Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 26 รายได้รับการแจ้งเตือนจาก บ.เมต้า ผู้ให้บริการเฟซบุ๊กว่า บัญชีของพวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมายโจมตี-เก็บข้อมูลจากกลุ่มคนที่ได้รับการหนุนโดยรัฐ หรือผู้ที่มีความชำนาญระดับสูง

 

17 พ.ย. 2565 แพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก 'ไอลอว์' (iLaw) รายงานวันนี้ (17 พ.ย.) ช่วงเช้ามืดตามเวลาของประเทศไทย นักกิจกรรมทางการเมือง ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และผู้ลี้ภัยชาวไทยหลายคน ได้รับข้อความแจ้งเตือนจากบริษัท Meta ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก (Facebook) ว่าผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญอาจสนใจบัญชีเฟซบุ๊กของคุณอยู่

เมื่อกดดูรายละเอียดที่ "ศูนย์ช่วยเหลือ" หรือ Help Center ก็จะพบข้อความว่า "การแจ้งเตือนเกี่ยวกับผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลหรือผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญ" หรือภาษาอังกฤษว่า "Government-backed or sophisticated attacker alerts"

ลักษณะข้อความแจ้งเตือนจากเฟซบุ๊ก

เนื้อหาของข้อความเตือนส่วนหนึ่ง ระบุว่า "หากเราแสดงการแจ้งเตือนนี้ให้คุณเห็น หมายความว่าเราเชื่อว่าผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลหรือผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญอาจให้ความสนใจกับบัญชีของคุณอยู่"

"ทีมรักษาความปลอดภัยและระบบอัตโนมัติของเราทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณกิจกรรมที่เป็นอันตรายอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การพยายามเข้าสู่ระบบที่น่าสงสัยและพฤติกรรมอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้บัญชีของผู้ใช้ตกเป็นเป้าหมายของผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญได้ แม้จะมีโอกาสที่จะเกิดการแจ้งเตือนที่ผิดพลาดขึ้นได้แต่เราก็ต้องการแจ้งเตือนคุณถึงความเคลือบแคลงใจของเราเพื่อที่คุณจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนป้องกันเพื่อปกป้องบัญชีของคุณ"

"แม้เราจะไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดบุคคลบางคนจึงอาจตกเป็นเป้าหมายได้ แต่เราสังเกตุเห็นว่ามิจฉาชีพที่เชี่ยวชาญหรือได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลเหล่านี้จะมุ่งเป้าไปยังผู้คนต่างๆ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ของบุคคลนั้นมากยิ่งขึ้น และหลอกล่อให้บุคคลดังกล่าวละเมิดความปลอดภัยของอุปกรณ์และบัญชีออนไลน์ของตนเอง ซึ่งในหลายกรณีผู้โจมตีเหล่านี้จะมุ่งเป้าไปยังนักข่าว นักกิจกรรม หน้าที่ของรัฐ ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา นักวิชาการ รวมไปถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร"

นักกิจกรรมทยอยได้รับการแจ้งเตือนอย่างน้อย 26 ราย

จากการตรวจสอบของไอลอว์ พบว่ามีนักกิจกรรมหลายรายที่ได้รับการแจ้งเตือนจากบริษัทเมต้า ในลักษณะที่รายงานข้างต้น 

เวลาประมาณ 5.54 น. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการชาวไทยที่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมภาพถ่ายหน้าจอโทรศัพท์ถึงข้อความเตือนจากบริษัทเมต้าเช่นกัน

เวลาประมาณ 8.20 น. เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายและดำเนินคดีให้กับนักกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้รับการแจ้งเตือนนี้จากเฟซบุ๊ก 2 ครั้ง 

เวลาประมาณ 9.43 น. กตัญญู หรือ "ป่าน ทะลุฟ้า" นักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้า และเคยเข้าเรือนจำในคดีชุมนุมหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว โพสเฟซบุ๊กว่าได้รับข้อความเตือนลักณะดังกล่าว 

เวลา 10.10 น. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกคนก็โพสเฟซบุ๊กแจ้งว่าได้รับข้อความเตือนเช่นกัน พร้อมข้อความว่า "เจาะทำไม เลี้ยงลูกอยู่บ้านค่ะช่วงนี้"


.

เวลาประมาณ 10.12 น. วัชรากร ไชยแก้ว หรือซัน นักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และจำเลยคดีมาตรา 112 โพสเฟซบุ๊กแจ้งว่าได้รับข้อความเตือนลักษณะนี้ 

 

เวลา 10.20 น. 'บอย' ชาติชาย แกดำ นักกิจกรรมกลุ่ม #ภาคีSaveบบางกลอย และกรรมการกป.อพช. องค์กรที่กำลังจัดชุมนุมประท้วงรัฐบาลระหว่างการประชุม #APEC2022 โพสต์แจ้งว่าได้รับข้อความเตือน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอย่างต่อเนื่องว่ามีนักกิจกรรมทางการเมือง ทนายความ และคนทำงานในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายรายที่ได้รับการแจ้งเตือนลักษณะเดียวกัน

ในวันเดียวกันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 18.35 น. 'เป๋า' ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ สมาชิกทีมไอลอว์ ขึ้นปราศรัยในกิจกรรมหยุดเอเปค 2022 ณ ลานคนเมือง โดยแจ้งข้อมูลเพิ่มว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับการแจ้งเตือนลักษณะข้างต้นแล้ว อย่างน้อย 26 ราย 

ในช่วงเวลาที่ได้รับการแจ้งเตือนนี้ ประเทศไทยกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 หรือ เวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีผู้นำจากชาติต่างๆ เข้าร่วมและมีการเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตาม คุกคาม เยี่ยมบ้านของนักกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสอบถามว่าจะเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงหรือไม่ และการชุมนุมมีการวางแผนจะทำอะไรบ้าง

ไม่ใช่ครั้งแรก

ไอลอว์ ระบุว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการแจ้งเตือนลักษณะนี้ เพราะเมื่อปี 2564 บริษัทแอปเปิล ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ‘ไอโฟน’ (iPhone) เคยส่งอีเมลแจ้งเตือนนักกิจกรรมการเมืองในประเทศไทยหลายราย ด้วยข้อความลักษณะเดียวกันว่า “State-sponsored attackers may be targeting your iPhone” หรือคุณอาจตกเป็นเป้าการโจมตีจาก"หน่วยโจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ"

จากเหตุการณ์ดังกล่าว นำมาสู่ความร่วมมือระหว่าง ไอลอว์ (iLaw) ซิติเซนแล็บ (Citizen Lab) และดิจิทัลรีช (Digital Reach) ทำให้พบว่า มีประชาชนซึ่งเป็นนักกิจกรรมการเมือง นักวิชาการ และนักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน ถูกสปายแวร์เพกาซัส ซึ่งผลิตโดยบริษัทสัญชาติอิสราเอล NSO Group โจมตีอย่างน้อย 35 ราย 

ทั้งนี้ บริษัท NSO Group มีเงื่อนไขการขายสปายแวร์ตัวนี้เฉพาะรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น และการอนุญาตซื้อ-ขายต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหมของประเทศอิสราเอลอีกด้วย 

เมื่อ ธ.ค. 2564 เว็บไซต์ ฟอบส์ รายงานว่า บริษัทเมต้า เคยประกาศแบนบริษัทสอดแนม จำนวน 7 บริษัท โดยจำนวนนี้มีแห่งหนึ่งเป็นบริษัทลึกลับจากประเทศจีน มีการลบบัญชีเฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม ซึ่งเชื่อมโยงกับบริษัทสอดแนมอีกหลายบัญชี และบริษัทเมต้า มีการส่งข้อความเตือนประชาชนจำนวน 5 หมื่นรายว่าพวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมายการโจมตีจากบริษัทสอดแนมเหล่านี้ 

รายงานจาก เทคฮับ (Teach Hub) ระบุต่อว่า เป้าหมายส่วนใหญ่ที่ถูกสอดแนมเป็นผู้ไม่เห็นด้วย ผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการ สมาชิกครอบครัวของฝ่ายค้านรัฐบาล และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน โดยการเฝ้าระวังถูกนี้ถูกเปิดเผยจากการสอบสวนนานหลายเดือน ซึ่ง Meta ได้ระบุชื่อกลุ่มสอดแนมและนำพวกเขาออกจากแพลตฟอร์มไปแล้ว

ชื่อบริษัทที่อยู่ในรายงานของ Facebook คือ 1.Cobwebs Technologies 2.Cognyte 3.Black Cube 4.Bluehawk CI 5.BellTroX 6.Cytrox และ 7. เป็นชื่อบริษัทที่ไม่มีชื่อและมีฐานตั้งอยู่ในจีน

ไอลอว์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หนึ่งใน 7 บริษัทที่อยู่ในรายงานของเมต้า นามว่า “Cognyte” เดิมชื่อ “WebinPro” เป็นบริษัทที่มีฐานอยู่ที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งสามารถใช้เพื่อสร้างบัญชีปลอมในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินตราแกรม ทวิตเตอร์ และอื่นๆ ผลจากการสืบสวนของเมต้า พบว่า หนึ่งในลูกค้าของบริษัทมาจากประเทศไทยอีกด้วย ขณะที่เป้าหมายโจมตีส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นนักการเมืองและนักข่าวทั่วโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net