Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวต่างประเทศวิเคราะห์ทิศทางและนโยบายทางการทูตของจีนในอนาคต หลัง ‘สีจิ้นผิง’ เข้าร่วมการประชุมระดับโลกอย่าง G20 และ APEC 2022 พร้อมเปิดห้องหารือทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ แรงกดดันจากสหรัฐฯ เร่งให้จีนต้องแสดงบทบาท เผย เป็นสัญญาณดี แม้อาจไม่คืบหน้าและจีนยังถูกมองเป็นภัยคุกคาม

19 พ.ย. 2565 สำนักข่าว U.S. News เผยแพร่บทวิเคราะห์จากรอยเตอร์ส์เกี่ยวกับทิศทางทางการทูตของจีนในเวทีโลกหลัง ‘สีจิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีนเข้าร่วมการประชุม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียและการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทย โดยถือเป็นการปรากฏตัวครั้งสำคัญของสีจิ้นผิงในการประชุมระดับนานาชาตินับตั้งแต่จีนประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปี 2563

บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่าภาพที่สีจิ้นผิงไม่สวมหน้ากากอนามัย มีสีหน้ายิ้มแย้มและจับมือกับผู้นำจากหลายประเทศ รวมถึงโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการประชุม G20 นั้นแสดงให้เห็นว่าจีนพร้อมเริ่มต้นแก้ไขรอยร้าวในความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อย่างไรก็ดี คลิปวิดีโอที่สีจิ้นผิงตำหนิจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา กรณีเปิดเผยข้อมูลการพูดคุยทวิภาคี กลับกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เพราะการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาของผู้นำจีนเป็นภาพที่ไม่ค่อยเห็นได้บ่อย ทั้งยังเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เห็นภาพความสัมพันธ์อันฉุนเฉียวของจีนที่มีต่อตะวันตก

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นตรงกันว่าการปรากฏตัวของผู้นำจีนบนเวทีประชุมนานาชาติในช่วงโรคระบาดเป็นความพยายามด้านการทูตเพราะสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียเลวร้ายลงอย่างมากจากข้อพิพาทต่างๆ นอกจากนี้ การเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของจีนถือเป็นเรื่องยากสำหรับผู้นำหลายประเทศ ดังนั้น การที่สีจิ้นผิงเข้าร่วมประชุม G20 และ APEC 2022 ในครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสพูดคุยและขยับขยายบทบาทที่ขาดหายไปของจีนบนเวทีโลก โดยนอกจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีแคนาดาแล้ว ในการประชุม G20 ที่บาหลี สีจิ้นผิงยังได้พบกับแอทโทนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี มาร์ค รูทท์ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ยุนซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และอัลเบอร์โต เฟอร์นานเดซ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ส่วนในการประชุม APEC ที่ไทยนั้น สีจิ้นผิงได้นับพูดคุยกับฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และจาซินดาร์ อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

ลีฟ-เอริก อีสลีย์ ศาสตราจารย์ด้านการต่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยอีฮวาของเกาหลีใต้ อธิบายว่าตารางงานที่ยุ่งของสีจิ้นผิงใน 2 การประชุมนี้เรียกได้ว่า “การรุกรานอย่างมีเสน่ห์” หลังจากที่จีนปิดพรมแดนมานานเกือบ 3 ปีและสีจิ้นผิงเพิ่งรวบอำนาจด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่ออายุการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนก่อน

“การพบปะ[ผู้นำประเทศอื่น]จำนวนมากนี้อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความคืบหน้าในเรื่องเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยขวากหนามและประเด็นความมั่นคง แต่อาจช่วยป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์ทางการทูตแย่ลงกว่าเดิม” อีสลีย์กล่าว

เมื่อผู้นำจีนพบผู้นำโลก

การพบกันของสีจิ้นผิงและโจ ไบเดนในการประชุม G20 ที่บาหลีส่งสัญญาณในทิศทางบวกว่าการพูดคุยนั้นได้ละลายความสัมพันธ์ที่ถูกแช่แข็งมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่แผนการเยือนกรุงปักกิ่งช่วงต้นปีหน้าของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อดีตนักการทูตระดับสูงด้านกิจการเอเชียตะวันออกของสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลของบารัก โอบามา ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในอนาคตและไม่ใช่ข้อตกลงที่สำเร็จลุล่วง ขณะเดียวกัน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์มองว่าการที่จีนตอบรับเข้าร่วมประชุม APEC 2022 ที่ไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่จีนมองเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญนั้นถือเป็นสนามประลองให้ประเทศต่างๆ ได้หยั่งเชิงดูความสัมพันธ์กับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ที่ระบบของจีนแทบจะไม่เปิดโอกาสและมีความคลุมเครือมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต

ด้านสำนักข่าว ABC ของออสเตรเลียวิเคราะห์ว่าการที่นายกรัฐมนตรีออสเตรเยีนและประธานาธิบดีจีนได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 6 ปีถือเป็นจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จใน 6 เดือนแรกของปีบนเวทีโลก เพราะเป็นการเริ่มต้นสร้างเสถียรภาพและเป็นก้าวสำคัญแห่งรากฐานการพัฒนา เพราะทั้งสองประเทศ ‘แช่แข็ง’ ความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ปี 2559 นอกจากนี้ สื่อออสเตรเลียยังมองว่าการที่อัลบานีสได้พบกับสีจิ้นผิงในการประชุม G20 อาจสร้างความภาคภูมิใจส่วนตัวให้กับเขา เพราะวันที่ 22 ธ.ค. 2565 ที่จะถึงนี้จะเป็นวันครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างออสเตรเลียและจีน

สำนักข่าว ABC มองว่าความสัมพันธ์ที่คืบหน้าของจีนและออสเตรเลียเกิดจากปัจจัยของทั้งสองประเทศ ประการแรก จีนลดระดับความครุกรุ่นด้านความสัมพันธ์กับนานาชาติเพราะเหตุผลด้านเศรษฐกิจและการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่ 3 ของสีจิ้นผิงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศบางอย่างจนทำให้ประชาคมโลกได้เห็นท่าทีของสีจิ้นผิงที่เป็นมิตรกับผู้นำประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ในขณะที่ฝั่งออสเตรเลียเอง ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของอดีตนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน ซึ่งมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน และความกระตือรือร้นของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของอัลบานีสที่ต้องการเดินหน้าความสัมพันธ์กับจีน อาจเป็นเหตุผลให้การพูดคุยทวิภาคีของสองผู้นำเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม การพบกันของผู้นำจีนและออสเตรเลียในการประชุม G20 ไม่ใช่จุดเปลี่ยนนโยบายความมั่นคงของออสเตรเลียที่มีต่อจีน เพราะเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลียในฐานะรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “การให้คำมั่นว่าเราจะกระชับความสัมพันธ์กับจีนไม่ได้แปลว่าเราจะไม่เฝ้าระวังด้านความมั่นคง” ทั้งยังระบุว่าการต้องเลือกทางใดทางหนึ่งระหว่างการทูตและความมั่นคงนั้นเป็นเรื่อง ‘เพ้อฝัน’ และอันตรายอย่างยิ่ง พร้อมเน้ย้ำว่าการพัฒนาระบบความมั่นคงของประเทศคือความรอบคอบ ไม่ใช่การยั่วยุ ทั้งนี้ สำนักข่าว ABC วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนเห็นได้จากท่าทีของสีจิ้นผิงที่ออกมาตำหนิจันติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา รวมถึงการบริหารประเทศภายใต้การตัดสินใจของ ‘ผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว’ แต่รัฐบาลออสเตรเลียจะต้องคว้าโอกาสทางความสัมพันธ์กับจีนให้ได้ และหาช่องทางดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวออสเตรเลีย

ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Japan Times ของญี่ปุ่นเผยบทวิเคราะห์หลังจากที่สีจิ้นผิงและฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ร่วมพูดคุยหารือทวิภาคีในการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาพูดคุยกว่า 45 นาที ผู้นำทั้งสองประเทศตกลงว่าจะเดินหน้าการหารือในระดับผู้นำและขยายกรอบการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ ไปพร้อมๆ กับความพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ “สร้างสรรค์และมีเสถียรภาพ” หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการหารือกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศคือเรื่องความมั่นคงบริเวณช่องแคบไต้หวัน ซึ่งอาจกระทบต่อข้อพิพาททางเขตแดนระหว่างจีนและญี่ปุ่น โดยสีจิ้นผิงและคิชิดะบรรลุข้อตกลงว่าจะหารือประเด็นนี้ต่อไปในเวทีความมั่นคงของทั้งสองประเทศรวมถึงช่องทางการพูดคุยในโอกาสอื่นๆ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังเรียกร้องให้จีนปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เพื่อควบคุมการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นและภูมิภาค

เคอิ โคงะ รองศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่าการหารือทวิภาคีของผู้นำจีนกับผู้นำญี่ปุ่น รวมถึงผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังคงตึงเครียด ถือเป็นสัญญาณที่ดีทางการทูต และอาจเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการทางการทูตในระยะยาวที่อาจทำให้เห็นสองประเทศในเอเชียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นของทวีปสามารถวางแนวกั้นต่อกันเพื่อป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์เลวร้ายหนักในอนาคต ขณะที่บูบินเดอร์ สิงห์ รองศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศประจำสถาบัน RSIS แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง เห็นพ้องต้องกันว่าการพบกันระหว่างคิชิดะและสีจิ้นผิงเป็นสัญญาณเชิงบวก เพราะความั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวมถึงยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกนั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพระหว่างจีนและญี่ปุ่น

ด้าน โรเบิร์ต วาร์ด จากสถาบันนานาชาติด้านการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ในสหราชอาณาจักรมองว่าการที่สีจิ้นผิงเปิดโอกาสพูดคุยกับผู้นำต่างชาติด้วยท่าทีเป็นมิตรแสดงให้เห็นถึงความต้องการด้านความสัมพันธ์ที่ “สมน้ำสมเนื้อกับยุคสมัยใหม่” สำหรับสีจิ้นผิงแล้ว ญี่ปุ่นเหมาะสมอย่างมากกับขอบเขตอิทธิพลจีนในเอเชีย แต่ชัดเจนว่าความคิดนี้ไม่ได้อยู่ในแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น ขณะที่คริสโตเฟอร์ บี. จอห์นสโตน จากศูนย์ยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าการที่ญี่ปุ่นเดินหน้าความสัมพันธ์กับจีนในครั้งนี้แสดงให้เห็น 2 มิติในแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของญี่ปุ่น มิติแรก ญี่ปุ่นมุ่งเน้เรื่องศักยภาพในการต่อต้านการบีบบังคับและการรุกรานจากจีนทั้งในด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจ มิติที่สองมุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์ระหว่างตนเองและสหรัฐฯ ที่ยังคงต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างลึกซึงในด้านเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ตรงกันว่าอาจเป็นการด่วนสรุปเกินไปที่จะมองว่าเวทีการประชุม APEC 2022 ที่ไทยส่งผลลัพธ์ที่มีความหมายต่อการพูดคุยของผู้นำทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหวซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานในความสัมพันธ์ เช่น เรื่องไต้หวัน เกาหลีเหนือ และหมู่เกาะเซนกาคุ

อำนาจทางการทูตในระดับมหภาค

บทวิเคราะห์จากรอยเตอรส์ระบุว่าการกลับมาดำเนินนโยบายทางการทูตแบบตัวต่อตัวของสีจิ้นผิงในครั้งนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการเชื่อมโยงกับโลกภายนอกและเพื่อสานต่อโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ที่เขาเป็นผู้ริเริ่ม นอกจากนี้ สีจิ้นผิงจะต้องเดินหน้าสกัดกั้นพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่มีสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งการสนับสนุนไต้หวัน ความร่วมมือด้านเรือดำน้ำ AUKUS กับออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร รวมถึงความพยายามตัดจีนออกจากอุตสาหกรรมการผลิตชิป (Semi-Conductor) โดยหลี่หมิงเจียง รองศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำสถาบัน RSIS แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางมองว่าในปีต่อๆ ไป ประชาคมโลกได้เห็นการกลับมามีบทบาทของจีนด้านการทูตในระดับมหภาค และการแทรกซึมของรัฐบาลอเมริกาในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็น “แรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่” ให้จีนต้องเร่งกลับมาแสดงตนต่อเวทีโลกอีกครั้ง

 

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net