Skip to main content
sharethis
  • 'ส.ว.อำพล' ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงผลสัมฤทธิ์การปฏิรูปประเทศ และแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ หลังแผนจะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ด้าน รัฐมนตรีสำนักนายกฯ แจงรัฐบาลวางแผนปฏิบัติราชการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อในภารกิจประจำแล้ว ระบุแม้จะยกเลิกกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ หาก ครม.เห็นว่าการปฏิรูปประเทศด้านใดยังมีความสำคัญสามารถออกเป็นกฎหมายรองรับเพื่อดำเนินการต่อได้
  • วุฒิสภาเห็นชอบ พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ

14 พ.ย.2565 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ผลสัมฤทธิ์การปฏิรูปประเทศ ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง ผลสัมฤทธิ์การปฏิรูปประเทศ ว่า ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้มีการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ในหมวด 16 มาตรา 257 กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยมีการจัดทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 โดยมีการจัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ จำนวน 13 คณะ และมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กำกับดูแลในภาพรวมเพื่อให้เชื่อมโยงกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 270 กำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในเดือน ส.ค.65 ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุว่าการปฏิรูปประเทศจะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2565 โดยให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศภายใต้แผนงานโครงการและกลไกของแผนระดับ 2 แทน ซึ่งตนเห็นว่าซึ่งแผนระดับดังกล่าวเป็นแผนพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ไม่ใช่แผนการปฏิรูปประเทศ อีกทั้งข้อสรุปรายงานดังกล่าวคลาดเคลื่อนไปจากการพิจารณาของวุฒิสภา จึงขอสอบถามว่า รัฐบาลโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่เห็นชอบว่าการปฏิรูปประเทศตามแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว มีหลักฐานใดสนับสนุนข้อสรุปดังกล่าว และได้นำข้อเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศของวุฒิสภา ไปประกอบการพิจารณาด้วยหรือไม่ รวมทั้งหากร่างกฎหมายปฏิรูปที่รัฐบาลยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะการลดรูปการปฏิรูปประเทศให้เป็นการดำเนินงานภายใต้แผนระดับ 2 จะมีแนวทางดำเนินงานต่อเนื่องอย่างไรให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และความคาดหวังของสังคม

อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินงานของรัฐบาลได้ขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศมานานกว่า 5 ปี โดยสรุปได้ดังนี้ ด้านการเมือง กำหนดให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีการจัดทำหนังสือ และหลักสูตรการสอน ผ่านศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง 49 แห่ง เครือข่ายวิทยากร และเครือข่ายสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีการขยายผลไปยังนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ด้านการบริหารราชการแผนดิน มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้กับการให้บริการสาธารณะ อาทิ การบังคับใช้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการทำงานภาครัฐให้เป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ด้านกฎหมาย ได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การตรากฎหมายเป็นไปโดยละเอียดรอบคอบ ไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็นและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนด้านกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลได้บังคับใช้ พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 เพื่อให้มีกรอบกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ชักช้า มีทนายความอาสาในสถานีตำรวจ และมีการให้คำปรึกษากฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์ ด้านการศึกษา รัฐบาลการจัดตั้ง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปรับปรุงการเรียนการสอนทุกระดับให้สอดคล้องกับความถนัดของผู้เรียน โดยมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 โดยจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะและการพัฒนานวัตกรรม มีสถานศึกษานำร่อง 541 แห่ง เป็นต้น

อนุชา กล่าวถึงร่างกฎหมายปฏิรูปที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้คัดเลือกร่างกฎหมายที่ส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศอย่างมีนัยสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนมาบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 และวางแผนให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบ รับไปดำเนินงานในภารกิจปกติของหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผนปฏิรูปประเทศจะสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค.2565 แต่ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบที่ต้องดำเนินการจัดทำปรับปรุงร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จต่อไป โดยวุฒิสภา สามารถพิจารณาร่างกฎหมายที่ตราขึ้น ให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ต่อไปจนสิ้นสุดวาระ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า เฉพาะแผนการปฏิรูปประเทศเท่านั้นที่สิ้นสุดลงตามระยะเวลาดำเนินงานของแผน แต่หน่วยงานของรัฐสามารถขับเคลื่อนต่อผ่านแผนปฏิบัติราชการระดับที่ 2 และระดับที่ 3 ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ได้เชื่อมโยงประเด็นปฏิรูปประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท หมุดหมาย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่มีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องเป็นกรอบดำเนินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลอย่างยั่งยืนต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้จะยกเลิกกฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 หาก ครม.เห็นว่าการปฏิรูปประเทศด้านใดยังมีความสำคัญสมควรดำเนินการต่อ สามารถออกเป็นกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการในด้านนั้นเพื่อสอดคล้องกับมาตรา 259 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งวุฒิสภาสามารถเสนอความเห็นไปยังรัฐบาลพิจารณาต่อไปได้

ส.ว.เห็นชอบ พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ

วันเดียวกัน ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาก่อนลงมติอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ด้วยเสียง 187  เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง

โดยมติดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงปัญหาวิกฤตราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวิกฤตที่ทับซ้อนกับช่วงค่าเงินบาทตกต่ำ รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน มีการอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาให้เหมาะสม ส่วนการค้ำประกันเงินกู้ของกระทรวงการคลังจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจต่อสถาบันการเงินที่จะอนุมัติเงินกู้ให้กับกองทุนฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องและให้ระบบเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัว พร้อมกับการคงเสถียรภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขณะที่ สมาชิกวุฒิสภาอภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับพระราชกำหนดดังกล่าว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกำลังการซื้อของประเทศ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือกระทบน้อยที่สุด เพราะหากไม่มีการอุดหนุนราคา จะทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึงลิตรละ 45 บาท ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา  และแม้ราคาน้ำมันดิบจะลดลง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง แต่รัฐบาลยังควรรักษาเสถียรภาพราคาขายไว้ก่อน เพื่อให้กองทุนน้ำมันสามารถใช้หนี้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ตั้งข้อสังเกตกรอบการกู้เงินโดยรวมจำนวน 1.5 แสนล้านบาท แต่ต้องนำเงินจำนวนนี้ชำระคืนหนี้กองทุนเดิม 1.3 แสนล้านบาท  คงเหลือเงินสนับสนุนราคาพลังงานเพียง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วอาจประคับประคองราคาได้อีกพียง 4 เดือนข้างหน้า ดังนั้นรัฐบาลควรวางแผนแก้ไขวิกฤตราคาพลังงานไว้เพิ่มเติมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net