ระบอบอำนาจนิยมดิจิทัลอิหร่าน และความท้าทายหลังการประท้วงของคนรุ่นใหม่

ระบอบอำนาจนิยมดิจิทัลของอิหร่านซึ่งถูกพัฒนามาตลอด 20 ปีเพื่อสร้าง 'อินเตอร์เน็ตแบบฮาลาล' ด้วยการติดตั้งระบบสอดแนมและควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ตอย่างเข้มงวด กำลังเผชิญกับบททดสอบจากการประท้วงใหญ่ของคนรุ่นใหม่ซึ่งก้าวเข้าสู่เดือนที่ 3 หลังการเสียชีวิตของ 'มาห์ซา อามินี' หญิงชาวเคิร์ดในอิหร่าน เมื่อ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา

เจอราร์ด แม็กเดอร์มอตต์ นักวิเคราะห์สัญชาติไอร์แลนด์ที่เคยตีพิมพ์บทความใน Kyoto Review of Southeast Asia, the Diplomat, Politico, และ Peace Review และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่ City University Hong Kong ได้เขียนบทความลงในประชาไทฉบับภาษาอังกฤษเมื่อ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่าการประท้วงอิหร่านในปัจจุบันทำให้หลายฝ่ายจับตาไปที่ความพยายามในการควบคุมอินเตอร์เน็ตของอิหร่าน

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา 'มาห์ซา อามินี' หญิงชาวเคิร์ดในอิหร่านอายุ 22 ปี เสียชีวิตขณะอยู่ในการควบคุมตัวของ "ตำรวจศีลธรรม" ของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลาม ก่อนการเสียชีวิตเธอถูกควบคุมตัวในข้อหาฝ่าฝืนระเบียบการแต่งกายอิสลามของรัฐบาล การเสียชีวิตของเธอนำไปสู่การประท้วงทั่วประเทศและขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่ 3 มีผู้เข้าร่วมประท้วงทั้งหมดประมาณ 90,000 คน

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิหร่านเคยเกิดขึ้นในปี 2552, 2560-61, และ 2562 อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นหญิงเยาวชนและกลุ่มประชากรที่อายุน้อยกว่า 25 ปี และแสดงความโกรธออกมาในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการประท้วงครั้งนี้ใหญ่พอจะโค่นล้มรัฐบาลอิหร่านได้เลยทีเดียว ทว่า รัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงเช่นกัน

ข้อมูลล่าสุด (16 ก.ย.) พบว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 456 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 1,160 คน ข้อมูลเมื่อปลายเดือน ต.ค. ระบุว่ามีผู้ถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 12,500 คน ขณะที่ตัวเลขการสูญเสียเพิ่มขึ้น หลายฝ่ายก็จับตาไปที่ความสามารถของรัฐบาลอิหร่านในการสอดแนมและควบคุมข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ รัฐบาลอิหร่านมีความคืบหน้าในการพัฒนา "อินเตอร์เน็ตแห่งชาติ" หรือ "อินเตอร์เน็ตฮาลาล" อย่างมีนัยสำคัญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

'กฎหมายคุ้มครองผู้ใช้'

เมื่อ ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านได้เสนอ "ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้" ซึ่งเป็นการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิ เพื่อจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ และละเมิดสิทธิของพลเมืองชาวอิหร่าน หนึ่งในบทบัญญัติของร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า หากแพลตฟอร์มไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการลบหรือปรับแก้เนื้อหา คณะธรรมาธิการผู้รับผิดชอบด้านการกำหนดลักษณะเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม มีสิทธิที่จะแบนแพลตฟอร์มได้โดยไม่ต้องแจ้งเตือนก่อน อีกมาตราหนึ่งบัญญัติว่าแพลตฟอร์มใดที่ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอิหร่านจะต้องถูกลงโทษด้วยการลดความเร็วสัญญาณอินเตอร์เน็ต (bandwidth throttling) รัฐบาลอิหร่านเคยใช้การลดความเร็วสัญญาณอินเตอร์เน็ตมาแล้วในอดีต แต่นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอิหร่านบรรจุวิธีการลักษณะนี้ไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติที่สำคัญที่สุดของร่างกฎหมายฉบับนี้คือนำอินเตอร์เน็ตเกตเวย์และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ไปอยู่ในการควบคุมของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลอิหร่านโดยตรง ซึ่งทำให้รัฐบาลมีเครื่องมือที่ทรงพลังในการบล็อกเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น สอดแนมผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ดำเนินการตัดสัญญาณหรือลดสัญญาณความเร็วอินเตอร์เน็ต ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกวิจารณ์ฮิวแมนไรส์วอช และเอ็นจีโออีกมากกว่า 50 แห่ง เนื่องจากอินเตอร์เน็ตเป็นเพียงไม่กี่วิธีที่องค์กรสิทธินอกอิหร่านจะสามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษชนและการลิดรอนสิทธิรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศได้

พันธมิตรผู้สนับสนุน

อิหร่านได้รับการสนับสนุนจากจีนในการพัฒนาระบบสอดแนมและควบคุมข้อมูล นอกจากจีนจะเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมดิจิทัลแล้ว ยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอิหร่านด้วย ในช่วงต้นปี 2555 บริษัท ZTE ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซินเจิ้น ได้ลงนามข้อตกลงและมอบเทคโนโลยีค้นหาพิกัดของผู้ใช้สมาร์ทโฟน ดักฟังบทสนทนาทางโทรศัพท์ และเข้าถึงข้อความการสนทนาและอีเมลของผู้ใช้ให้แก่รัฐบาลอิหร่าน บริษัท ZTE ร่วมมือกับ TCI

บริษัทกึ่งเอกชนที่มีสายสัมพันธ์กับกองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (IRGC) กองกำลังพิเศษระดับหัวกะทิของอิหร่าน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีความสนิทสนมกับนักบวชระดับสูงในรัฐบาลอิหร่าน

เมื่อ มิ.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า Tiandy บริษัทของจีนที่ผลิตกล้องวงจรปิดและเทคโนโลยีสอดแนมอื่นๆ เชื่อกันว่าขายผลิตภัณฑ์ของตนเองให้กับตำรวจและกองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ซึ่งกำลังปฏิบัติการจำกัดลิดรอนสิทธิในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในภาพรวมแล้ว การขายเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือที่ใหญ่กว่าระหว่างจีนและอิหร่าน โดยที่ผ่านมาจีนใช้บริษัทนายหน้าขนาดเล็กเป็นผู้นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านและสร้างรายได้แก่กว่า 22 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ นับตั้งแต่โจ ไบเดน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ความร่วมมือที่ว่านี้ช่วยให้อิหร่านหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตร

นอกจากจีนแล้ว อิหร่านยังมีความร่วมมือกับรัสเซียเพิ่มขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากรายงานข่าวที่รัสเซียใช้โดรนของอิหร่านในการรุกรานยูเครนในช่วงที่ผ่านมา ในช่วง 18 เดือนให้หลังมานี้รัสเซียและอิหร่านได้ร่วมมือกันในการเปิดตัวและปฏิบัติการดาวเทียมที่ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการสอดแนมด้วย นักวิเคราะห์มองว่ารัสเซีย จีนและอิหร่านใช้โมเดลแบบเดียวกันในการสร้าง 'อินเตอร์เน็ตแห่งชาติ' เป็นระบบนิเวศน์เล็กๆ ของตัวเองแยกออกมาจากระบบอินเตอร์เน็ตทั่วโลก การทำเช่นนี้ทำให้เกิดกฎระเบียบด้านอินเตอร์เน็ตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันน้อยลง และอาจส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพทางด้านดิจิทัลในภาพรวม

อำนาจนิยมไฮเทค

กองกำลังความมั่นคงของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านมีความสามารถในการปฏิบัติการเผยแพร่ข้อมูลข่าวเท็จอย่างมาก โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้ฟังชาวต่างชาติ รายงานของ Citizen Lab ในปี 2562 พบว่ารัฐบาลอิหร่านสร้าง "สายพานการส่งข้อมูลเท็จ" ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559

รัฐบาลอิหร่านยังมีความสามารถในการจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้จำนวนมาก เช่น ยูทูป อเมซอน นิวยอร์กทามส์ วิกิพีเดีย และเว็บไอเอ็มดีบี ซึ่งเป็นฐานข้อมูลภาพยนตร์ออนไลน์ด้วย โดยเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นมานับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรศที่ ค.ศ. 2000 (2543-2553) หลังการประท้วงใหญ่ในปี 2552 รัฐบาลอิหร่านได้ทำการจำกัดการเข้าถึงเฟสบุ๊ค และเมื่อมีการประท้วงต้านรัฐบาลอีกในปี 2561ก็มีการสั่งบล็อกแอปพลิเคชั่นส่งข้อความและเครือข่ายอื่นๆ อีก ส่งผลให้แอปพลิเคชั่นจากตะวันตกที่มีชื่อเสียงและมีผู้ใช้แพร่หลายถูกแบนอิหร่านทั้งหมด

รัฐบาลอิหร่านพยายามควบคุมโลกดิจิทัลด้วยวิธีการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การกำหนดเป้าหมายของการสอดแนมเฉพาะเจาะจงขึ้น รวมถึง การเพิ่มระดับการสอดส่องและควบคุมข้อมูลในช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อน (เช่น ช่วงการเลือกตั้ง) และผ่อนปรนมาตรการเหล่านี้ลงในภาวะปกติ แต่ชาวอิหร่านที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามก็มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีสูงขึ้นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการใช้โปรแกรม Psiphon, Lanter, และ Tor เพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบข้อห้ามที่กำหนดโดยรัฐบาลอิหร่าน เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอิหร่านได้พยายามเปิดตัวแอปพลิเคชั่นสนทนาข้อความของตัวเองชื่อว่า Sorouch ทว่ากลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากแอปดังกล่าวถูกควบคุมและเฝ้าติดตามโดยรัฐบาลอิหร่าน

การปิดอินเตอร์เน็ต ทั้งแบบปิดทั้งหมดและปิดบางส่วน เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลใช้เพื่อปิดปากผู้เห็นต่างและตัดกำลังของการประท้วงและการชุมนุม ในปี 2561 พบว่าการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดหลังการประท้วงในปี 2552 นำไปสู่การสั่งปิดอินเตอร์เน็ตโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลอิหร่าน ในปี 2564 ที่มีการประท้วงเกิดขึ้นในจังหวัดฆูเซสถานพบว่ารัฐบาลอิหร่านได้ปิดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในเมืองที่สำคัญของจังหวัด และลดความเร็วในส่วนอื่นๆ ของจังหวัดด้วย

นับตั้งแต่การประท้วงครั้งใหญ่เมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมา ประชากรอิหร่านเกือบทุกคนเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้อินเตอร์เน็ตไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง มีการปิดอินเตอร์เน็ตอย่างยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมภายในประเทศอย่างมาก เพื่อตอบโต้มาตรการของรัฐบาลอิหร่าน แอปพลิเคชั่น Signal กำลังแสดงความสนใจที่จะรักษาการเข้าถึงแอปพลิเคชั่นของตนเองภายในอิหร่าน ขณะที่สตาร์ลิงค์ โครงการอินเตอร์เน็ตดาวเทียมของอีลอน มัสก์ ก็สามารถเข้าถึงได้ภายในประเทศอิหร่านด้วย แม้ว่าจะเผชิญกับข้อจำกัดหลายอย่างก็ตาม

เครื่องมืออีกด้านหนึ่งของรัฐบาลอิหร่านคือการสอดแนมและการเก็บข้อมูล ซึ่งพัฒนาขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปลายปี 2553 เมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านประกาศจะนำเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้ามาใช้ในระบบปฏิบัติการของกระทรวงต่างๆ โมฮัมหมัด ซาเลห์ ฮาเชมี โกลพาเยกานี ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการเพื่อการส่งเสริมคุณธรรมและการป้องกันบาปของรัฐบาลอิหร่าน ประกาศว่าจะใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในการระบุตัวตนของผู้หญิงฝ่าฝืนกฎระเบียบเกี่ยวกับการใส่ฮิญาบ

เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ทำให้ระบบสอดแนมของรัฐที่ซับซ้อนและทรงพลังได้รับการส่งเสริมมากขึ้นอีก หลังจากระบบเหล่านี้ถูกจัดตั้งมาตั้งแต่ทศวรรษที่ ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523-2533) ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านสามารถหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรจากโลกตะวันตกมาได้โดยตลอด และได้รับเทคโนโลยีสอดแนมจากจีน ประเทศหลายประเทศในยุโรป อิสราเอล รวมถึงระบบต่างๆ ของ Blue Coat บริษัทลูกของ Symantec ที่มีสำนักงานในแคลิฟอร์เนีย

การประท้วงคือบททดสอบ

แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการประท้วงในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางมากพอจะโค่นล้มรัฐบาลชองอิหร่านได้ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อิหร่านมีการประท้วงใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาว่าอิหร่านตกเป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงระบอบจากสหรัฐอเมริกา และกลุ่มชาวอิหร่านพลัดถิ่นในยุโรปและอเมริกาเหนือมาโดยตลอด เราจึงไม่สามารถล่วงรู้ได้หรือว่าการประท้วงในปัจจุบันได้รับความนิยมและขยายตัวเป็นวงกว้างมากน้อยเพียงใด และสื่อตะวันตกรายงานสถานการณ์การประท้วงในอิหร่านแม่นยำมากเพียงใด

แม้การประท้วงในครั้งนี้กำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่ 3 และขยายวงกว้างออกไปทั่วประเทศ โดยเริ่มจากแคว้นเคอร์ดิชในภาคตะวันตก ทว่าในภาพรวมยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลยังได้รับการสนับสนุนในระดับมากน้อยเพียงใด และประชากรในอิหร่านสนับสนุนการประท้วงในอัตราส่วนมากน้อยเพียงใด ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและขีดความสามารถทางเทคโนโลยี แม้รัฐบาลอิหร่านจะถูกคว่ำบาตรจากโลกตะวันตก แต่ก็ยังได้รับสนับสนุนจากจีน และรัสเซีย ในอนาคตอิหร่านจะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรอำนาจนิยมในรูปแบบใดยังเป็นคำถามที่ยากจะคาดการณ์

แม้ว่ารัฐบาลอิหร่านจะแสดงให้เห็นแล้วว่ามีศักยภาพในการควบคุมอินเตอร์เน็ต แต่รัฐบาลอิหร่านก็ยังคงเปราะบางต่อการโจมตีของแฮกเกอร์ พันธมิตรอำนาจนิยมของอิหร่านก็เผชิญกับความท้าทายในการพัฒนา 'อินเตอร์เน็ตแห่งชาติ' ของตนเองเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หลังการรุกรานยูเครน รัฐบาล สื่อมวลชน แฮกเกอร์ และพลเมืองบนโลกอินเตอร์ในฝั่งยูเครนและโลกตะวันตก ได้พยายามใช้วิธีการที่สร้างสรรค์มากมายหลายอย่างเพื่อบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามของวลาดิมีร์ ปูติน ให้ประชาชนในรัสเซียได้รับทราบ ขณะที่จีนเองก็เผชิญกับความท้าทายในลักษณะเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากเว็บไซต์ที่แนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงข้อห้ามต่างๆ ของรัฐบาลจีนบนโลกอินเตอร์เน็ต

ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่าความสามารถของรัฐบาลอิหร่านในการควบคุมอินเตอร์เน็ตจะมากน้อยแค่ไหน มีประสิทธิภาพเพียงใดนั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตากันต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในบททดสอบที่รัฐบาลอิหร่านต้องเผชิญก็คือการประท้วงใหญ่ของคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้เรียกร้องเพื่อเสรีภาพอยู่ในปัจจุบัน

 

แปลและเรียบเรียงจาก
Iran’s digital authoritarianism is being tested by the country’s youth

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท