'ทะลุฟ้า' เรียกร้องตำรวจรับผิดชอบเหตุใช้ความรุนแรงสลาย 'ราษฎรหยุด APEC2022'

ทะลุฟ้ายื่นข้อเรียกร้อง ผบ.ตร. 3 ข้อให้รับผิดชอบการใช้ความรุนแรงสลายชุมนุม “ราษฎรหยุดAPEC2022” จนมีคนเจ็บ ชดเชยค่าเสียหายและต้องเปิดตัวตนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงโดยไร้ความรับผิดอีก ผู้ช่วย ผบ.ตร.รับจะมีการตั้งคณะทำงานพิจารณา

24 พ.ย.2565 ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กลุ่มทะลุฟ้านัดทำกิจกรรมทวงถามความรับผิดชอบการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของเครือข่าย “ราษฎรหยุดAPEC2022” บนถนนดินสอเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีการรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บหลายราย โดยมีพายุ บุญโสภณ ที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่ตาขวาทำให้ตาบอด และในจำนวนนี้ยังมีช่างภาพที่ถูกเศษขวดแก้วกระเด็นใส่ตาที่ถูกขว้างมาจากแนวตำรวจควบคุมฝูงชน 1 ราย และนักข่าวของสำนักข่าว The Matter ที่ถูกตำรวจเข้ารุมทำร้ายอีก 1 รายด้วย

ทั้งนี้ทะลุฟ้ามีการเผยแพร่ข้อเรียกร้องเบื้องต้นไว้ 3 ข้อ ได้แก่

1. สตช.ต้องออกมาแสดงการยอมรับผิดและออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

2. รับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหาย 

3. รับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนอีก และในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งต่อไปต้องเปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วย

ตั้งแต่เวลา 13.30 น. ยูดีดีนิวส์ - UDD news รายงานว่าที่ สตช.ทางเจ้าหน้าที่วางกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนและนำรถฉีดน้ำ(จีโน่) มาไว้ภายใน สตช.แล้ว

จากนั้น Mob Data Thailand ยังรายงานด้วยว่าเวลา 14.05 น. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานีรถไฟฟ้า BTS สยามเริ่มให้คนออกจากทางสกายวอล์คที่เชื่อมระหว่างสถานีสยามและชิดลมช่วงหน้า สตช.ออกและปิดประตูไม่ให้คนผ่าน และตำรวจกระจายกำลังตั้งด่านตรวจที่แยกเฉลิมเผ่า ถนนพระรามที่ 1 และวางกำลังอยู่บนสกายวอล์ค

ส่วนทางด้านหน้า สตช. มีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมอุปกรณ์เช่นโล่และเกราะอยู่บริเวณเกาะกลางถนนพร้อมวางแนวรั้วเหล็กผูกกันไว้ด้วยโซ่เพื่อปิดกั้นระหว่างถนนฝั่งขาเข้า-ออกไว้

ประมาณ 15.30 น. กลุ่มทะลุฟ้าเริ่มรวมตัวกันที่หน้าวัดปทุมวนารามด้านตรง สตช.และปราศรัยถึงข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อดังกล่าว โดยกล่าวว่าการชุมนุมเป็นเพียงการชุมนุมเพื่อสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชน แต่กลับถูกตำรวจขัดขวางและใช้กำลังสลายการชุมนุมจนมีผู้ถูกยิงเข้าที่ตาโดยไม่เป็นไปตามหลักสากล ทั้งที่พวกเราเพียงต้องการมีส่วนร่วมกับการประชุม APEC แต่ผลลัพธ์กลายเป็นเรื่องเศร้าทั้งที่แค่ออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงมาเพื่อทวงถามความยุติธรรมและความจริงเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้

ศรายุทธ นาคมณี (คนถือโทรโข่ง)

ศรายุทธ นาคมณี ผู้เข้าร่วมปราศรัยถึงประเด็นการปิดบังตัวตนของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการสลายการชุมนุมโดยอ้างจากงานวิจัยด้านจิทวิทยามนุษย์และพฤติกรรมศาสตร์ว่าการที่บุคคลไม่เปิดเผยตัวตนจะทำให้พวกเขาเลือกหรือตัดสินใจใช้ความรุนแรงมากขึ้นเพราะไม่ต้องเกรงกลัวว่าตัวเองจะต้องรับผิดชอบกับการใช้ความรุนแรงนั้นมากกว่าสภาวะปกติ

ศรายุทธอีกทั้งตามกฎหมายวิธีปฏิบัติงานราชการปกครองมาตรา 5 ของไทยก็ยังได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานต้องเปิดเผยตัวตนขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วย แต่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมาไม่เคยเปิดเผยตัวเลยทำให้ไม่สามารถตรวจสอบเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่เข้าไปสลายการชุมนุมได้

“นี่ไม่ใช่การใช้อำนาจมหาชนโดยสุจริต นี่เป็นการใช้อำนาจที่ปราศจากการรับผิดชอบแม้ว่าตัวของท่านเองยังไม่กล้าแสดงตัวเลย แล้วท่านจะให้คนอื่นปฏิบัติตามกฎหมายของท่านได้อย่างไรเล่า” ศรายุทธกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้เพราะคั่มพันธ์ของเจ้าหน้าที่ในการใช้อำนาจตามกฎหมายคือประชาชนเพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ต้องเปิดเผยตัวตนเช่นเดียวกับที่กฎหมายบังคับให้ประชาชนต้องพกบัตรประชาชน

นอกจากนั้นศรายุทธยังได้กล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้องทั้งสามข้อของการชุมนุมวันนี้ และย้ำว่าการการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจควบคุมฝูงชนเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 นั้นเป็นการหลบอยู่หลังความนิรนาม ไม่กล้าที่จะรับผิดชอบการกระทำของตัวเองเพราะรู้อยู่เต็มอกว่าการยิงประชาชนเป็นเรื่องป่าเถื่อน ไร้อารยะมาก และพวกเขาไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก และหวังว่าข้อเรียกร้องทั้งสามข้อจะช่วยยกระดับการทำงานของตำรวจและทำให้ตรวจสอบได้จากประชาชน

“ขอให้พวกท่านทุกคนรู้เอาไว้ว่าการใช้อำนาจทางกฎหมายมหาชนของท่านมันมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ ถ้าหากอำนาจนั้นไปกดขี่ลิดรอนปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย” ศรายุทธกล่าวทิ้งท้าย

15.55 น. ทางตำรวจให้ตัวแทนของกลุ่มทะลุฟ้า 5 คน โดยมีจตุภัทร บุญภัทรรักษา เข้าไปภายใน สตช. เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องพร้อมกับให้สื่อมวลชนที่มีบัตรสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวได้บางสำนัก

จากนั้นราว 20 นาทีต่อมาจตุภัทรเดินออกมาพร้อมพล.ต.ท. สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยจตุภัทรได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นไปว่า พล.ต.ท.สราวุฒิแจ้งว่าข้อแรกทางเจ้าหน้าที่จะดูแลทั้งสองฝ่าย ส่วนข้อสอง ผบ.ตร.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องค่าเสียหาย ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ขอให้ทางตำรวจผุ้ปฏิบัติงานต้องเปิดเผยตัวตนนั้นจะนำเรื่องไปพิจารณาและจะมาติดตามหนังสือคำตอบในอีก 15 วันหลังจากนี้

ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า ได้รับข้อเรียกร้องทั้งสามข้อแล้ว ซึ่งประเด็นในข้อแรกก็เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นทั้งตำรวจและผู้ชุมนุมก็มีผู้บาดเจ็บ ซึ่งก็มีตำรวจที่อาจจะไม่สามารถมองเห็นได้คนหนึ่ง

พล.ต.ท.สราวุฒิ กล่าวว่าสำหรับเรื่องค่าเสียหายได้เรียนถึงผบ.ตร.แล้ว ผบ.ตร.ก็ได้บอกว่าทางผู้ชุมนุมสามารถเอาหลักฐานไปร้องต่อศาลได้ด้วยข้อหาละเมิด โดยให้จตุภัทรรวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นเสนอต่อ ผบ.ตร.แล้วจะรับไว้พิจารณา กระบวนการอาจจะใช้เวลาอยู่บ้างเพราะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา

พล.ต.ท.สราวุฒิ กล่าวถึงข้อเรียกร้องสุดท้ายที่เป็นเรื่องความปลอดภัยและป้องกันเหตุการณ์เผชิญหน้าในอนาคตนั้น ทั้งสองฝ่ายคงต้องประชุมกันอีกครั้งเพื่อกำหนดท่าทีว่าจะป้องกันเหตุการณ์ได้อย่างไร

ศรายุทธกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นการปกปิดตัวตนของเจ้าหน้าที่ที่ได้นำเสนอข้อเรียกต่อผู้ช่วย ผบ.ตร.ว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นอำนาจทางปกครองที่อาจจะทำให้เกิดสิทธิหรือกระทบต่อสิทธิของประชาชน การใช้อำนาจโดยเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องยืนยันว่าใครเป็นคนใช้อำนาจนี้เจ้าหน้าที่ต้องแสดงตัวติดป้ายชื่อและสังกัด รวมถึงการเปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้และสามารถดำเนินคดีในศาลได้ สิทธิในการรู้ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิทธิในการตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่หรือรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่งการปกปิดตัวตนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทำให้เกิดภาวะนิรนามและเป็นบ่อเกิดให้เกิดใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ด้วย

จากนั้นจตุภัทรกล่าวต่อว่าเหตุการณ์เช่นวันที่ 18 พ.ย.จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกคือความสูญเสียและเป็นการใช้อำนาจความรุนแรงโดยที่ตัวเองเป็นตัวแทนของรัฐที่ได้เงินภาษีจากประชาชนไป แล้วยังมองประชาชนเป็นศัตรู ที่ผ่านมายังเคยได้ยื่นเรื่องนี้ต่อองค์การสหประชาชาติและองค์กรสิทธิอื่นๆ ไปแล้วเพื่อให้ร่วมกันจับต่อมองเรื่องนี้

เวลา 16.28 น. จตุภัทรประกาศยุติการชุมนุมและขอให้ช่วยกันส่งกำลังใจแก่พายุ บุญโสภณที่ยังต้องรักษาดวงตาอยู่ในโรงพยาบาล

 

เพิ่มเติมข้อมูล - 17.05 น. 24 พ.ย.2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท