สื่อมวลชนร้อง กมธ.พัฒนาเมืองฯ สอบ ตร.ปมนักข่าวได้รับบาดเจ็บจากการสลายม็อบ18พฤศจิกา65

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บ.ก.อาวุโส 'THE MATTER' ร้อง กมธ.พัฒนาเมืองฯ เรียกสอบตำรวจ ขอข้อมูล หาคนรับผิดชอบ ปมสื่อมวลได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการของ คฝ.สลายม็อบ18พฤศจิกา65 ด้าน กมธ.รับลูก รวบรวมหลักฐานเพื่อสอบ จนท.ต่อไป 

 

24 พ.ย. 2565 สื่อ The Reporters รายงานสดเมื่อ 11.06 น. ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส สื่อออนไลน์ "THE MATTER" เป็นตัวแทนสื่อมวลชน ยื่นหนังสือถึง คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบกระบวนการจัดการเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ.ที่ปฏิบัติหน้าที่สลายการชุมนุม ‘ราษฎรหยุด APEC2022’ เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้ผู้สื่อข่าวทั้งในและต่างประเทศอย่างน้อย 4 รายได้รับบาดเจ็บ โดยมีณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเมืองฯ เป็นผู้รับมอบหนังสือ 

ด้านพิพัฒน์ กล่าวก่อนยื่นหนังสือว่า เขามายื่นหนังสือในฐานะผู้สื่อข่าวที่ได้รับบาดเจ็บ และนักข่าวภาคสนาม ขอให้กรรมาธิการพัฒนาเมืองฯ ช่วยตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องด้วยมีข้อสงสัยว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

บ.ก.อาวุโส ‘THE MATTER’ ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ทางสมาคมนักข่าวฯ เคยหารือกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ช.น.) และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการทำงานถึง 2 ครั้งเมื่อปี 2564 และเมื่อปีที่แล้วศาลแพ่ง ในคดีหมายดำที่ พ3683/2564 (คดีกระสุนยาง) ที่ศาลแพ่งได้สั่งให้ทาง สตช. "..ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน.." แต่การสลายการชุมนุมม็อบ18พฤศจิกา65 มีสื่อหลายคนได้รับบาดเจ็บ จึงมีข้อสงสัยว่าทางตำรวจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลแพ่งหรือไม่

พงษ์พัฒน์ ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยว่า การปฏิบัติงานของตำรวจ คฝ.ในวันดังกล่าว อาจเป็นเรื่องเชิงนโยบาย และเชิงคำสั่ง มากกว่าเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ส่วนบุคคล หรือไม่

ข้อเรียกร้องจากทางสื่อมวลชนมีด้วยกันทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้

1. ขอให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์วันดังกล่าวว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) จึงสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้ประชาชนรวมถึงสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจขัดกับคำสั่งของศาลแพ่งในคดีกระสุนยาง และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้

2. ขอให้เรียกผู้เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันดังกล่าว มาชี้แจงถึงรายละเอียดปฏิบัติการในวันที่ 18 พ.ย. 65 และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยในอนาคต

3. ขอให้เรียกเอกสารที่มีข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุมในวันที่ 18 พ.ย. 65 ทั้งจำนวนกำลังพล นโยบายในการควบคุมและสลายการชุมนุม เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ จำนวนกระสุนยางที่เบิกมา-ใช้ไป และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. ขอให้เรียกเอกสารที่มีข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบความรับผิดชอบทางวินัยต่อข้าราชการตำรวจที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมซึ่งทำให้ประชาชนหรือสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงเหตุการณ์วันที่ 18 พ.ย. 65 รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

“ไม่ว่าเราจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหน มีความเห็นยังไง ผมเชื่อว่าจะมีจุดร่วมคล้ายๆ กันว่า เราอยากให้ตำรวจเป็นองค์กรที่มันดี เพราะตำรวจเป็นองค์กรที่ทำงานกับประชาชน และก็สัมผัสใกล้ชิดกับประชาชน คือเราเชื่อว่าตำรวจดีกว่านี้ได้ และก็เราอยากให้การทำงานของตำรวจมีมาตรฐาน มีความรับผิดชอบ มันอาจจะมีหลุดไปบ้าง แต่อย่างน้อยคุณตรวจสอบกันเองภายใน เพื่อยกระดับการทำงานให้มันดีขึ้นได้หรือเปล่า” บ.ก.อาวุโส ‘The Matter’ ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ในคำร้องดังกล่าวต่อ กมธ. มีการแนบคลิปจากการไลฟ์สดของสื่อมวลชน รวมถึงคลิปที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ถึงเหตุการณ์ตำรวจ คฝ.เข้าทำร้ายนักข่าว "The MATTER" และการปาวัตถุจากทิศทางซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนอยู่เข้าใส่ช่างภาพรอยเตอร์ส (Reuters) จนได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา รวมทั้งหมด 7 คลิป เพื่อประกอบการพิจารณา

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บ.ก.อาวุโส 'The Matter' (ที่มา: The Reporters)

ด้านณัฐชา ระบุว่า จากการตรวจสอบในหนังสือที่สื่อมวลชนมายื่น มีสื่อมวลชนทั้งหมด 4 สำนักข่าวได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย ประชาไท นักข่าวจาก THE MATTER ช่างภาพจาก TOP NEWS และช่างภาพจากรอยเตอร์ส 

กรรมาธิการพัฒนาเมืองฯ ยืนยันว่า ทาง กมธ.ไม่นิ่งนอนใจ และวันนี้ (24 พ.ย.) เวลา 13.00 น. จะมีการประชุมเรื่องดังกล่าว 

ประธานกรรมาธิการพัฒนาเมืองฯ ระบุด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน พร้อมกับหนังสือจากบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานกลุ่มสมัชชาคนจน และตัวแทนผู้บาดเจ็บจากการสลายชุมนุม ที่มายื่นกับ กมธ.พัฒนาเมืองฯ เมื่อ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การเรียกสอบเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป

ทั้งนี้ พงศ์พิพัฒน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมผ่านเฟซบุ๊กวันนี้ (24 พ.ย.) ระบุว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ผู้ทำคดีกระสุนยางที่สื่อมวลชนฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก สตช. กรณีได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางที่ตำรวจ คฝ.ใช้ ได้เดินทางไปที่ศาลแพ่งเพื่อยื่นคำร้องขอให้เรียกตัวแทนจาก สตช.มาไต่สวนว่า กรณีสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 เป็นไปตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลเคยออกไว้หรือไม่ โดนศาลอนุมัติตามคำขอดังกล่าว เรียกตัวแทน สตช. ให้มาชี้แจงในวันที่ 17 ม.ค.2566 เวลา 09.00 น.

ขณะที่ บ.ก.อาวุโส 'THE MATTER' ระบุว่าเตรียมยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. เพื่อสื่อสารถึงปัญหาในการสลายการชุมนุมของตำรวจ คฝ. ซึ่งทำให้สื่อมวลชนหลายคนได้รับผลกระทบ โดยจะขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว  

การยื่นหนังสือของสื่อมวลชน เป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจาก เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎรหยุด APEC2022" หลังเดินขบวนจากลานคนเมือง มุ่งหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้แทนเอเปคชาติต่างๆ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดที่หัวมุมถนนดินสอ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตา ทำให้เกิดการปะทะระหว่าง 2 ฝ่าย โดยมีการจับกุมบุคคลอย่างน้อย 26 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงสื่อมวลชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท