Skip to main content
sharethis

ชายชาวฮ่องกงวัย 42 ปี ถูกจับ หลังโพสต์เฟซบุ๊กขอบคุณเกาหลีใต้ เปิดเพลงชาติฮ่องกงผิด เป็นเพลงม็อบประท้วงจีนในงานแข่งรักบี้ ด้านนักการเมืองฝ่ายโปรจีน ร้องให้มีการสอบสวนอย่างถึงที่สุด แม้จะมีการขอโทษจากสมาคมรักบี้เอเชียแล้ว

 

24 พ.ย. 2565 สำนักข่าว 'Hong Kong Free Press' รายงานเมื่อ 22 พ.ย. 2565 ตำรวจฝ่ายความมั่นคงของฮ่องกง จับกุมชายอายุ 42 ปี ในข้อหาเป็นผู้ต้องสงสัยในคดียุยงปลุกปั่น หลังจากเขาโพสต์ความเห็นในเฟซบุ๊ก เพื่อขอบคุณที่เกาหลีใต้ที่ 'ยอมรับเพลงชาติของฮ่องกง' ในโพสต์พบวิดีโอการเปิดเพลงประท้วงฮ่องกง แทนที่จะเปิดเพลงชาติจีน ในงานแข่งกีฬารักบี้ 7 คน รอบชิงชนะเลิศระหว่างฮ่องกง และเกาหลีใต้ ที่สนามกีฬาในเมืองอินซอน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2565

ตำรวจทำการจับกุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 พ.ย.) ในเขตดินแดนใหม่ (New Territories) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ระบุว่า "ชายคนดังกล่าวเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเผยแพร่โพสต์ยุยงปลุกปั่น ที่อาจนำไปสู่ความเกลียดชังรัฐบาลกลางและรัฐบาลฮ่องกง และชักจูงให้ผู้อื่นใช้ความรุนแรง และชักจูงให้ผู้อื่นดูหมิ่นธงชาติ และเพลงชาติบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้" 

สื่อฮ่องกงตรวจสอบจากแหล่งข่าวต่างๆ พบว่า ชายดังกล่าวประกอบอาชีพพนักงานส่งเอกสาร ที่ผ่านมาเคยเผยแพร่ข้อความยุยงปลุกปั่นผ่านบัญชีอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว พบการใช้ถ้อยคำต่างๆ เช่น 'สู้เพื่อฮ่องกง' และ 'นักก่อจราจลในชุดดำจงฝึกฝนตนเอง' เป็นต้น รายงานล่าสุดเมื่อวันอังคาร (22 พ.ย.) พบว่าชายคนดังกล่าวยังอยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจ

ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้แชร์วิดีโอแสดงคำขอบคุณต่อผู้จัดการแข่งขันกีฬารักบี้ 7 คนในเกาหลีใต้ หลังพบว่าแทนที่จะเปิดเพลง 'March of Volunteers' ซึ่งเป็นเพลงชาติของฮ่องกง และสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้จัดกลับเปิดเพลง 'Glory to Hong Kong' ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประท้วง แต่งเป็นภาษากวางตุ้ง โดยนักดนตรีคนหนึ่งใช้นามแฝงชื่อว่า 'Thomas dgx yhi' ก่อนที่ต่อมาเนื้อร้องจะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ

คลิปวิดีโอในยูทูบ ช่วงที่มีการเปิดเพลงชาติฮ่องกงผิดในการแข่งขันกีฬารักบี้ 7 คน ที่เกาหลีใต้ (โพสต์เมื่อ 14 พ.ย. 2565)

เปิดเพลงผิด 

รัฐบาลฮ่องกง และนักการเมืองที่สนับสนุนการปกครองของรัฐบาลกลางปักกิ่ง รีบแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยทันที หลังจากมีการเปิดเพลงผิดในเกาหลีใต้ และเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างถึงที่สุด สมาคมรักบี้แห่งเอเชียได้ออกมาขอโทษต่อความผิดพลาดดังกล่าวแล้ว และระบุว่าเป็นความผิดพลาดโดยสุจริตของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ทว่าคำขอโทษก็ไม่เพียงพอที่จะปัดเป่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่เห็นว่าเป็นการทำผิดอย่างจงใจ

จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง แถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 พ.ย.) ว่าเพลง 'Glory to Hong Kong' นั้น "มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบในปี 2019 (พ.ศ. 2562) และการรณรงค์เรียกร้องเอกราชของฮ่องกง" สื่อตั้งข้อสังเกตว่า แม้การประท้วงในฮ่องกงจะดึงดูดนักกิจกรรมเรียกร้องเอกราชเข้ามาบ้างไม่มากนัก แต่การแบ่งแยกดินแดนไม่ใช่ข้อเรียกร้องของขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกง

ขณะที่ตำรวจกำลังสืบสวนว่าการเปิดเพลงดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบเกี่ยวกับเพลงชาติ หรือกฎหมายลูกอื่นๆ ภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่ ตามการเรียกร้องกดดันของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล สมาชิกนิติบัญญัติบางคน เช่น จูเนียส โฮ เรียกร้องถึงขั้นให้มีการยุบทีมรักบี้ของฮ่องกงทิ้ง โดยวิจารณ์ว่าผู้เล่นทีมชาติฮ่องกงยังคงนิ่งเฉย หลังจากได้ยินการเปิดเพลงที่ผิดพลาด

นอกจากความผิดพลาดในรอบชิงชนะเลิศแล้ว พบว่าผู้จัดเคยผิดพลาดในการแข่งขันรอบอื่นๆ ด้วย เช่น ในการแข่งขันระหว่างในการแข่งขันระหว่างฮ่องกง กับตองกา เมื่อวันที่ 23 ก.ค. และฮ่องกงกับโปรตุเกส เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าผู้จัดเปิดเพลงชาติจีนถูกต้อง แต่ขึ้นภาพบนสกรีนว่า 'Glory to Hong Kong' จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง สมาคมรักบี้ฮ่องกงได้ออกมาแสดง 'ความไม่พอใจอย่างยิ่ง' และเรียกร้องคำโทษอย่างเป็นทางการจากผู้จัด 

ด้านคณะกรรมาธิการโอลิมปิก และสมาพันธ์กีฬาของฮ่องกง ให้ข้อมูลกับสื่อว่า ภายในสัปดาห์นี้ ทางองค์กรจะออกกรอบแนวทางอย่างละเอียดว่านักกีฬาทีมชาติฮ่องกงควรทำอย่างไร เมื่อพบว่ามีความผิดพลาดขณะพิธีเคารพธงชาติ รอนนี หว่อง เลขาธิการของคณะกรรมาธิการ ระบุว่าหัวหน้าทีมนักกีฬาหรือกัปตันทีมมีหน้าที่ในการส่งสัญญาณขอทดเวลาบาดเจ็บ เพื่อให้ทางผู้จัดรับทราบโดยทันที 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Hong Kong man arrested for sedition after allegedly posting clip of anthem blunder with message of thanks

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net