ศาลอิหร่านตัดสินประหารชีวิตผู้ประท้วงคดีแรก อ้างเป็นอาชญากรรมต่อรัฐและต่อต้านพระเจ้า

ศาลกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ตัดสินลงโทษประหารชีวิตต่อผู้ประท้วงเป็นรายแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐสภาอิหร่านเพิ่งจะโหวตลงมติสนับสนุนอย่างท่วมท้นให้มีการลงโทษประหารชีวิตต่อผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มมาจากกรณี “มาห์ซา อามินี” เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจศีลธรรมคุมตัวเพราะถูกกล่าวหาว่าสวมฮิญาบไม่เหมาะสม

ภาพการประท้วงของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Amir kabir เมื่อ 19 ก.ย.2565 ถ่ายโดย Darafsh

ในอิหร่านมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมอย่างต่อเนื่องมานานหลายเดือน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลอิหร่านเพิ่งจะโหวตลงมติสนับสนุนให้มีการประหารชีวิตผู้ประท้วง และเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมาศาลกรุงเตหะรานก็ตัดสินให้มีการประหารชีวิตผู้ประท้วง ซึ่งนับเป็นรายแรกที่ถูกประหารเพราะเรื่องนี้

ศาลกรุงเตหะรานแถลงเมื่อช่วงเย็นวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมาว่ามีการสั่งประหารชีวิตผู้ประท้วงที่ไม่เปิดเผยนาม โดยมีข้อกล่าวหาว่าจำเลยทำการ "จุดไฟเผาศูนย์ราชการ ทำลายความสงบเรียบร้อยในสังคม และสมคบคิดก่ออาชญากรรมต่อความมั่นคงแห่งรัฐ" นอกจากนี้ยังอ้างว่าจำเลยมีความผิดฐาน "ก่อสงครามต่อต้านพระเจ้า" และ "เป็นความเสื่อมทรามของโลก"

นอกจากโทษประหารชีวิตแล้วยังมีจำเลยอีก 5 ราย ที่ถูกสั่งลงโทษจำคุกระหว่าง 5-10 ปี โดยอ้างข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงในชาติ ทางการอิหร่านไม่เปิดเผยรายชื่อของจำเลยเหล่านี้ พวกเขาเรียกจำเลยว่าเป็น "ผู้ก่อเหตุจลาจล" ซึ่งเป็นคำที่รัฐบาลอิหร่านมักจะใช้เรียกผู้เข้าร่วมประท้วง

รายงานข่าวระบุว่าเป็นการประท้วงครั้งล่าสุดในอิหร่านในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และชนวนเหตุของการประท้วงคือการเสียชีวิตของ “มาห์ซา อามินี” หญิงชาวเคิร์ดอายุ 22 ปี ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา หลัง "ตำรวจศีลธรรม" ในกรุงเตหะรานจับกุมเธอในข้อหาที่เธอสวมฮิญาบแบบที่ "ไม่เหมาะสม" ในช่วงที่เธอเดินทางเยือนกรุงเตหะราน มีข้อกล่าวหาว่าสาเหตุที่อามินีเสียชีวิตเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ทุบตีทำร้ายเธออย่างหนักขณะอยู่ในเรือนจำ จนกระทั่งทำให้เธอเสียชีวิตจากบาดแผลรุนแรงที่ศีรษะ ซึ่งทางการอิหร่านปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

สำหรับการตัดสินลงโทษประหารชีวิตล่าสุด ตุลาการระบุว่าคำตัดสินยังเพียงศาลชั้นต้น โดยยังต้องให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอีกชั้นถึงจะถือว่าคำตัดสินเป็นที่สิ้นสุด แล้วศาลจะเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะได้

ก่อนหน้านี้ตุลาการของอิหร่านเคยเปิดเผยว่ามีการดำเนินคดีต่อผู้ประท้วงมากกว่า 1,000 คดีในเตหะราน และมีการดำเนินคดีต่อผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายร้อยคดี โดยคดีของผู้ประท้วงอิหร่านคดีแรกที่เข้าสู่ศาลมีตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา และนับจากนั้นมากลุ่มผู้นำทางการเมืองในอิหร่านก็เรียกร้องให้ศาลดำเนินการลงโทษกลุ่มผู้ประท้วงให้เร็วขึ้นเพื่อต่อต้านการชุมนุมของประชาชน โดยกล่าวหาผู้ประท้วงเป็น "ผู้ก่อจลาจล"

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา รัฐสภาอิหร่านได้ลงมติให้มีการใช้โทษประหารต่อผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมทุกคนโดยอ้างว่าเพื่อ "เป็นบทเรียนหนัก" ต่อกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาล มีคะแนนเสียงโหวตสนับสนุน 227 เสียงจากทั้งหมด 290 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนเสียงที่เท่ากับจำนวนของ ส.ส. อิหร่านที่ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้ประท้วงหนักขึ้น โดยจดหมายดังกล่าวเผยแพร่ออกมาก่อนหน้าที่จะมีการลงมติในรัฐสภาครั้งนี้

สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากการประท้วงตามรายงานของซีเอ็นเอ็นที่อ้างข้อมูลจากเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่าข้อมูลที่อัพเดตล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีผู้ประท้วงเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 326 โดยในจำนวนนี้มีเยาวชนจำนวน 43 คน และเป็นผู้หญิง 25 คน 
 

เรียบเรียงจาก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท