Skip to main content
sharethis

4 ชั่วโมงชุลมุนแห่งการรับทราบข้อกล่าวหา “คดีตัดโซ่” เมื่อวานนี้ ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ และเดินเท้าไปการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของ 2 อาจารย์ - 1 นักศึกษา ทัศนัย เศรษฐเสรี , ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ ตั้งแต่เวลา 13.00 - 17.00 น. กับหลากหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะการปะทะกันระหว่างตำรวจและนักศึกษาที่มาให้กำลังใจ จนเป็นเหตุให้มีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บ 1 ราย

11 พ.ย. 2565 เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 13.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ทัศนัย เศรษฐเสรี , ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มช. และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ มช. เดินทางไปเข้ารับทราบข้อหาบุกรุก หอศิลป์ มช. ที่ถูกหลัง อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีวิจิตรศิลป์เป็นแจ้งความจับกุม เหตุเกิดจากกรณีที่อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มช. ได้กระทำการตัดโซ่คล้องกุญแจที่ล็อคประตูทางเข้าสาขาวิชา Media Art and Design ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 เพื่อเข้าไปติดตั้งผลงานศิลปะของนักศึกษา Media Art and Design ชั้นปีที่ 4 ให้ทันกำหนดเวลาแสดงงาน หลังประตูทางเข้าสาขาวิชา Media Art and Design และประตูหอศิลป์ถูกล็อคไว้

ภาพจาก ศูนย์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในช่วงเวลา 4 ชั่วโมง นับตั้งแต่ 2 อาจารย์ - 1 นักศึกษา ที่ถูกกล่าวหา และกลุ่มนักศึกษา ประชาชนที่มาให้กำลังใจและสังเกตการณ์เดินทางมาถึงบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ เหตุการณ์ชุลมุนและการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชนที่มาก็เริ่มต้นขึ้น

เวลา 13.00 น. มีกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน ราว 50 คน เดินทางมารอที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อให้กำลังใจ 2 อาจารย์ - 1 นักศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ มช. ที่ถูกแจ้งความ กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมที่มามีการนำป้ายผ้าและป้ายเขียนข้อความ อาทิ “ศิลปะสั้น คดียืดยาว” , “หากไร้ซึ่งเสรี จะมีศิลปะไว้ทำไม” , “โคตรตึงเลยครับจารย์” , “ฟ้องแน่นะวิ” , “เสรีภาพ ปิดทำการ” , “Free Art Free Speech” , “Coconut Milk University” มาวางบริเวณฟุตบาทหน้าสถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์

เมื่อนักศึกษาและนักกิจกรรมที่มาจะทำการผูกป้ายผ้ากับต้นไม้บริเวณหน้าสถานี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาทำการห้าม ทำให้นักศึกษาและนักกิจกรรมใช้วิธีการยืนถือป้ายผ้าแทน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบยืนดูสถานการณ์อยู่บริเวณนั้นราว 40 นาย

 

หลังจากนั้นนักกิจกรรมจากลานยิ้มการละครจำนวน 2 คน ได้มากระทำ performance art บริเวณหน้าสถานีตำรวจโดยการสาดผงสีลงบนป้ายผ้า “ศิลปะสั้น คดียืดยาว” ก่อนจะจับปลายผ้าทั้งสองข้างหมุนไปมา เพื่อให้ยศสุนทรนักศึกษาที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีตัดโซ่กระโดด ลักษณะเดียวกับการกระโดดเชือก

ตลอดช่วงเวลาชูป้ายผ้าและการกระทำ performance art เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามเข้าขัดขวางไม่ให้กิจกรรมดำเนินไปได้

ก่อนที่เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าน้าที่ตำรวจและนักศึกษาจะเกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามกระชากป้ายผ้า “ศิลปะสั้น คดียืดยาว” จากมือยศสุนทร ทำให้นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นช่วยกันดึงป้ายผ้าเอาไว้ ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจผลักและกระชากตัว กันต์ธีทัต ปวีณ์กรสมบัติ ซึ่งเป็นนักศึกษาออกไปบริเวณเกาะกลางถนน ทำให้นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน หันกลับมาช่วยกันห้ามตำรวจ ทั้งนี้ ภาพจาก Live สดของเฟซบุ๊กเพจ “ประชาคมมอชอ - Community of MorChor” จับภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการในลักษณะคล้ายการบีบคอกันต์ธีทัตได้ในช่วงเวลาชุลมุน จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กันต์ธีทัตได้รับบาดเจ็บเลือดออกบริเวณสีข้างด้านหลัง 1 แผล

กันต์ธีทัต ปวีณ์กรสมบัติ ระบุว่า ถูก ตร. ล็อกคอลากออกไป พร้อมใช้กำลังใส่ตน ส่งผลให้ตนได้รับบาดแผลบริเวณหน้าและลำตัว

 

“รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ผมเพียงเข้าไปเอาป้ายผ้าคืนจากตำรวจที่ดึงไปเท่านั้น ผมยังไม่ได้ทำอะไรที่รุนแรงเลย แต่เจ้าหน้าที่กลับมีบันดาลโทสะซะเองก่อน” กันต์ธีทัต กล่าว

 

กันต์ธีทัต นักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บ

 ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ “ประชาคมมอชอ” จับภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการในลักษณะคล้ายการบีบคอกันต์ธีทัตในช่วงเวลาชุลมุน

 

จากนั้น นักศึกษาตัวแทนจากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อ่านแถลงการณ์ “กรรมาธิการสามัญคุ้มครองนักศึกษาจากการถูกคุกคามโดยรัฐในกรณีทางการเมือง สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรณี : อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์แจ้งความฟ้องร้องอาจารย์และนักศึกษาสาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ” เพื่อเรียกร้องและตั้งคำถามต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใน 3 ประเด็น

1. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะต้องแสดงจุดยืนเพื่อรักษาเสรีภาพทางวิชาการไว้ โดยมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นคนกลางพร้อมสภานักศึกษา เพื่อเจรจาพูดคุยระหว่างคู่กรณี และเจรจาให้ถอนการแจ้งความดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด

2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะต้องดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์การแจ้งความนี้ให้เป็นไปตามหลักการของความเคารพในเสรีภาพทางวิชาการพร้อมแถลงอย่างเป็นสาธารณะ มหาวิทยาลัยจะต้องออกมาชี้แจงว่า การกระทำของอัศวิณีย์ หวานจริง กระทำในฐานะบุคลากรในปกครองของมหาวิทยาลัยหรือไม่ และกระทำไปด้วยเจตนาอะไร? เนื่องจากมีเหตุให้เชื่อได้ว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย และต่อการศึกษา แต่เป็นไปด้วยความเคียดแค้นอาฆาตมาดร้ายต่อนักศึกษาที่เคยเป็นคู่กรณีต่อกันในหลายกรรมหลายวาระมาแล้ว อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สาธารณชนได้

3. เพื่อเรียกความน่าเชื่อถือกลับคืนมาให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยจะต้องชี้แจงสื่อสารต่อสาธารณะ ว่าการแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้เป็นความประสงค์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือไม่? และมหาวิทยาลัยจะมีจุดยืนอย่างไรต่อเสรีภาพทางวิชาการและการบริการที่เป็นคุณต่อนักศึกษาในการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการศึกษา และมหาวิทยาลัยจะรับประกันอย่างไรเพื่อไม่ให้บุคลากรฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยกระทำคุกคาม หรือ ใช้คดีความเป็นเครื่องมือเพื่อข่มขู่นักศึกษา, บุคลากร และประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก

 

เวลาประมาณ 14.15 น. ทัศนัย, ศรยุทธ และยศสุนทร อาจารย์และนักศึกษาที่ถูกออกหมายเรียก เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ไว้วางใจ 3 คน ได้แก่ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ , สมชาย ปรีชาศิลปกุล และปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาภายในสถานีตำรวจด้วย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล แสดงความเห็นต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกับนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เกิดขึ้นว่า "ผมคิดว่าหลักการคือเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถใช้กำลังและความรุนแรงกับใครได้ตามใจชอบ ผมคิดว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจเลย เจ้าหน้าที่รัฐคงต้องระมัดระวังเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมาอาจจะอยู่ในระบอบอำนาจนิยม ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องถูกตรวจสอบ ไม่ต้องรับผิด แต่สภาวะแบบนั้นมันเปลี่ยนไปแล้ว"

 สมชาย ปรีชาศิลปกุล , อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

เวลาประมาณ 16.00 น. ทัศนัย, ศรยุทธ และยศสุนทร เสร็จสิ้นการรับทราบข้อกล่าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยทนายความแถลงว่า ทั้ง 3 คน ได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยพนักงานสอบสวนทำการนัดสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 13 ธ.ค. 2565 เพื่อที่จะแจ้งว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

ทัศนัย, ศรยุทธ และยศสุนทร พร้อมทนายความ

จากนั้น ทัศนัย, ศรยุทธ , ยศสุนทร และนักศึกษาที่มาให้กำลังใจได้เดินเท้าจากสถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ ไปยังตึกอธิการบดีภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง “ขอความเป็นธรรมให้ถอนแจ้งความร้องทุกข์และสอบสวนความผิดกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” โดยมีตัวแทนจากกองกฏหมายของมหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนมารับมอบหนังสือ

ข้อเรียกร้องที่ทางอาจารย์และนักศึกษาที่ถูกแจ้งความมีต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้นสังกัด

หนึ่ง ถอนคำแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงค์ฯ และให้ปากคำเพิ่มเติมตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่

สอง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ ที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ว่ามีความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่อย่างไรโดยเร็ว และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ปฏิบัติห น้าที่โดยมิชอบ ขอให้ท่านดำเนินคดีและเอาผิดทางวินัยให้ถึงที่สุด

ก่อนที่การรับทราบข้อกล่าวหาคดีตัดโซ่ และการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะสิ้นสุดลงในเวลา 17.00 น.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net