Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“โลกียธรรม” กับ “โลกุตรธรรม” เป็นเหมือนเหรียญสองด้านหรือหน้ามือกับหลังมือที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ หากอุปมาเปรียบเทียบการปฏิบัติตามมรรคแปดเพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพานกับการเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ ผู้เดินทางถึงจุดสูงสุดของยอดเขาก็คือ อรหัตตผลบุคคล

ผู้เดินทางถึงจุดรองลงมาก็คือ อนาคามีผลบุคคล สกทาคามีผลบุคคล โสดาปัตติผลบุคคล ต่อจากนั้น ก็จะเป็นจุดต่าง ๆที่บุคคลซึ่งยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคล สามารถปีนป่ายขึ้นไปได้ ไม่ว่าจะเป็น ปราชญ์ชน กัลยาณชน วิญญูชน ปุถุชน ซึ่งมีความสูงต่ำแตกต่างไล่เรียงกันลงไปจนถึงตีนเขา หรือหากเปรียบเทียบกับการเรียนหนังสือ ผู้ที่เรียนจบระดับปริญญาเอกก็คืออรหัตตผลบุคคล ส่วนผู้ที่เรียนจบตั้งแต่ระดับปริญญาโทลงมาจนถึงชั้นอนุบาลก็คือผู้เข้าถึงธรรมในระดับต่าง ๆทำนองเดียวกันกับที่กล่าวมา

โดยนัยยะแห่งการเปรียบเทียบดังกล่าว โลกิยธรรมกับโลกุตรธรรมจึงมีความสัมพันธ์สืบเนื่องเป็นเนื้อเดียวจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ เพราะคนที่จะเดินทางถึงยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้ ต้องเริ่มต้นก้าวแรกที่ตีนเขาก่อนเสมอ และคนที่จะเรียนจบปริญญาเอกได้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ บวก ลบ คูณ หาร การอ่านการเขียนก่อน อีกทั้งในระหว่างการศึกษาเล่าเรียนไม่ว่าจะในระดับใด ย่อมมีความจำเป็นต้องใช้ความรู้พื้นฐานเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อธิบายไว้ในหนังสือ “พุทธธรรม” ว่า ความอยากหรือความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์มี ๒ ลักษณะ คือ “ฉันทะ” หมายถึง ความอยากที่มุ่งประสงค์อัตถะคือ ตัวประโยชน์หรือสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความจริง สิ่งที่ดีงามหรือภาวะที่ดีงาม ฉันทะก่อตัวขึ้นจากโยนิโสมนสิการคือ ความรู้จักคิดหรือคิดถูกวิธี คิดตามสภาวะและเหตุผล เป็นภาวะกลาง ๆของธรรม ไม่ผูกกับอัตตาและนำไปสู่อุตสาหะหรือวิริยะ อีกลักษณะหนึ่งเรียกว่า “ตัณหา” หมายถึง ความอยากที่มุ่งประสงค์เวทนา ต้องการสิ่งสำหรับเอามาเสพเสวยเวทนาหรือสิ่งที่จะปรนเปรอตัวตน ซึ่งต้องอาศัยอวิชชาคอยหล่อเลี้ยงและให้โอกาส พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องตัวตน เอาตนเป็นศูนย์กลางและนำไปสู่ปริเยสนาหรือการแสวงหา 

หนทางในการพัฒนามนุษย์คือ การพยายามให้มนุษย์หันเหจากความต้องการที่เป็นตัณหาให้เป็นฉันทะมากที่สุด เพื่อสร้างความสงบสุขให้กับตัวเองและสังคมส่วนรวม อีกทั้งฉันทะยังเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงซึ่ง “นิพพาน” อันเป็นจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิตตามหลักศาสนาพุทธ

ฉันทะกับตัณหาจะมีลักษณะทับซ้อนกันอยู่เสมอแทบทุกเรื่อง ตัวอย่างเช่น 

  • การกิน ฉันทะคือ กินเพื่อคุณภาพชีวิต เพื่อประโยชน์ในการหล่อเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ มีสุขภาพดี ตัณหาคือ กินเพื่อความอร่อย โก้ แสดงฐานะ ความร่ำรวย
     
  • การซื้อรถ ฉันทะคือ เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการงาน ความสะดวกรวดเร็ว ความปลอดภัยในการเดินทาง ตัณหาคือ เพื่อโอ้อวด แสดงฐานะ ความร่ำรวย 
     
  • การเล่นกีฬา ฉันทะคือ เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีสุขภาพดี เชื่อมความสามัคคี สร้างสัมพันธภาพอันดีต่อกัน ฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีวินัย ความอดทน มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ตัณหาคือ การอยากเอาชนะ อยากได้เหรียญ โล่ รางวัล อยากมีเกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นฮีโร่ หรือแม้กระทั่งอยากมีหุ่นดีรูปร่างสวยงาม 
     
  • การศึกษา ฉันทะคือ เรียนเพื่อให้ได้ปริญญาบัตรสำหรับนำไปใช้เป็นใบเบิกทางในการประกอบสัมมาอาชีพสุจริต เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาชีวิตตนเองให้เจริญงอกงาม ช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น ช่วยพัฒนาสังคมประเทศชาติ ตัณหาคือ เพื่อความร่ำรวย มีรายได้มีเงินเดือนสูง ๆมีเกียรติยศชื่อเสียง ต้องการให้คนอื่นยกย่องนับถือหรือเพื่อความอยากเด่นเป็นใหญ่ อยู่เหนือผู้อื่น
     
  • การเมือง ฉันทะคือ มุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มีความคิดอย่างถูกวิธี ลึกซึ้ง แยบคาย เป็นองค์รวม กอปรด้วยตรรกะเหตุผลที่ถูกต้องชอบธรรม ตัณหาคือ เพื่อแสวงหาอำนาจผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องบริวาร มุ่งหวังลาภยศสรรเสริญ เกียรติยศชื่อเสียง อยากเด่นเป็นใหญ่อยู่เหนือผู้อื่น หรือแม้หากอยากทำดีมีอุดมการณ์ก็จะเป็นไปในลักษณะของคนติดดี กอปรด้วยทิฏฐิมีอัตตาสูง ยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นของตนเองว่าถูกต้องที่สุด ไม่ยอมรับฟังความคิดความเห็นที่แตกต่าง มีจิตใจที่คับแคบและก่อทัศนคติแบบแบ่งแยก 
     
  • แม้กระทั่งความยินดีพอใจหรือความต้องการอยาก “นิพพาน” ก็มีทั้งฉันทะและตัณหา กล่าวคือ เมื่อบุคคลใดฟังธรรม เกิดความเข้าใจ มองเห็นโทษของกิเลสว่า โลภะ โทสะ โมหะ ทำให้จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง เร่าร้อนกระวนกระวาย เป็นเหตุให้ทำกรรมชั่วต่าง ๆก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและผู้อื่น ถ้ากำจัดกิเลสเหล่านั้นได้แล้วจิตใจจะปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใส มีความสุข เขาย่อมมองเห็นคุณค่าภาวะดีงามเช่นนั้น และจิตใจเขาก็ยินดีโน้มน้อมโอนไปหาภาวะนั้น อาการอย่างนี้ถือเป็นฉันทะ แต่ถ้าคิดอยากได้นิพพานหรืออยากเป็นผู้บรรลุนิพพาน โดยนึกขึ้นมาว่านิพพานเป็นภาวะอย่างหนึ่ง สิ่งๆหนึ่งหรือสถานที่แห่งหนึ่ง อันน่าปรารถนา ซึ่งตนจะได้เข้าไปครอบครอง เข้าถึง หรือเข้าไปอยู่ในความคิดนั้นจะมีความรู้สึกหรือความเห็นแฝงซ่อนอยู่ด้วยว่านิพพานนั้นจะอำนวยสุขเวทนาให้ตนได้เสพเสวยหรือว่าเป็นภาวะนิรันดรที่ตนจะได้คงอยู่ยั่งยืน ตลอดจนกระทั่งว่าเป็นที่ขาดสูญซึ่งตัวตนจะได้หมดสิ้นไปเสียที เช่นนี้จัดว่าเป็นตัณหา 

สมเด็จท่านเคยแสดงธรรมเน้นย้ำไว้ในหลายที่หลายแห่งด้วยความเป็นห่วงสังคมไทยว่า การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ถ้าแม้แต่เรื่องฉันทะกับตัณหาซึ่งถือเป็นหลักธรรมพื้นฐานเบื้องต้นยังไม่เข้าใจแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตและสังคมจะพัฒนาในขั้นต่อไปได้ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งและอยากให้แนวคิดเรื่องนี้เป็นที่แพร่หลายกว้างขวาง ที่ผ่านมาจึงได้พยายามหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นอ้างอิงสอดแทรกในการพูดการเขียนเนื่องในวาระโอกาสต่าง ๆมาโดยตลอด แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นแผ่นเสียงตกร่องที่ยังไม่ได้รับความสนใจให้ความสำคัญจากผู้คนในสังคมมากนัก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ถือคติว่า “ว่ายต่อไปยังไงก็ถึงฝั่ง” เพราะโลกนี้ไม่มีแม่น้ำหรือมหาสมุทรใดที่ไม่มีฝั่ง หากไม่หยุดว่ายสักวันหนึ่งก็ต้องถึงฝั่งอย่างแน่นอน 

ในการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาเรื่องต่าง ๆนั้น ถ้านำเรื่องฉันทะกับตัณหามาเป็นกรอบแนวทางในการวิเคราะห์หรือถกเถียงแลกเปลี่ยนกันจะก่อให้เกิดปัญญาและหนทางออกที่ถูกต้องแท้จริง สร้างสรรค์ดีงามได้ แต่หากถกเถียงกันโดยไม่มีกรอบดั่งที่ว่ามา ผลที่ออกมาอาจผิดเพี้ยนบิดผัน ขาด ๆเกิน ๆหรือบางครั้งบางทีก็อาจถึงขั้นเข้ารกเข้าพงไป ที่สำคัญคือโดยกระบวนของการนำหลักคิดเรื่องฉันทะกับตัณหามาใช้เป็นกรอบแนวทาง จะช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่มีลักษณะทำลายหรือทำให้เรื่องราวลุกลามบานปลายเนื่องจากถูกอารมณ์ครอบงำได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะเหตุว่าถ้าฝ่ายใดมีข้อเสนอที่เป็นฉันทะอย่างถูกต้องแท้จริง หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับก็คงต้องคิดหนัก ถ้าดื้อดึงแบบหัวชนฝาหรือเอาสีข้างเข้าถูย่อมรู้สึกหวั่นเกรงว่าจะถูกตำหนิติเตียนว่าเป็นคนไร้เหตุผล ขาดวุฒิภาวะ มีอัตตาสูง การควบคุมระงับอารมณ์ย่อมเกิดมีขึ้นโดยอัตโนมัติ

ยกตัวอย่างเช่น กรณีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการไว้ทรงผมและการแต่งเครื่องแบบของนักเรียนนักศึกษาที่เป็นปัญหาถกเถียงกันมานานและยังไม่ได้ข้อยุติที่ตกผลึกชัดเจนจนถึงบัดนี้ หากนำหลักการเรื่องฉันทะกับตัณหามาปรับวิเคราะห์เพื่อคิดหาคำตอบร่วมกันก็จะได้ว่า ฉันทะคือ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การฝึกฝนให้มีวินัย สะอาด สะดวก ประหยัด ปลอดภัย สิทธิเสรีภาพที่ถูกต้องตามธรรม ฯลฯ ตัณหาคือ หล่อ สวย เท่ห์ โก้ แสดงฐานะความร่ำรวย สิทธิเสรีภาพเพื่อตัวกูของกู ฯลฯ รวบรวมแยกแยะฉันทะกับตัณหาทั้งหมด แล้วตัดสินใจไปในทางที่เป็นฉันทะให้มากที่สุด อย่างนี้ เรื่องราวย่อมจบลงแบบสร้างสรรค์ดีงาม หรือกรณีการประชุมเอเปคที่ผ่านมา หากทุกฝ่ายมีเป้าหมายเพื่อฉันทะ ยึดถือหลักสิทธิเสรีภาพที่ถูกต้องตามธรรมเป็นสากล ให้ความสำคัญกับหลักภราดรภาพในการอยู่ร่วมกัน ไม่คิดทำเพื่อปกป้องหน้าตา เกียรติยศ ชื่อเสียงของตนเองเป็นหลัก หรือใช้อารมณ์ความรู้สึกโกรธ เกลียด เคียดแค้น ชิงชัง เป็นตัวชักนำ ปัญหาการกระทบกระทั่งจนถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อก็คงไม่เกิดมีขึ้น หรือกรณีกิจกรรมการพับตุ๊กตาช้างมากที่สุดในโลกที่จังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นข่าวดราม่าไปเมื่อเร็ว ๆนี้ หากผู้จัดกิจกรรมใช้หลักฉันทะเป็นแนวทางก็เชื่อว่าผลที่ออกมาคงไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบทางร้ายอย่างนั้น และจากตัวอย่างในเรื่องนี้ทำให้นึกถึงคำว่า soft power ซึ่งผู้เขียนขอสรุปฟันธงว่า ไม่ว่าจะเป็น soft power ในเรื่องใด หากปราศจากซึ่งฉันทะเป็นตัวนำย่อมพ้นวิสัยที่จะประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมายอย่างแท้จริงยั่งยืนได้ 

ท้ายที่สุดนี้ ขอนำฉันทะว่าด้วยหลัก “ภราดรภาพ” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของมวลมนุษยชาติ ตามคำอธิบายของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในหนังสือภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดี พนมยงค์ โดยฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ซึ่งเป็นการขยายความปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี ๒๕๔๙ มาฝากเป็นแง่คิด

“เป็นเพราะ...มนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกันดั่งกล่าวแล้ว มนุษย์จำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในประเทศหนึ่ง ถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องรับทุกข์ เพื่อนมนุษย์คนอื่นก็รับทุกข์ด้วย จะเป็นโดยตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เหตุฉะนั้น เพียงแต่มนุษย์มีความอิสระและมีความเสมอภาค จึงยังไม่เพียงพอ คือจำต้องมีการช่วยเหลือกันฉันท์พี่น้องด้วย...” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net