มองเอเปค 2022 ในมุม ‘อาหารและปากท้อง’ คุยกับ ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ เลขาธิการ มูลนิธิไบโอไทย

ในการประชุมเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยชูการผลักดัน 'BCG Model' เป็นวาระหลัก ประชาไทสัมภาษณ์ ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและเลขาธิการมูลนิธิไบโอไทย ว่าด้วยเรื่องเอเปค 2022 ในมุม ‘อาหารและปากท้อง’ อะไรคือผลกระทบถ้ามีการแก้กฎหมายนิยามพันธุ์พืชพื้นเมือง อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีการเปิดทางให้ปลูกพืช GMOs ในไทย และใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากวาทกรรมอาหารและเกษตรยั่งยืน

  • ในช่วงการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ได้นำโมเดล เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลัก เปรียบ BCG เป็นพาหนะพาเอเปคเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชน ว่าท่ามกลางหลักการที่สวยหรูดูดี แท้จริงแล้วมีวาระซ่อนเร้นเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนอยู่มากมาย 
  • โอกาสนี้ ประชาไทสัมภาษณ์ ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และเลขาธิการมูลนิธิไบโอไทย ว่าด้วยเรื่องเอเปค 2022 ในมุม ‘อาหารและปากท้อง’ อะไรคือผลกระทบถ้ามีการแก้กฎหมายนิยามพันธุ์พืชพื้นเมือง อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีการเปิดทางให้ปลูกพืช GMOs ในไทย และใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากวาทกรรมอาหารและเกษตรยั่งยืน

‘เอเปค’ เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ‘อาหารและปากท้อง’

‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ แนะนำตัวเองว่า เขาเป็นเลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือที่คนมักคุ้นกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘ไบโอไทย’ (BIOTHAI) องค์กรที่ในปีนี้จะเข้าขวบปีที่ 25 ทำงานเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร การค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงความปลอดภัยของอาหารจากสารเคมี 

นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มบทสนทนาด้วยการอธิบายนิยามของ ‘BCG Model’ ที่รัฐบาลไทยหมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นวาระหลักของการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

เขาเล่าว่า เขาสนใจและติดตาม ประเด็น BCG มาพอสมควร ในฐานะที่เป็นทิศทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย BCG มันมาจากคำย่อ ตัว B คือ ‘Bio Economy’ เศรษฐกิจชีวภาพ C คือ ‘Circular Economy’ เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วน G คือ ‘Green Economy’ แต่ถ้าเป็นคีย์เวิร์ดที่มักใช้กันมากในต่างประเทศ ก่อนหน้านี้จะใช้ 2 คำ คือคำว่า ‘Bio-based Economy’ การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ และอีกอันหนึ่งคือ ‘Green Economy’ เศรษฐกิจสีเขียว โดยเป็นทิศทางใหญ่ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

“จะว่าไปแล้วเอเปคเหมือนคล้ายๆ เทศกาลของกลุ่มธุรกิจและรัฐบาลของกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่ส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุนเป็นสำคัญ ถ้าจะถามว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรายังไง ถ้าพูดในด้านหนึ่งมันก็ดูเหมือนห่างไกล แต่ว่าที่จริงแล้ว ถ้าเราไปดูการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในเนื้อหารายละเอียดมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้บริโภค นักธุรกิจ วิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเป้าหมายของเอเปค” 

นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อถึงสารัตถะของเอเปคว่าคือการส่งเสริมค้าการลงทุน ในทางหลักการ การให้ความสำคัญต่อการเปิดเสรีทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนโดยตรง 

เขาพูดถึงนิยามว่ามั่นคงด้านอาหาร ว่าคือ “สภาวะที่คนทุกคนต้องมีอาหารกินอย่างเพียงพอ ปลอดภัยและก็มีโภชนาการครบถ้วน” ทั้งยังกล่าวว่าการเปิดเสรีการค้าต้องมาพร้อมกับกลไกควบคุมการส่งออก มิเช่นนั้นเมื่อปริมาณการผลิตอาหารเพื่อบริโภคในประเทศไม่เพียงพอ ราคาอาหารก็จะแพงขึ้น ผลกระทบก็มาตกที่ประชาชน จากนั้นยกตัวอย่างมาตรการห้ามส่งออกข้าวสาลีในประเทศอินเดียและประเทศไทยที่ห้ามส่งออกหมูเมื่อเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์ในสุกร (ASF)

“ตอนที่อาหารมีราคาสูงมาก อินเดียปฏิเสธที่จะส่งออกข้าวสาลี อินเดียก็ถูกวิจารณ์ว่าจะกระทบกับความมั่นคงด้านอาหาร แต่อินเดียบอกว่าสิ่งที่อินเดียทำคือการปกป้องคนยากจนในอินเดียหรือผู้มีรายได้น้อยที่จะมีผลกระทบประมาณ 8 ร้อยล้านคน อินเดียจะต้องนึกความมั่นคงทางอาหารและความอยู่รอดของคน 8 ร้อยล้านคนในประเทศ มากกว่าจะนึกถึงการส่งออกเพื่อเอารายได้เข้ามาอย่างเดียว อันนี้เป็นเรื่องของปากท้องเราโดยตรง”

เตรียมแก้กฎหมายพันธุ์พืชพื้นเมือง เอื้อกลุ่มทุน

นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวถึง ความพยายามผลักดันในการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ที่อยู่ในยุทธศาสตร์ BCG เพื่อแก้นิยามพันธุ์พืชพื้นเมือง เพื่อให้สามารถขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่โดยง่ายและหลีกเลี่ยงการแบ่งปันผลประโยชน์ ในกรณีที่นำพืชนั้นไปใช้ประโยชน์ ซึ่งนี่คือการอำนวยความสะดวกให้กลุ่มอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ที่พวกเขารอมานาน 

“บริษัทก็จะสามารถเอาพันธุ์พืชที่ตนเองปรับปรุง ซึ่งใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองเข้ามา มาขอรับการผูกขาดได้โดยง่าย เพราะมันไม่ต้องมีกลไกเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ เพราะมันไปแก้นิยาม ซึ่งนิยามที่เขาเสนอให้แก้นั้น มันจะทำให้พันธุ์พืชพื้นเมืองจำนวนมากที่ใช้ในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ มันกลายเป็นพันธุ์พืชที่บริษัทไม่ต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์”

นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ท้ายที่สุดเมื่อพันธุ์พืชพื้นเมืองถูกแปรสภาพกลายมาเป็นพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทโดยไม่มีการปกป้องคุ้มครองเกษตรกร ผ่านกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ จะส่งผลให้ระบบอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของเมืองไทย ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ก็ค่อนข้างรวมศูนย์อยู่แล้ว ยิ่งพุ่งไปสู่ในระดับที่เรียกว่าใกล้จะเป็นเรื่องของการผูกขาด จากนั้นเขาอธิบายถึงความเชื่อมโยงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากมีการแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี แต่ไม่มีกลไกคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน

“การส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างประเทศที่ยอมรับระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ว่าด้วยเรื่องเมล็ดพันธุ์อย่างเช่น กรณี CPTPP เป็นต้น เราก็จะต้องยอมรับความตกลงที่เปิดโอกาสให้บริษัทเมล็ดพันธุ์มีสิทธิในการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชใหม่มากขึ้น แล้วก็จะมีผลกระทบต่อเรื่องการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือการคัดเลือก การปรับปรุงพันธุ์ในวิถีของเกษตรกรรายย่อย ส่งผลกระทบโดยตรงที่ทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น อันนี้ส่งผลกระทบโดยตรงเลยต่อเกษตรกรที่เป็นคนหนึ่งในสามของประเทศ ราคาเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้น โดยเฉลี่ย 2-6 เท่าตัว อันนี้กระทบแน่ๆ ต่อต้นทุนการผลิตอาหารของเกษตรกร” 

“ผลต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นต่อ เมื่อราคาต้นทุนของเกษตรกรแพงขึ้น ทีนี้มันจะไปซ้ำเติมเรื่องของต้นทุนการผลิตที่มันแพงอยู่แล้ว อย่างเช่น ปุ๋ยเคมี ราคาแพงขึ้นเกือบ 2 เท่า ราคาเมล็ดพันธุ์ดันแพงขึ้นไปอีก 2-6 เท่าตัว ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อราคาอาหารในจานของประชาชนนั่นเอง” นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมกล่าว

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2569 บางส่วนจากหน้า 53

เตรียมเสนอกฎหมาย เปิดทางปลูกพืชจีเอ็มโอในไทย 

นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึง ความพยายามผลักดันร่าง พรบ.ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่อยู่ในวาระ BCG โดยระบุชัดเจนว่าต้องการให้เปิดการปลูกพืชจีเอ็มโอ (GMOs) รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับการดัดแปลงยีน (gene editing) พร้อมเล่าถึงความพยายามผลักดันเกี่ยวกับการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยว่าเคยมีมาแล้วถึง 2 ครั้ง ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือปี 2557 และ 2558 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ 

นักกฎหมายชี้ 9 จุดบอด พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยชีวภาพฯ

 จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไทยเปิดรับพืชจีเอ็มโอ

นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม เล่าถึงผลกระทบ 3 ข้อที่อาจเกิดขึ้นหากไทยเปิดรับพืชจีเอ็มโอ อย่างแรกคือ เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอที่ขายอยู่ในตลาดโลกมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น การเปิดรับพืชจีเอ็มโอจะนำไปสู่การที่เราอนุญาตให้บริษัทข้ามชาติเพียง 1 หรือ 2 บริษัท ผูกขาดเรื่องพันธุ์พืชของประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเรื่องความมั่นคงทางอาหารระยะยาว อย่างที่สองคือตลาดจำนวนมากยังปฏิเสธสินค้าจีเอ็มโอ เมื่อมีการปลูกพืชจีเอ็มโอ ในที่สุดแล้วก็จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ดังจะเห็นว่ามีหลายภาคส่วนทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าว สมาคมผู้ปลูกข้าวโพดหวาน สมาคมมันสำปะหลัง พร้อมใจกันออกมาต่อต้านการเปิดรับพืชจีเอ็มโอ ข้อสุดท้ายคือ เป็นเรื่องความปลอดภัยของสินค้าจีเอ็มโอ ที่แม้จะเหมือนว่าไม่มีผลกระทบทางสุขภาพที่ชัดเจน แต่ผู้บริโภคยังคงมีความกังวล

นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องหลังความพยายามผลักดันการปลูกพืชจีเอ็มโอมาจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ 2 กลุ่มที่จะได้ประโยชน์ คืออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์กับอุตสาหกรรมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากการผลักดันพืชจีเอ็มโอจะทำให้พวกเขาขายเมล็ดพันธุ์คู่กับสารเคมีไปได้พร้อมกัน          

“ตอนที่เรารณรงค์ให้มีการแบน 3 สาร มี 2 สารก็คือพาราควอตกับคลอร์ไพริฟอสถูกแบนไปสำเร็จ แต่ไกลโฟเซตซึ่งถูกแบนไปแล้ว ถูกแรงกดดันจากอุตสาหกรรมสารเคมีและกระทรวงเกษตรของสหรัฐ (USDA) ผู้แทนของ USDA ที่มาเป็นคนล็อบบี้รัฐบาลไทยให้ยกเลิกการแบนไกลโฟเซต ก็เป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทสารเคมีเกษตรในสหรัฐนั่นเอง เบื้องหลังของการผลักดันเรื่องนี้ ไม่ได้มาจากเกษตรกรรายย่อย ไม่ได้มาจากฝั่งผู้บริโภค ไม่ได้มาจากหน่วยงานรัฐบาลของไทยด้วยซ้ำ แต่ว่ามาจากแรงกดดันระหว่างประเทศของบริษัทพวกนี้” วิฑูรย์ยกตัวอย่าง

BCG มีแต่กลุ่มทุน

นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระบวนการจัดประชุมเอเปคทุกครั้งเป็นการประชุมที่ดำเนินการโดยรัฐกับกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจ กลุ่มบริษัททั้งหลาย เอเปคไม่เคยมีพื้นที่ให้ภาคประชาชนเลย และกล่าวเพิ่มเติมถึงรายชื่อคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG ที่มีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ประธาน ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาขับเคลื่อนโดยเฉพาะ ปรากฏว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยทั้งสิ้น ซึ่งย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐมักกล่าวอ้างว่าเอเปคเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่ส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผู้ประกอบการรายย่อย (SME)

APEC 2022 และแผนปฏิบัติการ BCG เพื่อผลประโยชน์ใคร ? 

 คำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาอาหาร

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ BCG

คำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขานวัตกรรม

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ BCG

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท