สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธที่เน้นจริยธรรมส่วนบุคคลแต่เป็นสถาบันหลักของชาติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในบทความชื่อ “พุทธไทยในสังคมไทยปัจจุบัน” นิธิ เอียวศรีวงศ์เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

“ ว่ากันให้ถึงที่สุด โดยหลักการแล้ว พุทธไทยไม่มีคำตอบทางสังคมสักเรื่อง แม้ว่าวัดและศาสนิกได้ลงมือปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาสังคมอยู่เหมือนกัน เช่น เลี้ยงเด็กกำพร้าที่พ่อ-แม่ตกเป็นเหยื่อของโรคเอดส์ หรือช่วยเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา หรืออนุรักษ์ป่า ฯลฯ แต่โดยหลักธรรมคำสอนของพุทธไทย ไม่มีคำตอบให้แก่ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม มีแต่คำตอบให้แก่ปัจเจกบุคคลว่าจะก้าวพ้นความยากลำบากในชีวิตอย่างไร

(จนเพราะขี้เกียจ ก็เลิกขี้เกียจ หันมาขยันขันแข็งทำมาหากิน จนเพราะไม่รู้จักอดออม ก็อดออมเสีย แต่จนเพราะโครงสร้างบีบบังคับให้จน พุทธไทยไม่มีคำตอบ แล้วลองคิดว่าติดคุกเพราะความรวนเรเละเทะของกระบวนการยุติธรรม จะให้ทำอย่างไรมากไปกว่า “ทำใจ” ซึ่งก็ดีกว่าติดคุกโดย “ทำใจ” ไม่ได้แน่ แล้วคนอื่นรวมทั้งลูกหลานเราเองเล่า จะต้องมีชีวิต “ตามบุญตามกรรม” ตลอดไปอย่างนี้หรือ) ” (ที่มา https://www.matichonweekly.com/column/article_354582?fbclid=IwAR2eyNaeSfht0O1xEl0jXKR0Ym14z9P0WenmmlAjBLWnanYNVF46-DPt9zc)

ในทางวิชาการดูเหมือนเห็นพ้องกันว่าจริยธรรมพุทธเป็น “จริยธรรมเชิงปัจเจก” หรือจริยธรรมส่วนบุคคล แม้จริยธรรมผู้ปกครอง เช่นทศพิธราชธรรมก็เป็นจริยธรรมที่ผู้ปกครองแต่ละคนจะนำมาปฏิบัติจริงแค่ไหนอย่างไร ดังนั้น ในทางทฤษฎีและปฏิบัติ กษัตริย์ชาวพุทธบางคนอาจทรงทศพิธราชธรรมก็ได้ บางคนอาจชั่วร้ายไม่ทำตามทศพิธราชธรรมก็ได้ 

แต่ก็น่าคิดว่าทำไมปราชญ์พุทธถึงยืนยันว่า “ธรรมะ” เป็นสิ่งกำหนดให้ระบบการปกครองทุกรูปแบบเป็นระบบที่ดีได้ ดังที่เสนอว่าระบบการปกครองแบบไหนก็ตามถ้าถือธรรมเป็นใหญ่ ไม่ว่าราชาธิปไตย ประชาธิปไตย หรือเผด็จการรูปแบบใดๆ จะเป็นระบบการปกครองที่ดีหมด แต่ถ้าไม่ถือธรรมเป็นใหญ่ ระบบใดๆ ก็เลวร้ายหมด 

แต่ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนอยู่ดีว่า “ธรรมะ” หรือ “ธรรมาธิปไตย” ให้คำตอบกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ระบบการปกครองทุกระบบเป็นระบบที่ดีได้อย่างไร 

ถ้าดูจากไตรปิฎก ก็มีไอเดียเกี่ยวกับ “สังคมในอุดมคติ” ที่มี “จักรพรรดิธรรมราชา” ผู้ปกครองโดยธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ ถือธรรมเป็นธงชัย เคารพธรรม เชิดชูธรรมในการปกครองให้ปวงประชาอยู่เย็นเป็นสุข และมี “สัมมาสัมพุทธธรรมราชา” สอนคุณธรรมผู้ปกครอง และสอนธรรมเป็นแนวทางประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจแก่ปวงประชา

ไอเดียนี้ถูกนำมาปรับใช้สร้าง “รัฐพุทธศาสนา” (Buddhist state) ยุคอโศกเป็นต้นมา โดยถือว่าจักรพรรดิธรรมราชาทำหน้าที่สองอย่างหลักๆ คือ ปกครองบ้านเมืองโดยธรรม และอุปถัมภ์พุทธศาสนาหรือสนับสนุนการเผยแพร่พุทธศาสนาของคณะสงฆ์ รัฐโบราณที่รับพุทธศาสแบบอโศก อย่างศรีลังกา พม่า ไทยเป็นต้นก็นำคติความเชื่อดังกล่าวมาปรับเข้ากับบริบทของตนเอง 

ตามคติธรรมราชาดังกล่าว ดูเหมือนเป็นที่เข้าใจกันว่าพุทธศาสนาไม่ได้เสนอ “ระบบการปกครอง” เพราะไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดิธรรมราชา หรือพุทธธรรมราชา ล้วนมีคุณสมบัติพิเศษจากการมีจริยธรรมส่วนบุคคล แม้แต่คณะสงฆ์ก็อาศัยความชอบธรรมจากการ “เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ” ซึ่งเป็นจริยธรรมส่วนบุคคล และหลักธรรมที่เป็นแนวปฏิบัติของปวงประชาให้ประพฤติสุจริตกาย วาจา ใจ ก็เป็นจริยธรรมส่วนบุคคลเช่นกัน แต่คติความเชื่อแบบนี้ก็ก่อกำเนิดรัฐพุทธศาสนาดังกล่าวแล้วที่มีพัฒนาการมายาวนานในประวัติศาสตร์ 

แต่อย่างไรก็ตาม จะว่าคติธรรมราชาไม่ใช่ระบบการปกครองเสียทีเดียวก็ไม่เชิงนัก เพราะมีการวาง “ระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจ” ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐชัดเจนอยู่ นั่นคือ ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง อำนาจการปกครองของกษัตริย์อาศัยความชอบธรรมจากหลักการปกครองโดยธรรม และกษัตริย์ก็มีพันธะต่อหน้าที่หลัก 2 ด้าน คือ หน้าที่ปกครองบ้านเมืองโดยธรรม และหน้าที่อุปถัมภ์พุทธศาสนาหรือคณะสงฆ์ 

จากอุดมการณ์ปกครองโดยธรรมและหน้าที่ของกษัตริย์ 2 ด้านหลักๆ ดังกล่าว ทำให้ธรรมราชามีอำนาจปกครองคณะสงฆ์ไปด้วย เริ่มจากการสร้างวัดวา ศาสนสถาน แต่งตั้งศักดินาพระ ให้เบี้ยหวัด นิตยภัตแก่พระตามลำดับชั้นยศ ให้ข้าทาสและที่ดินแก่วัดใช้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และอภิสิทธิ์อื่นๆ ขณะเดียวกันก็ออกกฎหมายและตั้งองค์กรราชการควบคุมและลงโทษพระที่ประพฤตินอกรีตธรรมวินัย ในทางกลับกันคณะสงฆ์ก็ทำหน้าที่เป็น “พระราชาคณะ” ให้คำปรึกษาด้านกิจการพระศาสนาแก่กษัตริย์ และสอนศีลธรรมแก่ไพร่ ทาส 

นิธิตั้งข้อสังเกตว่า (ปรับสำนวนใหม่โดยผม) คติที่ว่ากษัตริย์ปกครองบ้านเมืองโดยธรรม และอุปถัมภ์พุทธศาสนา อาจใช้จรรโลงโครงสร้างสังคมการเมืองระบบศักดินาก่อนยุค ร.4 ย้อนไปได้ดีในระดับหนึ่ง แต่จากยุค ร.4 เป็นต้นมาที่ชนชั้นนำสยามพยายามปรับตัวสู่ความเป็นสมัยใหม่ แม้จะพยายามตีความพุทธเข้ากับวิทยาศาสตร์ และวางหลักจริยธรรมพุทธเป็นหลักจริยธรรมของฝ่ายฆราวาส แต่ก็ล้มเหลวมากกว่าจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันยิ่งเห็นชัดขึ้นว่า พุทธไทยไม่มีคำตอบให้กับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไปกันได้กับคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่เลย

ผมคิดว่า นอกจากพุทธไทยจะล้มเหลวในการตอบปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ยังกลายเป็นสถาบันที่ก่อปัญหาเชิงโครงสร้าง และล้มเหลวในการตอบปัญหาจริยธรรมเชิงปัจเจกอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นตามลำดับ

