Skip to main content
sharethis

นิด้าโพลเผยผลสำรวจ 2,002 คน เรื่องคนที่ใช่พรรคที่ชอบของคนภาคกลาง พบ "แพทองธาร" นำอันดับ 1 "พิธา" อันดับ 2 และ "ประยุทธ์" อันดับ 3 

13 พ.ย. 2565 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนภาคกลาง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-5 พ.ย. 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในภาคกลาง 2,002 คน จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่คนภาคกลางจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า 

อันดับ 1 ร้อยละ 24.18 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ ต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบอุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ศรัทธาในตระกูลชินวัตร

อันดับ 2 ร้อยละ 16.73 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล

อันดับ 3 ร้อยละ 16.23 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต มีประสบการณ์ด้านการบริหาร ชื่นชอบผลงานของรัฐบาล ในปัจจุบัน และทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ อันดับ 4 ร้อยละ 13.54 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 5 ร้อยละ 7.04 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา พูดจริงทำจริง มีความซื่อสัตย์สุจริต และชื่นชอบวิธีการทำงาน

อันดับ 6 ร้อยละ 6.19 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ เป็นคนมีประสบการณ์ด้านการบริหาร ชื่นชอบ นโยบายของพรรคไทยสร้างไทย ชื่นชอบผลงานในอดีตที่ผ่านมา และต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารประเทศ

อันดับ 7 ร้อยละ 3.10 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) เพราะ เป็นคนมีความรู้ด้านเศรษฐกิจ เป็นคนมีความมุ่งมั่นในการทำงาน และมีประสบการณ์ด้านการบริหาร

อันดับ 8 ร้อยละ 2.05 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ เป็นคนพูดจริงทำจริง และชื่นชอบนโยบายของพรรคภูมิใจไทย

อันดับ 9 ร้อยละ 1.80 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อันดับ 10 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) เพราะ ชื่นชอบพรรคชาติไทยพัฒนา และชื่นชอบผลงานของตระกูลศิลปอาชา

อันดับ 11 ร้อยละ 1.50 ระบุว่าเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีประสบการณ์ด้านการบริหาร เป็นคนที่พูดจริงทำจริง และชื่นชอบพรรคเพื่อไทย

อันดับ 12 ร้อยละ 1.35 ระบุว่าเป็น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (พรรคสร้างอนาคตไทย) เพราะ เป็นคนมีความรู้ด้านเศรษฐกิจ มีวิสัยทัศน์ และมีประสบการณ์ด้านการบริหาร

อันดับ 13 ร้อยละ 1.30 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะ มีประสบการณ์ด้านการบริหาร และชื่นชอบพรรค ประชาธิปัตย์

อันดับ 14 ร้อยละ 1.19 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะ เป็นคนมีความรู้ ความสามารถ ชื่นชอบแนวคิดและทัศนคติในการทำงาน

และร้อยละ 2.20 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) นายเศรษฐา ทวีสิน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนากล้า)

ซูเปอร์โพล เปิด 5 อันดับความประทับใจ ของปชช.ต่อ 6 แคนดิเดตนายกฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ภาพจำ แคนดิเดต นายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,108 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8 – 12 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา พบว่า

5 อันดับแรก ภาพจำ ที่ประชาชนประทับใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่ อันดับแรก มีผลงานเด่น เช่น ความสงบบ้านเมือง แก้ปัญหาค้ามนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน (38.8%) รองลงมาอันดับที่สองคือ ชัดเจนปกป้อง เสาหลักของชาติ (38.2%) อันดับที่สามคือ เปิดประเทศได้สำเร็จ (34.4%) อันดับที่สี่ คือ มีความอดทน รับแบกภาระหนัก แก้วิกฤตประเทศรอบด้าน (33.8%) อันดับที่ห้า คือ ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โกงกิน (33.5%)

