Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ปมลูกจ้างโพสต์ใช้สิทธิลาไปงานศพพ่อ แต่ถูกเลิกจ้าง

กรณีลูกจ้างโพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์ว่า ลาไปงานศพพ่อ 8 วัน ถูกนายจ้างเชิญออก ระบุว่าขาดงานหลายวัน ทำงานมาประมาณ 7 เดือน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างพนักงานตรวจแรงงานประสาน เพื่อขอข้อมูล และข้อเท็จจริงจากผู้โพสต์

"หากพบว่าเป็นความจริงยืนยันให้ความช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเต็มที่"

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน

สำหรับการลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภท มีสิทธิลากิจได้ การลากิจธุระอันจำเป็น หมายถึง กรณีที่ลูกจ้างมีกิจธุระอันจำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง หรือของครอบครัว เช่น จัดการงานศพบุคคลในครอบครัว ทำบัตรประชาชน 

ดังนั้น หากลูกจ้างจะต้องลาไปจัดการศพของพ่อที่ต่างจังหวัด ย่อมถือเป็นกิจธุระอันจำเป็นที่ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิลาได้ ตามความจำเป็น และเหมาะสม และเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างด้วย

หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการลูกจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทร. 02-660 2069–71 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: Thai PBS, 18/11/2565

Migrant Working Group เรียกร้องปฏิรูปพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานของตน

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 Migrant Working Group ออกแถลงการณ์ 'ประเทศไทย : ปฏิรูปพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานของตน' ระบุว่าแรงงานข้ามชาติถือเป็นแรงงานส่วนใหญ่ที่รับจ้างทำงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย หนุ่มสาวหลายแสนคนจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาวเดินทางมาเพื่อทำงานในโรงงานแปรรูปเชิงพาณิชย์ บนเรือประมง และในไร่นาต่าง ๆ อาหารทะเลที่พวกเขาจับและแปรรูปถูกนำไปขายต่อให้กับบริษัทต่างชาติ ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเป็นอาหารสำหรับผู้คนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม กฎหมายปฏิเสธสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติในการมีเสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรองอย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากแรงงานไทย สถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื้อรังในอุตสาหกรรมที่มีแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลและประมง กฎหมายไทยและแนวปฏิบัติด้านแรงงานของซัพพลายเออร์ไทยในปัจจุบันส่งผลผลให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถดำเนินการที่อาจนำไปสู่สภาพการทำงานที่ดีขึ้นและป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานได้ อันได้แก่ การจัดตั้งและเป็นผู้นำในสหภาพแรงงานของตนเอง

ในเดือน ส.ค. 2565 รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะดำเนินการเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยรวมถึงการพัฒนากฎหมายสำคัญว่าด้วยสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. แรงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ไม่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติในการจัดตั้งสหภาพของตัวเอง ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับการแก้ไข แรงงานข้ามชาติก็จะยังมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบต่อไป

ที่มา: Migrant Working Group, 17/11/2565

‘สหภาพคนทำงาน’ ลั่น แรงงานสร้างชาติ-แร็พอีสานสนั่นจวกทุนนิยม

16 พ.ย. 2565 ที่ลานคนเมือง เสาชิงช้า กลุ่มราษฎรและเครือข่ายนัดชุมนุมในกิจกรรมราษฎรหยุด APEC 2022 เพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดการประชุมเอเปคที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เมื่อเวลา 19.14 น. ตัวแทนสหภาพคนทำงาน กล่าวถึงการประชุมเอเปคที่กระทบต่อแรงงาน ความตอนหนึ่งว่า “การประชุมเอเปค เราสหภาพคนทำงานคิดว่านี่คือการตามทางเสรีนิยมใหม่ ทำลายกฎคุ้มครองแรงงาน ไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงาน แก้ปัญหานายทุนได้ การค้าเสรีนิยมใหม่คือเสรีภาพของคนรวยไม่ใช่เสรีภาพของแรงงาน ให้เราทำงานเพื่อชาติแต่ไม่เคยดูแลเราเลย” ตัวแทนสหภาพคนทำงาน กล่าว

นอกจากนี้ตัวแทนสหภาพคนทำงานยังกล่าวถึงม็อบชาวนาที่เข้ามาชุมนุมเมื่อต้นปี และได้กลับมาอีกครั้งสะท้อนถึงการไม่ให้ความสำคัญอาชีพเกษตรกร  และเชิญชวนให้ประชาชนออกมาแสดงพลังในฐานะคนทำงานที่เป็น 99% ของประเทศ ที่ไม่ต้องทำงานเพื่อให้ 1 % ที่เหลือ นอกจากนี้ ยังย้ำว่า แรงงานคือผู้สร้างชาติตัวจริง

จากนั้น เวลา 19.30 น. ‘ราษฎรโขงชีมูน’ พร้อมด้วย ทรงพล สนธิรักษ์ หรือ ยาใจ ทะลุฟ้า ขับกล่อมลานคนเมืองช่วงค่ำ พร้อมยืนยันว่าจะปักหลักที่ลานคนเมืองเพื่อผลักดันข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 ตามด้วยการแร็พ โดย ‘ซัน’ มีเนื้อหาวิพากษ์ทุนนิยมอย่างดุเดือด

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/11/2565

สภาการพยาบาล ชง สธ. ปรับค่าตอบแทนวิชาชีพ 240 บาทต่อเวร หลังใช้นานกว่า 10 ปี 

สภาการพยาบาล เสนอกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนปรับค่าตอบแทน “พยาบาล” ทั้งค่าเวรบ่ายดึก-ค่าโอที-เงินเดือน หลังไม่ได้ปรับเพิ่มกว่า 10 ปี อย่างค่าเวรบ่ายดึก 240 บาทน้อยมาก ขณะที่ทำงานหนักหน่วง กระทบร่างกายและจิตใจ เกิดภาวะหมดไฟ  ส่งผลไหลออกจากระบบ ทั้งลาออกเพราะไม่ก้าวหน้าในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป และพยาบาลอายุน้อยเทไปทำงานภาคเอกชน พร้อม รอ สธ.ประชุมหาทางออกร่วมกัน  หลัง ปลัดสธ. รับปากสร้างกลไกติดตามผลการทำงาน

ภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นปัญหาสะสมมานาน อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์   ตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน(สพง.) และตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect เข้าร่วมหารือแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

ทั้งนี้ ผลประชุมเบื้องต้นมีแผนดำเนินการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นเกี่ยวกับภาระงานแพทย์ ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ลงไปพิจารณาหากทางแก้ปัญหาการกระจุกตัวของแพทย์ และกระจายบุคลากรให้เหมาะสม    ส่วนระยะกลาง และระยะยาว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565  มีการเก็บข้อมูลกำลังคน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ และเสนอนโยบายแก้ปัญหาต่อไป ที่สำคัญในที่ประชุมยังหารือถึงค่าตอบแทนของพยาบาลที่ได้รับเพียง 240 บาทต่อเวรตั้งแต่ปี 2552  ซึ่งทาง สธ.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับเพิ่มในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ค่าตอบแทนของพยาบาล มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมานานว่า เป็นค่าตอบแทนอันน้อยนิด และไม่มีการปรับเพิ่มเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว ในขณะที่ภาระงานกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลจากสภาการพยาบาลพบว่า ปัจจุบันพยาบาลที่ปฏิบัติงานทั่วประเทศมีประมาณ  170,000 คน อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กว่า  120,000 คน เฉพาะในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)  110,000 กว่าคน  โดยปัญหาที่พบมากคือ จำนวนพยาบาลกว่าแสนคนที่อยู่ในระบบกระทรวงสาธารณสุข มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน หลายคนทำงานอย่างหนัก ควงเวรต่อเนื่อง ขณะที่ค่าตอบแทนกลับไม่เพิ่ม

ล่าสุด ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่ง  ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงการขับเคลื่อนค่าตอบแทน ขวัญกำลังใจแก่พยาบาลวิชาชีพที่ทำงานในระบบสาธารณสุข ว่า  หลังจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.ท่านใหม่รับตำแหน่ง ได้เชิญวิชาชีพต่างๆ เข้าประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ต.ค 65 เพื่อหารือการทำงานร่วมกันในการพัฒนางานด้านสาธารณสุข  ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากร ทั้งเรื่องการปรับยกระดับค่าตอบแทน และความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากร เป็นหนึ่งในนโยบายของปลัดกระทรวงฯ ซึ่งทางสภาการพยาบาลเห็นด้วยและสนับสนุนนโยบายนี้ เพราะคน เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการขับเคลื่อนงานและองค์กร และเนื่องจากบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ  ไม่ว่าจะเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากการทำงานก็มักจะเป็นพยาบาลเป็นส่วนใหญ่

จากการเข้าร่วมประชุมกับท่านปลัด สธ. ทางสภาการพยาบาลจึงได้เสนอแนะว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงาน นอกจากความปลอดภัยในการทำงาน สิ่งสำคัญ คือ

1. ความสะดวกสบายในการทำงานมีอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้เพียงพอ และยังต้องมีการบริหารอัตรากำลังที่เหมาะสมด้วย ไม่ใช่ให้ทำงานหนักเกินกำลังซึ่งจะไม่ปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและบุคลากร

2. ค่าตอบแทนบุคลากรวิชาชีพ โดยเฉพาะพยาบาล เป็นเรื่องที่ต้องจัดการให้ได้รับอย่างเป็นธรรม เหมาะสมกับคุณค่าของงานที่ทำ เช่น ค่าเวร ค่าโอทีต่างๆ  ยกตัวอย่าง

- ค่าเวรบ่าย-ดึก สำหรับพยาบาล เนื่องจาก รพ.เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงต่อวัน  ให้บริการ 365 วันต่อปีไม่มีวันหยุด และพยาบาลเป็นวิชาชีพเดียวที่ถูกกำหนดให้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน จึงต้องมีการจัดเวรทำงาน เป็น เช้า บ่าย ดึก การจ่ายค่าเวรบ่าย-ดึก ก็เพื่อตอบแทนการทำงานในยามวิกาล ซึ่งผิดปกติวิสัยของมนุษย์ที่ต้องพักผ่อน มีความเสี่ยง เป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ ทุกคนก็ต้องการดำเนินชีวิตปกติ  ดังนั้น อัตราค่าตอบแทนเวรบ่ายดึก 240 บาทต่อเวร ที่ใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้วไม่เคยปรับขึ้น อย่างน้อยควรปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ

- ค่าตอบแทนโอที (OT) เนื่องจากการมีอัตรากำลังไม่เพียงพอ โรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องเพิ่มอัตรากำลังด้วยการให้บุคลากรทำงานล่วงเวลา  ทั้งนี้ หากเป็นไปตามกฎหมายแรงงานที่ใช้กับภาคเอกชน ค่าโอทีจะต้องผันแปรตามอัตราค่าตอบแทนรายชั่วโมงของแต่ละคน เช่น เงินเดือนหารออกมาแล้วจะเท่ากับกี่บาทต่อชั่วโมง หากทำงานล่วงเวลาภาคเอกชนค่าโอทีก็จะเพิ่มเป็น 1.5 เท่า หรือ 2 เท่าของอัตราบาทต่อชั่วโมง ของแต่ละคน  แต่กฎหมายแรงงานไม่ได้ครอบคลุมบุคลากรที่อยู่ในภาครัฐ

ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงให้ค่าตอบแทนโอทีเป็น  Fixed Rate  เช่น แพทย์ได้โอที 1,100 ต่อ 8 ชั่วโมง ส่วนพยาบาลและบุคลากรที่จบระดับปริญญาตรีคำนวณจากเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเงินเดือนเมื่อ 10 ปีที่แล้วประมาณ 12,000 บาท เมื่อคำนวณจากฐานนี้แล้วก็จะได้ 600 บาทต่อ 8 ชั่วโมง ซึ่งอัตรานี้ก็จ่ายมา 10 กว่าปีแล้วเช่นกัน ก็ควรปรับเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นก็อาจขาดแคลนอัตรากำลังมากขึ้น หากบุคลากรไม่ทำงานล่วงเวลาให้กับโรงพยาบาล

“วันนี้เงินเดือนบุคลากรปริญญาตรีเริ่มต้น 15,000 บาท รวมบวกค่าวิชาชีพ ค่างาน ค่าประสบการณ์ก็ประมาณ 16,000 บาท  ซึ่งหากคำนวณทำนองเดียวกัน ค่าตอบแทนต่อวันของบุคลากรก็ประมาณ 800 บาทต่อวัน เป็นไปได้ยังไงเวรก่อนหน้าทำงานปกติจากเงินเดือนได้ 800 บาท พอทำโอทีในเวรถัดมาค่าตอบแทนคนๆเดียวกันงานเดียวกันลดเหลือ 600 บาท ทำให้คนยิ่งทำงานในจำนวนชั่วโมงที่มากขึ้น รายได้ต่อชั่วโมงยิ่งลดลง เพราะเงินเดือนพื้นฐานเขาสูงกว่าอัตราโอทีที่กำหนดไว้เมื่อ 10 ปีก่อนนั้นไปแล้ว” ดร.กฤษดา กล่าว

อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่ง  กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงฯ ได้กำหนดว่าคณะกรรมการค่าตอบแทนระดับจังหวัดสามารถปรับเพิ่มค่าตอบแทนโอทีได้ถึง 2 เท่า จากอัตราขั้นต่ำที่กระทรวงฯกำหนด ซึ่งก็เหมาะสม เรื่องนี้เห็นด้วย เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่กระทรวงฯต้องปรับเพิ่มอัตราพื้นฐานให้เป็นธรรมกับคนทำงานก่อน ไม่ใช่อัตรา 600 บาทต่อเวร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับงานโรงพยาบาลเอกชนที่ขยายตัวมากขึ้น ในพื้นที่อัตรานี้ย่อมไม่ดึงดูดให้คนทำงานแน่นอน

ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มกรณีค่าเวรบ่ายดึกต้องเพิ่มจากปัจจุบันได้รับ 240 บาทต่อเวรเป็นเท่าไหร่ ดร.กฤษดา กล่าวว่า  ต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน แต่อย่างน้อยหลักง่ายๆ ต้องปรับตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น 240 บาทเมื่อ10 ปีที่แล้ว ซื้อของได้ชิ้นหนึ่ง แต่วันนี้ซื้อของนั้นไม่ได้แล้ว ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ก็ต้องปรับเพิ่ม

เมื่อถามถึงการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวใช้งบประมาณเงินบำรุง แสดงว่าหลาย รพ.อาจมีภาวะเงินบำรุงไม่พอจ่ายหรือไม่ ดร.กฤษดา กล่าวว่า  เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ เป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารโรงพยาบาล ตรงไปตรงมาก็คือ ถ้าภาระงานเพิ่มอัตรากำลังไม่พอ ก็ต้องให้คนทำงานล่วงเวลา  เงินบำรุงไม่พอจ่ายให้กับบุคลากรที่ทำงานล่วงเวลาให้กับโรงพยาบาล จากการที่โรงพยาบาลให้บริการเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ถ้าใช้คนก็ต้องจ่ายให้เป็นธรรม เงินบำรุงไม่พอก็ต้องหาสาเหตุ และแก้ไข

ส่วนขั้นตอนการขับเคลื่อนแนวทางการปรับค่าตอบแทนพยาบาลจะเดินหน้าอย่างไรต่อนั้น   ดร.กฤษดา กล่าวว่า  ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีการเชิญประชุมเรื่องนี้เมื่อไหร่ แต่ท่านปลัดสธ.รับปากในการประชุมครั้งแรกนั้นว่า จะสร้างกลไกที่จะประชุมกับสภาวิชาชีพเพื่อติดตามผลการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ต่อคำถามกรณีปัญหาการลาออกของพยาบาล ส่วนหนึ่งมาจากภาวะหมดไฟในการทำงาน มีปัญหาเครียด ปัญหาสุขภาพจิตใช่หรือไม่..   ดร.กฤษดา กล่าวว่า  กองการพยาบาลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีการสำรวจภาวะหมดไฟของพยาบาล ก็พบว่ามีปัญหาเรื่องนี้ พยาบาลในสำนักงานปลัดฯ เกือบครึ่งหนึ่งมีภาวะหมดไฟ ขณะนี้สภาการพยาบาลกำลังทำโครงการเพื่อขอทุน สสส.สนับสนุนในการบำบัดเยียวยาส่งเสริมสุขภาพจิตของคนทำงาน อย่างไรก็ตาม การทำงานหนักต่อเนื่องยาวนานของพยาบาล ในช่วงการระบาดของโควิด-19  อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะหมดไฟ และ การที่เราพบข่าวปัญหาการสื่อสารกับคนไข้ ส่วนหนึ่งก็อาจเกิดจากความเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่พอ หรือความเครียดสะสม ก็เป็นสาเหตุหนึ่งได้เช่นกัน 

“จริงๆ ที่ผ่านมา ปัญหาการสูญเสียพยาบาลตอนนี้ พบมากในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ลาออกจากราชการ ส่วนหนึ่งเพราะช่วงอายุดังกล่าวพวกเขาจะได้รับเงินบำนาญ  แต่สาเหตุสำคัญของการออกของเขาไม่ใช่เพราะได้รับบำนาญ แต่เพราะไม่ก้าวหน้าในวิชาชีพ  ส่วนพยาบาลรุ่นเด็กๆ จากที่ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมพยาบาลในโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) พบว่ามีการลาออกเช่นกัน แต่สาเหตุเป็นเพราะ รพ.เอกชน ขยายตัวมากขึ้น จึงออกไปอยู่เอกชน เพราะทำงานหนักน้อยกว่า ค่าตอบแทนดีกว่า” ดร.กฤษดา กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: Hfocus, 16/11/2565

ก.แรงงาน ส่งทีมเฉพาะกิจตรวจสอบและช่วยเหลือลูกจ้างไฟไหม้โรงงานผลิตรองเท้า

16 พ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารเก็บสินค้าประเภทรองเท้าของโรงงานย่านบางพลี ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว พร้อมสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบทันที

“ผมจึงได้ส่งคณะทำงานทีมเฉพาะกิจตรวจสอบอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง ลงพื้นที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เบื้องต้นได้รับรายงานว่าเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารเก็บสินค้าประเภทรองเท้า โดย อบจ.สมุทรปราการ ร่วมกับ ศูนย์ปภ.เขต 1 ปทุมธานี ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและรถดับเพลิงในพื้นที่ อบต.บางโฉลง จำนวนกว่า 20 คัน ฉีดน้ำและฉีดโฟมเพื่อดับเพลิง และเวลา 21.20 น. สามารถควบคุมเพลิงไว้ในวงจำกัด ซึ่งจากรายงานล่าสุดยังไม่พบผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ อย่างไรก็ตาม ผมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเข้าช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป” นายสุชาติ กล่าว

ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานทีมเฉพาะกิจฯ กล่าวว่าคณะทำงานเฉพาะกิจฯ นางสาวปรียานันท์ ลิขิตศานต์ ผู้ตรวจราชการกรม กสร. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ บริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตรองเท้า ตั้งอยู่ตำบลบางโฉลง ถนนบางนา-ตราด (ขาออก) กม.16 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีลูกจ้างทั้งหมดจำนวน 1,044 คน เป็นชาย 475 คน หญิง 569 คน จากการสอบถามสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ทั้งนี้ พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 10 จะเชิญนายจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงสาเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ในวันที่ 23 พ.ย. 2565 พร้อมตรวจสอบว่า มีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 หรือไม่

“ได้เน้นย้ำให้บริษัทฯ กันพื้นที่เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณดังกล่าว และกำชับให้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ หรืออุบัติเหตุซ้ำซ้อน หากนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9128-39 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 และ 1546” นางโสภา กล่าว

ที่มา: แนวหน้า, 16/11/2565

สั่งฟันนายหน้าเถื่อนหลอกคนทำงานญี่ปุ่น กำชับกรมการจัดหางานเร่งช่วยเหลือคนหางาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย ความคืบหน้ากรณีคนไทย 27 ราย ขอความช่วยเหลือเนื่องจากถูกหลอกลวงจากโรงเรียนสอนภาษา ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย อ้างว่าสามารถพาไปทำงานประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ “วีซ่าทักษะเฉพาะทาง”Specified skilled Worker จนแรงงานไทยหลงเชื่อสูญเงินค่าบริการจัดหางานไปแล้วรายละ 20,000 – 70,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 5 ล้านบาท สุดท้ายถูกเลื่อนกำหนดเดินทางไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นพิรุธ ขอเงินคืนกลับถูกนายหน้าบ่ายเบี่ยง ทำให้บางรายเสียทั้งเงินและงาน เนื่องจากแจ้งลาออกจากงานล่วงหน้า เพื่อเตรียมเดินทางไปทำงานที่ใหม่ในประเทศญี่ปุ่น จึงได้รับความเดือดร้อนและมาขอความช่วยเหลือเพื่อติดตามเงินคืน และดำเนินคดีกับสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อนดังกล่าว ล่าสุดกรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ทางทะเบียนระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ พบว่า สาย-นายหน้ากลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานของผู้รับอนุญาตฯ

“ผมรู้สึกห่วงใยคนหางานที่ตั้งใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศเพื่อหารายได้ หาโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวแต่กลับถูกหลอกลวงจากสาย-นายหน้าเถื่อนอย่างมาก ผมขอเตือนไปถึงผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจัดหางาน ขอให้ทราบว่าท่านไม่สามารถโฆษณาจัดหางานหรือจัดส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศได้ หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยกระทรวงแรงงานจะติดตามดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ในส่วนผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศและต้องการใช้บริการบริษัทจัดหางาน ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทฯกับกรมการจัดหางานก่อน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจัดหางานให้คนไปทำงานในต่างประเทศ ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายครอบคลุมทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดให้เลือกใช้บริการถึง 132 แห่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 กรมการจัดหางาน ได้นัดหมายคนหางานซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 ราย เข้ามาร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ โดยหลังรับคำร้องทุกข์ สอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐานจากผู้เสียหายแล้ว กรมฯจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน ที่ได้กระทำการฝ่าฝืนพรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 66 ข้อหา “โฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามมาตรา 91 ตรี ข้อหา “หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“สำหรับผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือ doe.go.th/overseas เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ doe.go.th/ipd กรณีประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายโทรศัพท์ 0 2245 6708 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 15/11/2565

พรรคแรงงานสร้างชาติ รับฟังความคิดเห็น การนำเสนอนโยบายด้านจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

นายมนัส โกศลหัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ พร้อมด้วยนายนิกรณ์  ไผ่ตระกูล นายทะเบียนพรรคแรงงานสร้างชาติ และ  นายศรศาสตร์ นาเมืองรักษ์ โฆษกพรรค ฯ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น การนำเสนอ นโยบายด้านจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า จากประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า คุณสุนีย์ ไชยรส และ  ผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อน ฯ  ภาคเหนือ ใต้ กลาง อิสานและภาคตะวันตก  เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ด้านการจัดการดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แรกเกิดสวัสดิการการเลี้ยงเด็ก  การตั้งศูนย์ดูแลเด็ก และ   การเพิ่มงบสนับสนุนการเลี้ยงดูแลเด็ก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวเพื่อการดูแลที่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน เด็กทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทย ต้องไม่ถูกทอดทิ้ง 

โดยนายมนัส โกศล กล่าวว่า เป็นข้อมูลที่ดีที่ทางพรรคแรงงานสร้างชาติมีนโยบายด้านเด็กและสตรี สุขภาพอยู่แล้ว และ จะนำข้อเสนอจากโครงการคณะทำงานการขับเคลื่อนฯไปพิจารณา เพื่อทำเป็นนโยบายของพรรคที่สามารถจับต้องและเป็นจริงได้  อาทิ  เพิ่มเงินสวัสดิการเด็ก จาก  600 บาท เป็น  1,200  บาท  การกระจายงบประมาณลงสู่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ให้มีการพัฒนาจัดตั้งหรือดูแลศูนย์เด็กเล็กฯให้มีคุณภาพ  มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น  เพื่อที่ศูนย์ฯต้องดูแลเด็กแรกเกิดแทนคุณพ่อแม่ในวัยทำงาน

และในช่วงบ่าย นายมนัส โกศล  หน.พรรคแรงงานสร้างชาติ  และ  ทีมงานได้รับเชิญให้ไปบรรยายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงานให้กับกลุ่มสมาชิกในสถานประกอบการ  ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ที่สำคัญต้องขอบคุณประธาน สร.จิรศักดิ์  ล้ำเลิศ และ  คณะกรรมการทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนนโยบายพรรคเเรงงานสร้างชาติ   โดยมีผู้แทนพรรคไปร่วมงานครั้งนี้  ประกอบด้วย นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรค  นายศรศาสตร์ นาเมืองรักษ์ โฆษกพรรค และ  นายนิกรณ์ ไผ่ตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค

ที่มา: บ้านเมือง, 15/11/2656

เผยนายจ้างใช้สิทธิ โครงการ "จ้างงานคนพิการเชิงสังคม" กว่า 2 พันราย

13 พ.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน  ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศอย่าง "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดยกระทรวงแรงงาน ขานรับนโยบายรัฐบาล ในการเร่งสร้างโอกาส อาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคงให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะคนพิการซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยตนได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานดำเนินโครงการส่งเสริมการ "จ้างงานคนพิการเชิงสังคม" ประเภทจ้างเหมาบริการ เพื่อเชิญชวนนายจ้าง สถานประกอบการที่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ให้ดำเนินการให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35

โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนในหน่วยบริการสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งช่วยให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทัดเทียมคนทั่วไป

“โครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เป็นโครงการที่ผมให้ความสำคัญมาก เพราะเกิดประโยชน์กับคนพิการอย่างแท้จริง ผู้พิการมีรายได้โดยตรงและได้ทำงานที่หน่วยงานใกล้บ้าน ซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ และครอบครัวให้ดีขึ้น ต้องขอบคุณความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชน และชื่นชมการทำงานของกรมการจัดหางานที่ลงพื้นที่เชิงรุก เชิญชวนนายจ้าง/สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง

พร้อมกับเพิ่มช่องทางเข้าร่วมโครงการฯให้ทั้งคนพิการที่ต้องการรับสิทธิและสถานประกอบการที่ต้องการให้สิทธิตาม มาตรา 35 สามารถแจ้งผ่านระบบ e-Services ของกรมการจัดหางาน ได้สะดวก รวดเร็ว จนมีนายจ้าง/สถานประกอบการ แจ้งให้สิทธิคนพิการฯ ตามโครงการแล้วถึง 2,264 ราย” นายสุชาติ กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน รับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เชิญชวนนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ใช้สิทธิตามมาตรา 34 ในการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปลี่ยนมาให้สิทธิตามมาตรา35 ประเภท จ้างเหมาบริการ ซึ่งล่าสุดได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการภาคเอกชนแล้ว จำนวน 219 แห่ง อาทิ บจก. แฟลช เอ็กซเพรส บ.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด มหาชน บจม. อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด มหาชัน บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย)

โดยให้สิทธิคนพิการฯ ตามโครงการฯ จำนวน 2,264 คน และมีหน่วยบริการสาธารณะที่สามารถรับคนพิการเพื่อปฏิบัติงาน จำนวน 1,842 แห่ง รองรับคนพิการ จำนวน 2,608 คน โดยยังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของผู้พิการหรือผู้ดูแลคนพิการแจ้งความประสงค์ทำงานแล้ว 2,981 คน ทั้งนี้ กรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานรับเรื่องการขอใช้สิทธิของคนพิการ และรับเรื่องยื่นให้สิทธิตามมาตรา 35 จากนายจ้าง/สถานประกอบการ ซึ่งเปิดรับแจ้งถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

“สำหรับสถานประกอบการที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ และผู้พิการที่ต้องการใช้สิทธิตามมาตรา 35 สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10  หรือลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านระบบ e-Services กรมการจัดหางาน และสำหรับประชาชนที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ซึ่งให้บริการทั้ง Web Application และ Mobile Application หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/11/2565

สมาคมโรงแรมห่วงแรงงานไทยไหลไปนอก พร้อมดึงต่างด้าวช่วยเสริมแรงงานขาดแคลน

ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการศึกษาโครงการค่าใช้จ่ายในการสำรวจข้อมูลแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยระบุว่า แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ของโครงสร้างแรงงานในประเทศไทย

ตามข้อมูลสถิติพื้นฐาน พบว่า ในปี 2562 มีแรงงานอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวน 3,909,592 คน ขณะที่จำนวนตำแหน่งงานต่อปีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2566-2580 อยู่ที่ 4,852,243 ตำแหน่ง

โดยในแต่ละปีจะมีนิสิตนักศึกษาในสายที่เกี่ยวข้องจบการศึกษาราว 34,488 คน ต่างจากตำแหน่งงานที่ต้องการจำนวน 43,568 ตำแหน่ง หรือในปี 2566-2580 แต่ละปีจะมีการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 9,080 คน

ดร.สุรพิชย์กล่าวว่า สำหรับภาพของแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป โดยธุรกิจที่ดำเนินกิจการแบบเดิม หรือธุรกิจที่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและเงินทุนอาจมีแรงดึงดูดแรงงานลดลง ส่วนธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น จะดึงดูดให้แรงงานมากกว่า และพบว่าบางธุรกิจอาจขาดการมองโอกาสพัฒนาทักษะแรงงานคนเดิมให้เกิดทักษะใหม่ ๆ ที่อาจใช้ต่อยอดในการทำธุรกิจ

จากการสำรวจยังพบว่า คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งมองว่างานบริการเป็นงานที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ อีกทั้งงานที่ต้องใช้ความอดทน งานที่เน้นขั้นตอน อาจไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการทำงานที่เน้นการลดขั้นตอน สนุก น่าสนใจ

นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อผู้บริหารเห็นพนักงานสามารถทำงานตำแหน่งหนึ่ง ๆ ได้ดี ก็มักจะคาดหวังให้ทำงานเดิม ทำให้ทักษะด้านอื่นลดลง ตัดโอกาสการพัฒนาของบุคลากรและธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นการให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่งานที่ยาก สกปรก อันตราย รวมถึงมองว่าเป็นตำแหน่งงานหนึ่งที่คนในองค์กรสามารถหมุนมาทำได้ จะช่วยดึงดูดให้คนทำงานได้

ดร.สุรพิชย์กล่าวต่อว่า มาตรการพัฒนารูปแบบธุรกิจ การจ้างงาน การเพิ่มพูนทักษะของอุตสาหกรรมในระยะ 20 ปี สามารถทำได้ด้วยการฝึกอบรมผู้ประกอบการ ผู้บริหาร เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจ สนับสนุนการจ้างงานในรูปแบบธุรกิจใหม่ รวมถึงปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ พัฒนาทักษะ รู้ลึก รู้รอบ เป็นผู้นำ

สอดรับกับ รศ.ดร.ธัญญลักษณ์ วีระสมบัติ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาโครงสร้างใหญ่ของแรงงานไทย เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การผลิตแรงงานไม่ตรงกับตลาดแรงงาน แรงงานปรับตัวไม่ทันตามเทรนด์การทำงานทั่วโลก

โดยมองว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 รูปแบบการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมจะเน้นพนักงานที่มีทักษะหลากหลาย หรือ X-shaped

“การพัฒนาทักษะของบุคลากรมีหลายรูปแบบทั้ง I-shaped คือ รู้ลึกในสายงานใดสายงานหนึ่ง, T-shaped รู้ลึกในสายงานหนึ่ง และมีความรู้ในสายงานที่เกี่ยวข้องบ้าง แต่ทักษะผู้นำที่อาจเหมาะกับคนรุ่นใหม่คือ X-shaped คือ รู้ลึก รู้กว้าง มีความเป็นผู้นำ มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจสร้างความยืดหยุ่นในตำแหน่งงานของพนักงานในอุตสาหกรรมได้” รศ.ดร.ธัญญลักษณ์กล่าว

ขณะที่ ดร.มหัทธน พฤทธิ์ขจรชัย ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ฝ่ายนโยบายนวัตกรรมสังคม ศิลปะและสุนทรียะ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขาดแคลน สถาบันการศึกษาต้องมีการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป

โดยเสริมทักษะและทบทวนทักษะเดิมให้แก่นิสิตนักศึกษาที่จะเข้าสู่ระบบแรงงาน ซึ่งสามารถทำได้เร็วกว่าการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน และเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับงานในโรงแรม

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวเสริมว่า จากผลแบบสำรวจสมาชิกสมาคมโรงแรมไทยพบว่า สมาชิกทั้งโรงแรมขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ทุกภูมิภาคมีความกังวลปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

โดยโควิด-19 ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมออกจากระบบไปแล้วราว 50% และแม้ว่าล่าสุดการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว แต่โรงแรมยังไม่กล้าตัดสินใจเพิ่มพนักงาน เนื่องจากยังประสบปัญหาด้านเงินทุน

นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานในอุตสาหกรรมโรงแรมหลายคนได้เลือกไปทำงานในต่างประเทศ ขณะที่นิสิตนักศึกษาไม่สนใจประกอบอาชีพในสายงานโรงแรม ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดเสน่ห์ ความเข้าใจในการเติบโตตามสายงาน

จึงอยากเสนอให้ภาคธุรกิจสื่อสารไปยังกลุ่มแรงงานให้เห็นว่าการทำงานโรงแรมมีเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพอย่างไร พร้อมทั้งสร้าง attitude กับแรงงานว่าเขาต้องมีทักษะที่หลากหลายมากขึ้น

นางมาริสากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทางออกปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่วนหนึ่งแก้ได้ด้วยการดึงแรงงานชาวต่างชาติเข้ามาเติมเต็ม จึงอยากเสนอให้รัฐบาลลงนามความร่วมมือ-ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ให้แรงงานจากต่างประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ เข้ามาทำงานในไทยได้สะดวกขึ้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/11/2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net