Skip to main content
sharethis

กะฉิ่น...ชาติพันธุ์ที่รุ่มรวยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการปรับตัวบนผืนดินไทย EP1
กะฉิ่น...ชาติพันธุ์ที่รุ่มรวยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการปรับตัวบนผืนดินไทย EP2

คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ระหว่างทางไปสู่เมืองชายแดนของหมู่บ้านอรุโณทัย เชียงดาว มีชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่ง ซ่อนตัวอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่ระหว่างทาง เป็นหมู่บ้านชนเผ่ากะฉิ่นที่มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักกัน....ชนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป คนพม่าเรียกพวกเขาว่า ‘กะฉิ่น’ คนลาหู่เรียกว่า ‘ค้างฉ่อ’ ส่วนคนไทยใหญ่เรียก ‘ขาง’ แต่ชาวกะฉิ่น กลับเรียกตนเองว่า ‘จิมเผาะ’ หรือ ‘จิงเผาะ’

ใครหลายคนตั้งคำถามกันว่า...เคยอยู่ถึงรัฐกะฉิ่นโน้น ทำไมถึงต้องอพยพเดินทางมาไกลถึงที่นี่ได้?!       

แน่นอน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าอื่นๆ ในประเทศไทย  หลายคนอาจมองว่า กะฉิ่นเป็นเพียงชนเผ่ากลุ่มเล็กๆ และอยู่กันเงียบๆ ไม่ค่อยมีบทบาทโดดเด่นอะไรในเมืองไทย แต่เมื่อพลิกดูประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกัน แล้วได้นั่งสนทนาพูดคุยกับผู้เฒ่า ผู้นำ ชาวบ้านแล้ว ถือว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะฉิ่นนี้มีความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์และมีวัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจโดดเด่นเป็นอย่างมาก  

ประวัติศาสตร์กะฉิ่น กับสงครามการสู้รบที่ไม่รู้จบ

เดิมบรรพบุรุษของชนเผ่ากะฉิ่น ได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากบริเวณประเทศมองโกเลีย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่รวมกันในเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อ ‘มิตจินา’ ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศพม่า ติดกับแม่น้ำอิระวดี มีอาณาเขตติดกับธิเบต จีน และอินเดีย เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบของแต่ละเผ่าแต่ละเชื้อชาติในสมัยนั้น จึงทำให้มีการอพยพลงมาเรื่อยๆ จนมาถึงทางเหนือของประเทศพม่า

แต่ก่อนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการปกครองของพม่าแต่อย่างใด และเมื่ออังกฤษเข้ามาครอบครองพม่า กะฉิ่นก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในตอนนั้น แต่มาถูกบุกรุกโดยจีนอยู่ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งมีมีการลงนามในสัญญาชายแดนระหว่างพม่ากับจีน แต่ก็มาถูกรัฐบาลทหารพม่าพยายามเข้ามาควบคุม ครอบงำจนได้ กลายเป็นรัฐกะฉิ่น  จนนำไปสู่การตั้งกองทัพอิสรภาพกะฉิ่น (KIA) ขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 เป็นต้นมา

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2537 ได้ทำสัญญาหยุดยิง โดยขอตั้งเป็นเขตปกครองอิสระ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังคงมีความขัดแย้งกัน จึงยังมีการสู้รบกับรัฐบาลพม่ามาจนถึงทุกวันนี้

รัฐกะฉิ่น ได้รับการยกย่องว่าเป็น “Land of Jade” หรือ ดินแดนแห่งอัญมณี ทั้งยังเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีแม่น้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกันที่เมืองมิตจีนา (Myitkyina) เมืองหลวงของรัฐกะฉิ่น อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำอิรวดี นอกจากชาวกะฉิ่นจะอาศัยอยู่ในรัฐกะฉิ่นแล้ว ยังมีชาวกะฉิ่นบางส่วนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน ในรัฐฉานของประเทศพม่า บางส่วนอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน และบางส่วนอาศัยบริเวณอรุณาจาล ประเทศแคว้นอัสสัม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย

สมชาติ ละชี รองประธานสภาวัฒนธรรมกะฉิ่น บ้านใหม่สามัคคี (กะฉิ่น) ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บอกเล่าให้ฟังว่า สาเหตุหนึ่งที่พม่าอยากเข้ามาครอบครองดินแดนของกะฉิ่น ก็เพราะว่าเมืองของกะฉิ่นนั้นมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นแร่ พลอย หยก ทองคำ ทองคำขาว และน้ำมัน อยู่เต็มไปหมด ทำให้รัฐบาลพม่าอยากได้ อยากเข้ามาครอบครอง จนต้องมีการสู้รบกันไม่จบไม่สิ้น

“พี่น้องกะฉิ่นต้องอยู่กันอย่างทุกข์ใจตลอด เพราะทหารพม่ามักจะขึ้นมาสู้รบกับเรา พี่น้องกะฉิ่นเราถูกกดขี่ และต้องอยู่กันอย่างหวาดระแวง อยู่กันไม่เป็นสุขเลย”  

จากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกองกำลังอิสรภาพกะฉิ่นกับทหารพม่า ที่มีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวกะฉิ่นจำนวนหนึ่งอพยพข้ามชายแดนมายังฝั่งไทย กลุ่มแรกเข้ามาเป็นทหารกองกำลังกู้ชาติโดยการนำของนายพล เซาแสง ( GOC Zau Seng) โดยนำทหารกู้ชาติกะฉิ่นเข้ามาอยู่จำนวนมาก  มาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย–พม่า แต่หลังจากที่นายพล เซาแสง ถูกลอบสังหารแล้ว ทหารกู้ชาติส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับไปยังรัฐกะฉิ่น แต่อีกส่วนหนี่งไม่ได้เดินทางกลับไป จึงได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่กับชนเผ่าอื่นๆ ในประเทศไทยแทน

กลุ่มที่สอง เข้ามาโดยร่วมรบในสงครามปราบคอมมิวนิสต์สมัยก๊กมินตั๋ง มาตั้งค่ายอยู่ที่ถ้ำงอบ ชายแดนไทย-พม่า ในเขตพื้นที่ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่

สมชาติ ละชี รองประธานสภาวัฒนธรรมกะฉิ่น บ้านใหม่สามัคคี (กะฉิ่น)

สมชาติ ละชี บอกว่า พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นจะมีกำลังพลทหารกะฉิ่นอยู่ประมาณ 100 นาย ที่ประจำการอยู่ที่ถ้ำงอบ บางครั้งถ้าจะมีการสู้รบกับทหารพม่าครั้งใด ก็จะมีการเสริมกำลังพลมากถึง 1,000 นาย

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง  พวกเขาไม่ได้กลับสู่ภูมิลำเนาที่รัฐกะฉิ่น แต่ตัดสินใจอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแทน แล้วแต่งงานกับชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามบริเวณเทือกเขาตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่      

การตั้งถิ่นฐานของชาวกะฉิ่นในประเทศไทย จึงเริ่มขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่าง

“พวกเราไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเป็นคนกะฉิ่น  เพราะไม่มี ใครรู้จัก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีชาวเขาเผ่ากะฉิ่น เราจึงบอกว่าเป็นชาวเขาเผ่าอื่นๆ และทำตัวให้กลมกลืนกับชุมชนชาวเขาที่เราอาศัยอยู่ด้วย เช่น ชาวกะฉิ่นที่แต่งงานกับชาวลาหู่ อาข่า หรือกะเหรี่ยงก็จะทำตัวกลมกลืนกับชนเผ่านั้นๆ” คำกล่าวของผู้เฒ่ากะฉิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยกลุ่มแรกๆ ทำให้เห็นภาพการปรับตัวของชนเผ่ากะฉิ่นได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การปกปิดความเป็นชาติพันธุ์ของตนเองและการพยายามผสมกลมกลืนกับชนเผ่าท้องถิ่นนั้น ก็ทำให้ชาวกะฉิ่นพลัดถิ่นต้องเผชิญกับการสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นคนกะฉิ่นไปทีละน้อยๆ

โดยเฉพาะอัตลักษณ์ทางภาษาในหมู่เด็กๆ ที่เป็นลูกครึ่งระหว่างพ่อหรือแม่กะฉิ่นกับชาวเขาในประเทศไทย เด็กเหล่านี้ไม่สามารถพูดภาษากะฉิ่นได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่มีใครใช้ภาษานี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ชาวกะฉิ่นกลุ่มหนึ่งเห็นว่าหากเป็นเช่นนี้ ชาวกะฉิ่นคงจะลืมความเป็นชาติพันธุ์ของตนเองโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมา คงไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อสายกะฉิ่น  ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง พวกเขาจึงคิดรวบรวมชาวกะฉิ่นในเมืองไทยมาอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน โดยใช้วิธีการชักชวนบอกกล่าวทำความเข้าใจโดยผู้นำชนเผ่าและอาจารย์สอนศาสนาในขณะนั้นชักชวนให้ชนเผ่ากะฉิ่น ที่อยู่กระจัดกระจายตามพื้นที่และหมู่บ้านต่างๆ มาอยู่รวมกันเป็นชุมชนกะฉิ่น

กระท่อมของชาวกะฉิ่น

ว่ากันว่า ผู้นำชนเผ่ากะฉิ่นและอาจารย์สอนศาสนา ได้ใช้วิธีบันทึกเสียงลงเทปชักชวนให้ชาวกะฉิ่นมาอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันเพื่อร่วมกันรื้อฟื้นและรักษาวัฒนธรรมกะฉิ่นไว้ให้ลูกหลานและฝาก ส่งเทปดังกล่าวไปให้ชาวกะฉิ่นที่กระจายตัวอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ

การรวมตัวกันเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2519 มีชาวกะฉิ่นเพียง 7 ครอบครัวเท่านั้นที่ตัดสินใจมาอยู่ด้วยกันที่หมู่บ้านปางมะเยา ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยอาศัยรวมกับชาวลาหู่

พ่อเฒ่ากว่า เจ ก่ำ ผู้อาวุโสชาวกะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคี (กะฉิ่น) บอกเล่าว่า พอข้ามมาฝั่งไทยแล้ว ตอนนั้นพี่น้องกะฉิ่นก็ย้ายไปหลายที่ จากดอยลาง ไปอยู่ท่าตอน ข้ามไปดอยวาวี เขตแม่สรวย จ.เชียงราย ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่บ้านปางมะเยา ในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาว

แต่อยู่ได้ไม่นาน  ก็เกิดปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวน จึงต้องอพยพ โยกย้ายมาตั้งชุมชนใหม่ในเขตพื้นที่โครงการหลวงหนองเขียว ซึ่งขณะนั้นโครงการหลวงเพิ่งเข้ามาตั้งได้เพียง 2 ปี จากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรตามเขตแนวชายแดนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในปี พ.ศ. 2523 พระองค์ท่านได้พระราชทานที่ดินให้กับชาวกะฉิ่น เพื่อใช้เป็นที่ทำกินและอยู่อาศัย หมู่บ้านใหม่สามัคคี (กะฉิ่น) จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมี เจ้าหน้าที่โครงการหลวงคอยให้การดูแลทั้งในด้านการพัฒนา หมู่บ้าน การส่งเสริมการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่

เมื่อชาวกะฉิ่นที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายในเมืองไทยทราบข่าวว่ามีหมู่บ้านกะฉิ่นตั้งขึ้น พวกเขาจึงตัดสินใจมาอยู่รวมกันที่นี่มากขึ้น จำนวนครอบครัวชาวกะฉิ่น จากจุดเริ่มต้นเพียง 13 ครอบครัว จึงเพิ่มเป็น 103 ครอบครัวอย่างรวดเร็ว

หลังจาก ชาวกะฉิ่นกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกตั้งรกรากในประเทศไทย จนกลายเป็นหมู่บ้านใหม่สามัคคี (กะฉิ่น) แล้ว  ต่อมา ยังมีชาวกะฉิ่นที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน และรัฐกะฉิ่น ประเทศพม่า เดินทางอพยพเข้ามาพึ่งพาญาติพี่น้องกะฉิ่นในไทยมากขึ้นอีกด้วย

“ตอนนั้น พ่อบอกว่า กะฉิ่นรุ่นแรกที่เข้ามามีทั้งหมด 18 ครอบครัว จำนวน 100 กว่าคน ต่อมา โครงการหลวงหนองเขียว ได้เข้ามาตั้งอยู่ในชุมชน แต่ปัจจุบันนี้ ผู้คนเริ่มขยายกันมากขึ้น มีทั้งหมด 125 ครอบครัว มีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 1,300 คน”

จึงถือได้ว่า หมู่บ้านใหม่สามัคคี (กะฉิ่น) เป็นชุมชนกะฉิ่นที่มีการตั้งถิ่นฐานถาวรแห่งเดียวในประเทศไทย

นอกจากนั้น ชนเผ่ากะฉิ่น ได้กระจัดกระจายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ เช่น อำเภอฝาง อำเภอพร้าว  และบางส่วนย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดตาก ตลอดจนมีการกระจายตัวอยู่ตามเมืองใหญ่หลายๆ แห่ง เช่น เมืองเชียงใหม่ ลำพูน กรุงเทพ พัทยา ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรสาคร อยุธยา เป็นต้น ซึ่งล้วนอยู่ในภาคแรงงานกันเป็นส่วนใหญ่

มีการสำรวจกันว่า ปัจจุบัน มีชนเผ่ากะฉิ่น อาศัยอยู่กระจัดกระจายในประเทศไทย ประมาณ 15,000 คน

วัฒนธรรม ภาษา อาหาร การแต่งกายกะฉิ่น ล้วนมีอัตลักษณ์โด่นเด่น

ชนเผ่ากะฉิ่น เป็นชนเผ่าที่มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นในหลายๆ ด้าน เช่น การมีภาษาเป็นของตนเอง สำหรับภาษาเขียนของกะฉิ่นนั้นมีขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2444 ซึ่งคิดค้นโดยมิชชันนารีชาวอเมริกันเชื้อสายสวีดิช ชื่อโอลา อันเซ่น (0la Hansen) ประยุกต์ใช้ตัวอักษรโรมันแทนเสียงในภาษากะฉิ่น สำหรับการนับถือศาสนานั้น ในอดีตชาวกะฉิ่นมีความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ แต่ด้วยอิทธิพลการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้ชาวกะฉิ่นได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์แทน

การแต่งกายของชนเผ่ากะฉิ่น นั้นมีความโดดเด่นแปลกตาต่อผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เครื่องแต่งกายของผู้หญิงกะฉิ่นจะสวยสดงดงามมาก สวมใส่เสื้อกำมะหยี่ดำประดับด้วยเครื่องเงินบริเวณบนเสื้อช่วงไหล่ ลักษณะเป็นเม็ดเงินคล้ายโล่ขนาดเล็ก เหมือนกระดุมเงินขนาดใหญ่วับวาวประดับตามแผ่นคอเสื้อ บริเวณอกและโค้งไปตามไหล่ นอกนั้นยังมีผ้าโพกหัว ผ้าคาดเอว รวมทั้งถุงน่องสีสดลวดลายเดียวกันกับผ้าซิ่นสีแดงที่ทอด้วยมือ

ส่วนผู้ชายจะใส่กางเกง เสื้อสีขาว สวมหมวก หรือใช้ผ้าเคียนศีรษะ ที่สำคัญ ผู้ชายจะต้องมีย่ามกับดาบประจำตัว เพื่อแสดงให้ทุกคนได้รู้ว่า พวกเขาคือชนเผ่านักรบ ที่มีความกล้าหาญนั่นเอง ในงานประเพณีรำมะหน่าว ผู้ชายกะฉิ่นหลายคนจะสวมหมวกประดับตบแต่งด้วยเขาสัตว์และขนนก บ้างมีรูปหัวนกเงือก บ้างมีเขี้ยวหมูป่ายาวโง้ง ติดรอบๆ ปีกหมวกดูแปลกตา ว่ากันว่า นอกจากใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ยังสื่อเสมือนพลังอำนาจ แสดงให้ศัตรูทั้งหลายได้กลัวเกรงด้วย 

ทั้งนี้ ในส่วนของประเพณีในปัจจุบัน  ชุมชนบ้านใหม่สามัคคีกะฉิ่น ยังมีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกะฉิ่นและยังคงดำรงอยู่คือ ประเพณีการรำมะหน่าว การกินข้าวใหม่ การสู่ขอคู่ครอง พิธีกรรมการแต่งงาน พิธีกรรมการขึ้นบ้านใหม่ การตั้งชื่อเด็ก “จะถ่องทู”( Ja Htawng Htu) การจัดงานปีใหม่ การจัดงานคริสต์มาส พิธีการขอพรเพาะปลูก

นอกจากนั้น มีประเพณีที่สูญหายไปแล้ว เช่น พิธีกรรมที่เรียกว่า “กะบูงดู่ม” (Kum Ba Dum) เป็นพิธีกรรมใช้ประกอบกับงานศพเพื่อส่งวิญญาณ ปลอบขวัญญาติพี่น้อง พิธีกรรม “กูมบาสะไหล่” (Kum Ba Shalai) เป็นพิธีรับเอาชาวต่างชาติเข้าตระกูล พิธีกรรม “กูมบาจู้น” (Kum Ba Jun) เป็นพิธีรับเอาญาติพี่น้องตนเข้าตระกูล พิธีกรรมเหล่านี้ เป็นประเพณีที่เป็นการสื่อสารกับผี ปัจจุบันชาวกะฉิ่นส่วนใหญ่หันมานับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมดแล้ว จึงทำให้ประเพณีดังกล่าวได้สูญหายไป

อาหารชนเผ่ากะฉิ่นที่โดดเด่น คือ “หม่าจับทู”

หม่าจับทู หรือน้ำพริกกะฉิ่น มีหลายหลายสูตร หลายเมนู  เครื่องปรุงส่วนใหญ่จะเน้นการนำทั้งพริกสดมาคั่วจนแห้งและหอม และก็มีพริกแห้งด้วย จุดเด่นและแตกต่างกับของชนเผ่าอื่น ก็คือ จะมีส่วนผสมของไข่กับขิง หรือเนื้อแห้งกับขิง เป็นหลัก นอกจากนั้นก็จะมีกระเทียม โหระพา มาผสมตำด้วยกัน

หม่าจับทู หรือน้ำพริกกะฉิ่น

แสงชัย วารินอมร ผู้นำชุมชนกะฉิ่น และเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใหม่สามัคคี หย่อมบ้านกะฉิ่น บอกเล่าให้ฟังว่า หม่าจับทู หรือน้ำพริกกะฉิ่น นี้ นอกจากพี่น้องกะฉิ่น จะใช้เป็นอาหารประจำวันกันแล้ว ยังมีการทำน้ำพริกนี้ เนื่องในงานสำคัญต่างๆ ของชนเผ่ากะฉิ่นด้วย เช่น งานเต้นรำมะเนา งานขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงาน รวมไปถึงครอบครัวที่คลอดลูกใหม่ ก็จะมีการทำน้ำพริกนี้มาใช้ประกอบในพิธีเหล่านี้ เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

แม่เฒ่า ถ่ายทอดวิชาทอผ้าลายกะฉิ่นให้ลูกหลาน

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน สังคมชุมชนเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ชุมชนกะฉิ่น ก็เช่นกัน ส่วนใหญ่ในวันปกติทั่วไป ชาวบ้าน จะหันมาสวมใส่เครื่องแต่งกายเหมือนกับคนพื้นเมือง คนพื้นราบทั่วไป แต่ยังถือว่าโชคดีที่มีแม่เฒ่าชาวกะฉิ่น ยังคงนั่งทอผ้าลายกะฉิ่นไว้ใส่ และเอาไว้ให้ลูกหลานได้สวมใส่กันในช่วงเทศกาลประเพณีต่างๆ

แม่เฒ่าจะคอน ละชี วัย 82 ปี บอกว่า ปกติเมื่อว่างจากทำงานบ้าน ก็จะมานั่งทอผ้าตรงเพิงพักหน้าบ้านตรงนี้  และที่ผ่านมา แม่เฒ่าจะถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องการทอผ้านี้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้สืบทอดวิชาการทอผ้า ลายผ้าของกะฉิ่นเอาไว้ไม่ให้มันสูญหายไป

แม่เฒ่าจะคอน ละชี วัย 82 ปี

“ตอนนี้ แม่สอนให้ลูกหลานทอผ้า ได้แล้ว 4 คนแล้ว เมื่อก่อนแม่เคยไปแสดงงาน ไปทอผ้ากะฉิ่นให้เขาดูถึงกรุงเทพฯ โน้นเลยนะ  แต่ตอนนี้อายุมากแล้ว เดินทางไปไม่ไหวแล้วละ” แม่เฒ่าจะคอน บอกเล่าด้วยน้ำเสียงของความภาคภูมิใจ

 

ข้อมูลประกอบ

  • ภู เชียงดาว,หนังสือสารคดีชาติพันธุ์ “เด็กชายกับนกเงือก...ความงาม ความหวัง เผ่าชนคนเดินทาง”,สำนักพิมพ์วิถีชน,มกราคม 2547
  • ภู เชียงดาว,รำมะหน่าว ประวัติศาสตร์กะฉิ่นเชียงดาวในเทศกาลฟ้อนรำ,นิตยสารสารคดี ฉบับมกราคม 2565
  • โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าว (MANAU) ของชนเผ่ากะฉิ่นในชุมชนบ้านใหม่สามัคคีกะฉิ่น หมู่ 14 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, อนุชาติ ลาพา และคนอื่น ๆ โดยได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวงและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.),มกราคม 2557
  • มนตรี กาทู และคณะ, หนังสือกะฉิ่น : เมื่อวานและวันนี้,ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิมพ์,พรสุข เกิดสว่าง บรรณาธิการ,กันยายน 2555       

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net