ในทางที่คนอื่นไม่ได้ใช้ หรือทำให้ความรู้นั้นยิ่งงอกงามขึ้นไปอีก และด้วยเหตุดังนั้น “สถาบัน” หลายอย่างของโลกปัจจุบันจึงต้องเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาแน่นอน ดังที่ยกตัวอย่างไปแล้วถึงตลาด, ระบบการผลิต, การเมืองแบบรวมศูนย์ ฯลฯ

อย่าลืมว่า การศึกษาแบบ “ความรู้ที่คนจำนวนมากมีร่วมกัน” ย่อมจัดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนไปรับใช้คนอื่น เช่น ชาติ, กษัตริย์, ลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือนายทุน เป็นต้น แต่การศึกษาที่ต่างคนต่างสนใจเฉพาะ จัดขึ้นเพื่อเอาไปรับใช้ผู้เรียนเอง

(แต่ไม่มีอะไรดีอย่างเดียวและไม่มีอะไรเสียอย่างเดียว ผมจึงยอมรับว่าระบบการศึกษาแบบปัจจุบันและอนาคตที่ผมพูดถึงนั้น จะยิ่งเร่งความเสื่อมสลายของสิ่งที่เคยถือว่าเป็น “กลุ่ม”, “ก้อน”, “องค์กร”, “รูปแบบความสัมพันธ์”, “สถาบัน”, “รัฐ” ฯลฯ ที่มีอยู่เวลานี้ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะมีการศึกษาแบบใหม่ดังกล่าวหรือไม่ “กลุ่ม” เหล่านี้กำลังถูกท้าทายอย่างมาก ถึงไม่ล่มสลายลง ก็ต้องนิยามตนเองใหม่เพื่อรักษาความหมายในชีวิตของผู้คนต่อไป-เช่น ชาติมีความหมายเฉพาะในเพลงชาติ จะมีความหมายต่อชีวิตผู้คนได้ ก็ต้องทำให้คนรู้สึกว่ามีชาติแล้วชีวิตของเขาดีขึ้นกว่าไม่มี)

ถ้าเอาการศึกษาออกจากระบบโรงเรียน การศึกษาก็จะหลุดจากมือชนชั้นนำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ ถึงไม่หลุดหมดก็หลุดจากการควบคุม คิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว ก็ตื่นเต้นแล้วครับ เพราะความเปลี่ยนแปลงคงใหญ่จนจินตนาการได้ไม่ถึงครึ่งของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นจริงข้างหน้า

แล้วระบบการศึกษาใหม่จะเป็นอย่างไร? ผมตอบไม่ได้ครับ เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด ผมเพียงแต่อยากจะเตือนว่า ระบบการศึกษาซึ่งรอเราอยู่ข้างหน้า (ไม่ว่าเราจะอยากได้มันหรือไม่) จะไม่ใช่ระบบโรงเรียนอีกต่อไป มันเป็นเรื่องใหญ่กว่าแค่เรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ทัน อย่างที่มักได้ยินเสมอจากนักการศึกษาและนักธุรกิจไทย

ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ผมคิดว่า “เนื้อหา” หรือ content ของการศึกษาชนิดรวมศูนย์ คือทุกคนเรียนเหมือนกันหมดได้ตายลงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลหรืออะนาล็อกก็ตาม “เนื้อหา” ที่ประกอบกันขึ้นเป็นหลักสูตร กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสร้างให้แก่ตัวเอง ตามความต้องการและความชอบเฉพาะตนของตนเอง

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_611363

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท