อิสรภาพที่ถูกพรากกว่า 20 เดือน ของ ‘สมพิตร แท่นนอก’ ใต้นโยบายทวงคืนผืนป่า

สมพิตร แท่นนอก ภาพโดย Yostorn Triyos / Realframe

จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่ามีพื้นที่ป่าหนาแน่นที่สุดในภูมิภาค ใกล้อุทยานแห่งชาติไทรทองยังเป็นจุดรวมรอยต่อของ 3 จังหวัด ทั้งชัยภูมิ ลพบุรี และเพชรบูรณ์ ระหว่างถนนหมายเลข 225 ที่วิ่งสัญจรไปถึงนครสวรรค์ ตั้งแต่ย่างก้าวสู่เส้นทาง ทัศนียภาพป่าไม้รายรอบและป้ายชื่อหลายหมู่บ้านที่มักขึ้นด้วยคำว่า ‘ซับ’ ก็บ่งชี้ว่าที่แห่งนั้นเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรน้ำและพืชพันธุ์มากมี

พื้นที่ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ดินแดนที่หลายครอบครัวอพยพหนีความทุกข์ยาก เพื่อมาหาที่ทำกินแบบชาวสวน ชาวไร่ หลายสิบปีผ่านไป ชีวิตของพวกเขาดูจะยังก้าวไม่พ้นความยากจน แต่ด้วยมีผืนดินและแรงกายที่ยังหลงเหลือ ก็ทำให้หลายครอบครัวยังบากบั่นกัดฟันสู้ เช่นเดียวกับ สมพิตร แท่นนอก ชายวัย 59 ปี ที่นอกจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ก็ผจญชะตากรรมในแบบที่ใครต่างรับมือได้ยาก หากไม่มีหัวจิตหัวใจอันมั่นคงพอ

ย้อนไปเมื่อปี 2562 สมพิตรและชาวบ้านซับหวาย อีก 14 คน ถูกดำเนินคดีจาก “นโยบายทวงคืนผืนป่า” ภายใต้คำสั่งรัฐบาล คสช. กระทั่งต่อสู้ในชั้นศาล ศาลจังหวัดชัยภูมิพิพากษาให้จำคุกทั้ง 2 คดี คดีละ 10 เดือน 20 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน สถานการณ์เหมือนว่าจะดีขึ้นเนื่องจากได้รับการประกันตัว แต่สุดท้าย วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษยืนตามสองศาลก่อนหน้า ให้จำคุกคดีละ 10 เดือน 10 วัน รวมเป็น 20 เดือน 20 วัน โดยโทษจำคุกไม่รอลงอาญา

เวลา 20 กว่าเดือน ดูจะไม่ยาวนานนัก แต่กับคนที่เข้าไปในเรือนจำกับโทษทัณฑ์ต้องขัง จะกี่วันก็ช่างแสนนาน หนำซ้ำก่อนฟังคำพิพากษาฎีกา สมพิตรก็เจอเรื่องหนักที่สุดในชีวิต เมื่อภรรยาคู่ทุก์คู่ยากของเขาที่รักษาอาการโรคมะเร็งอยู่ เข้าขั้นป่วยระยะสุดท้าย หลังก่อนหน้าเขาเองพาภรรยาไปรักษาตัวในหลายที่ทั้งชัยภูมิและโคราช

กระทั่งเมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำจังหวัดชัยภูมิได้ราว 2 สัปดาห์ ก็ได้รับข่าวร้ายเมื่อคนในหมู่บ้านไปแจ้งสมพิตรขณะเข้าเยี่ยมว่า ‘สุเนตร์’ ภรรยาของเขาได้เสียชีวิตลงแล้ว ในวันนั้นแม้จะทำใจมาพอควรแล้ว แต่เรื่องราวในชีวิตก็ทำให้ชายวัยกลางคนผู้ทระนงตนผ่านเรื่องร้อนหนาวยาวนาน ให้เสียน้ำตาไปเหมือนกัน

พาชีวิตผ่านเรื่องแบบนี้มาได้อย่างไร?

น่าจะเป็นคำถามที่เราถามสมพิตร หรือเรียกติดปากว่าพ่อสมพิตรอยู่หลายรอบเพื่อต้องการคำตอบที่แน่ชัด หรืออาจเป็นผู้ถามเอง ที่ยังคิดว่าหากเปลี่ยนเป็นตัวเองจะมีคำตอบแบบไหนให้คู่สนทนา

“ความอดทนคืออันดับหนึ่ง เขาพาไปยังไง กินยังไง นอนยังไง ก็ต้องอยู่ให้ได้ ความอดทนทำให้อยู่ได้ ถ้าจำเป็นอีกก็ต้องติดคุกอีก เพราะเราไม่รู้จะไปทำอะไรนอกจากทำไร่ จะให้ไปจี้ปล้น ก็คงไม่ทำ”

ประโยคคำตอบที่ยืนยันแน่ชัด คิดย้ำคิดซ้ำเรื่องคนกับผืนป่าที่อยู่ด้วยกันและอยู่ร่วมกันได้ และคำถามสำคัญที่ย้อนกลับว่า เพียงสองมือเปล่า กับมีดและจอบ คนอย่างสมพิตร แท่นนอก จะไปมีอิทธิพลถึงขึ้นบุกรุกผืนป่าได้อย่างไร ?

วันนั้น- หลังออกจากเรือนจำมาได้เพียง 15 วัน ระหว่างช่วงพักการเกี่ยวข้าวรับจ้างในไร่นาคนอื่น เราได้พบชายผู้นี้ ในอิริยาบถผ่อนคลายแต่แฝงไปด้วยชีวิตที่พร้อมรับความจริงทุกสิ่งที่จะเกิด การพูดคุยสนทนานำมาสู่หลากบรรทัดของเรื่องราว หนึ่งในนั้นคงเป็นความหวังให้แก่ชีวิตของคนที่เพิ่งผ่านเรื่องราวแตกสลาย เพื่อเตรียมใช้ชีวิตให้พ้นไปจากความทุกข์เข็ญที่ประสบมา

ชีวิตหลังพ้นโทษคุกคุมขังของสมพิตร แท่นนอก บนพื้นที่พิาท ภาพโดย Yostorn Triyos / Realframe

รัฐพาดกระได : ไม่มีประชาชนใด ๆ อยู่ในนโยบายทวงคืนผืนป่า

จากพื้นเพที่ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนคราชสีมา ในครอบครัวคนทำไร่ข้าวโพด สมพิตร ตามพ่อกับแม่ย้ายที่ทำกินมาสู่แห่งหนอื่น ที่บ้านโคกสะอาด จ.ชัยภูมิ บริเวณรอยต่อของ อำเภอจัตุรัสและ อำดภอหนองบัวระเหว (ขณะนั้นยังเป็นกิ่งอำเภอ) ที่นี่เองสมพิตรได้เริ่มศึกษาเล่าเรียน ก่อนจะเป็นดังใครหลายคนในรุ่นเดียวกัน ที่เข้าโรงเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สมพิตรเลือกชีวิตออกมาทำงานกับครอบครัว ในวัย 10 ขวบ เขาเริ่มจากการจับเลื่อยไสไม้ และงานด้านช่างที่เรียนรู้จากพ่อ ขุดมันแผ้วทางไร่ตามแต่จะมีผู้ว่าจ้าง

หลังใช้ชีวิตจนล่วงสู่วัยหนุ่มราวปี 2521 เขาได้พบกับสุเนตร์ ที่ต่อมารักแรกครั้งนั้น กลายเป็นคู่ชีวิตของเขากระทั่งแต่งงานในปีเดียวกัน

จนเมื่อ 4 ปีผ่านไป สมพิตรเริ่มอยากขยับขยายตัวเองจากงานรับจ้าง ไปสู่การทำไร่และมีที่ทำกิน ในช่วงเวลานั้นครอบครัวของเขาย้ายออกจากชัยภูมิไปอยู่ ที่ จังหวัดสระแก้ว มีเพียงเขาที่ตัดสินใจอยู่ต่อเพื่อใช้ชีวิตกับภรรยา และหาหนทางกินอยู่ จึงตัดสินใจขึ้นไปทำไร่อยู่บริเวณที่เรียกกันว่า ‘ดอยสวรรค์’ บริเวณบ้านซับหวาย หากให้ระบุปีแน่นอนว่าเป็นปี 2525 ที่เขาจำได้ เพราะอีก 10 ปีต่อมา รัฐบาลประกาศให้พื้นที่แห่งนั้นเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทองในปี 2535 และในเดือนมิถุนายนปี 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้ประชาชนพื้นที่ที่อยู่มาก่อนการประกาศสามารถทำกินต่อไปได้

สำหรับสมพิตรและสุเนตร์ ก็ทำมาหากินในที่หลักสิบไร่ ตรงจุดนั้นมาโดยตลอด พลิกฟื้นกลบไถด้วยสองมือของตัวเอง ก่อนชาวไร่จะเล่าถึงวิถีตัวเองว่า “เริ่มทำก็ปลูกมันสำปะหลังมาตลอด มีบ้างที่จ้างรถเขาชักร่องให้ ชีวิตสมบุกสมบัน กลางคืนก็ทำ ขุดงัดมัน ตื่นเช้ามาได้ 7 ตัน แข่งกับรถขุดมันที่ได้ 7 ตันเท่ากัน ได้โลละ 1 บาท กว่า ๆ ก็สู้ทำไป หวังไว้ว่าวันหนึ่งมันจะดีขึ้น ”

จากการสอบถามชาวบ้านละแวกหมู่บ้านซับหวาย ต่างให้ข้อมูลว่าสมพิตรเป็นคนขยันขันแข็ง มักเป็นคนออกตัวช่วยหมู่บ้านเสมอ ๆ หากอยากต้องการแรงงานทำประเรื่องสาธารณะประโยชน์ หากเมื่อหมดหน้าปลูกมันสำปะหลัง ก็มีหลายครั้งที่เขาเข้าไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ ยิ่งกับงานฉาบ งานก่อปูน สร้างโครงหลังคา ที่ทำเป็นมาตั้งแต่ยังไม่เริ่มวัยรุ่นเป็นถือสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญ

จากวันที่อุทยานฯ เริ่มเข้ามา จนเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2558 จากคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 เป็นผลให้ถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง เป้าหมายของนโยบายนี้ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจับกุมผู้บุกรุก หรือผู้ที่ครอบครอง หรือทำให้สภาพป่าเสียหาย รวมถึงปราบปรามขบวนการตัดไม้ทำลายป่า กิจการแปรรูปไม้ หรือบุคคลที่มีไม้หวงห้ามไว้ครอบครอง

เช่นเดียวกับ สมพิตร ที่ทำเพียงอาชีพปลูกไร่มันสำปะหลังมีรายได้ต่อปีไม่กี่หมื่นบาท แม้คำสั่งคสช.ที่ 66/2557 จะระบุว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ แต่คนในพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติไทรทองที่อยู่มาก่อน หรือแม้แต่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกใหม่ยังมีโอกาสพิสูจน์สิทธิอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามระหว่างนั้นชาวบ้านซับหวาย ก็ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน รวม 19 คดี แม้จะให้การปฏิเสธ ไม่มีเจตนาบุกรุกป่า และต่อสู้ยืนยันถึงสิทธิที่อยู่อาศัยในที่ดินมาก่อน ทั้งนี้คำพิพากษาที่ชาวบ้านซับหวายต้องโทษมีจำคุกตั้งแต่ 5 เดือน จนไปถึง 3 ปี

สำหรับสมพิตรคำพิพากษา ต่างระบุไม่พบว่ามีรายชื่อเป็นผู้ได้รับการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน 2541 เป็นเรื่องที่เขาไม่เคยเข้าใจเลย นั่นเพราะเขาผูกติดชีวิตตัวเองกับที่ดินพื้นนั้นมาหลายสิบปีแล้ว หากเจ้าหน้าที่รัฐจะดำเนินการสิ่งใดเขาย่อมทราบดีและปฏิบัติตาม

“ไปศาลก็ไปตามเพื่อนเขา ไปหน่วยงานราชการที่ไหนก็ไปตาม ๆ กัน รู้สึกมีเพื่อนในการต่อสู้ ตอนศาลอ่านคำพิพากษา มีคำที่เราเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่มีตรงที่บอกว่า นายสมพิตรต้องจำคุกประมาณ 20 เดือน วันหนึ่งก็คิดอยู่แล้วว่าอาจต้องเข้าคุก” สมพิตรกล่าวถึงกระบวนการในศาล

จนมา 11 พฤษภาคม 2564 ที่ศาลจังหวัดชัยภูมิ ในนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สมพิตรเดินทางหลายสิบกิโลเมตรไปศาลตั้งแต่เช้า แม้จะมีชาวบ้านซับหวายหลายคนไปให้กำลังใจ แต่ขาดกำลังใจสำคัญอย่าง สุเนตร์ ภรรยา เนื่องจากอยู่ในช่วงวิกฤตของร่างกาย ไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยกันได้

คำพิพากษาวันนั้นสรุปใจความได้ว่า จำเลยยึดครองที่ดินซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้รับผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ทั้งสองคดี รวมจำคุก 20 เดือน 20 วัน

หลังได้ยินคำชี้ชะตาดังกล่าว สมพิตร และชาวบ้านซับหวาย ต่างร่ำไห้ สวมกอดร่ำลากัน โดยวันนั้นสมพิตรถูกคุมตัวเข้าเรือนจำทันที โดยไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับภรรยา ที่รอคอยปาฏิหาริย์ที่บ้านว่าเขาจะได้กลับไปพบหน้ากัน

รูปของ สุเนตร์ ภรรยาของ สมพิตร แท่นนอก ยังคงติดอยู่บนฝาผนังบ้าน ไว้ให้ระลึกถึงภายหลังเขาเสียชีวิตระหว่างสมพิตรถูกกุมขังอยู่โดยไม่ได้รำ่ลา

ร่วงลงไป ไม่มีที่สิ้นสุด : การสูญเสียที่ไม่เปิดโอกาสให้ทวงถาม

ชีวิตในที่ที่สมพิตรเรียกขานมันว่าโลกสี่เหลี่ยม ตั้งแต่แรกเข้าจากชุดลำลองปกติแปรเปลี่ยนเป็นชุดสีลูกวัวประหนึ่งตีตราว่าเป็นผู้ต้องโทษทางสังคม เรื่องอื่นเขารับไหว แต่กับจิตใจที่คิดถึงเพื่อนคู่คิดในชีวิต ก็มีหลายครั้งที่เป็นกังวลจิตใจ ก่อนเล่าด้วยเสียงสั่นเครือว่า

“สุเนตร์ป่วยมา 2 ปี มาทรุดหนักตอนไปทำคีโม ที่โคราช ไม่กี่วันเขาโทรตามให้ผมไปฟังคำพิพากษาฏีกา ก่อนเข้าคุกไป 2 อาทิตย์ มีไลน์เยี่ยมจากเรือนจำ ไปบอกว่า สุเนตร์ เสียชีวิตแล้ว”

ก่อนสมพิตรจะเข้าไปในเรือนจำ เขาฝากสุเนตร์ไว้กับที่บ้านแม่ของเธอ ก่อนตายสุเนตร์ถามเพื่อนบ้านตลอดว่า สามีจะได้รับการประกันตัวไหม เพื่อนบ้านเพียงแต่ได้พูดปลอบใจว่าวันหนึ่งจะได้ออกมา ชายผู้นี้เล่าถึงภรรยาอีกว่า

“หมอสั่งไว้ว่าอย่าให้สุเนตร์เครียด ถ้าคิดมากจะไปเลย แต่ผมก็รู้ว่าน่าจะติดคุก แต่ไม่บอกเขา กลัวเขาเสียใจ ยิ่งเป็นโรคที่รักษาไม่ได้แล้ว ตอนนั้นไม่มีเงินรักษาและต้องต่อสู้คดีด้วย ลำบากเหมือนกันผมก็ดาย ”

เมื่อพูดถึงวันแรก ๆ ในเรือนจำสมพิตรยอมรับว่า ยังปรับตัวไม่ได้ แม้จะอยู่ง่ายแบบชีวิตเคยชินชนบท แต่อาหารในเรือนจำก็ไม่ค่อยดีนัก เปรียบเช่นเมนูต้มฟักใส่วิญญาณไก่ ของมีค่าที่สุดข้างในนั้นเห็นจะเป็น กาแฟ โอวัลติน นมถั่วเหลืองแลคตาซอย เพราะหากินยาก หลายคนติดกาแฟก็กินกาแฟซองไปเฉย ๆ ด้วยความเคยชิน

กิจวัตรในเรือนจำ ของสมพิตรก็เช่นกับผู้ต้องขังรายอื่น ๆ ตื่นมาสวดมนต์ อาบน้ำ ไปกินข้าวตอน 08.00 ก่อนเข้ากองงาน ที่นั่นเขาทำหน้าที่เลื่อยไม้เพื่อส่งไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ เพราะเคยทำได้อยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ก่อนจะถึงเวลา 15.00 ที่เป็นเวลาอาหารเย็นและ เข้าห้องนอน ก่อนบรรยายสภาพความเป็นอยู่ว่า

“ตอนนอน ห้องในเรือนจำไฟจะไม่ปิดเพราะคนนอนเยอะ ถ้าปิดก็จะเดินชนกันเพราะมองไม่เห็น ในทีวีมีแต่หนังและเพลง ข่าวไม่ให้ดูเลย หนังสือพิมพ์ก็ไม่มี ผู้คุมดุ ๆ ก็มี แต่กับเราเป็นนักโทษที่ไม่ถูกตี ไม่ถูกด่า เขาให้ทำอะไรก็ทำ”

เขาเล่าอีกว่า อยู่ในนั้นช่างแสนโดดเดี่ยว แต่พอเบิกเงินที่มีคนส่งมาให้ ก็ซื้ออาหารแบ่งอาหารให้คนอื่นกินบ้าง สิ่งที่รอคอยคือคนจากบ้านซับหวายมาเยี่ยม ถ้าไม่มีของมาให้กิน อยากเห็นหน้าเห็นตาพอให้ได้กำลังใจก็ยังดี อยากรู้ข่าวคราวข้างนอก ทั้งมีความหวังอยู่ตลอดที่ออกไปจะได้ทำอยู่ทำกิน

กับนักโทษรายอื่น ๆ ส่วนมากในนั้นติดคุกจากคดียาเสพติด บ้างเป็นคดีอาชญากรรมฆ่าคน แต่พอจะอธิบายกับคดีตัวเองคือติดคุกเพราะที่ทำกิน เพราะรัฐหาว่าทำให้โลกร้อน ทุกคนต่างสงสัยว่ามาติดคุกได้อย่างไร เรื่องที่ทำกิน มันจะมีคำถามย้อนกลับไปหาสมพิตรให้คิดเสมอว่า “เขางึดอยู่ว่าทำเรื่องแค่นี้ต้องติดคุก ไม่ใช่คนเดียวที่ถาม หลายคนก็ถามว่าจับมาเพื่ออะไร แต่เราก็บอกว่าสู้ไปตามเขาเพราะอยากได้ที่กลับคืน”

เรือนจำเป็นโลกสี่เหลี่ยมคับแคบ แต่ถึงอย่างนั้นสมพิตรก็ดูแลร่างกายและจิตใจตัวเองดี อย่างน้อย ๆ ก็ไม่เจ็บไข้หรือติดเชื้อโควิด-19 เปรยถึงชีวิตครั้งนั้นว่า “วิธีดูแลความรู้สึกคือไม่ต้องคิดอะไรเลย เรื่องที่ผ่านไปให้ผ่านไป ไม่นับถอยหลัง มีวันติดก็มีวันออก”

บ้านของสมพิตรกับชีวิตที่โดดเดี่ยว ภาพโดย Yostorn Triyos / Realframe

ไต่ขึ้นไปจากกระไดโทษทัณฑ์ : โลกต้องหมุนไปข้างหน้า เวลาไม่มีทางเดินถอยหลัง

4 ตุลาคม 2565 วันที่ชีวิตของสมพิตรได้อิสรภาพกลับคืนมา จากเรือนจำชัยภูมิมุ่งกลับบ้าน สิ่งแรกที่เขาตรงไปคือวัดป่าห้วยแย้ สถานที่บรรจุอัฐิของสุเนตร์ เอาธูปเอาเทียนไปจุดเหมือนบอกว่ากลับมาหา และขอขมาที่เขาไม่สามารถออกมาจากเรือนจำเพื่อเผาศพเธอได้ ทั้งกล่าวอย่างเศร้าสร้อยถึงอดีตภรรยาว่า

“เขาคงสร้างบุญสร้างกรรมมากับเราแค่นี้ ถึงเวลาก็กลับไปที่เก่าของเขา มีคนมาปลอบใจว่า ธรรมดาแหละมีเกิด มีเจ็บ มีป่วย มีไข้ แม้แต่ในเรือนจำที่เราเพิ่งออกมาก็เต็มไปด้วยคนที่เจอเรื่องหนัก ๆ ในชีวิต”

สมพิตรย้อนเล่าไปอีกว่า “ตอนออกมาจากเรือนจำ เวิ้งว้าง ตัวเบาเลย เสียน้ำตาบ้างตอนที่นึกถึงภรรยา นึกถึงคนเดียวเลย ตอนเราเข้าไปเพราะความจำเป็นและเขาก็ป่วยด้วย”

ก่อนชาวบ้านซับหวายจะมีพิธีผูกแขนเรียกขวัยให้ที่บ้าน จาก 20 เดือนในเรือนจำ สมพิตรใช้เวลาเริ่มปรับตัวเข้าบรรยากาศข้างนอกอยู่เป็นสัปดาห์ จากเคยนอนเปิดไฟแล้วมาปิดไฟนอน สายตาต้องค่อย ๆ ปรับสภาพ สมพิตรสะท้อนถึงตัวเองว่า

“ชาวบ้านแถวนี้ก็เห็นใจกันหมด ห่วงว่าออกมาแล้วทำไรกิน เราก็ย้ำว่าจะทำไร่ เพราะแต่ไหนแต่ไรผมไม่ใช่คนขี้เกียจ เขารู้จักหมดว่าเป็นคนขยัน ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร งานหมู่บ้าน งานวัดงานวา ผมเสนอตัวช่วยหมด”

เมื่อมองไปหนทางข้างหน้า สิ่งที่คิดเสมอตอนอยู่ในเรือนจำ คือเคยทำไร่ก็อยากทำไร่ แต่สมพิตรก็ได้ยินมาว่าป่าไม้จะยึดคืน แล้วหากจะถูกไล่ที่จริง ๆ เขาคิดว่ารัฐควรมีที่รองรับ ถ้าเป็นที่ใหม่ก็อยากได้ที่ดินแถว ๆ หนองบัวระเหว ในวัย 59 ปี และไม่มีโรคประจำตัว เขาเชื่อมั่นว่าหากได้ทำไร่อีก “จะทำให้มันดี ผมจะไม่ท้อถอย มีอะไรเกิดขึ้นผมก็จะสู้”

กับมุมมองอนุรักษ์ป่า สมพิตรคิดว่า คนน่าจะอยู่กับป่าได้ แต่ว่าทางรัฐไม่ให้อยู่ นอกจากทำกิน “เราก็ไม่ทำอย่างอื่น หากินไปเลี้ยงเมีย ข้อหาที่ว่าทำให้โลกร้อน มันเลื่อนลอย ใจเราไม่รู้สึกว่าผิด กฎหมายเขียนว่าให้เราผิด ก็พูดอะไรต่อไม่ได้เลย ”

ชายวัย 59 สะท้อนอีกว่า “คำว่าโลกร้อนคนแถวนี้ยังไม่เข้าใจเลย รู้แต่ทางรัฐบีบบังคับเราทางอ้อม แต่เคยได้ยินเขาพูดมา น้ำแข็งละลาย หิมะละลาย เราไม่ได้ทำ เราแค่อาศัยอยู่อาศัยกิน บุกรุกก็ไม่ได้บุกรุก เพราะไปอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยานฯ”

กับช่วงชีวิตอายุอย่างนี้ ยังรับจ้างไปเรื่อย ๆ ใครให้ทำอะไรก็ทำ เก็บข้าวโพด เกี่ยวข้าว ได้วันละ 300 บาท ไว้กิน 100 เก็บไว้ 200 บาท สมพิตรเปิดใจว่าถ้าได้ภรรยาใหม่ก็คงชวนกันทำมาหากิน ที่ไม่ปิดกั้นโอกาสมีรักครั้งใหม่ เพราะถึงวันหนึ่งถ้าป่วยมาจะได้มีคนช่วยดูแลกันไป ก่อนจะตอบคำถามว่า

