ตรวจค้นหอพักย่านรามคำแหง - คุมตัว 3 นักกิจกรรมนักศึกษามลายู อ้างเหตุความมั่นคงช่วง APEC

จนท.ตำรวจ-ความมั่นคง ตรวจค้นหอพักซอยรามคำแหง 53/1 พร้อมควบคุมตัวประธานชมรมมุสลิมรามคำแหง พร้อมเพื่อน 2 นักกิจกรรมนักศึกษามลายู อ้างเหตุความมั่นคงช่วง APEC ขณะที่นราธิวาส ตำรวจ สภ.แว้ง เข้า ติดตามอดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี  ระบุตรวจสอบจนหมดสัปดาห์  APEC 

เจ้าหน้าที่ตรวจค้นหอพัก ซอยรามคำแหง 53/1

16 พ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ช่วงเช้าเวลาประมาณ 6.00 น วันนี้ (16 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาล (สน.)หัวหมาก ร่วมกับทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความั่นคง เข้าตรวจค้น หอพัก ซอยรามคำแหง 53/1  และควบคุมตัว นักกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 3 คน สมาชิกกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (P.N.Y.S) ทราบชื่อ อับดุลเลาะ กะลาแต ประธานชมรมมุสลิมรามคำแหง, ศักดา เมาะอะ และฟิตรี อารง

รายงานระบุด้วยว่าทางเจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์มือถือของทั้ง 3 คนไว้ และนำตัวไปยัง สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก

ซอฟรอนด์ ลาเตะ รองนายกองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ทางนักกิจกรรมนักศึกษามลายูที่ถูกควบคุมตัวไม่เคยต้องประวัติคดีความมั่นคง ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีหมายค้นจากศาล แต่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใด ๆ ในการควบคุมตัว ทางเราจึงไม่ทราบเหตุผลในการควบคุมตัว ทั้งที่เบื้องต้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายภายในหอพักแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แว้ง ติดตามสอบถาม ฮาฟิส ยะโกะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) 

ขณะเดียวกันช่วงเช้าวันนี้ 09.30 น. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แว้ง เข้าไปติดตามสอบถามนักกิจกรรมนักศึกษาในพื้นที่สามจังหวัด 4 อำเภอ โดยเข้าตรวจสอบบ้าน ฮาฟิส ยะโกะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) 

“จะมาตรวจสอบจนหมดสัปดาห์  APEC" เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการกล่าว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ฮาฟิต ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ว่าไม่อยากให้มาเยี่ยมที่บ้าน เพราะเป็นห่วงสุขภาพของบิดามารดา ทางเจ้าหน้าจึงบอกให้ไปรายงานตัวที่โรงพัก เมื่อสอบถามถึงที่มาการใช้อำนาจ เจ้าหน้าตำรวจบอกได้แค่ว่านายสั่งมา เช่นเดียวกับการมาตรวจสอบในวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา

ด้านนักกิจกรรมนักศึกษาและภาคประชาสังคมมลายู เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักกิจกรรมนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัว ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา คือ รอมลี กูโน อดีตคณะกรรมการกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ P.N.Y.S. ซึ่งกำลังถูกควบคุมตัวที่ หน่วยเฉพาะกิจ 46 บูเกะตันหยง จังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นผู้ต้องสงสัยที่อาจก่อเหตุในกรุงเทพฯ ในสัปดาห์แห่งการประชุม APEC  

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) อดีตนักกิจกรรมนักศึกษามลายูมหาวิทยาลัยรามคำแหง ย้ำว่า รัฐต้องไม่มองชาวมลายูด้วยความอคติ เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธ์มลายู สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนวิธีคิดของรัฐต่อการจัดการชาวมลายูในชาวแห่งความเปราะบาง การอ้างเหตุผลความมั่นคงตลอดมาล้วนกระทำต่อชาวมลายู หากเรายังไม่ลืมไม่กี่ปีที่ผ่านมาเยาวชน นักศึกษา ชาวมลายู ถูกควบคุมตัว ด้วยความสงสัยในรูปแบบเดียวกันอย่างคดี บูดู หวังว่า รัฐจะมีบทเรียนว่าการจัดการด้วยวิธีการแบบนี้มิได้ทำให้บรรยากาศการพูดคุยเจรจา สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกดีขึ้น

นศ.รามคำแหง แถลงเรียกร้องให้ จนท.ปล่อยตัวนักกิจกรรม 3 จังหวัดชายแดนใต้

จากกรณีที่เมื่อเช้านี้ (16 พ.ย.) ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าควบคุมตัวนักศึกษา 3 คนจากกลุ่ม P.N.Y.S. โดยตอนนี้ทั้งหมดยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.หัวหมาก การควบคุมนี้เจ้าหน้าที่อ้างเหตุความมั่นคงช่วงการประชุมเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 

ในวันเดียวกันนี้ สื่อเถื่อนข่าว รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. องค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และกลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มายื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยข้อเรียกร้องของทางนักศึกษารามคำแหง มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1. ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนว่าการควบคุมตัวนักศึกษาชายแดนใต้ครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2. เจ้าหน้าที่ต้องหยุดอ้างความมั่นคง เป็นใบเบิกทางในการคุกคามนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี และ 3. เจ้าหน้าที่ต้องคืนอิสรภาพให้กับนักศึกษาทั้ง 3 คนที่ถูกคุมควบตัวโดยไม่ทราบสาเหตุและถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์องค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคําแหงกล่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมนักศึกษามุสลิมมหาวิทยาลัยรามคําแหงและทางสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย

เรื่อง การเรียกร้องให้หยุดการคุกคามและปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกคุมตัว

สืบเนื่องจากในวันที่ 14-19 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ซึ่งทราบกันดีว่าประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสัปดาห์ผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ทําให้เจ้าหน้าที่มีการเตรียมการและ
มาตรการตรึงกำลังเพื่อเฝ้าระวัง สังเกตการณ์ และดูแลความเรียบร้อยโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีกลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่าทางเจ้าหน้าที่ได้มีการตรึงกำลังเป็นพิเศษ ซึ่งลักษณะของเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจและถ่ายบัตรประจําตัวประชาชน เยี่ยมที่พักอาศัย และรวมถึงเหตุการณ์ในเช้านี้ เมื่อวันที่ 16 เดือนพฤศจิการยน พ.ศ. 2565 ได้มีการควบคุมตัวเพื่อนนักศึกษาไปยัง สน.หัวหมาก จํานวน 3 ราย โดยไม่ทราบสาเหตุ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เจ้าหน้าที่ตํารวจได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังทําให้เกิดข้อกงวลในเรื่องของข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ได้จากการคุกคามนั้น ผู้คุกคามไม่มีทางทราบได้เลยว่าจะนําข้อมูลที่ได้ไปใช้ในทิศทางใดบ้าง อีกทั้งยังทําให้ผู้ถูกคุกคามเกิดความกังวลและเกิดข้อสงสัยว่าใช้เกณฑ์ใดในการเลือกคุกคาม หรือมีมูลเหตุอันใดที่ทําให้เจ้าหน้าที่เลือกที่จะปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ การกระทําของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเช่นนี้ ยังทําให้คนทั่วไปที่มองมาต่อผู้ถูกคุกคามตีความไปในทางลบ เป็นการกระทําที่ทําให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงทั้งต่อตัวนักศึกษา และทําให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยรามคําแหง และยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยางร้ายแรงต่อผู้ถูกคุกคามอีกด้วย

จากข้อกังวลดังกล่าว องค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคําแหง กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมนักศึกษามุสลิมมหาวิทยาลัยรามคําแหงและทางสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทยที่คํานึงและเล็งเห็นถึงความสําคัญของหลักการสิทธิมนุษยชนและคํานึงถึงหลักของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 27 วรรค 3 การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศอายุ ความพิการสภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคมความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้.. ซึ่งนํามาสู่ข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ขอให้ตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องกับคําสั่งการดําเนินงานของคณะเจ้าหน้าที่ตํารวจว่าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร 

2. หยุดคุกคามนักศึกษาและประชาชนที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีโดยอ้างความมั่นคงในการสร้างความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

3. เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่คืนอิสรภาพแก่นักศึกษาที่ถูกคุกคามและถูกควบคุมตัวโดยไม่ทราบสาเหตุอันไม่คํานึงถึงสิทธิมนุษยชนสากล ไม่คํานึงถึงหลักสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยให้การคุ้มครองและรับรองไว้ และไม่คํานึงหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ขอให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวเพื่อนนักศึกษาทันที

องค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคําแหง

กล่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ชมรมนักศึกษามุสลิมมหาวิทยาลัยรามคําแหง

สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย

'โฆษกก้าวไกล' ประณาม ตร.สน.หัวหมากบุกจับนักศึกษามุสลิมช่วง APEC อ้างกลัวก่อความวุ่นวาย - คุมตัวประชาชนมาล้วงข้อมูล ชี้ที่น่าอับอายต่อชาวโลก

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนด้วยว่า รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีที่มีนักศึกษามุสลิมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 3 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นที่พักก่อนควบคุมตัวไปที่ สน.หัวหมาก โดยทางตำรวจอ้างเหตุว่าอาจก่อความไม่สงบระหว่างการประชุม APEC ต่อมาเมื่อทั้ง 3 คนติดต่อทนายความส่วนตัวได้แล้ว ทางตำรวจแจ้งว่าหากลงลายมือชื่อยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและบันทึกประจำวันก็จะปล่อยตัวภายในวันนี้ (ล่าสุดได้รับการปล่อยตัวแล้ว)

รังสิมันต์ระบุว่า การเข้าค้นดังกล่าวนั้นเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีหมายค้น ซึ่งทราบมาว่าสุดท้ายแล้วไม่พบสิ่งของที่เป็นความผิดหรือต้องสงสัยว่าจะไปก่อเหตุใดๆ ได้ แต่การที่ตำรวจนำตัวนักศึกษาไปยัง สน.หัวหมากด้วยนั้นเป็นสิ่งที่เกินเลยกว่าเรื่องการค้นไปแล้วเพราะอาจเข้าข่ายเป็นการจับ ซึ่งไม่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าค้นนั้นมีหมายจับนักศึกษาทั้ง 3 คน และทั้ง 3 คนนี้ก็ไม่เคยมีคดีความมั่นคงมาก่อน การที่จะจับโดยที่ไม่มีหมายนั้นจึงต้องเป็นกรณีที่พบการกระทำความผิดซึ่งหน้าเท่านั้น ดังนั้นผมขอให้ทางตำรวจชี้แจงด้วยว่าการนำตัวนักศึกษา 3 คนมาที่ สน. ด้วยนั้น ท่านอาศัยเหตุอะไร? อาศัยอำนาจจากกฎหมายข้อไหน? หรือว่าจริงๆ คือแค่เห็นว่าเป็นคนมุสลิมก็หาเรื่องจับแล้วโดยไม่ต้องมีมูลใดๆ

มากไปกว่านั้น การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าถ้าทั้ง 3 คนยอมให้เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วจะปล่อยตัวนั้น นี่ก็เช่นกันว่าท่านอาศัยอำนาจจากกฎหมายข้อไหน เพราะถ้าไม่มีเหตุอันสมควรใดๆ ที่จะต้องควบคุมตัวไว้ ประชาชนย่อมต้องได้ปล่อยตัวออกมาทันทีโดยไม่จำเป็นต้องยินยอมให้คนอื่นเข้าถึงข้อมูลใดๆ ของตัวเอง และเอาเข้าจริงแล้วการที่ตำรวจสามารถยืนข้อเสนอได้ง่ายๆ ว่าจะปล่อยตัวโดยแลกกับการให้เข้าถึงข้อมูลนั้น แสดงว่าทางตำรวจเองก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องควบคุมตัวนักศึกษา 3 คนตั้งแต่แรกแล้วใช่หรือไม่ แล้วการมาทำเช่นนี้ต่างอะไรจากการเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน ข่มขู่เพื่อล้วงข้อมูลคนคนนั้น ก็พอจะเข้าใจอยู่ว่าในช่วงประชุม APEC นั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่อยากเสียหน้าเวลามีใครออกมาประท้วงพวกท่าน แต่การให้ตำรวจมาไล่ล่าจับประชาชนแบบเลื่อนลอยด้วยข้ออ้างแค่ว่ากลัวจะไปก่อความไม่สงบ สิ่งนี้แหละที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นที่อับอายขายหน้าประชาคมโลกอย่างแท้จริง ดังนั้นตนเสนอนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ภายในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อพิจารณาหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่น่าเสื่อมเสียเช่นนี้จากเจ้าหน้าที่รัฐอีกรังสิมันต์กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท