ที่ประชุมอาเซียนเผยอาจจะมีการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการพม่า

ผู้นำอาเซียนตกลงกันในการประชุมสุดยอดช่วงสุดสัปดาห์ว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ ในพม่า "อย่างยืดหยุ่น" ซึ่งอาจจะร่วมถึงกลุ่มต่อต้านเผด็จการทหารพม่าด้วย เพื่อพยายามหาทางแก้ไขปัญหาการนองเลือดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น 

13 พ.ย. 2565 ประเด็นเรื่องวิกฤตพม่ากลายเป็นประเด็นหลักในการพูดคุยหารือของการประชุมอาเซียนที่กรุงพนมเปญ โดยที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้เข้าร่วมประชุมด้วยเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2564

ความขัดแย้งในพม่ากลายเป็นการนองเลือดหลังจากที่กองทัพพม่าทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยอองซานซูจี ในเดือน ก.พ. 2564

ก่อนหน้านี้กลุ่มชาติอาเซียนเคยเห็นชอบร่วมกันในเรื่องแผนการสันติภาพที่ชื่อว่า "ฉันทามติ 5 ข้อ" ที่ออกมาเมื่อเดือน เม.ย. 2564 แต่จนถึงตอนนี้กองทัพเผด็จการพม่าก็ยังคงละเลยฉันทามติดังกล่าวทำให้กลุ่มอาเซียนพยายามหาวิธีการบังคับใช้ฉันทามตินี้ให้ได้

ฉันทามติ 5 ข้อดังกล่าวนี้เรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรง ให้มีการเจรจาหารือระหว่างทุกฝ่ายในพม่า โดยมีการผู้แทนอาเซียนเป็นตัวกลางในการเจรจา รวมถึงให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

กลุ่มผู้นำอาเซียนมีความไม่พอใจที่กลุ่มผู้นำทหารพม่าเตะถ่วงตวามคืบหน้าไม่ยอมทำตามแผนการสันติภาพ ทำให้มีการประชุมเป็นเวลา 2 วันจนกระทั่งสามารถออกแถลงการณ์ 15 ข้อ โดยระบุว่าจะ "มีการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในเร็ววันนี้" นอกจากนี้ยังระบุว่าจะดำเนินตามแผนการโดยเน้นโครงร่างที่เป็นรูปธรรม นำมาใช้ได้จริง และมีดัชนีชี้วัดที่สามารถตรวจวัดความสำเร็จของแผนการสันติภาพตามกำหนดการในแต่ละช่วงเวลาได้

แถลงการณ์ของอาเซียนระบุอีกว่าการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ ในพม่าจะ "กระทำอย่างมีความยืดหยุ่น อย่างไม่เป็นทางการ และโดยเบื้องต้นจะดำเนินการโดยผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องสถานการณ์ในพม่า"

สื่ออิระวดีระบุว่าแผนการของอาเซียนน่าจะรวมถึงการพบปะกับตัวแทนของ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ของพม่าด้วย ซึ่ง NUG เป็นเสมือนรัฐบาลคู่ขนานที่ตั้งขึ้นโดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการพม่า นำโดยอดีตส.ส.จากพรรคของอองซานซูจี

NUG ระบุว่าพวกเขาเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของพม่า แต่กองทัพเผด็จการพม่าก็ประกาศให้สมาชิกของกลุ่มนี้เป็น "ผู้ก่อการร้าย" อิระวดีระบุว่าการที่อาเซียนมีความต้องการจะปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มนี้นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญสำหรับอาเซียน

กลุ่มผู้แทนอาเซียนซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของประเทศต่างๆ ยังได้เตือนกลุ่มนายพลพม่าด้วยว่า ถ้าหากนายพลพม่ายังคงไม่ยอมทำให้เกิดความคืบหน้าด้านสันติภาพ พวกเขาจะขยายการแบนตัวแทนพม่าไม่ให้เข้าร่วมประชุมครั้งต่อๆ ไปของอาเซียน

เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า "นี่คือคำเตือน นี่คือถ้อยคำที่หนักแน่นจากเหล่าผู้นำอาเซียน"

ในกลุ่มอาเซียนประเทศอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในตั้งตัวตีที่เรียกร้องให้มีมาตรการที่หนักขึ้นต่อเผด็จการทหาร อีกสองประเทศในอาเซียนที่เรียกร้องในเรื่องนี้คือมาเลเซียและสิงคโปร์

แดน เอสปิริตู ผู้ช่วยเลขาธิการด้านกิจการอาเซียนกล่าวว่า หลังจากที่เผด็จการทหารไม่ทำอะไรในเรื่องสันติภาพเลยมาเป็นเวลามากกว่า 1 ปี มันก็ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะ "ดำเนินแผนการทางเลือกอื่นๆ โดยอาศัยมุมมองของความก้าวหน้าที่มีจำกัด" เอสปิริตูบอกอีกว่าสถานการณ์ในพม่านั้น "แหลมคมและเปราะบางจากการที่ความรุนแรงทวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ"

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา วิเวียน บาลาคริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ เคยเตือนว่ากองทัพเผด็จการพม่านั้น "มีความทนทานต่อความเจ็บปวดมาก มีความทนทานต่อการถูกโดดเดี่ยวได้มาก และวิกฤตในครั้งนี้อาจจะใช้เวลาหลายสิบปีในการแก้ไขปัญหา"

อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวต่อกลุ่มผู้นำอาเซียนเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า เขาประณามการยกระดับความรุนแรงในพม่าและเรียกร้องให้ทางการพม่ามีกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในแบบที่ครอบคลุมและคำนึงถึงทุกคนโดยทันที

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ กลุ่มผู้นำอาเซียนยังได้สั่งสกัดก้้นไม่ให้หัวหน้าเผด็จการทหาร มินอ่องหล่าย เข้าร่วมประชุมที่กรุงพนมเปญ ในขณะที่หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนสามารถร่วมประชุมได้ ประเทศจีนที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดกับอาเซียนเคยมีประวัติความสัมพันธ์ที่ดีกับเผด็จการทหารพม่ามาก่อน แต่จีนก็แสดงความไม่สบายใจในเรื่องความโกลาหลที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าตอนนี้

กลุ่มประเทศตะวันตกได้ใช้วิธีการคว่ำบาตรเพื่อพยายามบีบเผด็จการทหารพม่า ขณะที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้อาเซียนมีจุดยืนที่ "หนักแน่น" กว่านี้ในการบีบให้เผด็จการทหารพม่าลดความรุนแรงลง จากการที่กองทัพพม่าได้ใช้การโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือน เช่นต่อโรงเรียนและคอนเสิร์ต ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

แดเนียล คริเทนบริงค์ ทูตระดับสูงจากสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ช่วยเลขาธิการด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า พม่าจะเป็นประเด็นอันดับแรกเมื่อไบเดนได้พบปะกับกลุ่มผู้นำอาเซียนในวันที่ 12 พ.ย. ก่อนที่เขาจะเดินทางไปพบปะกับสีจิ้นผิงต่อที่การประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย

สื่อรัฐบาลพม่าเคยวิพากษ์วิจารณ์การที่อาเซียนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับประเด็นการเมืองพม่า โดยกล่าวหาว่าอาเซียนเป็น "สุนัขเลี้ยงเชื่องๆ ของสหรัฐฯ" นอกจากนี้เผด็จการทหารพม่ายังเคยเตือนห้ามไม่ให้ทำตามกำหนดการกระบวนการสันติภาพ โดยบอกว่ามันจะนำไปสู่ "ผลทางลบ"

นอกจากประเด็นพม่าแล้ว ในที่ประชุมอาเซียนยังได้ตกลงกันว่าพวกเขาเห็นชอบ "ในเชิงหลักการ" ที่จะให้ติมอร์ตะวันออกเข้าร่วมกับอาเซียนด้วย โดยให้สถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในช่วงก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบ

เรียบเรียงจาก
ASEAN agrees to talk to Myanmar opposition, The Irrawaddy, 11-11-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท