Skip to main content
sharethis

เป็นประเด็นร้อนของกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา หลัง 'สม รังสี' นักการเมืองฝ่ายค้านที่ลี้ภัยในต่างประเทศ วิจารณ์กษัตริย์ 'นโรดม สีหมุนี' ว่า 'ขายชาติ' และวิจารณ์ 'ฮุน เซ็น' นายกรัฐมนตรีว่าใช้สถาบันกษัตริย์ปกป้องระบอบเผด็จการของตนเอง ขณะที่กษัตริย์กัมพูชายังคงนิ่งเงียบต่อความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความตึงเครียดและถูกเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น ฝ่ายค้านเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ควรมีบทบาทในการยุติระบอบอำนาจนิยมของ 'ฮุน เซ็น' แต่บางส่วนก็มองว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องหรือถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง

สม รังสี(ซ้าย) นโรดม สีหมุนี(กลาง) ฮุน เซ็น(ขวา)

เวียดนามกับกัมพูชาเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่สำคัญ ทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกันกว่า 1,270 กิโลเมตร และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการขีดเส้นเขตแดนอย่างเหมาะสมมาตั้งแต่สมัยระบอบอาณานิคม หลัง​ทั้ง​ 2 ประเทศเป็นอิสระจากระบอบอาณานิคมของฝรั่งเศสและเวลาพ้นเลยไป ความพยายามในการขีดเส้นเขตแดนอย่างเหมาะสมถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมือง และกลายเป็นปัญหาซับซ้อนขึ้น หลังจากที่นักการเมืองกัมพูชาขยายประเด็นว่าเวียดนามต้องการยึดครองประเทศของตนเอง

เมื่อไม่นานมานี้ สม รังสี นักการเมืองฝ่ายค้านและผู้ลี้ภัยทางการเมืองในฝรั่งเศสถูกศาลกรุงพนมเปญตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อหามอบดินแดนของกัมพูชาให้กับต่างชาติ จากคำพูดของสม รังสีที่ต้องการส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ระหว่างชายแดนเวียดนาม-กัมพูชา หลายฝ่ายมองว่าคดีนี้เป็นการตีความกฎหมายที่ผิดฝาผิดตัวและเกินเลยไปอย่างมาก หลังคำพิพากษาดังกล่าว ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ปกครองประเทศมาตลอดหลายสิบปี ข่มขู่ว่าจะยุบพรรคใดๆ ก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับสม รังสี

ด้าน ฮุน เซน เองเป็นผู้ที่พูดภาษาเวียดนามได้อย่างคล่องแคล่วและเคยเป็นคอมมิวนิสต์ ก่อให้เกิดความกังวลว่าเวียดนามอาจมีต่ออิทธิพล​ต่อเขาในประเด็นเกี่ยวกับเส้นเขตแดน ในปี 2548 เขาได้บรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาเขตแดนกับเวียดนาม โดยอ้างอิงจากสนธิสัญญาฉบับเดิมที่รัฐบาลของเขาลงนามในช่วงทศวรรษที่ ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523-2533) และมอบดินแดนบางส่วนให้แก่เวียดนาม ขณะที่กัมพูชายังถูกยึดครองโดยเวียดนามอยู่ ด้วยเหตุนี้ ฮุน เซนจึงไม่ได้รอดพ้นจากการตอบโต้ของสม รังสี เช่นกัน

25 ต.ค. ที่ผ่านมา ในรายการช่วงค่ำของเรดิโอฟรีเอเชีย สม รังสี ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับ 'นโรดม สีหมุนี' กษัตริย์ประมุขรัฐของกัมพูชา กล่าวหาว่าพระองค์เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการ 'ขายชาติ' โดยพาดพิงถึงกรณีที่ 'ฮุน เซน' นายกรัฐมนตรีบังคับให้พระองค์ลงนามข้อตกลงมอบดินแดนให้แก่เวียดนามในปี 2548 และ 2562 การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของสม รังสี อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในกัมพูชา อาจมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และกลายเป็นประเด็นร้อนในกัมพูชา ซึ่งกำลังจะเข้าเลือกตั้งในอีกไม่นาน

"สิ่งที่ฮุน เซนใช้เป็นกลอุบายคือการบังคับกษัตริย์ให้สนับสนุนการทรยศชาติของเขา" สม รังสีกล่าว "ถ้ากษัตริย์ยอมอ่อนข้อต่อการข่มขู่ของฮุน เซน และหันไปสนับสนุนการทรยศของฮุน เซน กษัตริย์ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าเป็นผม ผมคงสละราชย์ไปแล้ว เพราะผมจะถูกข่มขู่จากฮุน เซนไม่ได้" สม รังสีระบุอีกว่า "มันอันตรายต่อประเทศชาติของเราที่พระองค์กลายเป็นตรายางให้กับทรราช มันหมายความว่าคุณมีส่วนส่งเสริมการกระทำขายชาติ ซึ่งคุณต้องรับผิดชอบต่อชาติและประวัติศาสตร์ของกัมพูชา"

ในช่วงปีแรกของการครองราชย์ 'นโรดม สีหมุนี' พยายามทัดทานในการลงนามสนธิสัญญาดังกล่าว โดยอ้างว่าพระราชบิดาของพระองค์ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม พระองค์ยอมลงนามสนธิสัญญาดังกล่าวในที่สุด หลังฮุน เซน ข่มขู่ว่าจะโค่นล้มพระองค์และก่อตั้งสาธารณรัฐ ตามมาด้วยการลงนามสนธิสัญญาใน พ.ศ. 2562 ซึ่งเพิ่มน้ำหนักให้กับสนธิสัญญาฉบับก่อนหน้ามากขึ้นอีก ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านในกัมพูชาแสดงความไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญาดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นการให้ความชอบธรรมแก่สนธิสัญญาที่ลงนามในช่วงที่กัมพูชาอยู่ภายใต้การยึดครองของเวียดนาม

เพื่อตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์ของสม รังสี ทางฮุน เซนได้เรียกร้องให้พรรคแสงเทียนซึ่งอยู่ในฝ่ายค้าน แสดงจุดยืนเกี่ยวกับความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของ 'สม รังสี' และขู่ว่าหากพบความผิดปกติอาจถูกดำเนินคดีถึงขั้นยุบพรรค เขายังขอให้สมาชิกพรรคแสงเทียนกลับตัวกลับใจมาอยู่กับฝั่งรัฐบาล หากไม่อยากมีปัญหากับพรรคที่ "ต้องการโค่นล้มรัฐบาล และสถาบันกษัตริย์" ด้วย สำหรับพรรคแสงเทียนเป็นพรรคที่ก่อตั้งขึ้นใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสม รังสี หลังจากพรรคสงเคราะห์ชาติของสม รังสี ถูกสั่งยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ และตัวสม รังสีเองถูกดำเนินคดีหลายกระทง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามีแรงจูงใจมาจากการเมือง

พรรคแสงเทียนต้องพยายามมีระยะห่างกับสม รังสี เพื่อไม่ให้ถูกโจมตีทางการเมืองและดำเนินคดีทางกฎหมาย พรรคแสงเทียนออกมาแถลงจุดยืนประณามผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน โดยไม่ได้มีการพาดพิงชื่อของใครเป็นการเฉพาะ แม้สมาชิกพรรคจะถูกกดดันโดยฝ่ายรัฐบาลให้ประณามคำพูดของสม รังสี แต่พวกเขาก็ไม่ได้แสดงจุดยืนเพิ่มเติมอีก ในการประชุมสภาท้องถิ่นแห่งหนึ่งพบว่าผู้บริหารท้องถิ่นของพรรครัฐบาลกดดันให้สมาชิกสภาลงนามและประทับลายนิ้วมือในหนังสือเพื่อประณามคำพูดของสม รังสี แต่พวกเขาเลือกที่จะเดินออกจากการประชุมสภาท้องถิ่นดังกล่าวไป โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคแสงเทียนให้ความเห็นในภายหลังว่าการออกแถลงการณ์ของพรรคแสงเทียนนับว่าเพียงพอแล้ว

'กษัตริย์ผู้ขี้อาย'

สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย ตั้งข้อสังเกตว่าการทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองครั้งนี้ทำให้สถาบันกษัตริย์กัมพูชาอยู่ในความสนใจของสาธารณะชนอีกครั้ง ขณะที่การครองราชย์ของกษัตริย์นโรดม สีหมุนีใกล้เข้าสู่ทศวรรษที่ 2 และการปกครองในระบบรัฐสภาอยู่ในสภาวะเปราะบางจากความพยายามในการสืบทอดอำนาจของฮุน เซน ฝ่ายค้านพยายามกดดันเรียกร้องให้กษัตริย์เข้าแทรกแซง แต่พระองค์แทบไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องใดๆ

ภายใต้ข้อจำกัดของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของกัมพูชา พระองค์ทรงเป็นประมุขเพียงในนาม และปล่อยให้รัฐสภาและรัฐบาลเป็นผู้ปกครองบริหารประเทศในทางปฏิบัติ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2536 ของกัมพูชาที่บัญญัติเอาไว้ว่ากษัตริย์มีหน้าที่ "ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง" แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระองค์ไม่มีบทบาททางการเมืองมากนักมาจากบุคลิกภาพของพระองค์ที่ทรงชอบการใช้ชีวิตอย่างสันโดษ

"ผมเชื่อว่ากษัตริย์นโรดม สีหมุนีไม่ทรงต้องการเกียรติยศหรือชื่อเสียงเหมือนกษัตริย์องค์ก่อนๆ พระองค์ไม่ได้มีความทะเยอทะยานหรือความละโมบเช่นนั้น" อูม ดาราวุท หนึ่งในที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของกษัตริย์นโรดม สีหมุนีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย "กษัตริย์ไม่ได้ต้องการให้ชื่อของพระองค์โด่งดังเหมือนเช่นคนอื่นๆ พระองค์เพียงต้องการอยู่อย่างสันโดษ และไม่ได้ต้องการสิ่งอื่นใด"

กษัตริย์นโรดม สีหมุนี ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2547 โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนและสร้างความสามัคคีในชาติ โดยระบุว่า "เราจะไม่มีวันใช้ชีวิตอยู่แยกห่างจากประชาชน พระราชวังจะยังคงเป็นสำนักงานที่โปร่งใส และสำหรับเราแล้วจะไม่มีวันเป็นหอคอยงาช้าง ทุกสัปดาห์เราจะอุทิศหลายๆ วันในการไปเยือนเมือง ชนบท และจังหวัดต่างๆ ของเราเพื่อรับใช้ท่าน"

ก่อนการขึ้นครองราชย์ พระองค์เคยเป็นทูตของยูเนสโกและพำนักอยู่ในฝรั่งเศสโดยประกอบอาชีพครูสอนเต้นรำ สำเร็จการศึกษาสาขาการดนตรีและเต้นรำในกรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ค และเคยเดินทางไปศึกษาการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ประเทศเกาหลีเหนือ พระองค์​เดินทางกลับมายังพนมเปญและถูกกักบริเวณอยู่ในพระราชวังร่วมกับพระราชบิดาและพระราชินี และได้รับการปล่อยตัวหลังจากระบอบการปกครองของพอล พต ล่มสลายลงใน พ.ศ. 2522

นโรดม สีหนุ พระราชบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน มีลักษณะนิสัยต่างออกไป และอยู่ผ่านความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่มาหลายต่อหลายครั้งตลอดช่วงชีวิตของพระองค์ นอกจากเป็น "พระบิดาแห่งอิสรภาพ" ในช่วงที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส พระองค์ยังเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาเป็นประมุขของรัฐบาลเขมรแดงก่อนที่จะแตกหักกับเขมรแดงและถูกกักบริเวณ

หลังเวียดนามเข้ายึดครองและปล่อยตัวพระองค์ออกมา นโรดม สีหนุเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านการยึดครองของเวียดนาม และเมื่อสงครามกลางเมืองสิ้นสุดสงภายใต้ข้อตกลงสันติภาพใน พ.ศ. 2536 พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อีกครั้งจนกระทั่งประกาศสละราชย์สมบัติใน พ.ศ. 2547 เพื่อให้พระองค์มีสิทธิมีเสียงในการเลือกองค์รัชทายาท นโรดม สีหนุสิ้นพระชนม์ที่กรุงปักกิ่งใน พ.ศ. 2555 จากอาการพระทัยวาย สิริพระชนมายุ 89 พรรษา พระองค์ได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊คว่าเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลากหลายมากที่สุดในโลก

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2536 นโรดม รณฤทธิ์ พี่น้องต่างมารดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน และนักการเมืองที่มีชื่อเสียง ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยร่วมรัฐบาลกับฮุน เซน ก่อนที่จะเปิดทางให้ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตามรายงานระบุว่านโรดม รณฤทธิ์ ต้องการขึ้นครองราชย์ต่อจากกษัตริย์นโรดม สีหนุ แต่ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องการให้นโรดม สีหมุนี กษัตริย์คนปัจจุบันเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์มากกว่า

ความเป็นกลางทางการเมือง

ลาว ม่อง เฮย์ นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชา และอดีตที่ปรึกษาของเขม สุขา ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสงเคราะห์ชาติกับสม รังสีที่ถูกยุบ เสนอมุมมองว่าการทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองระหว่างฮุน เซน และสม รังสี ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำทางการเมืองมักนำสถาบันกษัตริย์มาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่การนำสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองก็ไม่ได้มีผลใดๆ มากนัก เพราะไม่ได้มีกลุ่มการเมืองใดต้องการ "ร่วมมือ" กับสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง

"ดูเหมือนว่าความเคารพจะมีอยู่เป็นแค่ลมปาก เมื่อพวกเขาบอกว่าเคารพกษัตริย์หรือทำตามแนวคิดของพระมหากษัตริย์" ม่อง เฮย์ กล่าว

กรมหลวงสีสุวัตถิ์ โทมิโก บุตรบุญธรรมของอดีตกษัตริย์นโรดม สีหนุ และอดีตสมาชิกของพรรคสงเคราะห์ชาติ มีความเห็นว่านักการเมืองควรช่วยกันทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองต่อไป เพราะสถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจเป็นตัวกลางเจรจาทางการเมือง และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน

"พูดตรงๆ ว่าเป็นแนวคิดสุดโต่งทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ที่ทะเลาะกับสม รังสี และสม รังสี ที่ไปทะเลาะกับฮุน เซน" โทมิโก กล่าว "ทั้งหมดนี้สะท้อนแนวคิดสุดโต่ง และเราไม่สามารถนำชาติได้ด้วยแนวคิดสุดโต่ง"

ซอน ซูเบอร์ อดีตสมาชิกของศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองคมนตรี ให้ความเห็นว่าไม่ว่ากษัตริย์นโรดม สีหมุนีจะถูกวิจารณ์อย่างไร พระองค์คงไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างแน่นอน

"พระองค์ไม่เคยประสงค์ขึ้นครองบัลลังก์เลย แต่เพราะไม่มีคนอื่นแล้ว พระองค์จึงต้องขึ้นครองบัลลังก์" ซอน ซูเบอร์ กล่าว "พระองค์รู้บทบาทของพระองค์ดี และพระองค์รู้หน้าที่ของพระองค์อย่างชัดเจน กล่าวคือพระองค์จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจนกว่าพระองค์จะจากโลกนี้ไป"

 

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net