Skip to main content
sharethis

ในห้วงการประชุมเอเปค ประชาไทสัมภาษณ์ ‘พชร คำชำนาญ’ นักกิจกรรมด้านสิทธิการจัดการทรัพยากรของชุมชนและชาติพันธุ์ จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ว่าด้วยเรื่องเอเปค 2022 ที่สะท้อนมุมมองที่รัฐไทยมีต่อป่าไม้และสิทธิชุมชน ‘นโยบายป่าคาร์บอน’ ที่รัฐไทยและกลุ่มทุนพยายามผลักดันให้ประชาคมเอเปครับรอง ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ป่ากว่าล้านคน 

  • ในช่วงสัปดาห์นี้ (14-19 พ.ย.) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ประจำปี พ.ศ.2565 หรือ  ‘APEC 2022 Thailand’ ภายใต้ธีม “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล หรือ Open. Connect. Balance.” มีการชูประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) มาปรับใช้
  • อย่างไรก็ดี ‘BCG Model’ ที่รัฐบาลหวังจะผลักดันให้เป็นผลงานในระดับอินเตอร์ ของรัฐบาลจะหมดวาระในปีหน้า นั้นเผชิญกับข้อวิจารณ์จากภาคประชาชนเป็นจำนวนมาก ว่าเป็นความพยายามจะฟอกขาวให้ประยุทธ์และฟอกเขียวให้กลุ่มทุน ทั้งยังจะซ้ำเติมสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวบ้านที่เกิดขึ้นเสมอมา หลังคสช.ทำรัฐประหารในปี 57
  • โอกาสนี้ประชาไท สัมภาษณ์ ‘พชร คำชำนาญ’ นักกิจกรรมด้านสิทธิการจัดการทรัพยากรของชุมชนและชาติพันธุ์ จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ว่าด้วยเรื่องเอเปค 2022 ที่สะท้อนมุมมองที่รัฐไทยมีต่อป่าไม้และสิทธิชุมชน ‘นโยบายป่าคาร์บอน’ ที่รัฐไทยและกลุ่มทุนพยายามผลักดันให้ประชาคมเอเปครับรอง ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ป่ากว่าล้านคน

BCG เป็นแค่เรื่องของรัฐกับทุน ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น

พชร กล่าวถึง เป้าหมายของเอเปคที่เป็นเรื่องการเปิดเสรีการค้าการลงทุนที่อาจจะดูไกลตัวสำหรับคนทั่วๆ ไป แต่เหตุผลสำคัญที่ทุกคนควรจับตาเอเปครอบนี้ให้ดี เพราะนี่เป็นเวทีที่รัฐบาลไทยจะใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมระดับนานาชาติในการดำเนิน ‘นโยบาย BCG Model’ (Bio-Circular-Green Economy) ที่เป็นเพียงคอนเซปต์หรูๆ เพื่อใช้เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน  ในขณะเดียวกันก็ละเมิดกดขี่คนรากหญ้าในประเทศนี้ได้ต่อไป ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำในไทยมีแนวโน้มจะสูงขึ้นตามไปด้วย 

“เราต้องเข้าใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ อยู่ในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งหมายถึงว่าเป็นที่ดินของรัฐ ส่วนใหญ่ถ้าเจาะเข้าไปอีก ก็เป็นพื้นที่ป่า ปกครองโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็คือพื้นที่ของกรมป่าไม้ อาจจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งมันเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งมาตลอดและมันมีผู้คนที่อาศัยอยู่ในนั้น”

“ถ้าเราจำกันได้ ในกรณีชุมชนกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอย กรณีทวงคืนผืนป่าที่เกิดขึ้น ซึ่งมันมีประชาชนที่อาศัยในพื้นที่แบบนี้หลักล้านคน และเขาจะได้รับผลกระทบมากๆ จากการประชุมเอเปคในครั้งนี้ มีการชูโมเดลเรื่อง BCG มีแผนที่จะขายคาร์บอนเครดิตด้วย ซึ่งมันก็จะต้องผลักภาระให้พื้นที่ป่า พื้นที่ป่าของคนพวกนี้จะต้องรับภาระเพื่อแบกผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและรัฐบาลไทยต่อไป เราถึงต้องลุกขึ้นมาจับตาและส่งเสียง” 