ในขณะที่ 5 อันดับแรก ภาพจำ ที่ประชาชนประทับใจ ของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้แก่ อันดับแรกคือ เป็นคนรุ่นใหม่ (56.5%) อันดับที่สองคือเป็นบุตรสาวของ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร (56.5%) อันดับที่สามคือ เป็นผู้หญิง กล้าทำงานการเมือง (51.1%) อันดับที่สี่ คือ รักษาฐานเดิม ของ พรรคเพื่อไทย (49.3%) อันดับที่ห้า คือ สุภาพ อ่อนน้อม เรียบง่าย พูดจาดี (47.1%)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีภาพจำที่ประชาชนประทับใจอันดับแรก คือ มีผลงานแก้วิกฤตโควิด นานาประเทศยอมรับ ยกย่องประเทศไทย (44.8%) อันดับที่สอง คือ จิตใจดี มีน้ำใจช่วยเหลือชีวิตประชาชน กับภารกิจส่งหัวใจ อวัยวะผู้ป่วย (38.5%) อันดับที่สามคือ มีความรู้ความสามารถ การศึกษาดี (31.4%) อันดับที่สี่คือ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง (30.5%) และอันดับที่ห้าคือ เป็นคนทำงานจริง (30.2%)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีภาพจำที่ประชาชนประทับใจอันดับแรก คือ ชัดเจน จงรักภักดีปกป้องเสาหลักของชาติ ต่อต้านยกเลิก 112 (42.7%) อันดับที่สองคือ มีวิสัยทัศน์ เศรษฐกิจโลก นโยบายเศรษฐกิจทันสมัย แก้ปัญหาปากท้อง (39.5%) อันดับที่สาม คือ สุภาพพูดจาดี ไม่ดุดัน (38.8%) อันดับที่สี่ คือ ใกล้ชิด ได้รับการสนับสนุนจาก นายชวน หลีกภัย (37.9%) และอันดับที่ห้า คือ เป็นกันเอง ชาวบ้านเข้าถึงง่ายไม่เรื่องมาก (38.8%)

นอกจากนี้ 5 อันดับแรกของภาพจำที่ประชาชนประทับใจต่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พบว่า อันดับแรกคือ เป็นคนรุ่นใหม่ (48.6%) อันดับที่สองคือ กล้าเปลี่ยนแปลง (46.0%) อันดับที่สามคือ มีการศึกษาดี (43.7%) อันดับที่สี่คือ มีความสามารถ (41.8%) และอันดับที่ห้า คือ เป็นคนทำงาน (41.3%)

ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรกของภาพจำที่ประชาชนประทับใจต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พบว่า อันดับแรก คือ ทำหน้าที่รักษาการ นายกรัฐมนตรีได้ดี ช่วง พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลสั่งพักงาน (48.2%) อันดับที่สอง คือ มีผลงาน แก้ค้ามนุษย์ หนี้นอกระบบ แก้ภัยแล้ง (41.2%) อันดับที่สาม คือ มีเครือข่าย กว้างไกล มีบารมีจัดการกลุ่มอิทธิพล (40.3%) อันดับที่สี่คือ ชัดเจน ปกป้อง เสาหลักของชาติ (37.6%) อันดับที่ห้า คือ มีประสบการณ์ จัดการการเมือง และระบบราชการ (37.4%) ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า ภาพจำของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนประทับใจเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละคนทั้งในเรื่อง ผลงาน ประสบการณ์การเมือง บุคลิกภาพ และลักษณะเด่น เช่น ความเป็นผู้นำ และความเป็นคนรุ่นใหม่ ข้อมูลที่ค้นพบนี้นำไปสู่การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง สิ่งที่ประชาชนมีเป็นภาพจำ กับ สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า นี่คือการรับรู้ภาพจำทางการเมืองที่แยกออกมาเป็นลักษณะเฉพาะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่ละคนแล้วการรับรู้ภาพจำนี้มีผลอย่างไรต่อการตัดสินใจของประชาชนมีอิทธิพลอย่างไรบ้าง ในเชิงปรัชญาการเมือง ภาพจำและความเป็นผู้นำสามารถแปลงออกมาเป็นการวางเป้าหมายและยุทธศาสตร์กระแสพรรคชนะการเลือกตั้งได้บนความสามารถปั่นกระแสสร้างแรงจูงใจประชาชนให้มีส่วนร่วม เช่น ช่วงวิกฤตโควิดที่ประชาชนให้ความร่วมมือกักตัวอยู่บ้านและยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่เชิงสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากความสามารถบริหารจัดการของรัฐบาลหรืออาจเกิดขึ้นจากความกลัวของประชาชนมาเป็นส่วนประกอบ การสร้างกระแสความกลัวจากภาพจำจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในเกมการเมือง

“นอกจากนี้ ระหว่างภาพจำ อิทธิพล และ ขั้วการเมืองแบ่งซ้ายและแบ่งขวา อันไหนสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนมากกว่ากัน และจะสามารถมีทางเลือกที่สามในทางสายกลางเชื่อมทั้งสองขั้วการเมืองได้หรือไม่ งานโพลชิ้นนี้จึงเป็นการนำเสนอข้อมูลที่มีนัยสำคัญเพื่อให้เดินเกมการเมืองต่อในการตัดสินใจของประชาชน” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net