Skip to main content
sharethis

ในห้วงการประชุมเอเปคที่รัฐบาลไทยชูเรื่อง ‘BCG Model’ เป็นวาระหลัก ประชาไทสัมภาษณ์ ‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’ ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้ติดตามปัญหาขยะในไทยมากว่าสองทศวรรษ ว่าด้วยเรื่อง ‘ปัญหาขยะนำเข้า’ และ ‘มลพิษอุตสาหกรรม’ ในฐานะผลเชื่อมโยงจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ ทัศนะของเธอต่อ ‘Circular Economy’ ในทางหลักการ-ทางปฏิบัติ และหากประชาคมเอเปคบรรลุกรอบ BCG อะไรคือข้อกังวลที่ภาคประชาชนต้องจับตา

  • เพ็ญโฉมกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลไทยจะฉวยใช้ ‘BCG Model’ เป็นคำในการประชาสัมพันธ์ ชวนเชื่อ และปลดล็อกมาตรการทางกฎหมายบางอย่างที่เมืองไทยมีอยู่ เช่น การห้ามการนำเข้าขยะ เพื่อนำไปสู่การเปิดให้มีการนำเข้าพวกวัสดุใช้แล้วจากนานาชาติเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิล
  • BCG จะยิ่งทำให้การพัฒนาส่งเสริมการค้าการลงทุนให้พุ่งไปข้างหน้า โดยทอดทิ้งเรื่องทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไว้ข้างหลัง มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นว่าประเทศไทยที่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ย่อหย่อน พ่วงเข้ากับระบบราชการที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นสูงจะถูกใช้เป็นฐานของวัสดุรีไซเคิล-วัสดุใช้แล้วจากทั้งในประเทศและนานาชาติ
  • Circular Economy แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในเชิงคอนเซ็ปต์นั้นถือว่าดี มาจากความพยายามที่จะลดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติ ด้วยการ ‘หมุนเวียน’ ใช้วัสดุที่มีอยู่ในปัจจุบันที่กำลังเป็นขยะ อย่างไรก็ตาม ต้องมีมาตรการรับรองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคด้วย เพราะไม่ใช่พลาสติกทุกชนิดสามารถรีไซเคิลได้
  • ข้อห่วงใยอีกส่วนที่นักวิชาการและภาคประชาชนมีความกังวล คือ ของเสียจากอุตสาหกรรมหนักไม่ควรนำมารีไซเคิล เพราะจะทำให้มลพิษแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น และทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรม มีแนวโน้มจะเป็น ‘Hazardous Product’ ที่หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีอันตรายแฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีทั้งอิฐมวลเบาที่ทำจากขี้เถ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระทั่งปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำจากกากอุตสาหกรรมบางประเภท ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  

‘ปัญหาขยะนำเข้า’ ผลเชื่อมโยง ‘เปิดการค้าเสรี’

เพ็ญโฉม เล่าว่า เธอทำงานด้านผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งครอบคลุมไปถึงมลพิษทางอากาศ-ทางน้ำ ขยะ ปัญหาจากกากอุตสาหกรรมอันตราย มาจนถึงเรื่องปัญหาขยะในภาพรวมซึ่งเธอติดตามเรื่องนี้อยู่พอสมควรในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา 

งานของมูลนิธิบูรณะนิเวศที่เธอรับผิดชอบจะอยู่ภายใต้กรอบของมลพิษอุตสาหกรรมเป็นหลัก เน้นไปที่มลพิษอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อชุมชน ได้แก่ การตรวจวัดคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบตัวอย่างการปนเปื้อนในดิน ในน้ำ ในกากตะกอน การเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์เพื่อนำไปจัดทำเป็นรายงาน รวมถึงวิเคราะห์สภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่

เมื่อปี 2550 มีกระแสข่าวว่าประเทศไทยกำลังจะลงนามความร่วมมือความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (JTEPA) นั่นเป็นครั้งแรกที่เธอได้เข้าไปติดตามเรื่องปัญหาขยะนำเข้าเชื่อมโยงมาจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนงานที่เธอรับผิดชอบในเครือข่าย FTA Watch

“ทำให้รู้ว่าผลของการทำข้อตกลงอันนี้ มันทำให้มีการเปิดเสรีเรื่องการนำเข้าของเสียข้ามพรมแดนด้วย คำว่าเปิดเสรีในที่นี้หมายถึงว่า รายการหรือว่าพิกัดศุลกากรที่มันเป็นส่วนของขยะประเภทต่างๆ ทั้งขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม มันเป็นประเภทของสินค้าที่ถูกผนวกรวมอยู่ในภาคผนวกของข้อตกลงต่างๆ ด้วย”

“ปัจจุบันเราพบว่ามีหลายพื้นที่มากที่เดือดร้อนจากกิจการหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสีย ตั้งแต่เรื่องหลุมฝังกลบอันตราย การลักลอบทิ้งขยะอันตราย โรงงานรีไซเคิลของเสียต่างๆ โรงไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” เพ็ญโฉมกล่าว

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ชี้ กต.ควรเผยข้อมูลนำเข้าขยะอันตรายจาก JTEPA

ศาลปกครองพิจารณาคดีภาคประชาชนฟ้องเพิกถอนประกาศ ก.ทรัพยากรฯ ตั้งโรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องทำ EIA

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ

อ้าง ‘BCG’ เปิดทาง ‘นำเข้าขยะ’

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ เป้าหมายสำคัญของเอเปคคือ การร่วมมือกันของ 21 เขตเศรษฐกิจที่อยู่ตรงคาบสมุทรแปซิฟิก ครอบคลุมตั้งแต่แคนาดา อเมริกา เม็กซิโก กับอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นฝั่งของเอเชียก็จะมีตั้งแต่จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ประเทศในแถบอาเซียนทั้งหมด และรวมมาถึงนิวซีแลนด์กับออสเตรเลียด้วย เพื่อเจรจาทางการค้า ผลักดันให้เกิดการค้าเสรี เป็นการดึงประเด็นด้านเศรษฐกิจมาเชื่อมโยงกับมิติต่างๆ ซึ่ง ล่าสุดไทยมุ่งผลักดัน ‘BCG Model’ ให้เป็นวาระหลัก เพราะเป็นทิศทางของประชาคมโลกในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าไม่มีเขตการค้าเสรีหรือวงความร่วมมือใดที่ไม่พูดถึงสิ่งแวดล้อมและแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน 

“ถ้าการประชุมเอเปครอบนี้บรรลุกรอบ BCG พี่กลัวว่ารัฐบาลไทยจะหยิบเอาอันนี้มาใช้เป็นคำในการประชาสัมพันธ์ ในการขับเคลื่อน ชวนเชื่อ ใช้ในการปลดล็อกมาตรการทางกฎหมายบางอย่างที่ประเทศไทยมีอยู่ เช่น การห้ามการนำเข้าขยะ เพื่อนำไปสู่การเปิดให้มีการนำเข้าพวกวัสดุใช้แล้วจากนานาชาติเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิล” 

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า BCG โดยนิยามของมันเป็นสิ่งที่ฟังดูดีมาก สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติของการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นหลักการที่ดีแต่ในทางปฏิบัติเชื่อว่ามีปัญหา จากประสบการณ์ทำงานด้านมลพิษอุตสาหกรรมมา 20 กว่าปี เธอพบว่า รัฐไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการให้ความสำคัญกับการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ซึ่งต้นเหตุมาจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยที่เธอคิดว่าเป็นสิ่งที่มีปัญหา 

“เขามองว่าการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ถ่วงการพัฒนา โดยเฉพาะรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์” 

“BCG จะยิ่งทำให้การพัฒนาส่งเสริมการค้าการลงทุนให้พุ่งขึ้นไปข้างหน้า โดยทอดทิ้งเรื่องทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไว้ข้างหลัง พี่ว่าน่าเป็นห่วงมาก แล้วมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นว่า ประเทศไทยจะถูกใช้เป็นฐานของวัสดุรีไซเคิล วัสดุใช้แล้วจากทั้งในประเทศและนานาชาติ” เพ็ญโฉมกล่าว  

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า กระบวนการรีไซเคิลเป็นกระบวนการที่มีมลพิษสูงมาก  ประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีกฎหมายและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็ง พวกเขาเหล่านี้มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย แต่ก็มักจะส่งออกขยะจากประเทศตนเองมารีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนาที่มีมาตรการทางสิ่งแวดล้อมอ่อนแอกว่า พ่วงเข้ากับปัญหาข้าราชทุจริตคอร์รัปชั่นสูง ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในลักษณะนี้ด้วย โดยฉวยใช้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นฐานในการชำแหละ-คัดแยกขยะ-ส่งไปรีไซเคิล เพื่อให้ได้เป็นวัตถุดิบที่แปรรูปแล้ว แล้วส่งไปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าในประเทศอื่น

สมาคมซาเล้งและเครือข่ายฯ เรียกร้องให้ยุตินำขยะพลาสติกและขยะพิษเข้าประเทศ

จากซาเล้งถึงโรงงาน ส่องความเปราะบาง-ข้อจำกัดของธุรกิจรีไซเคิล     

‘Circular Economy’ ข้อดีและข้อกังวล

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ อธิบายว่า เรื่อง BCG ที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือจะผลักดันให้เป็นวาระหลัก ในส่วนที่เป็นงานหลักของเธอจะเกี่ยวกับตัว C ที่หมายถึง ‘Circular Economy’ (เศรษฐกิจหมุนเวียน)

“ตัว C คือ ‘Circular Economy’ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เป็นการมองวงจรของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การเป็นวัตถุดิบจนกระทั่งสุดปลายทางไปเป็นขยะ Circular คือการหมุนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

“จะเน้นอยู่ 2 คีย์เวิร์ดหลักๆ เป็นเรื่องของ การกำจัดมลพิษให้หมดไป (Remuneration) และ การลดการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม (Reduce) ซึ่งเท่าที่ดูทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับการเอาขยะมาแปรรูปเพื่อมาหมุนเวียนใช้ใหม่ หรือว่าเอามาหมุนเวียนแปรรูปเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง”

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศเล่าถึง แนวคิด Circular Economy ว่าโดยคอนเซ็ปต์พื้นฐานแล้วเป็นสิ่งที่ดีและเป็นทิศทางที่ต่างประเทศก็กำลังมุ่งไป แนวคิดนี้มาจากความพยายามที่จะลดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติ ด้วยการใช้วัสดุที่มีอยู่ในปัจจุบันที่มันกำลังเป็นขยะ โดยเราเปลี่ยนมุมมองจากขยะให้เป็นทรัพยากรในรูปแบบหนึ่ง แล้วก็หมุนเวียนมันกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาขยะในประเทศไทย

“ถ้าเป็นกระดาษก็ลดการตัดต้นไม้ ลดการทำลายต้นไม้ที่นำมาสู่กระบวนการผลิตเยื่อกระดาษด้วยการรีไซเคิลกระดาษกลับมาใช้ใหม่ ลดการทำเหมืองโลหะ ลดการทำเหมืองแร่ตะกั่ว อย่างกรณีบ้านเรามีเหมืองตะกั่วคลิตี้ใช่ไหม ที่เป็นมลพิษที่สะสมเรื้อรังยาวนาน กระบวนการคัดแยกตะกั่วที่มันปนอยู่ในผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ แยกเอาตะกั่วออกมาแล้วเอาตะกั่วไปหลอมใหม่ อันนี้ก็เป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อลดการเปิดเหมืองในพื้นที่ใหม่ๆ จริงๆ คอนเซ็ปต์นี้มีมาหลายปีแล้ว เขาเรียกว่า ‘Secondary Mineral Resourcing’ ก็คือการใช้เหมืองแร่จากวัสดุใช้แล้ว” เพ็ญโฉมยกตัวอย่าง

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า  ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการออกประกาศกฎกระทรวงหลายฉบับที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการวัสดุที่ใช้แล้วเพื่อผ่อนคลายกฎความเข้มงวดในการควบคุมมาอย่างต่อเนื่อง ไล่มาตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2540 ยาวมาจนถึงปัจจุบัน ในเอเปคครั้งนี้ เธอคาดการณ์ว่า น่าจะมีการออกกฎหมายใหม่ หรือออกกฎหมายเพิ่ม เพื่อผ่อนผันให้ตัว Circular Economy มันมีความเป็นไปได้มากขึ้น

“จริงๆ คำว่า Circular Economy มันมองด้านดีก็ได้ มองด้านลบก็ได้” เพ็ญโฉมกล่าว

ด้านข้อกังวล ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ไม่ใช่พลาสติกทุกชนิดสามารถรีไซเคิลได้ และการรีไซเคิลอาจเป็นการเติมสารที่มีความเป็นพิษเข้าไปในกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งเป็นการเติมสารบางอย่างเข้าไปยังตัววัสดุที่เป็นเคมีเดิม (ที่ก็เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มีอันตรายของมันอยู่แล้ว) 

“เพราะฉะนั้นในกระบวนการรีไซเคิลเราก็จะได้วัสดุใหม่ที่จะนำไปทำเป็นสินค้าอื่นๆ ตามมา แต่ว่าความเป็นพิษที่มันอยู่ในตัววัสดุที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิลเหล่านี้ มันก็อาจจะมีระดับความเป็นพิษหรืออันตรายที่เพิ่มขึ้น มันจะมีข้อควรระวังว่าพลาสติกรีไซเคิลประเภทไหนที่ไม่ควรนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร” 

ข้อห่วงใยอีกส่วนที่นักวิชาการและภาคประชาชนมีความกังวล คือ ของเสียจากอุตสาหกรรมหนักไม่ควรนำมารีไซเคิล เพราะจะทำให้มลพิษแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น และทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรม มีแนวโน้มจะเป็น ‘Hazardous Product’ ที่หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีอันตรายแฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ 

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ เน้นย้ำว่า การนำของเสียอุตสาหกรรมมารีไซเคิลให้เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใหม่ต้องผ่านการวิจัย การทดลองอย่างจริงจังว่าเมื่อมันมาผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อมาใช้ประโยชน์ใหม่แล้วมันจะไม่ก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค       

“ยกตัวอย่าง การเอาขี้เถ้ามาแปรรูปเป็นอิฐมวลเบา ตอนนี้อิฐมวลเบาเป็นที่นิยมมากในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างเสร็จมันก็กลายเป็นบ้านเรือนที่เราอยู่อาศัย แต่อิฐมวลเบามันทำมาจากขี้เถ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน-โรงไฟฟ้าขยะ เพราะฉะนั้นมันจะมีองค์ประกอบของโลหะหนักหรือสารเคมีอันตรายบางอย่าง ถ้าเกิดมีการเจาะหรือว่ามีการเลื่อย มันจะกลายเป็นฝุ่นละเอียดมาก มีสารอันตรายปนอยู่ ถ้าทำรีไซเคิลในลักษณะแบบนี้ มันต้องมีกระบวนการรับรองมาตรฐาน อันนี้ถือเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” เธอกล่าวเสริม

อีกตัวอย่างคือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีส่วนผสมมากจากกากอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดอินทรีย์ธาตุ หรือขยะที่มันเป็นกึ่งสารอินทรีย์ซึ่งในกระบวนการผลิตมันอาจมีการปนเปื้อนสารอันตรายอยู่ พอกลายเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ที่ตอนนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย มีการขายให้กับเกษตรกรไปใช้ในเรือกสวนนาข้าว ซึ่งเป็นส่วนที่น่าห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบอย่างจริงจัง

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า สถาบันมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (สมอ.) ต้องเข้ามาตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจริงไหม มีข้อควรระวังในการใช้อย่างไร หรือว่าใช้ในขอบเขตแบบไหน ซึ่งเธอรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดออกมาตอบคำถามเหล่านี้เลย

“การจะลดปริมาณขยะภายใต้สัดส่วนที่มันเพิ่มขึ้นตลอดก็คือการหมุนเวียนกากพวกนี้กลับมาแปรรูปเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเป็นวัสดุทั่วไป เช่น แก้ว กระดาษ การหมุนเวียนมันก็โอเค ธรรมดา แต่ถ้ามันเอากากอุตสาหกรรมมาหมุนเวียนแล้วแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ขึ้นมา มันจะต้องผ่านมาตรฐานการตรวจสอบความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารต่างๆ ว่ามันมีอยู่ในระดับไหน” เพ็ญโฉมกล่าว

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ

การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า แม้การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้มีลักษณะใหญ่โตเหมือนในอดีต แต่ในปัจจุบันที่มีโซเชียลมีเดีย ทำให้การรับรู้ของคนกระจายไปสู่วงกว้างมากขึ้นโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลาง พร้อมยกตัวอย่างในประเด็นฝุ่น PM 2.5 ที่แม้จะกระทบคนกรุงเทพฯ จนเป็นกระแสใหญ่มาก แต่คนส่วนมากก็ยังไม่สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงในภาพใหญ่ เช่น ที่มาที่ไปของฝุ่น ผลกระทบระยะยาว รวมถึงมาตรการแก้ไข 

“ถ้าเป็น PM 2.5 ในหลายๆ ประเทศ เขาจะชี้ไปเลยว่าอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ ไม่น้อยกว่า 30% ถึง 60% ของแต่ละประเทศ แต่ของประเทศไทย พูดไปพูดมาก็จะอยู่ที่ 5-7% ซึ่งอันนี้พูดจากการศึกษาเบื้องต้นในเขตกทม.เท่านั้น แต่ไม่ได้มองในพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วไป แล้วประเทศไทยยังไม่มีค่ามาตรฐาน PM 2.5 จากแหล่งกำเนิด มีแต่ค่ามาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ยังไม่มีความสามารถในการติดตั้งเทคโนโลยีตรวจวัดการปล่อย PM 2.5 ที่ปลายปล่องควันเสียของโรงงาน เพราะฉะนั้นจึงบอกไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมมีการปล่อย PM 2.5 ออกมาเท่าไหร่

“ประเทศไทยไม่มีกฎหมาย PRTR (กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ Pollutant Release and Transfer Register) จึงไม่รู้ว่าแหล่งกำเนิดมลพิษทั่วประเทศมีการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมในสัดส่วนที่รุนแรงแค่ไหน เพราะฉะนั้นพอไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็เลยทำให้คนไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลกับความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้” เพ็ญโฉมกล่าว   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net