Skip to main content
sharethis

พังงาฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง สร้างโอกาสภายหลังพ้นโทษ

นางสาวธัญรัศม์ ศรีริพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพังงา ได้มอบหมายให้นายยุทธภูมิ บุญกระสินธุ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาฝีมือแรงงานพังงา พร้อมด้วยนายอัมรินทร์ หนูไพยันต์ และนายพลวรรธน์ กะลาสี ครูฝึกฝีมือแรงงานประจำสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพังงา เข้าแนะแนวการศึกษาสายการเรียนวิชาชีพหลักสูตรช่างปูนปั้นไม้เทียม หลักสูตรช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ และหลักสูตรช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ให้กับผู้ต้องขังที่เป็นเยาวชน ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 10 เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพ สร้างโอกาส ภายหลังพ้นโทษ พร้อมทั้ง ได้มอบวุฒิบัตรให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการทำปูนปั้นไม้เทียมเพื่องานประดับ ให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมในปีงบประมาณที่ผ่านมาด้วย

ต่อมานายนราศักดิ์ ส่งศรีบุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 10 ได้มอบหมายให้นางสาวอุไรรัตน์ เจริญสุข นักสังคมสงเคราะห์ขำนาญการ รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 10 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ได้เข้าเยี่ยมหน่วยเรียนวิชาชีพของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 10 ซึ่งได้จัดฝึกอบรมวิชาชีพตามโครงการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ กิจกรรม ฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพวิถีใหม่ (ผู้ต้องขัง/เยาวชนสถานพินิจ) หลักสูตรช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร 90 ชั่วโมง และหลักสูตรช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ 90 ชั่วโมง ดำเนินการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 10 - 30 พฤศจิกายน 2565

ที่มา: newswit, 11/10/2565

ห่วงแรงงานไทยถูกหลอกไปญี่ปุ่น ก.แรงงาน เร่งตรวจสอบช่วยเหลือเหยื่อ

10 พ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณี คนไทย 27 ราย ยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อพล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานวุฒิสภา ขอความช่วยเหลือ “เนื่องจากถูกหลอกลวงจากนายหน้าจัดหางาน ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย” อ้างว่าสามารถพาไปทำงานประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ “วีซ่าทักษะเฉพาะทาง”Specified skilled Worker จนทำให้แรงงานไทยที่หลงเชื่อสูญเงินค่าบริการจัดหางานไปแล้วรายละ 20,000 – 70,000 บาท

สุดท้ายถูกเลื่อนกำหนดเดินทางไปเรื่อย ๆ เมื่อเห็นพิรุธ ขอเงินคืนกลับถูกนายหน้าบ่ายเบี่ยง ทำให้บางรายเสียทั้งเงินและงาน เนื่องจากแจ้งลาออกจากงานล่วงหน้า เพื่อเตรียมเดินทางไปทำงานที่ใหม่ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก รวมมูลค่าความเสียหายรวม 5 ล้านบาท

ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับทราบเรื่องแล้วไม่นิ่งนอนใจ ได้สั่งการกรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวทันที พบว่า นายซังคิวและพวก ที่ถูกแรงงานไทย 27 คน รวมตัวกันร้องเรียนนั้น ไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานจากกรมการจัดหางาน จึงไม่สามารถรับสมัครและจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศได้

กรมการจัดหางานจะเร่งดำเนินคดีต่อไป ในส่วนโรงเรียนสอนภาษาดังกล่าว ได้ประสานหน่วยงานเจ้าของเรื่องรับไปดำเนินการต่อ ทั้งนี้คนไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก่อนหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ใด ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานกับกรมการจัดหางานก่อน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานมีศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ทำหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวัง การโฆษณาจัดหางานบนสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเข้มงวด หากพบผู้ใดโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้

โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ผู้ใดที่จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือ doe.go.th/overseas เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ doe.go.th/ipd

กรณีประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายโทรศัพท์ 0 2245 6708 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 10/11/2565

กรมชลประทานเตรียมพร้อมเปิดจ้างแรงงาน หวังสร้างรายได้เสริมเกษตรกร

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ ด้วยการดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปีงบประมาณ 2566 ปฏิบัติงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยในปีนี้ มีแผนจ้างแรงงานวงเงินกว่า 5,336 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ประมาณ 86,000 คน ระยะเวลาการจ้างอยู่ระหว่าง 3 – 10 เดือน วงเงินจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 26,100-87,000 บาท/คน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ้างต่อคน) โดยเกณฑ์การจ้างแรงงานจะพิจารณากลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่ 2. สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ 3. ประชาชน และผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่ และ 4. หากแรงงานในพื้นที่มีไม่เพียงพอให้พิจารณาจ้างเกษตรกรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลการรับสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 10/11/2565

บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกลุ่มเสี่ยงสูงสุด "ภาวะหมดไฟ" กรมสุขภาพจิตขอสังคมร่วมส่งกำลังใจ

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลาการทางการแพทย์ซึ่งต่างมีความมุ่งมั่นทำงานช่วยเหลือดูแลสุขภาพประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อนมาโดยตลอด มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะมีภาวะหมดไฟ (Burn-out) ดังปรากฎผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Healtn Check In เพิ่มสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2565 ค่าเฉลี่ย 3 ไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 12.2 มีสาเหตุมาจากภาระความรับผิดชอบในภาวะวิกฤตของผู้ป่วยและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน

สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความเหนื่อยล้าของจิตใจในการดูแลตนเองให้สามารถควบคุมอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสม   ในทุกสถานการณ์อย่างภาวะปกติได้ จึงอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารและศักยภาพการทำงานที่อาจจะลดลง ดังนั้น หน่วยงานสาธารณสุขควรตระหนักและให้ความสำคัญ เรื่องการดูแลสุขภาพใจบุคลากรทางการแพทย์ โดยต้องช่วยกันสอดส่องดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน คัดกรองสุขภาพใจอย่างสม่ำเสมอด้วย (MHCI) จัดให้มีเวลาและสถานที่ผ่อนคลายให้กับตนเองและมีเวลาให้ครอบครัว

พร้อมปรับสภาพแวดล้อมให้สะอาดน่าอยู่น่าทำงาน เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกและทำสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษนอกเหนือจากการทำงานปกติ ให้อิสระและเคารพการตัดสินใจในการรับงานที่ไม่ขัดต่อมาตรฐานในการรักษา* รวมทั้งสร้างสมดุลชีวิตและการทำงาน (Work-life balance) เพื่อสุขภาพกายและจิตที่ดีขึ้น ซึ่งหากพบบุคลากรทางการแพทย์ที่มีภาวะเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตควรให้ได้รับการดูแลรักษา

กราคม 2565 เป็นต้นมา พบว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สุด หรือประมาณ 1 ใน 8 คน ที่มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) สอดคล้องจากการศึกษาของต่างประเทศ พบว่า อาชีพ ที่มีภาวะหมดไฟสูงที่สุด คือ อาชีพแพทย์ *   ทั้งนี้ ยังพบว่าในบางพื้นที่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีสถานการณ์ภาวะหมดไฟ (Burn-out) เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่องเป็นพิเศษ เช่น ในสามเดือนแรก (เดือนมกราคม - มีนาคม) มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) ร้อยละ 9.1 และเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน เมษายน – มิถุนายน เป็น ร้อยละ 14.4   

และล่าสุด ช่วงเดือน กรกฎาคม – กันยายน ยังสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ 18.4 และจากสถานการณ์ทั่วประเทศ พบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาครัฐ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ทั้งสิ้นจำนวนไม่ต่ำกว่า 910 ราย ได้รับการดูแลติดตามต่อเนื่องในระบบสาธารณสุขแล้ว จำนวน 896 ราย คิดเป็นร้อยละ 98 ของผู้มีความเสี่ยง

