Skip to main content
sharethis

สภาล่มนัดแรก เหตุองค์ประชุมไม่ครบ หลัง ส.ส.ท้วงลงมติใหม่ มาตรา 9/1 ร่าง พ.ร.บ.ถอดถอนสมาชิกท้องถิ่น เหตุเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างน้อย - เปิดตัวเลข ส.ส.ทำสภาล่ม ฝ่ายค้านแสดงตน 21 จาก 207 คน ด้านรัฐบาล 207 จาก 267 คน - 'เพื่อไทย' แจงเหตุผลพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม - รองประธาน กมธ. แจงเหตุสภาองค์ประชุมไม่ครบ อาจเกิดจากความเข้าใจผิดเรื่องการนับคะแนน

23 พ.ย. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (23 พ.ย.) มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในที่ประชุม โดยเปิดให้สมาชิกปรึกษาหารือปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแก้ไข และก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายชวนแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ประทับรับฟ้องคดีนางสมหญิง บัวบุตร ส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทกับพวกรวม 12 คน เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2565 ตามที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี ส่งผลให้นางสมหญิงต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 จนกว่าศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนั้นจำนวน ส.ส.ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนี้มี 474 คน มีองค์ประชุม 237 คน

จากนั้น เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. โดยเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมครั้งที่แล้ว จากนั้นเริ่มการอภิปรายของส.ส.และลงมติมาต่อเนื่อง จนถึงการลงมติในมาตรา 9 เพราะมีกรรมาธิการขอสงวนความเห็นและมีผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัตติ โดยขอเพิ่มมาตรา 9/1 ถึงมาตรา 9/21 ซึ่งนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กรรมาธิการขอปรึกษาที่ประชุม เนื่องจากในมาตรานี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และขอให้ที่ประชุมถามมติในมาตรา 9/1 อีกครั้ง และอาจจะขัดกับมาตราอื่น ๆ ต่อไป ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยที่จะให้ลงมติใหม่ หลังจากนั้นนายชวน ได้สั่งพักประชุมไปประมาณ 40 นาที เพื่อให้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยและกรรมาธิการเสียงข้างมากหารือให้ได้ข้อสรุปว่าจะให้ลงมติในมาตรา 9/1 ใหม่หรือไม่ ผลปรากฏว่าหลังจากกลับเข้าสู่การประชุมอีกครั้ง องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ประธานจึงสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 14.05 น.

‘ที่ปรึกษาชวน’ เปิดตัวเลข ส.ส.ทำสภาล่ม ฝ่ายค้านแสดงตน 21 จาก 207 คน ด้านรัฐบาล 207 จาก 267 คน

มติชนออนไลน์ รายงานว่านพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณีเกิดปัญหาองค์ประชุมสภาไม่ครบจนเป็นเหตุให้สภาล่มระหว่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ) การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฉบับที่.. พ.ศ…. โดยในที่ประชุมนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุให้เปิดเผยจำนวนองค์ประชุมว่าในที่ประชุมนายชวนไม่ได้ขานจำนวนองค์ประชุมที่ล่ม ปรากฎว่ามีผู้แสดงตนทั้งสิ้น 228 คน จากจำนวนองค์ประชุม 237 คน โดยแบ่งเป็นฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทย มีผู้แสดงตน 11 คน จาก 131 คน ,พรรคก้าวไกล แสดงตน 6 คน จาก 50 คน, พรรคเสรีรวมไทย แสดงตน 3 คนจาก 11 คน, พรรคประชาชาติไม่มีผู้แสดงตน จาก 7 คน พรรคเพื่อชาติ แสดงตน 1 คนจาก 6 คน พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์ มี ส.ส.พรรคละ 1 คน แต่ไม่แสดงตน

นพ.สุกิจ กล่าวต่อว่า ส่วนฝ่ายรัฐบาล คือพรรคพลังประชารัฐ แสดงตน 77คนจาก 96 คน ,พรรคภูมิใจไทย แสดงตน 59 คน จาก 62 คน ,พรรคประชาธิปัตย์แสดงตน 42 คน จาก 52 คน,พรรคเศรษฐกิจไทย แสดงตน 3คนจาก 16 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา แสดงตน 6 คนจาก 12 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่แสดงตน 4 คนจาก 6 คน, พรรครวมพลัง แสดงตนทั้ง 5 คน, พรรคพลังท้องถิ่นไทยแสดงตน 3 คนจาก 5 คน, พรรคชาติพัฒนาแสดงตน 3 คน จาก 4 คน, พรรครักผืนป่าประเทศไทย แสดงตน 1 คน จาก 2 คน

ขณะ พรรคเล็กที่มี ส.ส.พรรคละ 1 คนคือพรรคประชาภิวัฒน์, พรรครวมแผ่นดินไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังธรรมใหม่ แสดงตน ขณะที่ พรรคเพื่อชาติไทย พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ มีส.ส.พรรคละ 1 คนไม่แสดงตน

นพ.สุกิจ กล่าวด้วยว่า เมื่อรวมแล้ว ส.ส.ฝ่ายค้านที่แสดงตนมี 21 คน จาก207คน พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลแสดงตน 207 จาก 267 คน ส่วนรายชื่อไม่สามารถเปิดเผยได้ เมื่อประธานไม่ได้ประกาศในที่ประชุมว่ามีจำนวนเท่าไรก็จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ

'เพื่อไทย' แจงเหตุผลพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และคณะ แถลงข่าวกรณีนายชวน  หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งปิดการประชุมในวันนี้ (23 พ.ย. 2565) เมื่อเวลาประมาณ 14.05 น. เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ว่า การประชุมในวันนี้เป็นการพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ประกอบด้วย ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... โดยเริ่มต้นที่การลงมติ มาตรา 7 จำนวนผู้เข้าชื่อในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ค้างการพิจารณามาจากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทันทีที่เริ่มลงมติก็เกิดปัญหาในการพิจารณาเพราะจำนวนสมาชิกที่นั่งในห้องประชุมค่อนข้างบางตา จากนั้น ที่ประชุม รอสมาชิกมาแสดงตนจนครบองค์ประชุม โดยมีการพิจารณาและการลงมติมาตรา 9/1 และให้มีการลงมติว่าจะถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นตามที่ประชาชนมาเสนอชื่อหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับคณะ กมธ.เสียงข้างน้อย ด้วยคะแนน 163 ต่อ 75 เสียง แต่ที่ประชุม ได้มีการทักท้วงให้ลงมติใหม่ ซึ่งทางพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าผิดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น เมื่อที่ประชุมดำเนินการลงมติใหม่ ด้วยคะแนน 202 ต่อ 16 งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 14 เสียง พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงไม่เป็นองค์ประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงมีคำสั่งปิดการประชุม

ชี้ "ประยุทธ์" ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้นำรัฐบาลที่ไม่สามารถดูแลองค์ประชุมของสภาจนทำให้สภาล่มเป็นครั้งที่ 24 แล้ว จี้ยุบสภาถ้าไม่พร้อมทำงานนิติบัญญัติ

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่านายวิกรม เตชะธีราวัฒน์ โฆษกคณะกรรมาธิการ ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าจากเหตุการณ์สภาล่ม ทำให้กฎหมายฉบับนี้ที่เข้าสภามาแล้ว 4 รอบ ไม่สามารถผ่านสภาไปได้ ขอถามความรับผิดชอบไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่ไม่สามารถดูแลองค์ประชุมของสภาจนทำให้สภาล่มเป็นครั้งที่ 24 แล้ว

นายวิกรม กล่าวว่า ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่สงวนคำแปรญัตติไว้มองว่า กฎหมายฉบับนี้ยังมีปัญหาในการนำไปใช้จริง เพราะว่าการเปิดเผยรายชื่อของประชาชน ทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะมาลงชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งยังอาจจะทำให้เกิดความแตกแยก และทะเลาะกันในพื้นที่อีกด้วย

“ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงกำลังวุ่นกับการดึงตัว ส.ส. เลยไม่มีเวลามาสนใจสภา จึงขอเรียนว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ใส่ใจงานนิติบัญญัติ ก็ขอให้ยุบสภาไปเสีย ถ้าอยู่ไปแบบนี้ เสียดายเงินภาษีประชาชนที่ต้องมาจ่ายให้ ส.ส. แต่โดดประชุมกัน” นายวิกรม กล่าว

รองประธาน กมธ. แจงเหตุสภาองค์ประชุมไม่ครบ อาจเกิดจากความเข้าใจผิดเรื่องการนับคะแนน

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายชินวรณ์  บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ....  คนที่สอง และนายอรรถกร  ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และเลขานุการกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... ซึ่งเป็นร่างที่อนุวัตรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 254 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เสนอกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ พ.ศ. .... ซึ่งผ่านการพิจารณาแล้ว และร่าง พ.ร.บ. เข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ ว่า ทั้งนี้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นการอนุวัตรให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ เพียงแต่ประชาชนเข้าชื่อกันก็สามารถเสนอถอดถอนได้ แต่ยังมีแนวความคิดของ กมธ. เสียงข้างน้อย ซึ่งยึดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ต้องมีการลงมติก่อนจึงจะถอดถอนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่สามารถที่จะถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ ประกอบกับร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ตนและ ครม.เสนอนั้น กระบวนการถอดถอน ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมีความประพฤติเสียหายร้ายแรง หรือมีเหตุการณ์ส่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือปฏิบัติหน้าที่บกพร่องแต่ไม่เท่ากฎหมายอื่น ๆ ดังนั้น จึงต้องให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิถอดถอนได้ เพียงแต่เข้าชื่อกันให้มีจำนวนมากตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามหลักทั่วไป คือ ต้องมากกว่าคะแนนที่ได้รับการเลือกตั้ง

นายชินวรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กมธ. เสียงข้างมากยึดหลักที่ถูกต้องแล้ว และเป็นหลักที่คุ้มครองทั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่สำคัญ คือ ทั้งรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องการคุ้มครองประชาชนว่า ในอนาคตหากผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องสามารถตรวจสอบและถอดถอนได้ ตั้งแต่สมาชิกสภาท้องถิ่นจนถึงผู้บริหารระดับประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสากลที่ คณะ กมธ. ได้ยึดถือ แต่ก็มีคณะ กมธ. เสียงข้างน้อยที่ยึดหลักการเดิม คือ ต้องทำในทางลับ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะสังคมยุคปัจจุบันควรเปิดให้ลงชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เพื่อความโปร่งใส ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 ที่จะลงมตินั้น คณะ กมธ. เสียงข้างมากเห็นด้วย แต่ผลปรากฏว่า มีการลงมติที่มีการถามในเรื่องของการที่มีคณะ กมธ.เสียงข้างน้อยขอแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งคณะ กมธ.เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย ดังนั้น นายชวน  หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม จึงจำเป็นต้องถามว่า ใครเห็นด้วยกับคณะ กมธ. เสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการลงคะแนน ดังนั้น การที่ประธานในที่ประชุม ได้ดำเนินการให้มีการลงคะแนนใหม่ ถือเป็นอำนาจของประธานในที่ประชุมตามข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 9 หากเห็นว่ามีการลงคะแนนเริ่มจากความเข้าใจผิดพลาดจากการตั้งประเด็นญัตติ ประธานในที่ประชุม สามารถเสนอให้มีการนับคะแนนได้ ดังนั้น การสั่งให้นับคะแนนและให้ลงมติว่าควรจะนับคะแนนใหม่หรือไม่ ตนขอยืนยันว่าประธานในที่ประชุมวินิจฉัยถูกต้อง และไม่เคยมีมาก่อนในสมัยประชุมที่ผ่านมา เพิ่งเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้เท่านั้น ดังนั้น การกล่าวหาว่าประธานไม่ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมฯ หรือเป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่เสียงข้างมากลากไป นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะประธานย้ำแล้วว่าดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมฯ ตามหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน ผลของการลงคะแนนออกมาชัดเจนว่า เสียงข้างมากเห็นด้วยกับที่ประธานวินิจฉัย แต่เมื่อมาถึงการลงมติในมาตรา 9/1 สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่แสดงตนในที่ประชุม จึงทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ดังนั้น ตนในฐานะ ส.ส. ขอเรียกร้องให้สมาชิกทุกคนเข้าร่วมประชุม เพราะเสียงข้างมากมีความจำเป็น

นายชินวรณ์ กล่าวถึงประเด็นที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการยุบสภา ว่าส่วนตัวเห็นว่าเหตุการณ์วันนี้ยังไม่เป็นเหตุและปัจจัยสำคัญที่จะเรียกร้องให้มีการยุบสภา เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายของ ส.ส. ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือคณะรัฐบาล จึงไม่เป็นเหตุผลที่จะนำไปสู่การยุบสภาได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net