Skip to main content
sharethis

เรดิโอฟรีเอเชียเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวและบล็อกเกอร์ชาวเวียดนามหลายคนที่ทางการเวียดนามสั่งลงโทษจำคุกตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่นกรณีช่างภาพวิดีโอ Nguyen Van Hoa และกรณีบล็อกเกอร์ Truong Duy Nhat กับ Nguyen Tuong Thuy

ช่างภาพวิดีโอ Nguyen Van Hoa ผู้ที่ทำงานให้กับสื่อเรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาเวียดนาม ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 7 ปี เมื่อเดือน พ.ย. 2560 บล็อกเกอร์ที่ชื่อ Truong Duy Nhat ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปีเมื่อเดือน มี.ค. 2563 และ Nguyen Tuong Thuy ถูกลงโทษจำคุก 11 ปี เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 สื่อเรดิโอฟรีเอเชียเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวเหล่านี้

กรณีของ Nguyen Tuong Thuy

Nguyen Tuong Thuy เป็นบล็อกเกอร์ชาวเวียดนามที่ถูกสั่งจำคุก 11 ปีข้อหาต่อต้านรัฐ ศาลเวียดนามได้ตัดสินในเรื่องนี้เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา จากการที่เขาเขียนบทความลงทางอินเทอร์เน็ตวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่เป็นรัฐบาลพรรคการเมืองเดียว

Nguyen Tuong Thuy (ซ้ายมือด้านหน้า)

Thuy เป็นอดีตรองประธานสมาคมสื่ออิสระของเวียดนาม (IJAVN) เขาเป็นที่เขียนเว็บล็อกในเรื่องเสรีภาพพลเมืองและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้กับ RFA เวียดนามมาเป็นเวลา 6 ปีก่อนหน้าที่จะถูกลงโทษ Thuy เคยเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เมื่อปี 2557 เพื่อพูดหารือถึงปัญหาเรื่องเสรีภาพสื่อในเวียดนาม

Foreign correspondents’ circle concern over Vietnam’s jailing of 3 journalists

นอกจาก Thuy แล้วยังมีการตัดสินลงโทษนักข่าวอิสระที่เป็นสมาชิก IJAVN อีก 2 รายคือ Pham Chi Dung และ Le Huu Minh Tuan จากการที่พวกเขา "จัดทำ, จัดเก็บ และเผยแพร่เอกสารและเนื้อหาที่มีเป้าหมายในการต่อต้านรัฐ" ตามกฎหมายอาญามาตรา 117 ของเวียดนาม โดยที่ Pham Chi Dung ถูกลงโทษจำคุก 15 ปี และ Le Huu Minh Tuan ถูกลงโทษจำคุก 11 ปี

ในสถานที่ดำเนินคดี จำเลยทั้ง 3 คน ได้เปิดเผยว่าพวกเขาก่อตั้งสมาคมสื่ออิสระเพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ส่งเสริมประชาธิปไตย และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์การอนุญาตเผยแพร่สื่อ พวกเขาบอกว่าการกระทำของพวกเขาไม่ฝ่าฝืนกฎหมายใดๆ ของเวียดนาม

Nguyen Van Mieng ทนายความของจำเลย 3 รายนี้กล่าวต่อสื่อหลังจากที่มีการตัดสินคดีว่า เป็นการลงโทษที่ "หนักเกินไป" จำเลย 3 รายนี้ถูกลงโทษเพียงเพราะพวกเขาส่งเสริมและสนับสนุนเสรีภาพสื่อที่ได้รับการรับรองภายใต้มาตราที่ 25 ของรัฐธรรมนูญเวียดนาม

Mieng กล่าวว่าคดีนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น ทางศาลไม่ได้ลงโทษชายสามคนนี้เพราะพวกเขาก่อตั้งสมาคมผู้สื่อข่าวอิสระ แต่พวกเขาถูกลงโทษเพราะงานข่าวและบทความที่พวกเขาเขียน

ภรรยาของ Pham Chi Dung ชื่อ Pham Thi Lan บอกว่าถึงแม้จำเลยจะไม่ได้ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองเรื่องเสรีภาพสื่อแต่ศาลเวียดนามก็ไม่สนใจเรื่องความยุติธรรมและตัดสินเรื่องนี้โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของกฎหมาย

ในรายงานข่าวก่อนหน้านี้ Pham Chi Dung เคยบอกว่า Thuy ป่วยหนักมากก่อนหน้าที่จะถูกพิจารณาคดีเพราะสภาพในเรือนจำที่คุมขังเขา Thuy บอกว่าเขาปวดไปทั้งตัวโดยเฉพาะที่มือซ้าย นอกจากนี้ในเวลาต่อมา Thuy ยังกลายเป็นโรคหิดถึงแม้ว่าเรือนจำจะให้ยาบางอย่างแกเขาก็ตาม Pham Chi Dung บอกว่านั่นเป็นเพราะสภาพห้องขังแบบปิดที่่มีช่องระบายอากาศแบบติดลวดตะแกรงเหล็กอยู่แค่ช่องเดียว

ประธานของเรดิโอฟรีเอเชีย สตีเฟน เยตส์ ประณามการตัดสินลงโทษ Thuy และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเขาโดยทันที เยตส์กล่าวว่าการลงโทษอย่างรุนแรงต่อ Thuy และสองนักข่าวอิสระเป็น "การโจมตีเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเห็นได้ชัด" และเป็นการละเมิดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเวียดนาม ขณะเดียวกันเยตส์ก็กล่าวว่าเรดิโอฟรีเอเชียจะยังคงทำหน้าที่เป็น "สื่อที่น่าเชื่อถือสำหรับประชาชนชาวเวียดนาม" และให้พื้นที่แก่การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีต่อไป

กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ยังได้ประณามการตัดสินลงโทษนักข่าวเหล่านี้ด้วย เช่น แดเนียล บาสตาร์ด ประธานแผนกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) กล่าวว่าการตัดสินลงโทษในครั้งนี้ "น่าตระหนกอย่างถึงที่สุด" นอกจากนี้ยังพูดถึงเรื่องนี้นักข่าวทั้ง 3 คนถูกคุมขังในสภาพที่ย่ำแย่และถูกปิดกั้นไม่ให้ติดต่อสื่อสารหรือเข้าถึงทนายความได้เป็นเวลานาน

เอเมอลินน์ กิลล์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคของแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่านักข่าวทั้งสามรายนี้กลายเป็นหนึ่งในนักโทษการเมืองในเวียดนามซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 170 ราย และบอกว่าการตัดสินลงโทษนักข่าวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเวียดนามเหยียบย่ำเสรีภาพสื่อ โดยที่ถึงแม้ว่าเวียดนามจะมีการลิดรอนเสรีภาพสื่ออยู่แล้วแต่กิลล์ก็มองว่าการลงโทษหนักในระดับนี้แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานเซนเซอร์ในเวียดนามตกต่ำลงไปมากแค่ไหน

นอกจากกรณีของ Thuy กับบล็อกเกอร์ที่ทำงานร่วมกับเขาแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยมีนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาเวียดนามรายอื่นๆ ที่ถูกลงโทษจำคุกโดยรัฐบาลเวียดนามเช่นกัน คือ Troung Duy Nhat บล็อกเกอร์ที่ถูกลงโทษจำคุก 10 ปี และ Nguyen Van Hoa ช่างภาพวิดีโอที่ถูกลงโทษจำคุก 7 ปี

กรณีของ Nguyen Van Hoa

เมื่อปี 2560 ศาลเวียดนามเคยสั่งลงโทษ Nguyen Van Hoa ผู้เป็นทั้งช่างภาพข่าว บล็อกเกอร์ และนักกิจกรรม ในข้อหา "โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ" ทำให้เขาต้องโทษจำคุก 7 ปี ทางการเวียดนามกล่าวหาว่า Hoa พยายามยุยงให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขปัญหาสารพิษรั่วไหลครั้งใหญ่เมื่อปี 2559

Nguyen Van Hoa ภาพจาก U.S Agency for Global media 

ศาลอ้างใช้กฎหมายอาญามาตรา 88 ของเวียดนามในการลงโทษ Hoa และยังตัดสินให้ต้องมีการคุมขัง Hoa ภายในบ้านอีกเป็นเวลา 3 ปี หลังจากที่ Hoa รับโทษในเรือนจำจนครบแล้ว นอกจากนี้ศาลยังทำการเลื่อนการพิจารณาคดีให้เร็วขึ้น ทำให้การพิจารณาคดีเหลือเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งโดยที่ไม่มีทนายความมาช่วยว่าความให้กับ Hoa ที่ตกเป็นจำเลย

Hoa เป็นคนที่ทำงานเขียนบล็อกและผลิตวิดีโอให้กับ RFA สื่อของรัฐบาลเวียดนามระบุว่า Hoa เคยทำการถายทำวิดีโอ ภ่ายภาพ และเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานเหล็กกล้าสัญชาติไต้หวัน ฟอร์โมซาพลาสติกกรุ๊ป ลงสู่ท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดห่าติ๋ญ เหตุเกิดเมื่อเดือน เม.ย. 2559 โดยที่สื่อรัฐบาลเวียดนามกล่าวหาว่า Hoa "ทำการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้าน บิดเบือน และให้ร้าย รัฐบาล" นอกจากนี้ยังอ้างว่า Hoa "รับเงิน" จาก "กลุ่มหัวรุนแรงและกองทัพข้าศึก" เพื่อสร้างความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

เหตุการณ์ที่ Hoa เคยไปทำข่าวนั้นเป็นกรณีการรั่วไหลของสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก การที่สารพิษรั่วจากโรงงานฟอร์โมซาทำให้ปลาตายไปราว 115,000 กก. เป็นเหตุให้ชาวประมงและคนทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใน 4 จังหวัดภาคกลางของเวียดนามต้องตกงาน ทางบริษัทให้สัญญาว่าจะใช้เงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 17,900 ล้านบาท) ในการบำบัดสารพิษและในการจ่ายค่าชดเชยแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ แต่ผู้คนก็ประท้วงรัฐบาลเพราะไม่พอใจจำนวนเงินค่าสินไหมที่ได้รับ และไม่พอใจที่มีการจ่ายเงินชดเชยได้ช้า

นอกเหนือจากที่ Hoa จะทำงานข่าวแล้วเขายังเป็นผู้ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลให้กับ RFA ด้วย Hoa เป็นคนแรกที่ทำการไลฟ์สดภาพการประท้วงหน้าโรงงานเหล็กกล้าที่สารเคมีรั่วไหลโดยอาศัยโดรนติดกล้องฟลายแคม ภาพจากวิดีโอแสดงให้เห็นผู้ประท้วงมากกว่า 10,000 ราย จากนั้นวิดีโอนี้ก็กลายเป็นกระแสไวรัล

Le Cong Dinh ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนประณามการตัดสินลงโทษ Hoa ว่าเป็น "การพิพากษาที่มีการกำหนดผลเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว" นอกจากนี้เขายังประณาม "การดำเนินคดีแบบปิดลับ" และประณามศาลว่า "หลอกผู้คน" ด้วยการเลื่อนนัดพิจารณาคดี นอกจากนี้ถึงแม้ว่าในเวียดนามจำเลยจะมีสิทธิปฏิเสธที่จะใช้ทนาย แต่ในกรณีนี้ Dinh มองว่ารัฐบาลเวียดนามพยายามสกัดกั้นไม่ให้ทนายความมีส่วนร่วมในคดีทางการเมืองมากกว่า เพราะกลัวว่าหลักฐานเท็จที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเองและมาจากการตีความผิดๆ นั้น จะถูกโต้แย้งโดยทนายฝ่ายจำเลย

บาสตาร์ด จากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้ประณามคำตัดสินของศาลต่อ Hoa ว่าเป็นคำตัดสินที่ "เกินกว่าเหตุอย่างสิ้นเชิง" นอกจากนี้ยังประณามในเรื่องที่ครอบครัวของ Hoa ไม่ได้รับแจ้งเตือนเกี่ยวกับรายละเอียดวันพิจารณาคดีด้วย และมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเวียดนามยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในเรื่องการลิดรอนเสรีภาพสื่อ

กรณีของ Truong Duy Nhat

เมื่อปี 2563 ศาลอุทธรณ์ของเวียดนามได้พิพากษายืนตามคำตัดสินเดิมให้ลงโทษจำคุก Truong Duy Nhat เป็นเวลา 10 ปี Nhat เป็นคนที่ทำงานข่าวรายสัปดาห์ให้กับ RFA ภาคภาษาเวียดนาม เขาถูกตำรวจลักพาตัวในไทยเมื่อเดือน ม.ค. 2562 ก่อนที่จะถูกส่งตัวจากไทยผ่านทางลาวไปยังเวียดนาม

Truong Duy Nhat

ก่อนหน้านี้ Nhat เคยถูกคุมขังมาก่อนในช่วงระหว่างปี 2556-2558 จากการที่เขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สำหรับในกรณีล่าสุดเขาถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับที่ดินที่มีอายุความเป็นสิบปีแล้วในข้อหา "ลุแก่อำนาจและใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ" จากการที่เขาซื้อที่ดินที่นำมาทำสำนักงานสื่อ Dai Doan Ket โดยซื้อต่ำกว่ามูลค่าจริง แต่หัวหน้างานของ Nhat ที่เป็นคนสั่งให้เขาลงนามในสัญญาซื้อขายนี้กลับไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ

สำหรับคดีหลังนี้ Nhat ให้การว่าเขาพยายามยื่นขอเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา แต่ก็ถูกจับกุมโดยตำรวจไทย แล้วก็ถูกส่งตัวต่อให้กับตำรวจเวียดนาม จากนั้นตำรวจก็พาตัวเขาข้ามเขตแดนประเทศลาว กลับไปสู่ประเทศเวียดนาม ในช่วงที่เขาถูกจับกุมและส่งตัวข้ามแดนนั้นเขาถูกยึดโทรศัพท์มือถือและเงินมูลค่า 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 285,000 บาท) ไปด้วย

ตำรวจเวียดนามพาตัวเขากลับไปถึงที่กรุงฮานอยในวันที่ 28 ม.ค. 2562 เพื่อลงบันทึกจับกุมตัวเขาอย่างเป็นทางการ

สำหรับในการยื่นอุทธรณ์นั้น มีการเรียกร้องว่า Nhat ไม่มีความผิดใดๆ ในการซื้อที่ดินในครั้งนั้นเพราะเขาทำตามคำสั่งของเจ้านายเท่านั้น นอกจากนี้ Nhat ยังขอให้ผู้พิพากษากับอัยการที่เคยอยู่ในการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้ อธิบายสิ่งที่เป็นข้อขัดแย้งในตัวเองของข้อกล่าวหาตัวเขาและขอให้ชี้แจงว่ามีกฎหมายที่นำมาอ้างลงโทษเขาคือกฎหมายข้อใดบ้าง แต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ปฏิเสธจะทำตามคำขอของ Nhat

Truong Thuc Doan ลูกสาวของ Nhat ระบุลงในเฟซบุ๊กของเธอช่วงก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์ว่า ทางการเวียดนามห้ามเธอและแม่ของเธอไม่ให้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีโดยอ้างเรื่องการระบาดของ COVID-19

Doan ระบุอีกว่า พ่อของเธอจะต้องไม่โดดเดี่ยวอย่างแน่นอน "ไม่ว่าจะยาวนานกี่ปี หนูก็จะยังคงรอพ่อ รัฐบาลเวียดนามอาจจะคุมขังพ่อได้ ในฐานะนักข่าว Truong Duy Nhat แต่ก็จะมีนักข่าวรายอื่นๆ อีกหลายพันคนที่มีจิตสำนึกจะยังคงเปล่งเสียงเรียกร้องของพวกเขาออกมา"

Doan ระบุว่า "ทางการอาจจะปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ในวันนี้ แต่ในรุ่นถัดไปก็จะยังคงต่อสู้เพื่ออุดมคติของพวกเขาต่อไป"


 

เรียบเรียงจาก

Free Journalists Behind Bars, Radio Free Asia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net