Skip to main content
sharethis

ศรีสุวรรณ จรรยา ร้อง ป.ป.ช. สอบ ชัชชาติ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. ปล่อยให้กลุ่ม ‘ราษฎรหยุด APEC 2022’ ชุมนุมที่ลานคนเมือง จนทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ คฝ. ใน #ม็อบ18พฤศจิกา65 ศรีสุวรรณ  ชี้ การกระทำของชัชชาติเข้าข่าย “การทุจริตต่อหน้าที่”

 

24 พ.ย. 2565 เวลา 10.00 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่า การที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ควบคุม ดูแล หรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ชุมนุมที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมคัดค้าน APEC ที่ลานคนเมือง ได้ทำผิดเงื่อนไขการอนุญาตโดยออกมานอกพื้นที่อนุญาตจนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฟ. ทำให้เกิดการบาดเจ็บกันทั้งสองฝ่าย และทรัพย์สินราชการและสาธารณะเสียหาย เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่

 

โดยศรีสุวรรณ ระบุเหตุผลในการยื่นหนังสือครั้งนี้ว่า ตามที่ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 49 กำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจหน้าที่หลายประการ อาทิ (1) กำหนดนโยบายและบริหารราชการของ กทม.ให้เป็นไปตามกฎหมาย (ในที่นี้คือ พรบ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (2) บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย (3) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น และต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร ตาม ม.50 ด้วย

นอกจากนี้อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ตาม ม.89 ยังระบุ เอาไว้ชัดเจนว่าผู้ว่าฯ กทม. มีหน้าที่ “การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน” และกฎหมายดังกล่าวใน ม.90 ยังกำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม. มีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. นั้น ม.91 กฎหมายยังกำหนดให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย

ดังนั้น การที่ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กำหนดให้ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ขออนุญาตจัดชุมนุมสาธารณะได้ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องมีหน้าที่ควบคุม ดูแล ให้ผู้ชุมนุมหรือกลุ่ม ‘ราษฎรหยุด APEC 2022’ ต้องปฎิบัติให้อยู่ในกรอบการชุมนุมสาธารณะ และตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ฉบับลงวันที่ 23 ส.ค. 2565 ข้อ 2.4 ข้อ 2.5 และข้อ 2.6 อย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นยังต้องถือปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ตามนัย ม.8(5) แห่ง พรบ.การชุมนุมสาธารณะ

ศรีสุวรรณ ระบุว่า การที่ชัชชาติในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ละเว้นหรือเพิกเฉยเสียปล่อยให้ผู้ชุมนุมอยู่อาศัยในลานคนเมืองหรือค้างคืนได้ ทั้งที่เป็นข้อห้าม จนกระทั่งเกิดการรวมตัวกันในตอนเช้าและเคลื่อนขบวนออกมาเกิดเหตุการปะทะกันขึ้นเมื่อ 18 พ.ย. 2565 ระหว่างตำรวจ คฝ. และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ละเมิดกฎหมาย จนมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย เช่นนี้ ชัชชาติย่อมเข้าข่าย “การทุจริตต่อหน้าที่” อันถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามนัยยะทางกฎหมายแห่ง ม.4 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 โดยชัดแจ้ง  

ด้วยเหตุนี้สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงต้องนำความพร้อมพยานหลักฐานมายื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยเอาผิดตามครรลองของกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม ชัชชาติเคยแถลงเกี่ยวกับประเด็นผู้ชุมนุมราษฎรหยุด APEC 2022 ค้างคืนที่ลานคนเมืองว่า กทม.ได้อนุญาตให้มีการใช้ลานคนเมืองเป็น 1 ใน 7 สถานที่ชุมนุมสาธารณะ ปัจจุบันมีผู้ขอใช้ทั้งหมด 36 ครั้ง 14 ครั้งเป็นการชุมนุมทางการเมือง อีก 22 ครั้งเป็นเรื่องอื่นๆ ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดลดลงในการลงถนนของผู้ชุมนุมลงได้ โดยชัชชาติยืนยันว่า กทม. ไม่ได้อนุญาตให้ผู้ชุมนุมค้างคืนที่ลานคนเมือง เนื่องจากไม่ต้องการให้กิจกรรมรบกวนประชาชนที่อาศัยบริเวณนั้น

ส่วนการที่ผู้ชุมนุมขยับออกไปนอกพื้นที่เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ คฝ. เป็นเรื่องที่ กทม. ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น และถือเป็นบทเรียนของทาง กทม. ในอนาคตทาง กทม. จะจัดให้ 2 ฝ่ายมาเจอกันได้หรือไม่ สำหรับการประชุมที่มีตัวแทนจากต่างประเทศจะจัดให้มีตัวแทนจากต่างประเทศมาเจอผู้ชุมนุมที่ลานคนเมืองได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องมีข้ออ้างออกจากพื้นที่ หรือจัดตัวแทนผู้ชุมนุมให้ยื่นหนังสือให้กับคนที่เขาอยากเจอได้หรือไม่ จะได้ลดความขัดแย้งและความเคลื่อนไหว

ชัชชาติยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการสนับสนุนใคร และจะดูแลประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน การจัดพื้นที่ชุมนุมให้แก่ผู้ชุมนุมเป็นสัดเป็นส่วนก็เพื่อลดความตึงเครียด และเชื่อว่าสิ่งที่ทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การประชุมเอเปกจัดไปได้อย่างราบรื่น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net