เขาเล่าต่อว่า ในขณะที่ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีโครงการปลูกป่าถูกแทรกอยู่ในนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทวงคืนผืนป่า แทรกอยู่ในคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (ครช.) แทรกอยู่ในพรบ.อุทยานแห่งชาติ พรบ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พรบ.ป่าชุมชนที่ออกมาในสมัยสนช. แทรกอยู่ในแผนแม่บทป่าไม้ที่ออกโดยรัฐบาลคสช.เหมือนกัน โดยกำหนดว่าต้องมีพื้นที่ป่าเท่าใด แผนเหล่านี้ออกมาท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชน ตลอดระยะเวลา 8 ปีมีชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่ป่ามากไม่ต่ำกว่า 34,000 คดี

พชร คำชำนาญ นักกิจกรรมด้านสิทธิการจัดการทรัพยากรของชุมชนและชาติพันธุ์ 

‘นโยบายป่าคาร์บอน’ เอื้อนายทุน ผลักภาระให้คนจน 

พชร กล่าวว่า นโยบายป่าคาร์บอน ที่หมายถึงแผนการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อให้มีการทดแทนคาร์บอนที่กลุ่มทุนใหญ่ปล่อยออกมา จะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับวาทกรรมทวงคืนผืนป่าของรัฐและเป็นตัวเร่งให้เกิดการยึดที่ดินชาวบ้าน นี่คือหนึ่งในเรื่องหลักที่จะส่งผลกระทบซ้ำเติมประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าของรัฐจำนวนหลักล้านคน

สิ่งที่เขามองว่าไม่เป็นธรรมก็คือการที่ภาครัฐไม่มีมาตรการอะไรกับภาคอุตสาหกรรม แต่มาใช้วิธียึดที่อยู่-ที่ทำกินชาวบ้านเพื่อ ‘ฟอกเขียว’ ให้กลุ่มทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนที่อยู่ในคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG Model หลายกลุ่มนั้น มีชื่อเสียงไม่ค่อยดีนักในประชาคมโลก ในแง่กลุ่มที่เป็นผู้ปล่อยมลพิษและละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เติบโตได้เพราะกดขี่คนรากหญ้า รวมทั้งตีตรากลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นแพะในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“ใน จ.เชียงใหม่ มีบริษัทเบียร์บริษัทหนึ่ง สนธิกำลังกันกับเจ้าหน้าที่เข้าไปยึดที่ดินของชาวบ้าน สุดท้ายก็ไปปลูกป่าแล้วก็เอาโลโก้ของบริษัทตัวเองแปะ แล้วก็ถ่ายรูปทำ csr”

“หรือว่าในกรณีที่เกิดขึ้นที่ จ.ลำปาง มีบริษัทน้ำมันรายใหญ่บริษัทหนึ่ง ก็สนับสนุนให้มีการปลูกป่า และทำให้ชาวบ้านต้องถูกยึดที่ดินไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ ซึ่งมันเป็นพื้นที่ที่ทำกินของพวกเขา คำถามก็คือว่า คนไทยได้อะไรจากการดำเนินนโยบายแบบนี้ เพราะว่า…นายทุนก็ได้รับใบอนุญาตได้ทำลายล้างโลกได้ต่อไป ในขณะที่ชาวบ้านก็กลายเป็นคนชายขอบมากขึ้น ถูกยึดที่มากขึ้น โดนคดีมากขึ้น” 

“ผมคิดว่าคำพูดสวยหรูมันตรงข้ามกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น คุณอยากจะส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว คำถามคือ สุราก้าวหน้าแม่งโคตร BCG เลย ระบบวนเกษตร เกษตรอินทรีย์แม่งโคตร BCG เลย ระบบไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์แม่งโคตร BCG มันแค่เป็น BCG ที่ไม่เอื้อ ไม่ตอบโจทย์กลุ่มทุนหรือว่าอำนาจของพวกตัวเองหรือเปล่า เขาถึงไม่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเลย”  นักกิจกรรมด้านสิทธิในการจัดการที่ดินและชาติพันธุ์กล่าว

APEC 2022 และแผนปฏิบัติการ BCG เพื่อผลประโยชน์ใคร ?

มอง ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ ผ่าน ‘คดีป้าแสงเดือน’

พชร ตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ของการบังคับใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าในยุค คสช. ที่ผูกโยงกับแนวคิดอำนาจนิยมของรัฐราชการรวมศูนย์ พร้อมยกตัวอย่างกรณี ‘ป้าแสงเดือน’ จากชุมชนแม่กวัก หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า 

โดยกรณีแสงเดือน ตินยอด เกิดขึ้นตั้งแต่ชุมชนบ้านแม่กวัก ถูกประกาศป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ทับที่ทำกิน หลังจากนั้น กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยได้โดยให้สิทธิ สทก.1 หลังจากนั้นมีการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ขณะที่ก็ยังมีการต่อใบอนุญาตทำกินให้ รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกยางพารา จนหลังมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ เธอจึงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง บังคับให้ตัดฟันยางพาราของตนเอง 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558 ก่อนจะถูกดำเนินคดีในปี 2561 สุดท้ายศาลฎีกาตัดสิน ให้รอลงอาญา 2 ปี แสงเดือนไม่ต้องติดคุก แต่เธอก็ต้องเสียที่ดิน     

“กรณีคุณแสงเดือน ตินยอด เกิดขึ้นหลังจากที่มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ผมตั้งข้อสังเกตง่ายๆ ว่าพอหลังรัฐประหารปี 57 ตอนที่ประยุทธ์ขึ้นมา เพียงประมาณเวลาไม่ถึงเดือนมีนโยบายทวงคืนผืนป่าเกิดขึ้น คำสั่งคสช.ที่ 64/2557 เป็นคำสั่งที่ให้ปราบปรามจับกุมและก็ยึดพื้นที่ของชาวบ้าน ด้วยข้อกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกทำลายป่า มันจึงเป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจเราเสมอมาว่าทำไมเวลาที่มีการรัฐประหาร เรื่องป่าไม้มักเป็นวาระแรกๆ เสมอ และสุดท้ายเราก็มาได้คำตอบว่ามันผูกโยงกับแนวคิดอำนาจนิยมของหน่วยงานรัฐราชการ กรมอุทยาน กรมป่าไม้ มันผสานกันได้ลงตัวมากกับทหาร”

“ตอนนั้นพี่แสงเดือนอยู่ในพื้นที่ มีหลักฐานการทำกินในพื้นที่ตรงนั้นมาตั้งแต่ปี 2497 แต่สุดท้ายเขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท บังคับให้ตัดฟันต้นยางพาราของตนเอง 700 กว่าต้น คือบอกว่า ถ้าไม่ตัดจะดำเนินคดี ก็ต้องตัดไปเนอะ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ลูกเขาต้องออกจากโรงเรียน ตัวเองก็เป็นโรคซึมเศร้า ต้องเลิกกับสามี ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องไปเป็นคนรับจ้างกรีดยาง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเขาเป็นเจ้าของสวนยาง กรีดเอง ได้เงินเองเป็นแสน สุดท้ายเขาลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องการเยียวยา และถูกดำเนินคดีในป่าสงวน มันเป็นการดำเนินคดีที่ผิดพลาด ด้วยความที่มันเป็นคำสั่งคสช. ที่ดำเนินการรวดเร็ว ไม่มีการตรวจสอบ เขาไม่ตรวจสอบเลยว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการทำกินมาก่อนหรือเปล่า อุทยานสั่งให้ตัด แต่พอตรวจสอบไปตรวจสอบมา พื้นที่นั้นไม่ใช่ที่อุทยาน แม่งโคตรแบบ… ทุเรศ” 

นักกิจกรรมด้านสิทธิในการจัดการที่ดินและชาติพันธุ์ กล่าวถึงข้อกังวลที่ว่า การที่รัฐอ้างเรื่องคาร์บอนเครดิตและการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นมาจะยิ่งทำให้นโยบายทวงคืนผืนป่ารุนแรงขึ้นไปอีกด้วยแรงสนับสนุนจากกลุ่มทุนและคนในสังคม

ศาลฎีกาสั่งรอลงอาญา 2 ปี 'แสงเดือน' คดีทวงคืนผืนป่า รอดคุก แต่เสียที่ดิน

4 ปี คดี ‘แสงเดือน ตินยอด’ ศาลฎีกานัดชี้ชะตาเหยื่อทวงคืนผืนป่า 28 ก.ย. 65 นี้

ยกระดับการเคลื่อนไหว

จากเอเปคป่าไม้ สู่ 'เอเปคใหญ่' ที่กรุงเทพ

พชร คำชำนาญ นักกิจกรรมด้านสิทธิการจัดการทรัพยากรของชุมชนและชาติพันธุ์ 

พชร เล่าว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ (สกน.) และ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) พยายามส่งเสียงถึงประชาคมเอเปค เมื่อวันที่ 23-25 ส.ค. 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จ.เชียงใหม่ สกน.เข้ายื่นหนังสือถึง 7 ข้อเรียกร้องแก้ปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ ถึง วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นำเข้าที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 โดยมี จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนรับหนังสือ รวมทั้งมีการเคลื่อนขบวนจากประตูท่าแพเพื่อตั้งเวทีคู่ขนานที่หน้าโรงแรมเลอ เมอริเดียน แต่ไม่สามารถทำได้และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังในการจับกุมตัวผู้ที่มาชุมนุม นั่นเป็นจุดที่ทำให้สกน.ประกาศยกระดับการชุมนุม จากเชียงใหม่สู่กรุงเทพฯ 

“เราพยายามถึงขนาดที่ว่าเราจัดเวทีพูดคุยทางวิชาการและก็จัดทำข้อเสนอ แต่วันนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็อย่างที่เห็นกัน เราไม่ได้พบรมว.วราวุธ ศิลปอาชา รมว.วราวุธหนีไปทางหลังของโรงแรม ในขณะที่เราปิดล้อมอยู่หน้าโรงแรม แล้วก็…เราก็ไม่ได้เข้าไปเจอใครเลย ไม่ได้เข้าไปถึงประชาคมโลก เสียงของเราไม่ได้ถึงตรงนั้น มิหนำซ้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จัดการกับพวกเราด้วยวิธีการที่มีความรุนแรง สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือตัดสินใจแถลงในวันนั้นเลยว่ายังไงเอเปคใหญ่เจอกันแน่ๆ เราไม่มีส่วนร่วม เขาปิดกั้นเสียงของเราด้วยวิธีการที่รุนแรง”

‘เกษตรกรภาคเหนือ’ บุกเวทีเอเปคป่าไม้ที่เชียงใหม่ ยื่น 7 ข้อเรียกร้องถึง รมว.ทรัพยากรฯ ให้เอาเข้าที่ประชุม

ชุมนุมคู่ขนานเวที รมต.เอเปคด้านป่าไม้ที่เชียงใหม่ | 24 ส.ค. 65 [คลิป]

พชร กล่าวว่า การเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16-18 พ.ย. นี้เป็นการรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งของภาคประชาชนในนามกลุ่ม ‘ราษฎรหยุดเอเปค2022’ ซึ่งทำให้เห็นจุดร่วมหนึ่งที่ทุกกลุ่มย่อยมีร่วมกัน คือเรื่องรัฐบาลประยุทธ์นั้นไม่มีความชอบธรรม

“รัฐบาลที่พูดว่าประเทศเรามีต้นทุนคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเป็นพหุสังคมซึ่งเป็นต้นทุนในการที่จะเอานวัตกรรมเข้าไปเสริมและสร้างศักยภาพเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ แต่รัฐบาลที่พูดเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมเนี่ยล่ะครับที่พูดว่า ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งๆ ที่เราไปลงนามในอนุสัญญาสิทธิว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง ไม่เคยเคารพเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แม้กระทั่งการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนที่ถูกปราบปราม ถูกจับกุม ดำเนินคดี ติดคุกกันไปหลายคดี ทั้งๆ ที่มันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากล แต่รัฐบาลทำแบบนี้กับเรา คำถามคือ คุณจะร่วมมือกับรัฐบาลไทย ฟอกขาวให้รัฐบาลและฟอกเขียวให้กลุ่มทุนที่ละเมิดสิทธิในประเทศไทยจริงๆ ใช่ไหม” พชรฝากถึงประชาคมระหว่างประเทศ

“การเคลื่อนไหวเอเปคครั้งนี้ มันไม่ได้มีแค่กลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา มีทั้งภาคประชาสังคม ที่สำคัญที่สุดมีคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยออกมาเข้าร่วม เพราะว่าเขาเห็นความสำคัญด้วย มันจะดีกว่านี้ที่จะลดแรงเสียดทาน และตระหนักได้แล้วว่าวันนี้คุณไม่มีความชอบธรรมใดๆ” นักกิจกรรมด้านสิทธิในการจัดการที่ดินและชาติพันธุ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net