Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 ที่ศูนย์ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ตัวแทนคปน.ภาคอีสาน กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง และกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จังหวัดศรีสะเกษ ได้ยืนถือป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อส่งข้อความถึงบรรดาผู้นำประเทศที่จะเดินทางมาประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย – แปซิฟิก หรือ เอเปค 2565  ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. นี้ การชูป้ายมีข้อความคือ เอเปค หยุดโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล  หยุดแย่งชิงทรัพยากรชุมชน หยุดอุตสาหกรรมมลพิษ  เป็นต้น 

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน)  6 กรณี 7 จังหวัด ได้ติดตามนโยบายเหล่านี้ตั้งแต่ภายหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล คสช. เข้าบริหารประเทศ 17 สิงหาคม 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ และยังติดตามตรวจสอบกระบวนการจัดทำอีไอเอที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมของโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน 6 กรณี 7 จังหวัด ตลอดจนมองว่าต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคอีสาน เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่รัฐบาลไม่เคยมีความจริงใจในการควบคุม และในกระบวนการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ไม่มีการศึกษา PM 2.5 ทั้งที่หลายหน่วยงานก็รับรู้ว่าโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลยังเป็นต้นเหตุของการปล่อยควันและฝุ่น PM 2.5 ของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น ซึ่งมีที่มาจากกระบวนการผลิตจาก 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้ 1.จากส่วนโรงงาน ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการแปรรูปอ้อยเป็นน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 2.จากกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อย โดยการเผาอ้อยที่เรายังพบเอยมาทุกปี ซึ่งทั้ง 2 ส่วนข้างต้นเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งในประเทศไทย และในประเทศเพื่อบ้าน เช่น ประเทศลาว ประเทศเขมร ซึ่งก็แล้วแต่เป็นกลุ่มนายทุนจากประเทศไทยที่เดินทางเข้าไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น ถ้าเราพิจารณาเรื่อง PM 2.5 ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และหากพิจารณาถึงต้นเหตุของปัญหาจากกระบวนการผลิตทั้ง 2 ส่วนข้างต้น

การเดินทางมาประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย – แปซิฟิก หรือ เอเปค 2565  ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. นี้ของผู้นำแต่ละประเทศนั้นมีความน่าสนใจ เพราะวัตถุประสงค์การประชุมเอเปคครั้งนี้ได้พูดถึงการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก ด้วยการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก แต่ถ้าเรากลับมาทบทวนวัตถุประสงค์ที่กล่าวอ้างนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นคงหนีไม่พ้นการค้าการลงทุนที่เกี่ยวกับกลุ่มทุนในประเทศ ที่เกี่ยวพันกับรัฐบาลชุดนี้เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติไว้รองรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่มีกิจการเกี่ยวกับโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เกิดขึ้นในภาคอีสานและอีกมากมายนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีปัญหาตั้งแต่การกำหนดนโยบายซึ่งไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของคนในพื้นที่ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชน  ดังนั้นการแสดงออกของคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน) ในวันนี้ก็เพื่อสะท้อนให้ผู้นำแต่ละประเทศได้เห็นว่าการจัดการทรัพยากรของประเทศไทยนั้นมีปัญหาอะไรบ้างโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน บทเรียนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นชัดว่ารัฐไม่เคยฟังเสียงชาวบ้านแต่กลับไปฟังเสียงกลุ่มทุนที่คอยเขมือบเอาฐานทรัพยากรจากชุมชนฝ่ายเดียวผ่านการกำหนดนโยบายแบบไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น และการประชุมเอเปคครั้งนี้ทาง คปน.ภาคอีสาน จึงอยากเรียกร้องให้ เอเปค หยุดการฟอกเขียวผ่านการค้าการลงทุนในประเภทอุตสาหกรรมที่จะก่อให้เกิดมลพิษต่อสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชน 

ด้านนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน) "การประชุมเอเปคครั้งนี้ถือว่าเป็นมหกรรมการขายชาติ ขายทรัพยากรครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลที่จับมือกับกลุ่มนายทุนโครงการสานพลังประชารัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการผลักดันโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ประธานบริษัทมิตรผลอย่าง นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ได้เข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริหารโครงการ BCG ที่จะถูกนำเสนอและผลักดันในการประชุม APEC ครั้งนี้" 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net