Skip to main content
sharethis

กลุ่มโมกหลวงริมน้ำจัดกิจกรรม “คืนยุติธรรม” นิทรรศการศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดจากความไม่เป็นธรรมและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมเสวนาในหัวข้อ “เสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย: ผู้ถูกบังคับสูญหาย” เพื่อพูดคุยประเด็นความเจ็บปวดและผลกระทบที่ได้รับจากที่คนในครอบครัวถูกบังคับสูญหาย พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

14 พ.ย.2565 เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ได้จัดเสวนาเรื่อง “เสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย: ผู้ถูกบังคับสูญหาย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมคืนยุติธรรม ที่ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พ.ย. 2565 ที่ The Jam Factory กรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ถูกบังคับสูญหาย กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ ผู้ถูกบังคับสูญหาย ก่อการ บุปผาวัฏฏ์ บุตรของชัชชาญ บุปผาวัลย์ ผู้ถูกบังคับสูญหาย และ อังคณา นีละไพจิตร ครอบครัวผู้สูญหาย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเป็นผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติในปัจจุบัน ดำเนินรายการโดย แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

สัญญาณหรือการติดต่อ ก่อนเกิดเหตุการณ์บังคับสูญหายหรือพบศพ

การเสวนาครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยประเด็น “เหตุการณ์สำคัญหรือการติดต่อจากผู้ถูกบังคับสูญหายก่อนถูกพบศพ” ก่อการ บุตรชายของชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ เล่าว่าพ่อของตนได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ประเทศลาวตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และมีการติดต่อพูดคุยกันอยู่ตลอด จนกระทั่งวันที่ 12 ธ.ค. 2561 สหายภูชนะได้ส่งข้อความมาบอกกับตนว่า อาจขาดการติดต่อประมาณ 5-7 วัน เนื่องจากช่วงนั้นมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ประเทศลาว และทางรัฐบาลไทยจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เมื่อเห็นว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐไปเยอะ จึงรู้สึกไม่ปลอดภัย ผ่านไป 10 วัน พ่อของเขาก็ไม่ได้ติดต่อกลับมาอย่างที่แจ้งไว้ จนกระทั่งวันที่ 28 ธ.ค. 2561 ได้มีผู้พบศพสองศพถูกฆ่าลอยแม่น้ำโขงมาติดฝั่งไทย และเมื่อตรวจดีเอ็นเอทั้งสองศพ พบว่า เป็นชัชชาญ บุปผาวัลย์ และ ไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลองที่หายตัวไปพร้อมกับนายสุรชัย ที่จนถึงปัจจุปันก็ยังไม่พบเบาะแสใดๆ

ปราณี ภรรยาของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เล่าถึงสาเหตุของการตัดสินใจลี้ภัยของสุรชัย คือ การประกาศกฎอัยการศึก พ.ศ. 2557 โดยสุรชัยประเมินว่าจะมีการรัฐประหาร และเป็นจริงดั่งที่สุรชัยคิด คือ คสช. ได้ดําเนินการเข้าควบคุมอํานาจการปกครองประเทศ โดยปราณีได้ติดต่อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ตลอดระหว่างการลี้ภัยของสุรชัย และคุยกันวันสุดท้าย คือ วันที่ 9 ธ.ค. 2561 และไม่ได้ติดต่อสุรชัยหรือบุคคลใกล้ชิดอีกเลยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จนกระทั่งนักข่าวพบภาพห่อกระสอบถูกมัดเป็นปล้องคล้ายศพ ในวันที่ 25 ธ.ค. 2561 แต่ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ดังกล่าวกลับปฏิเสธว่า ไม่มีการพบศพ และบอกว่ากระสอบที่พบนั้นมีลักษณะเหมือนกระสอบขยะทั่วไปที่ชาวบ้านทิ้งลงแม่น้ำ

กัญญา มารดาของคุณสยาม ธีรวุฒิ กล่าวว่า สาเหตุการลี้ภัยของสยาม คือ การรัฐประหารของคสช. ซึ่งมีการออกหมายจับนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคน หนึ่งในนั้นคือ สยามและเพื่อน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุจากการเล่นละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนั้น สยามและเพื่อนจึงตัดสินใจลี้ภัยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 กัญญาและสยามได้ติดต่อกันเป็นระยะ เนื่องจากสยามบอกว่า ถ้าขาดการติดต่อหมายความว่า ตนกำลังย้ายที่พักอาศัย เนื่องจากมีคนคอยสังเกตการณ์อยู่ จากนั้นวันที่ 8 พ.ค. 2562 กัญญาได้ทราบข่าวว่า สยามและพวกถูกตำรวจเวียดนามส่งตัวกลับประเทศไทย เนื่องจากเข้าเมืองโดยใช้พาสปอร์ตปลอม กัญญาจึงไปติดต่อกองบังคับการปราบปรามฯ แต่พบว่า ยังไม่มีหน่วยงานใดระบุว่าได้ทำการจับกุมตัวสยามมาส่งมอบให้พนักงานสอบสวน และยังไม่มีความคืบหน้าใดจนถึงปัจจุบัน

“แม่จะรอสยามจนกว่าจะรู้ว่าใครอุ้มไป ทางการประเทศไทยไม่สนใจมนุษย์ด้วยกันในประเทศเลย ไปสนใจอะไรอยู่ก็ไม่รู้... แม่ยังเฝ้ารอลูกชายของแม่ สยาม ธีรวุฒิ” กัญญากล่าว

เอกสารแสดงหมายจับสยาม ธีรวุฒิ ส่วนหนึ่งของนิทรรศการคืนยุติธรรม

อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติในปัจจุบัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีการพบศพของ สุรชัย สหายภูชนะ และสหายกาสะลองว่า ผลการชันสูตรศพที่ลอยมาติดริมแม่น้ำโขงฝั่งไทยทั้งสองศพ พิสูจน์แล้วว่าเป็นของ สหายกาสะลอง และสหายภูชนะ ซึ่งมีหลักฐานเพิ่มเติม คือ เสาปูนซีเมนต์ที่อยู่ในท้องของศพ และกุญแจมือนั้น เป็นของที่ใช้ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐกลับไม่ดำเนินเรื่องขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตรวจสอบหลักฐานที่พบ นอกจากนั้น คดีนี้ยังถูกงดการสอบสวนหลังพบศพเพียง 1 ปี เพราะไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพิ่มเติม และคิดว่าหากไม่พบหลักฐานเพิ่มเติมคงเกิดการลอยนวลพ้นผิดตามเคย

ผลกระทบที่ญาติได้รับ

อังคณา แบ่งปันความรู้สึกจากประสบการณ์การมีคนในครอบครัวถูกบังคับสูญหาย คือ การต้องดิ้นรนสู้โดยไม่รู้ว่าการต่อสู้นี้จะสิ้นสุดที่ตรงไหน การสูญหายจะจบลงก็ต่อเมื่อทราบชะตากรรมของผู้สูญหายว่า ยังมีชีวิตอยู่ หรือถูกพบเป็นศพ นอกจากนั้น ครอบครัวของผู้สูญหายยังต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน หรือการเลี้ยงดูลูกตามลำพัง เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่ให้การเยียวยาตามหลักสากล ทั้งบางคนยังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ  และต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำคดีมากเท่าที่ควรจะเป็น

ปราณี กล่าวถึงภาระค่าใช้จ่ายหลังจากสุรชัยลี้ภัยแล้วไม่ได้กลับมาสู้คดีที่ถูกกล่าวหาว่า บุกรุกเข้าไปปราศรัยที่ประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ปราณียืนยันว่า สุรชัยไม่มีส่วนร่วมกับคดีดังกล่าว แต่เธอไม่สามารถฟ้องกลับได้ ทำให้ถูกศาลสั่งปรับ 500,000 บาท เมื่อขอความเมตตาแล้ว ศาลสั่งปรับขั้นต่ำที่สุดคือ 3,000 บาท เป็นประจำทุกเดือน และศาลจะพิจารณาหยุดปรับก็ต่อเมื่อนำตัวสุรชัยมาขึ้นศาลหรือพบหลักฐานการเสียชีวิตของสุรชัย

ประเมิน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กับการยุติความทรมานทางจิตใจ หรือได้รับการเยียวยาจากรัฐ

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหาย จากการกระทำในลักษณะดังกล่าว

อังคณากล่าวว่า การประกาศพ.ร.บ. ชุดนี้ ถือเป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย ในการเข้าร่วมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ซึ่งพ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้ให้ความคุ้มครองกับผู้ถูกบังคับสูญหายก่อนหน้านี้ด้วย แต่มีประเด็นที่ต้องจับตา คือ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีการตัดข้อห้ามที่ไม่ให้นิรโทษกรรมผู้ก่อการทรมานหรืออุ้มหายออก การตัดสัดส่วนผู้แทนผู้เสียหายออกจากการเป็นคณะกรรมการ และกรรมการเหล่านั้นต้องมาจากการที่รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง อังคณาคาดหวังว่าคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งนี้จะเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ เป็นกลาง และมีอิสระจากรัฐ และเน้นย้ำว่า หน้าที่ของรัฐ คือ การสืบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่หรือชะตากรรมของผู้สูญหายทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้น ประชาชนจึงต้องร่วมกันติดตามต่อว่ารัฐจะสามารถปฏิบัติได้ตามการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่

ส่วนประเด็นเรื่องการเยียวยาผู้เสียหายนั้น อังคณากล่าวว่า ต้องรอคณะกรรมการที่จะถูกแต่งตั้งกำหนด เพราะจะเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการแนะนำรัฐบาลเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายและให้ความช่วยเหลือกับญาติหรือครอบครัวผู้สูญหายได้ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สิน เป็นต้น ส่วนตัวอังคณาอยากเน้นความสำคัญกับการเยียวยาทางด้านจิตใจมากกว่าจำนวนเงิน เพราะตามหลักสากลแล้วการเยียวยาควรเป็นการขอโทษต่อสาธารณะชนโดยรัฐ และการรับประกันต่อประชาชนว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก

กัญญาเสริมว่า หากรัฐสามารถให้ความช่วยเหลือ และเยียวยาได้จริงก็ไม่มีปัญหาอะไร ก่อการคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนแปลงระบบยุติธรรมไทย ดีกว่าไม่มีการคุ้มครองใด ๆ เลย

“เราหวังว่า ต่อไปจะไม่มีการอุ้มหายเกิดขึ้นอีก เพราะมันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ประยุทธ์เองวันหนึ่งก็อาจจะหายไปได้เช่นกัน เราจึงจำเป็นต้องมีมาตรการขั้นต่ำที่สุดเพื่อปกป้องทุกคน” อังคณากล่าว

ส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจและประชาชน

ช่วงสุดท้ายของการเสวนา แทนฤทัย ให้ผู้ร่วมเสวนาแต่ละคนฝากข้อความถึงผู้มีอำนาจหรือประชาชน ซึ่งอังคณาได้เรียกร้องถึงรัฐบาลในการให้คำมั่นกับสหประชาชาติในการให้สัตยาบรรณอนุสัญญาเกี่ยวกับการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเร็ว เพราะการสูญหายของบุคคลถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการชดใช้หรือเยียวยาความเสียหาย โดยเฉพาะด้านจิตใจ และสิ่งนี้จะช่วยยกระดับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมบอกให้รัฐบาลช่วยตอบรับคำร้องขอของคณะทำงานคนหายของสหประชาชาติที่มีการส่งคำร้องให้ประเทศไทยหลายครั้ง ซึ่งคณะดังกล่าวมีความต้องการเข้ามาในประเทศไทยเพื่อพบกับครอบครัวหรือญาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและบังคับสูญหาย โดยอังคณาหวังว่า รัฐบาลจะใจกว้างพอที่จะเปิดโอกาสให้คณะทำงานคนหายนี้ เข้ามาตรวจสอบสถานการณ์เกี่ยวกับการอุ้มหายในประเทศไทย เพราะสุดท้ายมันจะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้

ปราณี กล่าวขอเรียกร้องกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การเห็นต่างทางการเมืองนั้นไม่ใช่อาชญากรรม เมื่อมีความคิดและมุมมองที่แตกต่างก็ไม่ควรโกรธเคืองกันถึงขั้นตามล่ากันข้ามประเทศ และรัฐบาลควรช่วยตรวจสอบและสืบสวนพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แม้ผู้เสียหายจะเป็นบุคคลที่ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ต่างประเทศก็ตาม

“โปรดช่วยกันอธิษฐานในใจ ขอให้สิ่งที่เรามุ่งหวังสู่ความสำเร็จ” กัญญากล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net