Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ หนังสือเดินข้ามพรมแดน 60 ปี ประภาส ปิ่นตบแต่ง โดยกองบรรณาธิการ

นักวิชาการคนหนึ่งที่ได้ทำงานสอนหนังสือ เขียนหนังสือ และงานวิจัยมาจนถึงวัยเกษียณอายุ หากไม่พ่ายแพ้ต่อกิเลสตัณหานานัปการในระหว่างทางหรือไม่ขี้เกียจจนเกินไปนัก ต่างก็พอจะมี “ลายเซ็น” (signature) ของตนเอง อันมีหมายความว่าเมื่อเอ่ยชื่อบุคคลคนนั้นแล้ว ผู้คนทั้งในแวดวงวิชาการหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเอ่ยถึงเขาด้วยผลงานหรือแนวทางในการศึกษาแบบใดที่เป็นงานชิ้นสำคัญ ซึ่งได้กลายเป็นมรดกทางความรู้ให้แก่คนรุ่นต่อไป

“เดินข้ามพรมแดน: บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว” หนังสือเนื่องในโอกาสการเป็นอิสระจากงานประจำของประภาส ปิ่นตบแต่ง เป็นชื่อหนังสือที่คิดว่าจะสามารถสะท้อนถึงตัวตนและการทำงานในห้วงเวลาที่ผ่านมาของเขาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในฐานะของผู้ซึ่งสามารถเดินข้ามเส้นแบ่งระหว่างงานวิชาการและงานเคลื่อนไหวทางสังคม

ในด้านหนึ่ง ประภาสมีสถานะเป็นอาจารย์ประจำในคณะรัฐศาสตร์ที่นับว่าใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ อันน่าจะทำให้เขาสามารถทำมาหากินกับการสอนหนังสือได้อย่างสบายๆ หรือไม่ก็สามารถรับจ๊อบด้วยการเป็น “ที่ปรึกษา” ของนักการเมืองจำนวนมากที่พากันมาอัพเกรดทางความรู้ในหลักสูตรพิเศษ 

แต่กลายเป็นว่าประภาส เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางใน “ภาคประชาชน” (ขออนุญาตใช้คำนี้ แม้เขาจะรู้สึกแสลงใจไม่น้อยเมื่อภาคประชาชนพากันหันขวาและเป่านกหวีดกันอย่างขมีขมันในช่วงเวลาที่ผ่านมา) เฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนที่ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคนจน เขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในหลากหลายบทบาทและอย่างกระตือรือร้นมาอย่างยาวนาน เท่าที่พอจะประมาณได้ก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 3 ทศวรรษ 

คุณลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถพบเห็นได้ง่ายนักในท่ามกลางคนทำงานวิชาการ นักวิชาการจำนวนมากสิงสถิตอยู่บนหอคอยและผลิตความรู้ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเลือดเนื้อ หยาดน้ำตา ความทุกข์ยาก ในชีวิตของผู้คน แต่มุ่งสัมพันธ์กับจำนวนเงินของแหล่งทุน ยิ่งในยุคสมัยที่งานวิจัยมักจะมุ่งเน้นไปในทิศทางของการสร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ก็ยิ่งจะทำให้งานวิจัยที่พยายามทำความเข้าใจต่อประสบการณ์และการต่อสู้ของคนยากจนต้องยากลำบากไม่น้อยในการแสวงหาทุนหรือการสนับสนุน 

แต่ประภาส ก็ยังดูจะยืนหยัดต่อการทำงานเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนชายขอบ การศึกษาวิจัยคนจนไม่ว่าจะในชนบท ในพื้นที่เมือง รวมถึงการนำความรู้ที่ได้ไปสู่การผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย แน่นอนว่าความสำเร็จจากการผลักดันในแต่ละประเด็นเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การมุ่งมั่นหรือหากกล่าวอีกแบบก็คือ ประเด็นเหล่านี้ดูจะเป็นสิ่งที่เขา “ยึดมั่นถือมั่น” มาอย่างไม่เสื่อมคลาย  

ประภาสคือใคร และทำไมจึงกลายเป็นคนที่เดินข้ามพรมแดนระหว่างการทำงานวิชาการและงานเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง

หากกล่าวว่าประภาสเป็นลูกชาวนาก็คงไม่ใช่ตระกูลชาวนายากจนอย่างแน่นอน เพราะสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ช่วงเวลาดังกล่าวแวดวงปัญญาชนไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ “ป่าแตก” พร้อมกับการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ อุดมการณ์ปฏิวัติมีความน่าพิศมัยน้อยลง การเกิดขึ้นขององค์กรพัฒนาเอกชนพร้อมกับแนวทาง “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ได้ดึงดูดให้คนหนุ่มสาวในยุคสมัยแห่งการแสวงหาครั้งที่ 2 พากันหลั่งไหลบ่ายหน้าออกไปหาคำตอบในพื้นที่ชนบทตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา 

เฉกเช่นเดียวกันกับคนจำนวนมากที่ต้องการออกไปสู่หมู่บ้าน แม้ใบสมัครจะไม่ผ่านการพิจารณาจากโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม - มอส.) แต่ประภาส ก็ได้ไปทำงานภาคสนามที่กับมูลนิธิพัฒนาเด็กที่ชนบทในภาคอีสาน ก่อนจะหันหน้ากลับมาสู่กรุงเทพฯ ด้วยการทำงานในลักษณะที่เป็นงานเชิงวิชาการมากขึ้น (โดยไม่แน่ใจว่าได้ค้นพบ “คำตอบ” ใดจากหมู่บ้านหรือไม่) รวมทั้งการกลับไปทำงานร่วมกับองค์กรที่เคยโยนใบสมัครของเขาทิ้งไป

เส้นทางของประภาส ก็ขยับมาสู่การทำงานและการทำวิจัยมากขึ้น ด้วยความอุตสาหะในการเรียนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก พร้อมไปกับการทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างใกล้ชิดในทศวรรษ 2530 กระทั่งนำไปสู่ข้อสรุปสำคัญว่าการจะแก้ไขปัญหาของคนจนได้ต้องอาศัย “การเมืองบนท้องถนน” (อ่านรายละเอียดในภาษาของเขาได้จาก “สนทนากับประภาส ปิ่นตบแต่ง: บทสนทนาว่าด้วยบทบาทนักวิชาการเพื่อสังคม” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือฉบับนี้)

ไม่ว่าเขาจะชอบหรือไม่ งานเรื่อง “การเมืองบนท้องถนน: 99 วัน สมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย” ที่ได้เขียนขึ้นจากการเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมเป็นอย่างมากกับขบวนการประชาชนได้กลายเป็น “ลายเซ็น” ยามเมื่อเอ่ยชื่อของประภาส 
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าภายหลังจากนั้นแล้ว เขาจะหมกหมุ่นกับการเป็น “ผู้จัดการนา” และการผสมสายพันธ์ข้าวตระกูลประภาส (นิลประภาส ชมพูประภาส) เพียงอย่างเดียว เขายังคงมีงานวิชาการออกมาอย่างสม่ำเสมอ โดยยังคงให้ความสนใจต่อประเด็นเรื่องคนจนและคนตัวเล็กๆ ในช่วงก่อนเกษียณเขาก็ก็ได้เข้ามาศึกษาเกี่ยวกับพลวัตของคนจนในพื้นที่เมือง และมีบทบาทกับภาคประชาชนกระทั่งได้มีโอกาสเฉียดคุกเฉียดตะรางหลายครั้ง หลังสุดก็เกิดขึ้นในการเข้าร่วม “เดิน ก้าว แลก” เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปที่ดินและยุติการจับกุมประชาชนในพื้นที่ป่าไม้ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 2557 แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง 

อันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย เพราะอาจเป็นจังหวะให้เขาได้มีโอกาสเขียนงาน “การเมืองในเรือนจำ: 99 วัน และการต่อสู้ ต่อรอง ภายในพื้นที่คุก”  

เส้นทางชีวิตของประภาส จึงเป็นการเดินทางทั้งในทางวิชาการและการเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เขาจึงมีทั้งการแสดงบทบาทและผลงานวิชาการซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงตัวตน เครือข่าย และประเด็นที่เขาให้ความสำคัญ 

มากกว่าเพียงการทำหนังสือเพื่อรำลึกถึงชีวิตของเขาในยามเกษียณแล้ว คำถามสำคัญก็คือ มีอะไรบ้างที่ประภาสได้ทิ้งไว้เป็นมรดกให้กับทั้งนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวในรุ่นหลังที่จะขบคิดกันได้ต่อไป

ประการแรก การเดินข้ามพรมแดนของเขาได้ทำให้ข้อถกเถียงประเภท “นักปฏิบัติจากภูธร นักทฤษฎีนครบาล” กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย ประภาสได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการทำงานวิชาการ (โดยเฉพาะความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์) ที่แยกไม่ออกจากการทำงานเคลื่อนไหว ในบางช่วงจังหวะเขาก็เป็น “นักวิชาการในงานเคลื่อนไหว” บางช่วงจังหวะก็เป็น “นักเคลื่อนไหวในงานวิชาการ” ไม่ว่าจะในฐานะของนักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหว สิ่งที่เห็นกันได้อย่างชัดเจนก็คือ การเชื่อมต่อระหว่างโลกทางวิชาการและโลกของการเคลื่อนไหว 

ในฐานะของนักวิชาการ เขาได้ใช้การทำงานแบบใกล้ชิดหรือกล่าวได้ว่ากลายเป็น “คนใน” ที่ไม่ใช่เพียงคนที่อยู่รอบนอกและคอยตักตวงข้อมูลของผู้คนกลุ่มต่างๆ การทำงานเช่นนี้ดูจะเป็นแนวทางที่ประภาสได้ทุ่มเทให้เป็นอย่างมาก ตรงกันข้ามกับงานที่มักจะทำกันแบบมักง่าย ไม่ว่าการออกแบบสอบถามหรือไปสัมภาษณ์แบบฉาบฉวย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเขาได้ประเมินงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์จำนวนหนึ่งด้วยคำพูดที่เรามักได้ยินกันก็คือ “ไม่รู้จะทำไปทำไม” 

ในฐานะของนักเคลื่อนไหว ประภาส ได้มีทำหน้าที่ในหลากหลายบทบาททั้งในด้านของการทำงานร่วม การสนับสนุน การเป็นที่ปรึกษา บางครั้งก็กลายเป็นผู้ต้องหาที่ต้องโดนอุ้มจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนต่อขบวนการประชาสังคมในห้วงยามที่หันไปเลือกเดินนอกเส้นทางประชาธิปไตย 

ประการที่สอง งานของประภาส เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาคนจน คนชายขอบ หรือคนข้างล่าง ว่ายังเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ คนจนไม่ได้เป็นผลมาจากบุญกรรมในชาติปางก่อน หากแต่เกี่ยวข้องกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาของรัฐหรือเป็นผลมาจากการถูกกระทำในระดับโครงสร้าง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นไปพร้อมไปกันกับการมองเห็นการต่อสู้ การเคลื่อนไหว หรือการ “ด้นชีวิต” อันเป็นการให้ความหมายต่อผู้คนว่ามิได้สยบยอมต่อความยากลำบากที่ต้องเผชิญ แล้วนั่งงอมือเท้ารอรับความช่วยเหลือมาจากผู้มีอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว

ประภาสมีส่วนร่วมกับนักวิชาการอีกหลายคนในรางวัลวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ (พี่มด ผู้ล่วงลับ) ที่มอบให้งานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับคนจนหรือคนชายขอบ มีวิทยานิพนธ์หลายเล่มที่ได้ศึกษาและเผยให้เห็นความสลับซับซ้อนของผู้คนในสังคมไทย การจัดให้มีรางวัลดังกล่าวถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการให้ความหมายของงานวิชาการที่แตกต่าง และทำให้แวดวงวิชาการต้องตระหนักถึงภาระหน้าที่ต่อการสร้างความเป็นธรรมให้กับคนในสังคมด้วยการใช้ความรู้ (แต่ก็น่าเสียดายว่ารางวัลดังกล่าวนี้ดูเหมือนจะยุติลงภายในระยะเวลาไม่กี่ปี หากจะมีการขบคิดกันอีกครั้งก็เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย) 

โดยที่ไม่มีความรู้ว่าแวดวงความรู้ในสาขาวิชาที่ประภาสเกี่ยวข้องนั้น ยังกังวลในเรื่องความเป็นกลางของงานวิจัยมากน้อยขนาดไหน ความเป็นกลางของการวิจัยเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้มีการถกเถียงมามากในหลายสาขาวิชา แต่เป็นที่แน่ชัดว่าเขาได้ข้ามพ้นต่อประเด็นดังกล่าว การเลือกให้ความสำคัญต่อคนจนรวมถึงการโดดเข้าไปมีส่วนมากกว่าการ “สังเกตการณ์” อยู่ห่างๆ ก็ย่อมเป็นการเลือกจุดยืนที่เอียงไปหาฟากฝั่งของคนตัวเล็กๆ ในสังคม คงเป็นการสะท้อนไปพร้อมกันว่ายากที่จะมีงานวิชาการชนิดใดที่ดำรงอยู่อย่างเป็นกลางได้

ประการที่สาม เมื่อประภาสศึกษาถึงคนตัวเล็กๆ เขาไม่ได้จำกัดเพียงการทำความเข้าใจต่อหน่วยย่อยที่ตัดขาดออกจากสังคมอันเป็นภาพใหญ่ เมื่ออธิบายถึงการเปลี่ยนระบบการผลิตในภาคการเกษตร นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปของระบบการทำนา ดังการเกิดขึ้นของ “ผู้จัดการนา” ในพื้นที่หลายแห่ง (รวมถึงพื้นที่นครชัยศรี บ้านของประภาส) ซึ่งต้องการการจ้างงานแบบแยกย่อย ความเชี่ยวชาญแบบเฉพาะด้าน เทคโนโลยีที่เจาะจงมากขึ้น ฯลฯ ในอีกด้านหนึ่งเขาก็ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คนกับระบบการเมืองไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือการเมืองระดับชาติภายใต้ความเปลี่ยนแปลงนี้ 

ทำไมการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการเมืองในระดับท้องถิ่นจึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น หรือทำไมระบบการเมืองแบบ “บ้านใหญ่” สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ความเข้าใจเหล่านี้ยากจะเป็นไปได้หากไม่สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไพศาลกับผู้คนซึ่งมีสถานะเป็นฐานเสียงของคนกลุ่มนี้ การทำความเข้าใจในลักษณะนี้น่าจะพอเป็นการแสดงให้เห็นความเป็น “นักรัฐศาสตร์” ที่ไม่ได้สนใจเฉพาะการเมืองภาคประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถเชื่อมโยงผู้คนกับการเมืองผ่านระบบการเมืองเชิงสถาบันได้ไม่น้อย

บ่อยครั้งที่ได้ฟังการสัมภาษณ์ของนักรัฐศาสตร์และนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่นิยมการอยู่ในแสงแสดงทรรศนะเรื่องการเลือกตั้งของประชาชน เขามักเอ่ยปากว่าคนพวกนี้ “มันเคยลงพื้นที่จริงๆ บ้างไหม” 

เชื่อได้อย่างสนิทใจว่าการจะเห็นนักวิชาการที่เดินข้ามพรมแดนระหว่างวิชาการและงานเคลื่อนไหว (กับคนตัวเล็กๆ) พบได้ไม่ง่ายในสังคมไทย กล่าวเช่นนี้ไม่ได้ความเฉพาะเพียงในแวดวงด้านรัฐศาสตร์เท่านั้น ในแวดวงวิชาความรู้อีกหลากหลายด้านก็อยู่ในสถานะที่ไม่แตกต่างกัน นักวิชาการในแบบประภาส จึงอาจเป็นส่วนน้อยที่เราจะได้มีโอกาสได้รู้จัก

แรงผลักดันในชีวิตของผู้คน ส่วนหนึ่งย่อมเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่รายรอบบุคคลนั้นอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นของตัวเอง ประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้แสดงความมุ่งมั่นของเขาออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในเส้นทางของการเดินทางข้ามพรมแดน แม้ว่าอาจประสบความยากลำบากบ้างในบางจังหวะหรือไม่ได้มีประโยชน์โพดผลตอบแทนมาแบบล้นเหลือ แต่ก็ต้องนับว่าเป็นเส้นทางการเดินทางที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ทั้งกับงานวิชาการและการเคลื่อนไหวของคนตัวเล็กๆ ในสังคมแห่งนี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net