Skip to main content
sharethis

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และกลุ่มคณะก่อการล้านนาใหม่ ทำพิธีเผาพริกเผาเกลือ สาปแช่ง ผู้กดขี่ เพื่อรำลึก 48 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย พร้อมอ่านอ่านคำประกาศสดุดีเนื่องในวันครบรอบสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยครบ 48 ปี

 

17 พ.ย. 2565 ที่ลานคนเมือง กรุงเทพ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและกลุ่มคณะก่อการล้านนาใหม่ ทำกิจกรรมพิธีเผาพริกเผาเกลือ สาปแช่ง ผู้กดขี่ เพื่อรำลึก 48 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย พร้อมอ่านคำประกาศสดุดีเนื่องในวันครบรอบสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยครบ 48 ปี

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวนาไทยในอดีตมีมาหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่ กบฏผู้มีบุญ กบฏคูซอด การเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไท ขบวนการสันติภาพ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนกระทั่ง มีการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517

การลุกขึ้นสู้ของ "สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" ภายใต้คำขวัญว่า "ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ" และ "กฎหมายต้องเป็นธรรม" นับเป็นคุณูปการครั้งสำคัญที่สามารถปลุกจิตสำนึกการต่อสู้ และรวบรวมพลังชาวนาชาวไร่ผู้ทุกข์ยากได้อย่างมีเอกภาพ

การลุกขึ้นสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีความเชื่อมโยงกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์นักศึกษาเสรี พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้สร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวต่ออำนาจรัฐและทุน เนื่องจากสหพันธ์ชาวนาได้ก่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ขูดรีดชาวนาชาวไร่ และการรวมศูนย์อำนาจในที่ดิน จากการผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ 2517 และพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 อันเป็นชนวนแห่งการเผชิญหน้ากับกลุ่มเจ้าที่ดินรายใหญ่ กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและนายทุนท้องถิ่น

บรรพบุรุษเรา ประชาชน ชาวนา ชาวไร่ กลุ่มก้อนของการรวมตัวกัน เป็นผลผลิตที่เกิดจากความไม่ยุติธรรมในการจัดการที่ดิน ทรัพยากร และปัจจัยการผลิต จนมาถึงคุณภาพในชีวิตของชาวนาประชาชน ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมอยู่เสมอมา เพียงเพราะเราจน เราจนอำนาจในการต่อรอง เราจนในทรัพยากรที่เรามี หากแต่เรายังมีหัวใจและสองมือ ที่ไม่ได้ใช้แค่ในการหว่านไถ ใช้แรงงานในการเพาะปลูกบนผืนดิน แต่เรายังมีไว้เพื่อแผ้วถาง แผ้วถางทางต่อสู้แก่ชาวนาประชาชน เราบุกรุกเขาไปในพื้นที่ของความแห้งแล้งในหัวใจของผู้กดขี่ เราหว่านไถ่สร้างความชุ่มชื่นในรอยแตกอันแห้งผากในหัวใจด้วยความเป็นธรรมที่มองเห็นเรา เราที่เป็นมนุษย์ ที่มีลมหายใจ มีหยาดเหงื่อและมีประวัติศาสตร์ เราขยับเข้าไปสู่ใจกลางของการกดขี่เอาเปรียบ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ ในการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ดูถูก เหยียดหยาม ในนามของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกชาวนากว่า 1 ล้าน 5 แสนคน จากประชากรไทย 30 ล้านคน เมื่อ45 ปีที่แล้ว และก่อนหน้านั้น จน ณ ตอนนี้

ตอนนี้ ที่ปัจจัยการผลิต ที่ดิน ทรัพย์สิน และอำนาจ ถูกกระจุกอยู่ที่ชนชั้นนำส่วนเล็กของสังคม มีประชากรราว 22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ส่วนที่เหลืออีก 53 ล้านคน เข้าไม่ถึงและไม่มีความมั่นคงในที่ดินนั้น เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลจากงานวิจัย ของอาจารย์ดวงมณี ที่เป็น การจุดเทียน ภายใต้ความมืดมิดของข้อมูลกรรมสิทธิในที่ดิน ที่แสดงถึงขนาดของช่องว่างข้อมูล ที่ไม่เท่ากัน ไร้ทิศทางในการกำกับดูแลทำให้ความมั่งคั่ง ถูกถ่างออกอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน การรุกคืบของความเหลื่อมล้ำกระจายตัวกัดกินคนตัวเล็กตัวน้อย ลิดรอนสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ผลักภาระในการดูแลคุณภาพชีวิตสู่การแบกรับของผู้ตกหล่นทางการพัฒนา ที่ต้องมีค่าครองชีพ ทรัพย์สิน กรรมสิทธิที่ดิน และคุณภาพชีวิต ในสัดส่วนที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่เป็นธรรม ความเป็นธรรมที่เป็นของประชาชน ความเป็นธรรม ที่ทุกคนมีสิทธิและมีส่วนร่วม ที่จะกำหนดอนาคต และชีวิตของตนเอง ความเป็นธรรมที่จะมีที่อยู่อาศัยอย่างปลอดภัย และเพาะปลูกตามแต่วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่ปรารถนา ความเป็นธรรมที่จะกำหนดเจตจำนง ทางนโยบายของรัฐสู่การปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับการอยู่ร่วมกัน อย่างปลอดภัยและยั่งยืน รวมถึงการออกกฎหมาย ที่จะต้องมาจากประชาชนและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ ในรูปแบบของความเจริญ สวยงามของตัวเลข ที่กดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของเรา

จากความตายของสหพันธ์ชาวนาจนถึงชาวนาร่วมสมัย แม้จะต่างบริบทต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เราไม่อาจหลงลืมความทรงจำ ความตาย และการสูญเสีย เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในอดีต แต่เราสามารถเก็บรับบทเรียนมุ่งสู่อนาคต ดังวาทะจากผู้นำสหพันธ์ชาวนาฯ 3 ท่าน ที่เสียสละชีวิต ได้ให้คำชี้แนะอันเป็นประโยชน์ไว้แก่พวกเรา กล่าวคือ

ใช่ วังตะกู ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย คนแรก กล่าวไว้ว่า “เราจะชนะศัตรูได้ ก็ต้องอาศัยมวลชนพี่น้องชาวนาชาวไร่ที่ถูกกดขี่ และเพื่อนมนุษย์ที่รักความเป็นธรรมเท่านั้น”

อินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ กล่าวว่า “คุณเชื่อเถอะว่า ตราบใดที่รัฐบาลชุดทุนนิยมยังอยู่ เราไม่มีทางจะได้อยู่ดีกินดี ถ้าอำนาจรัฐไม่ได้อยู่ในมือเรา ก็ยังจะต้องเป็นอยู่อย่างนี้”

จำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย คนสุดท้าย ได้เขียนคำประกาศในหนังสือทางเดินของชาวนาไทย เอาไว้ว่า “การจัดตั้งและการพัฒนาสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ท่ามกลางพายุแห่งการปราบปราม เป็นเครื่องแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า บัดนี้ ชาวนาไทยได้ตัดสินใจลุกขึ้นสู้แล้ว ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ไทยใหม่ขึ้นมา นี่คือการเริ่มต้นครั้งใหญ่ของชาวนาไทย

 

17 พฤศจิกายน 2565

ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net