ถ้ามองในเชิงปรัชญาการเมือง ความล้มเหลวดังกล่าว เกิดจาก “ปัญหาพื้นฐานทางปรัชญาการเมือง” และ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” นั่นคือ การทำให้ศาสนาที่เน้นจริยธรรมเชิงปัจเจกกลายเป็นสถาบันหลักของชาติในนาม “สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” คุณค่าเชิงนามธรรมของสามสถาบันหลักนี้คืออุดมการณ์รองรับการวางระบบโครงสร้างไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ และเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

นอกจากนั้นยังกำหนดให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์พุทธเถรวาทและศาสนาอื่น (ที่รัฐรับรอง) มีกฎหมายคณะสงฆ์กำหนดให้การปกครองคณะสงฆ์อยู่ใต้พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี คณะสงฆ์มีอำนาจทางกฎหมายกำหนดให้การสอน การตีความธรรมวินัยสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ห้ามตีความ อภิปราย บรรยาย เสวนาสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของประชาชน โรงเรียนของรัฐบังคับเรียนพุทธศาสนาเป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาสำคัญตามมาจากอุดมการณ์และโครงสร้างดังกล่าว ที่เห็นได้ชัด เช่น

1) ปัญหาหลักความยุติธรรมสาธารณะ อธิบายให้เห็นภาพได้ด้วยแนวคิดของจอห์น รอลส์ว่า ในสังคมเสรีประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีคุณค่าสาธารณะทางการเมืองที่เรียกว่า “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” (public principles of justice) เป็น “คุณค่าแกนกลาง” (core value) ที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ทุกสถาบันทางสังคมการเมือง ระบบราชการ รวมทั้งพลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนยึดถือปฏิบัติร่วมกัน

หลักความยุติธรรมสาธารณะที่เป็นคุณค่าแกนกลางของระบอบเสรีประชาธิปไตย ได้แก่ “หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม” (equal liberty) แต่หลักนี้ใช้ไม่ได้ในระบบการเมืองไทย เพราะสถานะของกษัตริย์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทรงเป็นพุทธมามกะ เป็นที่เคารพสักการะ ล่วงละมิดมิได้ ถูกตีความให้อยู่เหนือหลักเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบ ระบบปกครองสงฆ์ที่ขึ้นต่อพระราชอำนาจก็ขัดหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมนี้ด้วย รวมทั้งการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ก็ขัดกับหลักความยุติธรรมสาธารณะข้อแรกนี้ด้วยเช่นกัน

อีกข้อหนึ่งของหลักความยุติธรรมสาธารณะ คือ “หลักความแตกต่าง” (the difference principle) เป็นหลักการพื้นฐานของการกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมในการเข้าสู่ตำแหน่ง อาชีพการงานที่ก้าวหน้า และการกระจายสิทธิในสวัสดิการต่างๆ แก่พลเมือง ถ้าเราจะปรับใช้หลักการนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่รัฐสวัสดิการ ก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะอภิปรายเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ แต่ “สภา” บ้านเรากลับอภิปรายเช่นนั้นไม่ได้ 

ดังนั้น การเปลี่ยนระบบสวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ที่เน้นการเชิดชูโครงการพระราชดำริไปสู่การสร้างระบบประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้นจึงเป็นไปได้ยาก

2) ปัญหาจริยธรรมส่วนบุคคลขัดกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ เกิดจากการที่สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา ระบบราชการ (รวมสื่อต่างๆ) เน้นการปลูกฝังจริยธรรมส่วนบุคคลแบบพุทธไทยที่เชื่อมโยงกับความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำให้จริยธรรมส่วนบุคคลส่งผลกระทบเชิงลบต่อหลักความยุติธรรมสาธารณะทางสังคมการเมือง

เช่น พระสงฆ์และคนทั่วไปยกย่องว่ากษัตริย์ทรงปกครองโดยธรรม ทรงเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม แต่ประชาชนไม่มีเสรีภาพตรวจสอบการปฏิบัติตามจริยธรรมดังกล่าว ทำให้คำสรรเสริญเช่นนั้นไม่อาจพิสูจน์ความเป็นจริงได้อย่างมีความเป็นเหตุเป็นผล

ขณะเดียวกันความคิดพื้นฐาน หรือ “mindset” ของคนที่มีจริยธรรมส่วนบุคคลแบบพุทธ ก็มักจะขัดแย้งกับการพัฒนาสังคมให้มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ย้อนแย้งระหว่างการยืนหยัดในนามของจริยธรรมความดี ความเป็นคนดี กับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยเสมอๆ 

