สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ท้วง สธ.ปรับเพิ่มโอที ร้อยละ 8 อาจทำไม่ได้จริง

สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ท้วง สธ.ปรับเพิ่มโอที ผลัดบ่าย/ดึก บุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพ ร้อยละ 8 อาจทำไม่ได้จริง เหตุเงินบำรุงของ รพ.อาจไม่เพียงพอ พร้อมเรียกร้องให้คนทำงานด่านหน้ามีส่วนร่วมการประชุมพิจารณาปรับหลักเกณฑ์

 

จากกรณีที่วานนี้ (23 พ.ย.) สำนักสารนิเทศ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนฯ พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายฉบับที่ 5 หลังไม่ได้ปรับค่าตอบแทนมากว่า 10 ปี ซึ่งครั้งสุดท้ายคือเมื่อปี 2552 โดยจะ เพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ (โอที) ผลัดบ่าย/ดึก ทุกวิชาชีพร้อยละ 8 และค่าตอบแทนปฏิบัติงานปกติเฉพาะผลัดบ่าย/ดึก เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

24 พ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ชุตินาถ ชินอุดมพร สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน อายุ 28 ปี มีข้อสงสัยต่อหลักเกณฑ์การเพิ่มค่าโอที ผลัดบ่าย หรือดึก ร้อยละ 8 อยากให้ทาง สธ.ชี้แจงว่ามีหลักเกณธ์ปรับปรุงอย่างไร หรือที่มาของตัวเลข 8 เปอร์เซ็นต์มาจากไหน 

นอกจากนี้ ชุตินาถ ตั้งข้อสงสัยด้วยว่า ที่ สธ.อ้างว่าเป็นการปรับตามเงินเฟ้อ ซึ่งค่าแรงส่วนนี้ไม่ได้ปรับมานานกว่า 10 ปีแล้ว อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นหรือไม่ 

เงินบำรุง รพ. ถ้าไม่มี-ขาดทุน ก็ยากที่จะได้ค่าโอที

สำหรับเงินที่นำเป็นจ่ายเป็นค่าโอทีให้บุคลากรแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐนั้น สธ.จะใช้งบประมาณจากเงินบำรุงโรงพยาบาล ซึ่งวานนี้ (23 พ.ย.) ระหว่างการแถลงข่าว นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถามสื่อต่อประเด็นเงินบำรุงว่าจะเพียงพอหรือไม่

“การบริหารจัดการปีละ 3 พันล้านบาท คาดว่าสามารถบริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เงินบำรุงเรามีเพิ่มขึ้นจากช่วงโควิดแสนกว่าล้านบาท หักลบหนี้แล้วก็เหลือระดับหลายหมื่นล้านบาท และอนาคตก็มองว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะแต่ละวิชาชีพไม่ได้เพิ่มมานานมากแล้ว” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน มองต่างกัน โดยกล่าวว่า ปกติเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ มาจากกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ค่าผลัด หรือโอที จะมาจากเงินบำรุงโรงพยาบาล ในการพิจารณา สธ.เพียงแค่กำหนดขั้นต่ำว่าโรงพยาบาลควรจ่ายค่าโอทีให้แพทย์เท่าไร อย่างไรก็ตาม ชุตินาถ ระบุว่า โรงพยาบาลจะจ่ายได้เท่าไร ขึ้นอยู่กับรายรับรายจ่ายของแต่ละโรงพยาบาล ถ้าขาดทุน บุคลากรทางการแพทย์อาจไม่ได้รับค่าตอบแทนโอทีเลย 

แพทย์วัย 28 ปี ระบุว่า ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 เมื่อ 2563 โรงพยาบาลรัฐเกือบทั้งประเทศติดตัวแดง หรือขาดทุน โดยโรงพยาบาลรัฐติดขาดทุนระดับ 7 กันหมด ซึ่งเป็นระดับสูงสุด อนึ่ง ระดับการขาดทุนจะสามารถแบ่งได้เป็น 7 ระดับ คือตั้งแต่ 1-7 

สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ยกตัวอย่าง การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานโดยแนวทาง หรือ Pay for Performance - P4P ทำงานเยอะควรจะได้เงินเพิ่มขึ้น บุคลากรบางรายก็ยังไม่ได้รับเงิน หรือกรณีค่าชันสูตรตามโรงพยาบาลต่างจังหวัด อย่างแพทย์ใช้ทุนเวลาที่โรงพยาบาลชุมชนมีผู้เสียชีวิตที่ผิดปกติ จะต้องไปชันสูตร บางทีค่าตอบแทนตรงนี้ยังไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรอจากเงินบำรุงโรงพยาบาล สมมติโรงพยาบาลแจ้งว่าขาดทุนปีนี้ ก็จะไม่ได้ค่าตอบแทนเลย ก็จะกลายเป็นว่าปีนี้ บุคลากรทางการแพทย์ทำงานฟรี โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน 

แพทย์วัย 28 ปี ระบุด้วยว่า เมื่อ สธ.ปรับค่าโอทีเพิ่ม อาจส่งผลให้แต่ละโรงพยาบาลรัฐจ่ายค่าโอทีไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง บางโรงพยาบาลทำงานหนักมาก เนื่องจากประสบปัญหาขาดคนทำงาน แต่โรงพยาบาลที่เงินบำรุงน้อย อาจจ่ายเงินค่าโอทีให้บุคลากรได้แค่ขั้นต่ำตามที่ สธ.กำหนด ขณะที่บางโรงพยาบาลอาจให้ค่าโอทีบุคลากรทางการแพทย์ มากเป็น 2 เท่าจากขั้นต่ำ 

อย่างไรก็ตาม ชุตินาถ กล่าวเพิ่มว่า สมมติกรณีที่แพทย์พยาบาลได้ค่าโอทีเพิ่มเป็น 2 เท่าจากขั้นต่ำ แต่ยังไม่แน่ใจว่าเพียงพอต่อภาระงานหรือไม่ เพราะถ้าหารต่อชั่วโมงการทำงาน แพทย์-พยาบาลจะได้เงินเพียงชั่วโมงละ 160-170 บาท และเธอมองว่า แพทย์-พยาบาลที่ปฏิบัติงานช่วง 1.00-2.00 น. ควรได้ค่าตอบแทนเทียบเท่ากับโอที หรือคิดเป็น 2 เท่า เพราะตอนนี้ได้เพียง 50 บาทต่อชั่วโมงเท่านั้นสำหรับสาขาวิชาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับสาธารณสุข

สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เสนอว่า ควรมีตัวแทนเครือข่ายคนทำงานด่านหน้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฯ แต่ขอให้เป็นแพทย์และพยาบาลที่ทำงานจริงๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในที่ประชุมว่า คนทำงานต้องการให้มีการปรับเงินค่าตอบแทนโอทีเพิ่มเท่าไร และเพิ่มเท่าใดถึงจะเหมาะสมกับภาระงาน และวิชาชีพที่เป็นอยู่ หรือชั่วโมงการทำงานที่ไม่ใช่เวลาปกติ เช่น 16.00-24.00 น. หรือ 24.00-8.00 น. ของวันถัดไป ควรจะเป็นค่าแรงเทียบเท่าโอทีหรือไม่ อย่างไร

"พอเป็นข้าราชการ กลายเป็นว่าไม่ได้รับการปกป้องจากกฎหมายแรงงานด้วย มันทำให้ต่อรองค่าตอบแทนก็ไม่ได้ พูดเรื่องชั่วโมงการทำงานก็ไม่ได้ เหมือนต้องขึ้นกับผู้บังคับบัญชาว่าให้ความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง"

"จริงๆ อยากให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างตัวแทนคนทำงานเข้าไปร่วมพูดคุย อันนี้ปรับขึ้นหลายวิชาชีพ หลายสาขาเลย อยากให้มีตัวแทนสาขาวิชาชีพขึ้นไปพูดเลยว่า ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนเป็นยังไง และมันเพียงพอต่อการใช้ชีวิตจริงๆ หรือเปล่า" แพทย์วัย 28 ปี กล่าว และระบุเพิ่มว่าเรื่องการประชุมพิจารณาปรับค่าแรงโอที คนทำงานได้ยินว่ามีการประชุม แต่ว่าไม่มีการแจ้งให้เข้าร่วมอะไรเลย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท