Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนปี 2015 มีคนจำนวนน้อยมากที่รู้จักชื่อเจ้าชาย มูฮัมหมัด บิน ซัลมาน (Muhammad Bin Salman: MBS) ชื่อของพระองค์ไม่เคยอยู่ในสาระบบการรับรู้ของแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้านซาอุดิอาระเบีย ภาพของเจ้าชายซาอุฯถูกครอบงำด้วย เจ้าชาย อัลวาลิด บินทาลาล เจ้าชายนักลงทุนในวอลสตรีตผู้รั้งอันดับความร่ำรวยแห่งนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) หรือเจ้าชายบันดาร์ บิน ซุลต่าน เอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำกรุงวอชิงตัน ผู้ผูกสัมพันธ์ระหว่างซาอุและสหรัฐไว้อย่างเหนียวแน่นกว่า 2 ทศวรรษ หรือเจ้าชาย มูฮัมหมัด บิน นาเยฟ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นชาร์แห่งข่าวกรองและการต่อต้านการก่อการร้าย ด้วยเหตุนี้เมื่อเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน ขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและเริ่มปฏิบัติการกรุยทางสู่อำนาจหลังจากกษัตริย์ซัลมาน (King Salman: ขึ้นครองราชย์ ค.ศ. 2015) ผู้เป็นพระบิดาทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ ชื่อของพระองค์จึงแทบจะไม่เป็นที่รู้จักของชุมชนในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้กระทั่งอายุของพระองค์ก็ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ เขียนว่า “เชื่อว่าอายุของพระองค์ประมาณ 30 (believed to be about 30) ” วารสาร Politico กล่าวว่า “พระองค์ (เจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมาน) เป็นอะไรที่ลึกลับสำหรับผู้นำทางการเมืองของสหรัฐ” เจ้าชายที่ไร้ชื่อเสียงเรียงนามพระองค์นี้ใช้เวลาเพียงแค่ 7 ปีขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมงกุฎราชกุมารรอขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์ของประเทศที่สำคัญที่สุดทางด้านพลังงานของโลกใบนี้ พระองค์คือใคร มีความเป็นมาอย่างไร บทความสั้นๆ ชิ้นนี้จะได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์พอเป็นสังเขป   

ภูมิหลัง

เจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมาน (ประสูติ 31 สิงหาคม 1985) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษว่า MBS ทรงเป็นพระราชโอรสของ กษัตริย์ซัลมาน กษัตริย์องค์ปัจจุบันของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย กษัตริย์ซัลมานทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 25 (จากจำนวน 36 พระองค์) ของ กษัตริย์ อับดุลอาซิส บินซาอูด (1875-1953) ผู้สถาปนาประเทศซาอุดิอาระเบียสมัยใหม่ขึ้นในปีค.ศ. 1932 การที่เจ้าชายซัลมาน (ในขณะนั้น) อยู่ในลำดับท้ายๆ ในบรรดาผู้มีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ทำให้โอกาสของพระองค์มีน้อยมากในการขึ้นเป็นกษัตริย์ นี่เองอาจเป็นสาเหตุที่ในช่วงแรกๆ พระองค์ไม่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในระดับรัฐมนตรีทั้งรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีกลาโหม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พระองค์เพียงได้รับตำแหน่งผู้ว่าการนครริยาด เมืองหลวงของประเทศเท่านั้นและดำรงตำแหน่งนี้มาตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี แม้ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมแต่เป็นช่วงเกือบจะบั้นปลายชีวิตของพระองค์แล้ว ถ้าจะมีเส้นทางหลงเหลืออยู่บ้างสำหรับการขึ้นครองราช ก็คงเป็นเพียงการเป็นผู้ว่าราชการกรุงริยาดอันเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่เรียกว่านัจญ์ (najd) ซึ่งเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของการก่อตัวขึ้นของอิสลามสายปฏิรูปที่มีความเคร่งครัดซึ่งเป็นพลังหลักที่ร่วมมือกับหัวหน้าชนเผ่าในพื้นที่แห่งนี้ที่ชื่อ มูฮัมหมัด อิบนุ ซาอูด (d. 1765: อันเป็นที่มาของชื่อประเทศ ซาอุดิอาระเบีย) ทำสงครามรวบรวมชนเผ่าต่างๆ จนสามารถจัดตั้งชุมชนทางการเมืองในลักษณะรัฐขึ้น ก่อนการเกิดขึ้นของประเทศซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน โดยมีพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเมืองหลวงของรัฐซาอุในอดีต ตำแหน่งผู้ว่าราชการเปิดโอกาสให้เจ้าชายซัลมานได้เป็นผู้กระชับสายสัมพันธ์กับหัวหน้าชนเผ่าต่างๆ อันเป็นลูกหลานของพันธมิตรที่เคยร่วมก่อร่างสร้างตัวชุมชนทางการเมืองกันมาในตอนกลางของทะเลทรายแห่งนี้เมื่อครั้งอดีต ในฐานะผู้ว่าการฯ เวลาส่วนใหญ่ของพระองค์จึงหมดไปกับการพบปะนักการศาสนาผู้ทรงอิทธิพลชี้นำและขับเคลื่อนศรัทธาของประชาชน ต้อนรับหัวหน้าชนเผ่าที่มาขอความช่วยเหลือและเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพวกเขา ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่พสกนิกรผู้เดือดร้อน ทั้งเรื่องเงินทองหรือผู้ที่มาขอประทานการอภัยโทษแก่ลูกชายที่รอเข้าคิวประหาร 

การอยู่วงนอกของผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ของเจ้าชายซัลมานทำให้แม้แต่ผู้สนใจความเป็นไปของซาอุดิอาระเบียมองข้ามความสำคัญของสมาชิกในครอบครัวของพระองค์ ยิ่งเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน (MBS) ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตสุดในจำนวน 6 พระองค์ของกษัตริย์ซัลมาน กับ ฟะห์ดา บินติ อัล ฮัษลีน พระชายาคนที่ 2 ซึ่งไม่ได้มาจากตระกูล อัลซุไดรี่ (Al Sudairi) อันทรงอิทธิพลด้วยแล้วยิ่งห่างไกลจากสปอตไลท์ที่มักสาดส่องมายังเจ้าชายคนสำคัญๆ โดยเฉพาะ เจ้าชาย มูฮัมหมัด บิน นาเยฟ (MBN) อดีตมงกุฎราชกุมาร ที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ที่ทำงานด้านข่าวกรองและการต่อต้านการก่อการร้ายจนเป็นที่ยอมรับทั้งจากทำเนียบขาวและชุมชนระหว่างประเทศ และด้วยเหตุที่พระชายาคนที่ 1 ของกษัตริย์ซัลมาน คือ ซุลฏอนะฮ์ บินติ เตอรกี อัลซุไดรี่ (เสียชีวิต 2011) ได้ให้กำเนิด พระราชโอรส 5 พระองค์ และพระราชธิดา 1 พระองค์ โดยพระราชโอรสทั้ง 5 พระองค์ล้วนเป็นเจ้าชายผู้มากความสามารถและสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศด้วยกันทั้งสิ้น ได้แก่เจ้าชาย ฟาฮัด (เสียชีวิต 2001) เจ้าชาย ซุลต่าน (ชาวอาหรับคนแรกที่เป็นนักบินอวกาศ) , เจ้าชายอะห์มัด (เสียชีวิต2002) เจ้าชายอับดุลอาซิส รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และเจ้าชาย ไฟศอล (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเมืองมะดีนะฮ์) ผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด และเคยเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย จอร์จทาวน์ (Georgetown University) วอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกาอีกด้วย 

ขณะที่เส้นทางของ MBS แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเจ้าชายทั้ง 5 พระองค์รวมถึงเจ้าชายพระองค์อื่นๆ นั่นคือเป็นเส้นทางการศึกษาในสถาบันภายในประเทศจากมหาวิทยาลัยกษัตริย์ซาอูด (King Saud) กรุงริยาด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดของซาอุดิอาระเบีย โดยเมื่อสำเร็จการศึกษา MBS มิได้เสด็จไปศึกษายังต่างประเทศเหมือนสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น หากแต่ทำงานใกล้ชิตกับพระราชบิดาในฐานะผู้ช่วย  ด้วยเหตุการณ์การสูญเสียพระราชโอรสอย่างไม่คาดคิดในเวลาที่ไล่เลี่ยกันถึง 2 พระองค์ได้สร้างความเสียใจและนำมาซึ่งความทุกข์ระทมแก่เจ้าชายซัลมานเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงนี้เองที่ MBS ได้ใช้เวลากับพระราชบิดาและพัฒนาความสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดช่วงหนึ่งของพระองค์ ขณะที่บรรดาพระราชโอรสพระองค์อื่นๆ ต่างต้องใช้เวลาในต่างประเทศเพื่อศึกษาต่อ 

กล่าวสำหรับความร่ำรวยนั้นถือว่า MBS ยังห่างชั้นจากเจ้าชายและสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่นๆ อยู่มาก เรื่องราวการใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาลของบรรดาเจ้าชายและเชื้อพระวงศ์มักตกเป็นข่าวที่ทำให้ตาค้างอยู่เสมอๆ เช่น เจ้าหญิง มาฮา บิน มูฮัมหมัด อัลซุไดรี่ ทรงช้อปปิ้งในนครปารีส เป็นเงิน 20 ล้านดอลล่าห์ หรือในตอนที่ลูกชายของพระองค์สำเร็จการศึกษา พระองค์ได้เช่าพื้นที่ดิสนี่แลนด์ในกรุงปารีสทั้งหมดเป็นเวลา 3 วันคิดเป็นเงิน 19.5 ล้านดอลล่าห์สหรัฐเป็นต้น แม้ MBS เป็นบุตรชายของผู้ว่าการกรุงริยาด แต่ความร่ำรวยของเจ้าชายซัลมานผู้เป็นพระราชบิดานั้นนับได้ว่ายังไม่อาจเทียบได้กับเจ้าชายผู้ครองตำแหน่งสำคัญๆ ในระดับรัฐมนตรี รวมทั้งนักธุรกิจนักลงทุนเซเลบ (celebrity) อย่างเจ้าชาย วาลิด บินทาลาล  แม้ MBS จะเคยเล่นหุ้นและทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่บ้างแต่พระองค์มิได้จริงจังมากนัก 

แล้วเหตุใด MBS เจ้าชายโนเนม จึงทะยานขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็วที่แม้แต่พันธมิตรที่ใกล้ชิดอย่างสหรัฐก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน สหรัฐจึงมีท่าทีมะงุมมะงาหราในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงผู้นำในประเทศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดและเป็นประเทศผู้กุมชะตากรรมของพลังงานโลกเอาไว้ในมือแห่งนี้? 

จุดเปลี่ยน

ในปีค.ศ. 2011 เจ้าชาย ซุลต่าน ซึ่งเป็นพระเชษฐาของเจ้าชายซัลมาน ได้เสด็จสวรรคตหลังจากต่อสู้กับมะเร็งมาระยะหนึ่ง ทั้งนี้เจ้าชายซุลต่านทรงเป็นผู้อยู่ในลำดับแรกของการขึ้นครองราชย์หลังจากกษัตริย์อับดุลเลาะห์ (King Abdullah: ครองราชย์ 2005-2015) เหตุนี้เองทำให้เจ้าชาย นาเยฟ อิบนุ อาซิส ซึ่งเป็นพระเชษฐาลำดับรองลงมาขึ้นเป็นมงกุฎราชกุมาร แต่เจ้าชายนาเยฟก็กลับมาเสียชีวิตลงอีกด้วยโรคหัวใจในปีถัดมา และด้วยเจ้าชายอับดุลเราะห์มานซึ่งเป็นพระเชษฐาที่เหลืออยู่เพียงพระองค์เดียวทรงชราภาพมากแล้ว กษัตริย์อับดุลเลาะห์จึงแต่งตั้งเจ้าชายซัลมานขึ้นเป็นมงกุฎราชกุมาร และเมื่อกษัตริย์อับดุลเลาะห์เสด็จสวรรคตในเดือนมกราคม 2015 เจ้าชายซัลมานซึ่งมีพระชนม์ถึง  80 พรรษาก็ขึ้นเป็นกษัตริย์ และทรงแต่งตั้ง MBS เป็นรัฐมนตรีกลาโหม เรื่องราวของ MBS เจ้าชายไร้ชื่อเสียงเรียงนามจึงเริ่มขึ้น เจ้าชายผู้ไม่เคยมีอาณาจักรทางธุรกิจ ไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านการทหารหรือเข้าสู่โรงเรียนทหารชั้นสูงดังเช่นลูกชายของผู้นำและบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย ผู้ไม่เคยใช้เวลาศึกษาในสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ ไม่เคยฝึกฝนหรือสามารถพูดภาษาต่างประเทศอย่างแตกฉาน (พระองค์เพิ่งมาฝึกการสื่อสารด้วยภาษาในช่วงหลัง) และทั้งยังไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐ หรือยุโรปดังเช่นเจ้าชายพระองค์อื่นๆ ในราชวงศ์ซาอุ (House of Saud)  

แต่ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 7 ปี เริ่มจากที่พระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในวัย  29  พระองค์ทำการรื้อโครงสร้างการบริหารทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคงให้ขึ้นตรงต่อพระองค์ ปลดมงกุฎราชกุมารซึ่งรั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทยและขึ้นดำรงตำแหน่งมงกุฎราชกุมารเสียเอง ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากษัตริย์ซัลมานทรงแต่งตั้งพระองค์เป็นนายกรัฐมนตรี ประตูทุกบานเปิดทางให้กับพระองค์รอขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากกษัตริย์ซัลมาน พระราชบิดา  
MBS: เจ้าผู้ปกครองของแมคเคียเวลลี (MBS: Machiavelli’s Prince par excellent)

ถ้ามีเจ้าชายที่ทรงมีชีวิตอยู่จริงๆ ในศตวรรษที่ 21 ตามชื่อหนังสือ The Prince ของ นิโคโล่ แมคเคียเวลี (Niccolo Machiavelli: 1469-1527) นักทฤษฎีการเมืองนามอุโฆษ พระองค์เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก MBS เจ้าชายที่แมคเคียเวลลีชี้ว่าถ้าเป้าหมาย (ของเจ้าชาย) คือการเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจและต้องการรักษาอำนาจนั้นไว้ให้ได้ การไปสู่เป้าหมายดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเลือกวิธีการ เจ้าชายผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีหรือเป็นที่รัก หากแต่ต้องเป็นเจ้าชายแบบ เซซาเร เบอร์เจีย บุตรนอกสมรสของพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ที่นักประวัติศาสตร์บรรยายว่า เซซาเร “ไม่รู้สึกยินดียินร้ายเมื่อต้องหลอกลวงศัตรูและสังหารเพื่อยึดครองดินแดน” หรือถ้าต้องเอาชนะคู่แข่งหรือผู้ที่มีทีท่าว่าอาจจะขึ้นมาเป็นเป็นคู่แข่งทางอำนาจในอนาคต จะต้องกำจัดทิ้งเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เซซาเร จึงออกอุบายนัดพบผู้นำครอบครัวที่เป็นคู่แข่งและสังหารทุกคนที่มาถึง

ด้วยเหตุที่เจ้าชายผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องผูกมัดตัวเองกับคุณธรรมความดีของผู้อยู่ใต้ปกครอง มาตรฐานทางจริยธรรมจึงใช้ไม่ได้กับพระองค์ 

2 เดือนหลังขึ้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน ออกคำสั่งให้กองทัพอากาศบินทิ้งระเบิดเยเมน ประเทศที่ยากจนที่สุดและเป็นเพื่อนบ้านทางด้านใต้ของซาอุดิอาระเบีย ภายใต้นโยบายที่ต้องการขับไล่กลุ่มฮูซี (Houthi) ที่เข้ายึดครองกรุงซานาเมืองหลวงของเยเมน วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของปฏิบัติการนี้เป็นอย่างไรนั้นอยู่นอกเหนือจากบทความสั้นๆ ชิ้นนี้ แต่ปฏิบัติการนี้ทำให้ MBS กลายเป็นผู้บัญชาการทหารที่ปกป้องประเทศจากภัยคุกคามจากอิหร่านศัตรูคู่แค้นผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังให้การสนับสนุนกลุ่มฮูซี สงครามได้สร้างสถานะและบทบาทของพระองค์โดดเด่นมากยิ่งขึ้น และพระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองมงกุฎราชกุมาร ส่วนทางด้านเศรษฐกิจนั้นพระองค์ได้ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการ Saudi Aramco บริษัทที่มีรายได้มากที่สุดในโลกและเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่สงครามในเยเมนดำเนินไปอย่างเลวร้ายด้วยระเบิดที่ไม่เลือกเป้าหมายทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน งานแต่งงาน โรงงานอาหาร ฯลฯ สหประชาชาติชี้ว่าเป็นสงครามที่ก่อให้เกิดวิกฤติทางด้านมนุษยธรรมที่หนักที่สุดในรอบ 50 ปี 

เพื่อกดดันไม่ให้เลบานอน ใกล้ชิดกับอิหร่าน MBS ได้เชิญ Saad Hariri (ดำรงตำแหน่ง 2009-2011; 2016-2020) นายกรัฐมนตรีเลบานอนมาเยือนกรุงริยาด เนื่องจากซาอุดิอาระเบียให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองซุนหนี่ที่ Hariri เป็นนายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านั้นซาอุดิอาระเบียสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เลบานอน จำนวน 3 พันล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ปรับปรุงกองทัพ (เพื่อคานอำนาจกับกลุ่ม ฮิซบุลเลาะห์ที่มีกองทัพเป็นของตัวเองและโปรอิหร่าน) แต่ซาอุดิอาระเบียได้ยกเลิกไป Hariri หวังว่าการเดินทางไปพบ MBS ในครั้งนี้จะทำให้มีการรื้อฟื้นความช่วยเหลือดังกล่าวแก่เลบานอน ครั้นเมื่อ Hariri มาถึงกรุงริยาด ทีมงานเฉพาะทางด้านการต้อนรับทางการทูตของพระราชวังมารับ แต่แทนที่จะนำไปพบกับ MBS กลับนำตัว Hariri ไปกักตัวไว้ยังเซฟเฮ้าส์และทำการกดดันให้ Hariri ลาออกจนในท้ายที่สุด Hariri ยอมจำนนและอ่านคำประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีเลบานอนในดินแดนซาอุดิอาระเบียโดยถ่ายทอดสดผ่านเครือข่ายทีวีซาอุดิอาระเบีย เหตุการณ์นี้ถือเป็นการลักพาตัวนายกรัฐมนตรีของอีกประเทศเป็นตัวประกันโดย Al Akhbar หนังสือพิมพ์รายวันของเลบานอนพาดหัวขึ้นรูป Hariri โดยมีข้อความใต้ภาพว่า “The Hostage (ตัวประกัน) ” 

ในวันเดียวกันกับที่ Saad Hariri ถูกลักพาตัวและกดดันให้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลบานอนเจ้าชายอัลวาลิด บินตะลาล ก็ได้รับโทรศัพท์จากพระราชวังเชิญให้เข้าพบกษัตริย์ เจ้าชาย มูฏีบ บินอับดุลเลาะห์ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาชาติ (National Guard) โอรสของกษัตริย์องค์ก่อนก็ได้รับโทรศัพท์เชิญเข้าพบกษัตริย์เช่นเดียวกันโดยปลายสายบอกว่าขีปนาวุธจากเยเมนได้ถล่มพื้นที่หนึ่งใกล้กรุงริยาดจำเป็นต้องประชุมด่วนเพื่อหามาตรการตอบโต้ บรรดาเจ้าชายหลายพระองค์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมทั้งนักธุรกิจเจ้าของอาณาจักรหลายหมื่นล้านจำนวนกว่า 300 คน เช่น Waleed al-Ibrahim (เจ้าของอาณาจักรเครือข่ายดาวเทียม MBC) พี่น้องตระกูลบินลาเด็น (เจ้าของอาณาจักรก่อสร้าง) Muhammed Husseen Al Amuudii (ผู้ที่ นิตยาสาร Forbes ชี้ว่าเป็นชาวผิวดำที่รวยที่สุดในโลก) ฯลฯ

 ในประเทศที่ปกครองโดยกษัตริย์ เมื่อกษัตริย์ต้องการพบเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ การนัดพบครั้งนี้ใช้ Ritz-Carlton Hotel โรงแรมระดับ 7 ดาวซึ่งเป็นโรงแรมที่พระราชวังใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกของกษัตริย์ ทั้งประธานาธิบดี นักการทูต ที่ปรึกษา ฯลฯ เป็นสถานที่นัดพบ แต่ครั้นเมื่อทุกคนมาถึงทั้งหมดก็ถูกล็อคตัวและกักไว้ในโรงแรม พร้อมตั้งข้อหาคอร์รัปชัน  วันถัดมารัฐบาลประกาศว่ากษัตริย์ซัลมานได้ทรงจัดตั้งคณะกรรมการปราบปรามการคอรับชั่น โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจสืบสวน สอบสวน ยึดบัญชีเงินฝากและทรัพย์สิน รวมทั้งออกคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และมีอำนาจออกหมายจับ “เพื่อต่อสู้กับการคอร์รัปชันในทุกระดับ” ที่สำคัญคณะกรรมการชุดนี้มี MBS เป็นประธาน  รัฐบาลประกาศว่าสามารถยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 106 พันล้าน (billion) ดอลลาร์สหรัฐจากปฏิบัติการนี้ แต่นี่ไม่น่าใช่เป้าหมายที่แท้จริงของ “คำเชิญมรณะ” และถ้าจะค้นหามันจริงๆ เป้าหมายที่ว่านั้นน่าจะอยู่ภายใต้ประโยคว่า “สยบต่ออำนาจ MBS หรือไม่ก็ถูกทำลายให้ย่อยยับไป

การสถาปนาอำนาจของ MBS มิได้จบลงที่ Ritz Carlton เนื่องจาก เป้าหมายของพระองค์ยังไม่บรรลุผล พระองค์ยังไม่ได้ขึ้นเป็นมงกุฎราชกุมาร และมันยาวนานเกินไปที่จะรอให้มงกุฎราชกุมารองค์ปัจจุบันขึ้นเป็นกษัตริย์แล้วพระองค์ก็ขึ้นสู่ตำแหน่งมงกุฎราชกุมารที่ว่างลงเพื่อรอเป็นกษัตริย์ในลำดับถัดไป 

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า MBS มิใช่เจ้าชายทั่วไป (a prince) แต่พระองค์คือ “เจ้าชายผู้ปกครอง (The Prince)” ที่ไม่จำเป็นต้องเดินตามจารีตหรือประเพณีหรือกฎเกณฑ์ใดในการครองอำนาจ ในตอนค่ำวันที่ 20 ของเดือนมิถุนายน เจ้าชาย มูฮัมหมัด บิน นาเยฟ (Muhammad Bin Nayef) หรือที่เรียกโดยตัวย่อว่า MBN มงกุฎราชกุมาร ก็ได้รับเชิญให้เข้าพบกษัตริย์ที่ประราชวัง ซอฟา (Safa Palace) แต่เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งของพระองค์สัมผัสกับพื้น ก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพิเศษเข้ามารับตัว และนำไปกักตัวไว้โดยตลอดทั้งคืนพระองค์ถูกกดดันให้ลาออกจากมงกุฎราชกุมาร แม้ในตอนแรกพระองค์ทรงไม่ยินยอมแต่ท้ายที่สุดก็จำเป็นต้องยอมรับว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว พระองค์ไม่อาจต้านทานพลังอำนาจในทุกทิศทางของ MBS ที่ห้อมล้อมพระองค์ไว้ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย กล้อง และอุปกรณ์ถ่ายทอดสดการถ่ายโอนตำแหน่งมงกุฎราชกุมารไปสู่ MBS ที่ได้เตรียมไว้ก็เริ่มขึ้น คลิปวิดีโด การส่งมอบอำนาจที่เป็นไปด้วยความราบรื่นได้เผยแพร่ออกไปทั่วทั้งอาณาจักร แต่เรื่องราวไม่ได้จบอย่างมีความสุขสำหรับ MBN พระองค์ได้ถูกนำไปกักตัวภายในบ้าน (house arrest) โดยตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ถูกถ่ายโอนออกไปด้วย

เรื่องราวของเจ้าชายผู้ปกครองไม่ได้จบลงแค่นี้ มีการล่าสังหาร ญะมาล คอชุกญี (Jamal Khashoggi) นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงในของการเมืองภายในราชวงศ์และเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ MBS อยู่บ่อยครั้งซึ่งต่อมาต้องอพยพหนีภัยไปอยู่กรุงวอชิงตันและเป็นนักข่าวของวอชิงตันโพสต์ การสังหารที่สะเทือนขวัญในครั้งนั้นได้รับการสรุปจาก CIA ว่า MBS มีส่วนเกี่ยวข้อง 

ก่อนหน้านั้นซาอุดิอาระเบียสถาปนาขึ้นภายใต้การจับมือกันระหว่างกษัตริย์ซึ่งควบคุมอำนาจทางการเมืองการทหารกับนักการศาสนาอิสลามที่เป็นผู้อธิบายและมีสิทธิอำนาจ (authority) ในทางศาสนา นักการศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อการศรัทธาของผู้คนซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ การดำเนินนโยบายบริหารประเทศของกษัตริย์จึงมักต้องได้รับความเห็นชอบจากนักการศาสนา นี่เป็นจารีตการปกครองมาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งรัฐซาอุครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 18 และแนวทางนี้ได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงกษัตริย์องค์ก่อนหน้านี้ แต่เพราะ MBS ทรงเป็นเจ้าชายผู้ปกครองนคร พระองค์ไม่จำเป็นต้องผูกพระองค์อยู่กับกรอบของอดีต การสั่งจับกุมขังลืมนักการศาสนาคนสำคัญๆ จำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายของพระองค์จึงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ การดำเนินนโยบายของพระองค์เป็นอำนาจของพระองค์โดยไม่จำเป็นต้องได้รับไฟเขียวจากนักการศาสนา ภายใต้ MBS ไม่มีอีกแล้วที่ผู้นำศาสนาดำรงอยู่อย่างค่อนข้างอิสระมีอำนาจเป็นของตนเองและศาสนาเป็นพลังคอยตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายอำนาจรัฐซึ่งเป็นแนวทางการเมืองในโลกมุสลิมตลอดระยะเวลากว่าพันปีที่ผ่านมา

เจ้าชายนักปฏิรูป?

เมื่อผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสารและขับชนตึก world trade center และกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (เพนตากอน) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รู้จักกันในนาม 911 นั้น MBS ทรงมีพระชนม์เพียงแค่ 11 พรรษา กล่าวคือพระองค์เติบโตมาในยุคของซาอุดิอาระเบียที่มีภาพพจน์ของผู้ก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง กรุงริยาดเองก็ถูกโจมตีด้วยระเบิดหลายครั้งมีเหยื่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยคน  ด้วยเหตุนี้พระองค์ทรงต้องการเปลี่ยนแปลงซาอุดิอาระเบียไปสู่สมัยใหม่ พระองค์มองว่า ซาอุดิอาระเบียในปัจจุบันเป็นผลผลิตของการสอนศาสนาแบบสุดโต่ง โดยความสุดโต่งดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้หลังจากกลุ่มสุดโต่งเข้ายึดมัสยิดอัลฮารอมในมหานครเมกกะในปี 1979 ในความเห็นของพระองค์แล้ว ก่อนหน้านั้นอิสลามในซาอุดิอาระเบีย เป็นอิสลามสายกลาง มีความสมดุล และเปิดกว้างต่อโลก พระองค์จึงวางโรดแมป (road map) สำหรับอนาคต ที่เรียกว่า vision 2030 โดยหลักแล้ว vision 2030 เป็นโครงการที่ต้องการรื้อโครงสร้าง (restructuring) เศรษฐกิจของประเทศ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของพลเมืองซาอุฯ ซึ่งก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขับรถ อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าชมฟุตบอล ยกเลิกข้อห้ามการเดินทางของผู้หญิงไปต่างประเทศโดยต้องมีผู้ชายในครอบครัวเป็นผู้ดูแล เปิดกว้างต่ออุตสาหกรรมบันเทิง สร้างเมืองในอนาคต (NEOM) ความยาว 170 กม. ขนานไปกับทะเลแดง เปิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฯลฯ  

การเปิดกว้างทางสังคมและการพัฒนาไปสู่อนาคตไปด้วยกันได้หรือไม่กับสไตล์การปกครองแบบเจ้าชายผู้ปกครองของแมคเคียเวลลี่? สังคมที่ขาดวัฒนธรรมการแข่งขันและ work ethic จะสามารถรองรับขับเคลื่อน vision 2023 อันวิจิตพิสดารที่ร่างขึ้นโดยบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของตะวันตกอย่าง McKinsey & Company และ Boston Consulting Group ได้มากน้อยเพียงใด การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้จะนำสังคมซาอุดิอารเบียที่ถืออิสลามตามจารีตอย่างเคร่งครัดไปในทิศทางใด เป็นคำถามที่ผู้ติดตามสังคมการเมืองของประเทศมองและรอคำตอบด้วยใจระทึก 
  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net