กรมสุขภาพจิตขอให้สังคมเข้าใจและส่งกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุข ดูแลสุขภาพใจ และร่วม “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” ด้วยการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตทางคิวอาร์โคด MHCI ผ่านไลน์แอพลิเคชั่นพร้อมรับทราบผลและคำแนะนำเบื้องต้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มใจและอารมณ์ด้วยตนเอง และยังสร้างวัคซีนใจให้สังคมมีสุข ป้องกันภาวะหมดไฟ ให้ชาวสาธารณสุข ร่วมเติมพลังและส่งกำลังใจ เพื่อดูแลสุขภาพคนไทยไปด้วยกัน Health Workers, We care

ที่มา: Hfocus, 9/11/2565

พรรคแรงงานสร้างชาติ นัดถกแกนนำ-นักวิชาการเจ้าของไอเดียธนาคารคนงาน

10 พ.ย. 2565 ที่โรงแรมเบย์ ศรีนครินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ นัดประชุมกรรมการบริหารพรรค จำนวน 15 คนเพื่อวางแนวนโยบายพรรคเรื่องการจัดตั้งธนาคารแรงงานซึ่งถือเป็นนโยบายที่เป็นจุดขายสำคัญของพรรค อันเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้งโดยเชิญรศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตในฐานะเจ้าของแนวคิดการตั้งธนาคารแรงงานมาให้ความรู้กับแกนนำพรรคโดยเฉพาะ

โดยนายมนัส หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าวว่า การประชุมคีย์แมนพรรคในครั้งนี้ เราต้องการจัดทำคู่มือการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อนำเสนอ กกต.โดยจะคัดย่อพิมพ์เขียวของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณมาแล้ว เราจะนำเนื้อหาดังกล่าวมาทำเป็นคู่มือให้ประชาชนอ่านเข้าใจง่าย มีความกระชับ ซึ่งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ใช้แรงงานเมื่ออ่านแล้วจะเห็นชัดเจนว่าธนาคารแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ และทำได้ไม่ยาก โดยสามารถเป็นแหล่งทุนในการดำรงขีวิตให้ผู้ใช้แรงงานทุกคน โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมเงินกู้นอกระบบ ที่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ20-25 ขณะเดียวกันแกนนำพรรคที่มาประชุมจะได้ช่วยกันไปสื่อสารอธิบายกับเครือข่ายผู้ใช้แรงงานให้รับทราบในวงกว้างต่อไป

“จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องผู้ใช้แรงงานจำนวนหลายสิบโรงงานทุกคนขานรับนโยบายตั้งธนาคารแรงงานของพรรคแรงงานสร้างชาติอย่างกว้างขวาง เพราะเมื่อมีธนาคารแรงงานเกิดขึ้นแล้วผู้ประกันตนที่อยู่ในระบประกันสังคม ที่ปัจจุบันมีอยู่หลายสิบล้านคนจะได้ประโยชน์อย่างมาก ส่วนแนวทางดำเนินการต้องมีการรณรงค์ให้สำนักงานประกันสังคมเปิดทางนำเงินประกันสังคมจำนวน 30,000 -50,000 ล้านบาทไปฝากไว้ที่ธนาคารรัฐเพื่อให้ผู้ประกันตนกู้ยืม แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนต้องนำบัตร ATM ที่นายจ้างโอนเงินค่าจ้างให้มาไว้เป็นหลักประกัน และผู้ประกันตนจะต้องถูกหักเงิน 10% เป็นเงินออมด้วย”หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าว

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค เกือบไม่มีพรรคไหนที่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน ยกเว้นพรรคการเมืองที่มีหัวหน้าพรรคมาจากผู้นำแรงงานจริงๆที่เข้าใจเรื่องนี้ ทั้งที่ผู้ใช้แรงงานคือคนส่วนใหญ่ที่ออกเสียงเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้ ทั้งนี้การจะทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำให้แรงงานมีฐานเงินทุนเป็นของตัวเอง ซึ่งการตั้งธนาคารแรงงานตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี ตนขอยืนยันว่าการดำเนินการตั้งธนาคารแรงงานจะไม่กระทบเงินกองทุนประกันสังคม เพราะไม่ได้นำเงินประกันสังคมมาใช้สักบาท เป็นเพียงแต่นำเงินประกันสังคมไปฝากไว้ที่ธนาคารรัฐ เช่น ออมสิน กรุงไทย ประมาณไม่เกิน 50,000 ล้านบาท โดยที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารปกติ แต่มีเงื่อนไขให้ทำเป็นลักษณะบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ระหว่างสปส.กับธนาคารรัฐที่รับฝากเงินสปส.

“จากนั้นธนาคารจะนำเงินที่สปส.ฝากไปปล่อยกู้คนงานแบบไม่เข้มงวด 100% ซึ่งผู้ประกันตน 1 คนสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน เสียดอกเบี้ย 10% ผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขว่า ผู้กู้ยืมต้องออม 10% (ฝากประจำ) และเงินออมนี้เป็นหลักประกันของธนาคารและเป็นการใช้หนี้เพื่อมาพัฒนาคนด้วย วิธีการนี้เราจะมีเงินประจำของผู้ประกันตนที่กู้ยืมนำไปตั้งธนาคารแรงงาน ถามว่าวิธีการแบบนี้เงินประกันสังคมจะหายไปตรงไหน เพราะไม่ได้แตะเงินประกันสังคมสักบาทเดียว”รศ.ดร.ณรงค์ ระบุ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/11/2565

เผยไฮซีซั่นปี 2565 ท่องเที่ยวฟื้นเร็ว แต่ขาดแคลนแรงงาน

ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักรวมถึงภาคการศึกษาด้วย นักเรียนหลายคนที่เคยตัดสินใจเรียนสายท่องเที่ยวและการโรงแรมต้องเปลี่ยนไปเรียนสายอาชีพอื่น ด้วยกลัวความไม่แน่นอนของสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ยอดนักศึกษาที่มาสมัครเรียนในช่วงโควิด-19 ลดลง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ทำให้โรงแรมต่าง ๆ ขาดแคลนพนักงาน ส่งผลให้หลายโรงแรมต้องการพนักงานจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนของการรับนักศึกษาฝึกงาน หลายโรงแรมได้มีการเข้ามาติดต่อกับคณะฯ เพื่อวางแผนในการเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อมก่อนการฝึกงาน ตอบโจทย์ความต้องการในการทำงานในช่วงหลังโควิด-19

ดังนั้น คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ร่วมกับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) จัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มคุณภาพการฝึกงานแบบสหกิจศึกษา (Cooperative and Work Integrated Education หรือ CWIE) โดยมีนายธวัช ทองอินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และนายกฤตย บุญไทย ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การศึกษาและแรงงานสัมพันธ์ภาครัฐ จาก Central Restaurant Group หรือ CRG มาให้ความรู้และแนวทางการฝึกงานในระดับผู้ช่วยผู้จัดการร้าน ในเครือ CRG ซึ่งมีจำนวนกว่า 19 แบรนด์  ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

“อยากให้นักศึกษาทุกคนรักษาโอกาสของตัวเองไว้ ต้องเรียนรู้งานให้เร็ว และเข้าใจทักษะไอทีให้มาก โดยเฉพาะทักษะความเป็นผู้ประกอบการที่ฝังอยู่ใน DNA ของเด็ก DPU ทุกคน ต้องนำมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ และที่สำคัญ Skill ที่เด็กการท่องเที่ยวและการโรงแรมต้องมี คือ ภาษาอังกฤษ และโปรแกรมที่ช่วยในการออกแบบ อย่างเช่น Photoshop  Canva เพราะในการฝึกงานต้องใช้ภาษาอังกฤษ และต้องทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมด้วย” ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าว

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 10/11/2565

รมว.แรงงาน ห่วงแรงงานถูกหลอกไปไนจีเรีย สั่ง กกจ.เร่งตรวจสอบพร้อมช่วยเหลือ

9 พ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีหญิงไทยทำงานนวด ในเมืองลากอส สหพันธ์สาธารณรัฐในจีเรีย จำนวน 12 คน ขอความช่วยเหลือให้พาออกจากสถานที่ทำงานและเดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากนายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามสัญญา ถูกทำร้ายร่างกาย และกักขัง กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งประสานไปยังกรมการกงสุลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งพาแรงงานไทยกลับประเทศ เบื้องต้น สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา ประเทศไนจีเรีย ตรวจสอบพบว่า แรงงานยังมีสภาพความเป็นอยู่ปกติ ไม่มีการทำร้ายร่างกาย หรือกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยสถานทูตจะดำเนินการให้แรงงานไทยที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศได้กลับสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัย

นายสุชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พบคนไทยถูกหลอกลวงให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยวิธีผิดกฎหมาย และต้องตกเป็นเหยื่อทำให้เสียทรัพย์ ถูกทำร้ายร่างกาย บังคับใช้แรงงาน จนถึงบังคับค้าประเวณีจำนวนมาก เช่นเดียวกับแรงงานไทยกลุ่มนี้ ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ไม่ได้เดินทางไปตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2537 กำหนดไว้ ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลง และเป็นภัยต่อตนเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รู้สึกห่วงใยแรงงานไทยที่ยังคงมีพฤติการณ์ลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมายเพราะความเชื่อใจผู้ชักชวนหรือสาย นายหน้า จึงกำชับให้กรมการจัดหางานดำเนินการป้องกันทุกวิถีทางมิให้แรงงานไทยต้องตกเป็นเหยื่อ

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า กกจ.รับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการลักลอบเดินทางไปทำงานต่างประเทศ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมอบหมายให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือที่คนหางานนิยมเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ลงพื้นที่ให้ความรู้คนหางาน เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีความรู้ เท่าทันเล่ห์กลของสาย-นายหน้าเถื่อน ไม่ตกเป็นเหยื่อ สามารถช่วยสอดส่องผู้มีพฤติการณ์น่าสงสัยที่เข้ามาหลอกลวงคนในชุมชน และแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ได้

อธิบดี กกจ.กล่าวย้ำว่า ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ระบุว่าผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กกจ. มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ทั้งนี้ คนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ หรือประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดต่อได้ตามช่องทาง ดังนี้ 1.ติดตาม ศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas 2. ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th 3. ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd 4.ประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กกจ. หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 5. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 9/11/2565

ร้อง กมธ.แรงงานฯ ตรวจสอบจัดส่งคนงานเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดน

9 พ.ย.2565 นายพรหมกานต์ จันทีชื่น และนายอัศวเทพ ทวีธนวานิชย์ ยื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศสวีเดน ของบริษัทเอกชน ที่ได้รับการอนุญาตให้จัดส่งคนงานไปทำงานเก็บเบอร์รี่

รวมถึงตรวจสอบการอนุมัติของกรมการจัดหางาน ไม่ได้ควบคุมให้การจัดส่งคนงานเป็นไปตามการคุ้มครองแรงงาน

รวมทั้ง ให้ตรวจสอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการออกคำสั่งให้กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานดำเนินคดีกับบริษัทนายจ้าง ซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้า

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างช่วงเดือน ก.ค. - ต.ค.ที่ได้เปิดรับสมัครคนงานไปเก็บเบอรรี่ที่ประเทศสวีเดน โดยการจัดอบรมและทำสัญญาจ้างที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยมีเจ้าหน้าที่ในชุดเครื่องแบบราชการที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน

จากนั้นก็ได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศสวีเดน ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. - 28 ก.ย.2565 โดยประกันรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 23,183 โครนาสวีเดน หรือประมาณ 81,372 บาท

เมื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทยในวันที่ 28 ก.ย.ก็พบว่าบริษัทไม่ปฏิบัติตามสัญญา คือ ไม่โอนเงินเดือนขั้นต่ำตามสัญญาจ้าง ไม่จ่ายเงินค่าทำงานล่วงเวลาในวันปกติและล่วงเวลาวันหยุด ประกอบกับในช่วงที่ทำงานอยู่ได้ล้มป่วยมีอาการบวมตามข้อแต่ก็ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลตามสัญญาจ้าง

นอกจากนี้เมื่อร้องเรียนต่อสถานทูตไทยในสวีเดน และกระทรวงแรงงานก็ไม่มีความคืบหน้า จึงมาร้องเรียนต่อกรรมาธิการฯ

ที่มา: Thai PBS, 9/11/2565

รมว.แรงงาน มอบนโยบายประกันสังคม มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตน สร้างหลักประกันที่มั่นคงยั่งยืน

7 ต.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการให้กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม อำพล สิงหโกวินท์ ชั้น 6 อาคารอำนวยการ สำนักงานประกันสังคม

นายสุชาติกล่าวว่า ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมได้ทำงานหนักเพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยมีเป้าหมาย สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน

“ผมมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายด้านแรงงานต่าง ๆ การพัฒนาระบบประกันสังคมและสิทธิประโยชน์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย จนกระทั่งก้าวผ่านพ้นวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีโอกาสมาประชุมพร้อมตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ทุกภาคส่วนได้ใช้ความรู้ความสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ”

นายสุชาติกล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติราชการแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับของลูกจ้าง ผู้ประกันตนและสังคมโดยรวมในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1) พัฒนาสิทธิประโยชน์ โดยแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพิ่มหลักการ “3 ขอ” คือ (1) ให้ผู้ประกันตนสามารถ “ขอเลือก” รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (2) “ขอคืน” ในกรณีเกิดเหตุการณ์อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของผู้ประกันตน ให้สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้และ (3) “ขอกู้” โดยการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้และมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อาทิ เพิ่มเงินสงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตรเป็น 98 วัน (เดิม 90 วัน) และเพิ่มเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพเป็นร้อยละ 70 (เดิม ร้อยละ 50)

2) การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้ประกันตน โดยขอให้ศึกษาความเป็นไปได้และสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกันตน เพื่อกำหนดแนวทางในการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ

3) จัดตั้งสถาบันการแพทย์เฉพาะทางสำหรับผู้ประกันตน รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ประกันตน สำหรับโรคเฉพาะทาง โดยไม่ต้องไปรอการรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ โดยใช้โมเดลเดียวกันกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

4) การส่งเสริมสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ เพื่อให้การดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเข้าถึงได้โดยง่าย โดยให้คำแนะนำและคำปรึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง และป้องกันการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

5) ขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานอิสระภาคสมัครใจ สร้างการรับรู้ให้ผู้ประกันตนให้ความสำคัญในการส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มช่องทางชำระเงินสมทบ

6) จัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อผู้ประกันตนจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยราคาถูกได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ได้ฝากผู้ประกันตนให้เชื่อมั่นในรัฐบาล เชื่อมั่นสำนักงานประกันสังคมที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ผู้ประกันตนต่อไป

7) การประชาสัมพันธ์ สิทธิประโยชน์ของการประกันสังคม ผลการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการรับบริการประกันสังคม รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อสำนักงานประกันสังคม

8) การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาบริการ และระบบงานประกันสังคม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและอำนวยความสะดวก แก่นายจ้าง ผู้ประกันตน และผู้มีส่วน ได้ส่วนเสีย ให้ได้รับบริการที่ดี รวดเร็ว

9) การบริหารการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทน ขอให้สำนักงานประกันสังคมเตรียมการและจัดทำแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ รัดกุม มุ่งสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงของกองทุนเป็นหลักสำคัญ

10) การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้มีความทันสมัย (Modernizing SSO) มีความคล่องตัวโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และสร้างองค์กรที่เป็นสุข Happy Workplace ต้อง Balance ชีวิตให้สมดุล ทั้งการงาน ครอบครัวและสุขภาพ

“ผมขอขอบคุณและให้กำลังใจในการทำงานของผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ที่ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการทำงานที่สำคัญยิ่ง พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนทุกกลุ่ม ลดความเลื่อมล้ำทางสังคม เป็นเสาหลักและเป็นที่พึ่งอันมั่นคงของลูกจ้างผู้ประกันตนอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุชาติกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 7/11/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net