“เรื่องนี้ คิดว่าสุเนตร์เข้าใจไหม ผมไม่ทราบ แต่คงจุดธูปจุดเทียนบอกเขา สุเนตร์นี่ผมรักมาก พูด ผม ครับ ๆ ตลอด ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกัน ผมไม่ค่อยให้เขาทำงาน ผมทำแทนหมดทั้งงานบ้าน ซักผ้า ถ้วยชาม ตอนเช้าผมตื่นแต่เช้าหุงหาอาหาร แล้วออกไปทำไร่”

สมพิตร และนิตยา ม่วงกลาง เพื่อนร่วมชะตากรรมได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ภาพโดย Yostorn Triyos / Realframe

สำหรับสมพิตรชีวิตนี้ถ้าจำเป็นต้องเข้าคุกก็ไม่กลัว แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากไปในโลกสี่เหลี่ยมแห่งนั้นอีก ที่เข้าไปก็อาจจะตกนรกตายทั้งเป็น เขาย้ำความคิดว่า

“วิธีผ่านเวลาเจอเรื่องหนัก ๆ คิดหลายอย่าง ว่าชีวิตจะดีขึ้นไหม ต้องทำใจและอดทนอย่างเดียว คิดถึงว่าอันไหนที่มันถูกต้อง 20 เดือนในคุกมันก็ต้องผ่านไป เราอยู่เสมอต้นเสมอปลาย สักวันมีวันเข้าก็มีวันออก โลกต้องหมุนไปข้างหน้า เวลาไม่มีทางเดินถอยหลัง”

สมพิตรย้ำว่า หลังออกจากเรือนจำในคดีตัวเอง ยังติดตามชาวบ้านที่โดนคดีเกี่ยวกับที่ดิน ทั้งคอยภาวนาให้ต่อสู้ให้ตลอดรอดฝั่ง ให้อยู่แบบมีที่ดินทำกิน เพราะเป็นที่มั่นที่ฝากฝังชีวิตทั้งหมดเอาไว้ อย่างเข้าใจโลกว่า ชีวิตคนมีที่ทำกินก็เพียงพอ ไม่มีอะไรดีเท่ามีที่ทำกิน

“มันเป็นหัวใจของเราก็ว่าได้ ถ้าขาดตรงนี้ไปแล้วมันไปทำอะไรไม่ได้ เราก็สูญเสียภรรยา สิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากรักษาไว้เท่าชีวิต จะเป็นยังไงก็ต้องสู้ให้สุดชีวิต ชั่วชีวิตนี้คงไม่กลัวอะไรอีกแล้ว” เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบหนักจากนโยบายทวงคืนผืนป่า กล่าวทิ้งท้าย

 

สรุปคำพิพากษาทั้ง 3 ศาล โจทก์ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลย สมพิตร แท่นนอก ทั้ง 2 คดี ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดชัยภูมิ) พิพากษาว่าในแต่ละคดีว่า ให้จำเลยรับผิดตาม พรบ ป่าไม้ พรบ ป่าสงวน พรบ อุทยานแห่งชาติ จำคุก 1 ปี 4เดือน ลดให้ 1ใน 3 เป็น 10 เดือน 20 วัน นับโทษต่อ จากข้อ 3 ชำระค่าปรับ 100,000 พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ตั้งแต่ 3 มิย 2560 คำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ ยืน

คำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษายืนตามให้จำเลยรับผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ และ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฯ จำคุก 1 ปี 4 เดือน ลดให้ 1 ใน 3 เป็น 10 เดือน 20 วัน ส่วนความเสียหายทางแพ่งให้เป็นพับ

** ขณะนี้หลังออกจากเรือนจำ (ตุลาคม 2565) สมพิตร ยังไม่สามารถกลับไปทำไร่ในที่ทำกินของตัวเองได้

 

สารคดีชิ้นนี้ อุทิศแด่ อติเทพ จันทร์เทศ อดีตผู้สื่อข่าว เดอะ อีสานเรคคอร์ด ผู้นำพาตนไปถึงแหล่งที่มาของข่าวและพยายามร้อยเรียงประเด็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และอุทิศถึงสุเนตร์ แท่นนอก ภรรยาผู้เฝ้ารอการกลับบ้านของ สมพิตร แท่นนอก จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

 

ขอบคุณข้อมูลประกอบ

 

___________

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ The Isaander เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท