Skip to main content
sharethis

กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาศ จ.สกลฯ ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ ถึง คนร. ขอชะลอแผนแม่บทจัดการแร่ ฉบับที่ 2 หวั่นเอื้อกลุ่มนายทุนเหมืองแร่ ลดขั้นตอนขออนุญาตต่างๆ ใช้ดุลยพินิจ จนท. ตัดการมีส่วนร่วม ปชช. พร้อมเรียกร้องจัดทำแผนแม่บทฯ ตาม พ.ร.บ.แร่ ปี’60 

 

25 พ.ย. 2565 กลุ่มคนรักษ์อำเภอวานรนิวาศ รายงานเมื่อ 24 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดสกลนคร ประชาชนจากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร กว่า 20 คน เดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อยื่นหนังสือผ่านจังหวัดสกลนคร ในนามเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ถึงคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) เพื่อขอคัดค้านการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 และขอเรียกร้องให้การจัดทำแผนแม่บทฯ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.แร่ ปี 2560

คนรักษ์วานรนิวาศ ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ สกลฯ

เนื้อหาในหนังสือระบุว่า หลักการบริหารจัดการแร่นั้นเป็นการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งในการจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆ ระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ทำเหมือง และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบต้องครอบคลุมและเป็นธรรม

แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับแรก (พ.ศ. 2560-2564) มีความพยายามในการลดความซับซ้อนของขั้นตอนกระบวนการ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการยื่นขอสำรวจและทำเหมืองแร่และการขออนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ เน้นการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน อีกทั้งยังจงใจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 อย่างชัดเจน เพราะตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยการสำรวจทรัพยากรแร่ แหล่งแร่สำรอง การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้ และพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่สงวนหวงห้ามตามมาตรา 17 วรรคสี่ ดังนั้น การกำหนดพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการจำแนกพื้นที่ศักยภาพแร่ และต้องกันเขตพื้นที่หวงห้ามที่กำหนดไม่ให้มีการทำเหมืองตามมาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง แต่การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมาจนถึง (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายแต่อย่างใด  เมื่อไม่มีการสำรวจพื้นที่จริง และไม่มีการกันพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายก่อน ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยว่าการบริหารจัดการแร่จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ตามที่บริษัท ไชน่า หมิ่งต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่มีนักลงทุนจาก สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้สิทธิ์ในการสำรวจแร่ใต้ดินชนิดแร่โปแตชและเกลือหิน  ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส  จ.สกลนคร ตามอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 12  ม.ค. 2558 และสิ้นสุดอายุวันที่ 4 ม.ค. 2563 ในเนื้อที่กว่า 116,876 ไร่ ซึ่งได้หมดอายุอาชญาบัตรพิเศษไปแล้ว แต่ในปัจจุบันบริษัทได้ทำการยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษรอบใหม่อีกครั้ง เพื่อขุดเจาะสำรวจแร่ใต้ดินเพิ่มเติมในเขตพื้นที่อำเภอวานรนิวาส การกระทำของบริษัทดังกล่าวที่ผ่านมา มีข้อสังเกตในข้อกฎหมาย และผลกระทบ ตลอดจนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังต่อไปนี้

1. การขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช ของ บริษัท ไชน่า หมิ่งต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มีการกระทำผิดข้อตกลงท้ายอาชญาบัตรพิเศษ ในข้อที่ 6 เนื่องจากได้พบว่ามีการเข้าไปขุดเจาะ สำรวจแร่ใต้ ดิน ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดิน โดยนอกจากจะเป็นการกระทำอันผิดข้อตกลงท้ายอาชญาบัตรพิเศษแล้ว ยังเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในฐานความผิดบุกรุกอีกด้วย 

2. การดำเนินธุรกิจของ ของ บริษัท ไชน่า หมิ่งต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการกระทำที่เข้าข่ายในการละเมิดสิทธิของประชาชนและละเมิดต่อหลักสิทธิมนุยชน โดยมีกระบวนการฟ้องคดีปิดปาก (SLAPP) ประชาชนในพื้นที่ที่ออกมาปกป้องสิทธิในทรพัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนจากการสำรวจแร่ และการทำเหมืองแร่ใต้ดิน เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวและหยุดการคัดค้านบริษัทดังกล่าว โดยเป็นการฟ้องคดีต่อประชาชนอำเภอวานรนิวาส 9 คน จำนวน 3 คดี ประกอบไปด้วย คดีที่ 1 ผิด พ.ร.บ.ชุมนุม คดีที่ 2 กรณีที่บริษัทฟ้องคดีในข้อหากระทำละเมิดพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 3,611,609.99 บาท และคดีที่ 3 กรณีที่บริษัทฟ้องคดีในข้อหากระทำความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 309 ฐานร่วมมกัน ข่มขืน จิตใจฯ ซึ่งการฟ้องคดีต่อประชาชนอำเภอวานนิวาสทั้ง 9 คน ในปัจจุบัน คดีได้ถึงที่สิ้นสุดแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทและรัฐ อันมีเจตนาที่ไม่มีความโปร่งใส ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม และใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน

3. ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้การบริหารจัดการแร่ ทั้งขั้นตอนการสำรวจแร่และการทำเหมืองแร่ ต้องอยู่ภายในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำหมือง โดยบรรดาอาชญาบัตรสำรวจแร่ และใบอนุญาตประทานบัตร ต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีการบัญญัติว่า ต้องทำข้อมูลตามมาตรา 16 ให้ครบถ้วน โดยใจความสำคัญในมาตรานี้คือ การประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และต้องกันเขตพื้นที่ต้องห้ามตามมาตรา 17 วรรคสี่ ออกจากเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมือง โดยเฉพาะประเด็นแหล่งต้นน้ำ หรือป่าน้ำซับซึม เมื่อการสำรวจและการทำเหมืองแร่โปแตช เป็นการทำเหมืองใต้ดิน ซึ่งต้องพิจารณาถึงแหล่งน้ำใต้ดิน และทิศทางการไหลของน้ำ ใต้ดินเป็นสำคัญด้วย ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐและบริษัทไม่ได้มีการทำข้อมูลดังกล่าว แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การจัดทำแผนแม่บทฉบับนี้ยังคงให้ความสำคัญกับ “มูลค่าแร่” มากกว่าชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยเน้นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการอนุมัติ/อนุญาตให้มีการทำเหมืองที่สะดวกรวดเร็ว และเพิ่มพื้นที่ทำเหมืองให้มากที่สุด โดยไม่คำนึงว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมต่อการทำเหมืองหรือไม่ เป็นพื้นที่เปราะบางหรือควรสงวนหวงห้ามไม่ให้ทำเหมืองหรือไม่ หน่วยงานรัฐยังคงเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 เฉกเช่นเดียวกันกับแผนแม่บทฯ ฉบับแรก ที่อ้างการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในระยะเริ่มแรกโดยหลักการให้เป็นไปเพื่อให้กิจการเหมืองแร่ที่เปิดดำเนินการอยู่ก่อนหรือได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ และมีความจำเป็นเร่งด่วน จึงมีการกำหนดพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ พื้นที่ตามประทานบัตร คำขอต่ออายุประทานบัตร คำขอประทานบัตร และพื้นที่ตามอาชญาบัตรที่ได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ รวมถึงพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม และพื้นที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือกรณีการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ให้ถือเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ โดยไม่มีการสำรวจและกันพื้นที่หวงห้ามตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนแต่อย่างใด

ในขั้นตอนกระบวนการจัดทำแผนแม่บทฯ ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและอาจจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองอย่างครอบคลุมและเพียงพอ ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีข้อมูลเกี่ยวกับความเห็น ข้อร้องเรียนของประชาชน ที่เคยยื่นหนังสือไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนหลายครั้ง แต่หน่วยงานรัฐไม่เคยนำมาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำแผนแม่บทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและเป็นระบบ อีกทั้ง ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อ้างถึงการมีส่วนร่วมยังไม่มีความจริงใจอย่างเห็นได้ชัด ผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ สมควรที่จะเป็น “ผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่” ไม่ใช่กลุ่มที่มีข้อวิตกกังวล เพราะผู้ที่สนับสนุน หรือหน่วยงานราชการและสถาบันทางวิชาการ ก็มีข้อวิตกกังวลด้วยเช่นกัน การกำหนดผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ไม่ได้เห็นว่าการทำเหมืองแร่สร้างผลกระทบมากมายและมีประชาชนจำนวนมากต้องการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในนามผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังหลีกเลี่ยงปัญหาที่แท้จริงของการทำเหมืองแร่ว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของการประกอบกิจการเหมืองแร่ การปล่อยปละละเลยของหน่วยงานรัฐจนทำให้เกิดการทำเหมืองในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ความอ่อนแอของมาตรการตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การไม่ตรวจสอบการทำเหมืองว่าเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนหรือไม่ การไม่ติดตามว่ามีชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ และกระบวนการฟื้นฟูทั้งในระหว่างและหลังทำเหมืองแร่ ความล้มเหลวในการปฏิบัติงานเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ไม่เคยนำมาพิจารณา และด้วยเหตุนี้ปัญหาจึงไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด เมื่อไม่แก้เรื่องนี้ย่อมไม่ต้องพูดถึงเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเพียงเรื่องหลอกลวง

ดังนั้น จึงขอให้ชะลอการใช้บังคับ (ร่าง) แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) เอาไว้ก่อน และขอให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติสั่งการให้คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กลับไปเริ่มกระบวนการสำรวจพื้นที่ใหม่ เพื่อดำเนินการจำแนกพื้นที่ศักยภาพแร่ และต้องกันเขตพื้นที่หวงห้ามที่กำหนดไม่ให้มีการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนจะนำพื้นที่มาพิจารณาตามหลักดุลยภาพ และกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันทั้งผู้สนับสนุนโครงการ และผู้ไม่สนับสนุนโครงการ ประกอบกับต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่อย่างครอบคลุม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net