Skip to main content
sharethis

กองทัพพม่าปล่อยนักโทษเกือบ 6 พันราย โดยอย่างน้อย 712 รายถูกระบุเป็นนักโทษการเมือง รวม รมต.และโฆษกพรรค NLD แกนนำนักศึกษายุค 8888 และชาวต่างชาติหลายราย ด้านภาคประชาสังคมมองมุกเก่าเวลาถูกโลกกดดัน ร้องประชาคมโลกกดดันต่อจนกว่าจะปล่อยทุกคน

 

18 พ.ย. 2565 เว็บไซต์อิรวดี และเดอะการ์เดียน รายงานวานนี้ (17 พ.ย.) กองทัพพม่าประกาศปล่อยตัวนักโทษการเมือง 5,774 รายในวาระวันชาติพม่า โดยในจำนวนนี้เป็นนักโทษการเมืองราว 712 ราย เป็นนักการเมืองพรรคเอ็นแอลดี หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย อดีตนักกิจกรรมยุค 8888 และชาวต่างชาติหลายราย

เริ่มต้นจาก ‘โกเมียะเอ’ อดีตแกนนำนักศึกษาจากเหตุการณ์ 'ปฏิวัติ 8888' และเมียวญุ้น โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่ง นครย่างกุ้ง โดยทั้งสองถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นวันที่กองทัพพม่าทำรัฐประหาร

โกเมียะเอ แกนนำ นศ.พม่า ยุค 8888 (ที่มา: Irrawaddy English)

หม่องธะโช นักเขียนล้อเลียนการเมืองและกองทัพพม่าตั้งแต่ช่วงก่อนทำรัฐประหาร และฉ่วยญะหว่าซะยาด่อ พระสงฆ์นักกิจกรรมพม่า ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่ง เช่นกัน 

อูจ่อถิ่นฉ่วย อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสหภาพ สมัยรัฐบาลอองซานซูจี ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ อูตานเท อดีตสมาชิกคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมา ด่อหละหละมอ อดีตหัวหน้ารัฐมนตรีภูมิภาคตะนาวศรี รัฐมอญ ซึ่งเธอถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 30 ปี ในข้อหาทุจริตเมื่อปี 2563 ช่วงรัฐบาลเอ็นแอลดี (2558-2564) 

นักโทษการเมืองชาวต่างประเทศหลายรายก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน ฌอน เทอร์เนลล์ ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจชาวออสเตรเลีย ของอองซานซูจี จ่อเทอู พลเมืองสหรัฐฯ วิกกี้ โบว์แมน อดีตทูตอังกฤษ และสามีของเธอ และโทรุ คุโบตะ นักข่าวและผู้กำกับสารคดีชาวญี่ปุ่น โดยกองทัพพม่าระบุว่า พวกเขาถูกปล่ยตัวช่วงบ่ายวันที่ 17 พ.ย.นี้

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับ โทรุ คุโบตะ นักข่าวชาวญี่ปุ่น เขาถูกศาลทหารพม่าตัดสินจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ในข้อหายุยงปลุกปั่น และละเมิดกฎหมายโทรคมนาคม หลังเขาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในนครย่างกุ้ง เนื่องจากการถ่ายทำสารคดีการประท้วงต่อต้านกองทัพพม่าขณะถือวีซ่าท่องเที่ยว

(ซ้าย-ขวา) วิกกี โบว์แมน โทรุ คุโบตะ และฌอน เทอร์เนลล์

มัตซูโอะ ฮิโรคาซุ หัวหน้าเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เผยเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า คุโบตะจะกลับประเทศญี่ปุ่นวันที่ 18 พ.ย. 2565 และสุขภาพของเขายังแข็งแรงดี 

ทั้งนี้ สำนักข่าว 'เสียงแห่งประชาธิปไตยเมียนมา' หรือดีวีบี รายงานว่า วันนี้ (18 พ.ย.) เครื่องบินที่ฌอน เทอร์เนล โดยสารมา ลงจอดที่ท่าอากาศยานเมลเบอร์นแล้ว หลังเทอร์เนล ถูกคุมขังนานกว่า 650 วันในเมียนมา

ด้านเดอะการ์เดียน รายงานอ้างแหล่งข่าวทางการทูตว่า เมื่อ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา วิกกี โบว์แมน จะนั่งเครื่องบินจากนครย่างกุ้งไปที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย

สื่อทางการพม่า 'MRTV' รายงานด้วยว่า การปล่อยตัวนักโทษในวันที่ 17 พ.ย. ตรงกับวันชาติพม่า 

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือเอเอพีพี ซึ่งองค์กรที่รณรงค์ด้านสิทธิของผู้ต้องขังทางการเมือง ให้สัมภาษณ์กับอิรวดี ว่ามีการบันทึกว่านักโทษจำนวน 52 รายได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในนครย่างกุ้ง ภูมิภาคพะโค และภูมิภาคมัณฑะเลย์ ช่วงบ่ายวันที่ 17 พ.ย. 

ปัจจุบัน กองทัพพม่าตกอยู่ในวิกฤตทางสังคมและการเมือง นับตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564 มีการจับกุมผู้นำรัฐบาลพลเรือนหลายราย รวมถึง อดีตประธานาธิบดี หวิ่นมยิ้ด และอองซานซูจี เมื่อช่วงเช้ามืดของวันทำรัฐประหาร

แต่หลังทำรัฐประหารได้ไม่นาน ประชาชนพม่าได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านการกองทัพพม่าในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่กองทัพพม่าเลือกใช้กำลังอย่างโหดร้ายในการปราบปรามผู้ต่อต้าน มีการจับกุมประชาชนอีกหลายพันคน จนนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังภาคประชาชนทั่วประเทศ

เอเอพีพีรายงานว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารจนถึงเมื่อ 17 พ.ย. 2565 มีประชาชนที่ต่อต้านกองทัพพม่าถูกจับกุมทั้งสิ้น 16,248 ราย และมีจำนวน 12,976 ราย ขณะที่กองทัพพม่าคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปแล้วอย่างน้อย 2,516 ราย 

รายงานของเอเอพีพี ระบุด้วยว่า มีชาวพม่าจำนวนอย่างน้อย 73 ราย เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัว ในศูนย์สอบสวนของกองทัพพม่า และเรือนจำ นอกจากนี้ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กองทัพพม่าประหารประชาชน 4 ราย รวมถึงจ่อมินยู หรือโกจิมมี แกนนำนักศึกษาต่อต้านเผด็จการทหาร ยุค 8888 เพียวเซยาต่อ อดีต ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี 

 

ประชาคมโลก รวมถึงสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ตอบโต้การปราบผู้ประท้วงนองเลือดและการจับกุมของกองทัพพม่า โดยการคว่ำบาตรแบบจำเพาะเจาะจงต่อนายพลพม่า และองค์กรที่กองทัพพม่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน นานาชาติก็เรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด

บรรยากาศที่ด้านหน้าประตูเรือนจำอินเส่งวันนี้ (17 พ.ย.) ท่ามกลางหยาดฝนที่ตกนอกฤดู สมาชิกครอบครัวของนักโทษการเมืองต่างรอคอยอย่างใจจดใจจ่อระหว่างที่รสบัสที่นักโทษการเมืองโดยสารขับออกมาจากเรือนจำ

เมียวญุ้น โฆษกพรรคเอ็นแอลดี ตะโกนออกมานอกหน้าต่างรถบัสว่า “การได้รับการปล่อยตัวเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผม แต่ผมยังอยากให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้นในประเทศนี้”

โกเมียวเอ อดีตแกนนำนักศึกษายุค 8888 กล่าวว่า “ผมจะอยู่เคียงข้างประชาชนเมียนมา” 

โกโบจี เลขาธิการร่วมเอเอพีพี ระบุว่า การนิรโทษกรรมของกองทัพพม่าวันนี้ (17 พ.ย.) กลวิธีเก่าๆ ซึ่งรัฐบาลเผด็จการสมัยก่อนเคยใช้ เมื่อไรก็ตามที่ถูกนานาชาติกดดัน ตอนนี้กองทัพพม่าไม่ได้เผชิญแรงกดดันจากแค่ประเทศระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งพม่าเป็นหนึ่งในสมาชิกอีกด้วย

โกโบจี กล่าวต่อว่า เขาไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับการนิรโทษกรรมของกองทัพพม่าครั้งนี้ และมองว่ามันไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่ามีนักโทษการเมืองอีกจำนวนมากที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ ในเวลาเดียวกับที่การจับกุมนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ยังคงดำเนินต่อไป โกโบจี เน้นย้ำด้วยว่า ประชาคมโลกควรตระหนักว่าการอภัยโทษเมื่อวันที่ 17 พ.ย.นี้ ยังไม่พอ 

“เผด็จการพม่าต้องปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข รวมถึงประธานาธิบดี วิ่นหยิ้ด และอองซานซูจี เพื่อทำให้เกิดขึ้น โลกต้องกดดันกองทัพพม่าต่อไป” โกโบจี จากเอเอพีพี ทิ้งท้าย

ด้านเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์หลังกองทัพพม่าระบุว่า จ่อเทอู พลเมืองสหรัฐฯ ได้รับปล่อยตัวว่า ทางสหรัฐฯ มีความยินดีอย่างที่นักโทษการเมือง และชาวต่างชาติที่ถูกควบคุมตัวหลายรายได้รับการปล่อยตัว และขอเรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองอีกหลายพันคนที่ยังอยู่ในพม่าต่อไป

สัญญาณเตือนจากอาเซียน

แม้ว่าจะยังไม่ทราบเจตนาที่แน่ชัดว่าทำไมกองทัพพม่าจึงประกาศอภัยโทษ แต่ช่วง 2-4 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ชาติสมาชิกอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เริ่มส่งสัญญาณเตือนที่แข็งกร้าวต่อนายพลพม่ามากขึ้นว่า โดยระบุว่าถ้ากองทัพพม่าไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขวิกฤตการเมืองตามฉันทนมติ 5 ข้อ ที่พม่าเคยลงนามไว้เมื่อ 21 เม.ย. 2564 อาเซียนจะยกระดับการแบนพม่าออกจากการประชุมมากขึ้น

"นี่เป็นการเตือน นี่เป็นข้อความที่แข็งกร้าวจากผู้นำหลายๆ คน" เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์สื่อ

เร็ตโน มาร์ซูดี รมต.ต่างประเทศ อินโดนีเซีย (ที่มา: ทวิตเตอร์ MOFA Indonesia)

ด้านแดน เอสพิริตู ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายกิจการอาเซียน ชาวฟิลิปปินส์ กล่าวว่า หลังจากกองทัพพม่านิ่งเฉยมานานกว่า 1 ปี ถึงเวลาที่ต้องดำเนินแผนอื่นๆ เนื่องจากการแก้ไขวิกฤตการเมืองเมียนมาคืบหน้าอันจำกัด

ทั้งนี้ เขาอธิบายสถานการณ์การเมืองพม่าตอนนี้ด้วยว่า "วิกฤต และเปราะบางจากความรุนแรงที่ก่อตัวมากขึ้น"

สำหรับฉันทามติแก้ไขวิกฤตการเมืองพม่า 5 ข้อ โดยสรุปคือการเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงในเมียนมา เปิดการเจรจาทุกฝ่ายความขัดแย้งในพม่าโดยมีคณะทูตพิเศษอาเซียนเป็นตัวกลาง และส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา

ในการปราศรัยกับผู้นำอาเซียนเมื่อ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ประณาม “ระดับความรุนแรงที่สูงขึ้น” ในเมียนมา

“ผมขอย้ำอีกครั้งให้ทางการเมียนมาเริ่มกระบวนการแบบมีส่วนร่วมทันทีเพื่อกลับไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” กูเตอร์เรส กล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก

ASEAN agrees to talk to Myanmar opposition

Some Political Prisoners Among Almost 6,000 Freed in Myanmar Junta Amnesty

Myanmar junta releases four foreigners and 6,000 others in a mass amnesty, but thousands of political prisoners remain in jail

Myanmar frees former UK ambassador amid mass prisoner release

หมายเหตุ - มีการปรับแก้พาหัว โปรย และเนื้อข่าวบางส่วนของรายงานชิ้นนี้เมื่อ 18 พ.ย. 2565 เวลา 16.03 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net