เช่น อาจารย์ด้านศิลปะที่สร้างงานศิลปะแนวอนุรักษ์นิยมเทิดทูนเจ้าและพุทธศาสนาขัดแย้งกับอาจารย์และนักศึกษาที่สร้างงานศิลปะแนวต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย โดยฝ่ายแรกใช้วาทกรรม “คนดีย่อมชนะคนชั่ว” และได้เห็นขบวนการต่อสู้ทางการเมืองในนามศีลธรรม, คนดี ของ พธม.-กปปส. ซึ่งเชื่อมโยงกับพระบรมราโชวาทที่เน้นว่า “ต้องให้คนดีเป็นผู้ปกครอง กันคนชั่วไม่ให้เป็นผู้ปกครอง” แต่กรอบคิดความเป็นคนดี ก็คือคนที่มีศีลธรรมส่วนบุคคลแบบพุทธ และจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นด้านหลัก

เราลองนึกภาพว่า ถ้าคนดีที่มีความคิดพื้นฐานทางจริยธรรมแบบนี้ทำหน้าที่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา การใช้ดุลพินิจและคำวินิจฉัยตัดสินของพวกเขาจะยึดโยงอยู่กับหลักความยุติธรรมสาธารณะ หรือหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมอันเป็นคุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ นี่คือปัญหาความขัดกันระหว่างจริยธรรมส่วนบุคคลกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ  

3) ปัญหาการยกจริยธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคลเป็นเรื่องสาธารณะ คือการทำให้ปัญหาการที่พระสอนผิดสอนถูก และการประพฤติถูก ผิด เหมาะสมไม่เหมาะสมตามวินัยสงฆ์ ซึ่งเป็นเรื่องของจริยธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคลให้กลายเป็นเรื่องสาธารณะ เช่น ดราม่าเรื่องพระเทศน์ตลก พระหัวเราะ พระนอนกับสีกา พระเล่นเฟซบุ๊คไม่สำรวม และ ฯลฯ กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่สังคมเห็นเป็นเรื่องใหญ่โต ต้องเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ มีการตั้งหน่วยงานราชการและงบประมาณจากภาษีประชาชนมากำกับดูแลความประพฤติทางจริยธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคลของพระ 

กล่าวโดยสรุป พุทธที่เน้นจริยธรรมส่วนบุคคลควรเป็น “ศาสนาที่แยกจากรัฐ” เป็นศาสนาที่ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีเสรีภาพจะเลือกเรียนรู้และนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง ควรเป็นศาสนาที่ชุมชนผู้ศรัทธา หรือกลุ่มศาสนิกต่างๆ จะดูแลอุปถัมภ์กันเอง แต่กลับถูกสถาปนาให้เป็นสถาบันหลักของชาติที่ส่งผลให้เกิดระบบโครงสร้างอำนาจของสถาบันกษัตริย์ผู้ปกครองโดยธรรม และโครงสร้างอำนาจสถาบันศาสนาหรือศาสนจักรของรัฐที่ขัดหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม อันเป็นหลักความยุติธรรมสาธารณะของระบอบประชาธิปไตย ทำให้เกิดการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐที่เน้นการปลูกฝังจริยธรรมส่วนบุคคลแบบพุทธที่ผูกโยงกับความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันเป็นกรอบคิดทางจริยธรรมที่ขัดหลักความยุติธรรมสาธารณะโดยพื้นฐาน และทำให้เรื่องของความประพฤติตามความเชื่อส่วนบุคคลของนักบวช กลายเป็นประเด็นสาธารณะหรือประเด็นทางสังคมที่รัฐต้องควบคุมกำกับดูแล

พูดอีกนัยหนึ่ง หากคุณค่าจริยธรรมส่วนบุคคลแบบพุทธคือการกล่อมเกลากาย วาจา ใจของบุคคลให้บรรลุเป้าหมายคือความสงบด้านใน พุทธที่กลายเป็นสถาบันหลักของชาติก็ล้มเหลวในการทำหน้าที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ นอกจากล้มเหลวในหน้าที่ด้านจริยธรรมส่วนบุคคลแล้ว พุทธแบบสถาบันยังมีโครงสร้างอำนาจและหน้าที่เผยแพร่ชุดความคิดทางจริยธรรมที่ขัดกับหลักความยุติธรรมสาธารณะของระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวแล้ว
 

 

ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1452391112

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท