Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์สมาคมครูฯ ขอให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฯ

รศ.สุรวาท  ทองบุ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... คนที่หก และคณะ รับหนังสือจาก นายวีรบูล  เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) เรื่อง ขอให้ชะลอการนำเข้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อรัฐสภาในวาระที่ 3 เนื่องจากมาตรา 54 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และได้ดำเนินการตามร่างกฎหมายดังกล่าวตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว และผ่านการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญ ในวาระที่ 2 แล้ว ดังนั้น สมาพันธ์สมาคมครูฯ และองค์กรครูใน 4 ภูมิภาค ได้ศึกษาสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วเห็นว่า หลายมาตรายังไม่สอดคล้องกับการพัฒนาการศึกษาของไทย และเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ควรแก้ไข อาทิ การที่รัฐให้เอกชนดำเนินการจัดการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จอาจทำให้เกิดปัญหา การเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถจัดการศึกษาได้ ทำให้ครูขาดหลักประกันในวิชาชีพ และทำให้ครูไม่ได้คุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กส่งผลกระทบเด็กและผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ และแนวทางการจัดการยังไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น สมาพันธ์ฯ จึงขอให้คณะ กมธ.วิสามัญ ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ในวาระ 3 ไว้ก่อน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมปรับแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างรอบคอบต่อไป

รศ.สุรวาท กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า จะนำเรื่องนี้ไปประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ของคณะ กมธ.วิสามัญ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของไทยต่อไป

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, 25/11/2565

ก.แรงงาน จับมือ ธอส. เตรียมเปิดสิทธิรีไฟแนนซ์บ้าน ผู้ประกันตน ม.33 ภายใน 20 ธ.ค.นี้ ดอกเบี้ยต่ำสุด 1.99%

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วย รมว.แรงงาน กล่าวในงานสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2023” จัดโดยสมาคมอาคารชุดไทย ว่า กระทรวงแรงงานกระทรวงแรงงาน เตรียมลดรายจ่ายให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยทำงานร่วมกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เตรียมวงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนประกันสังคมฝากไว้ที่ธอส. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สามารถรีไฟแนนซ์ (การนำเงินกู้ก้อนใหม่เพื่อไปชำระคืนกับเจ้าหนี้เดิม) กับธอส. ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อีกหนึ่งทาง โดยอัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรก 1.99% ปีที่ 6-8 อัตราดอกเบี้ย MLR-2% ปีที่ 9 เป็นต้นไป MLR-0.5%

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนประกันสังคมแล้ว คาดว่าจะประกาศได้ภายในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ และในต้นปี 2566 ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ก็จะเริ่มใช้สิทธิในการรีไฟแนนซ์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 2,000-3,000 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีผู้มาใช้สิทธิเต็มวงเงิน 30,000 ล้านบาทแรก และผู้ประกันตน มาตรา 33 มีความต้องการเพิ่มขึ้นอีก ก็พร้อมจะเปิดเฟส 2 ทันที เพื่อให้ผู้ประกันตน ม.33 ได้เข้าถึงวงเงินดังกล่าว

ขณะเดียวกันมองว่าผู้ประกันตน ม.33 ซึ่งเป็นคนไทย ควรจะต้องเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งทางกระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะสามารถร่วมมือกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ตอบสนองผู้ใช้แรงงานสามารถซื้อได้ โดยกระทรวงแรงงานจะเข้าไปสนับสนุนด้านอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ประกันตนสามารถซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมในราคาไม่สูง

“จากการที่แรงงานเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น แต่กระทรวงแรงงานไม่สามารถที่จะให้ค่าจ้างสูงตามที่เรียกร้องได้ สุดท้ายสรุปปรับขึ้น 5% ทำให้เกิดความพอใจทุกฝ่ายทั้งนักลงทุน นายจ้างและลูกจ้าง แต่อย่างไรก็ดีการที่ลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงานสามารถอยู่ได้ ไม่เพียงแค่ปัจจัยการขึ้นค่าจ้างแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่การลดภาระค่าใช้จ่ายก็สำคัญ ทำให้กระทรวงแรงงานได้เตรียมเปิดโครงการดังกล่าว” นายสุรชัย กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 25/11/2565

ภาคเอกชนชี้ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวแย่งซื้อตัวแรงงานคึกคัก

นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ แบรนด์อมารี, โอโซ่และซามา เปิดเผยว่า หลังโควิด-19 คลี่คลาย แต่ละประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง มีนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวยุโรป ตะวันออกลาง อินเดียสิงคโปร์ มาเลเซีย คาดว่าถึงสิ้นปีจะอยู่ที่กว่า 10 ล้านคน และในปี 2566 จะเพิ่มมากขึ้นอีก ทำให้ปัจจุบันเริ่มเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม มีอัตราเข้าพักและค่าห้องเริ่มไต่ระดับสูงขึ้น แต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนมีโควิด ซึ่งเห็นได้จากโรงแรมในเครือที่จ.ภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวยุโรปกลับมา 90-100% ส่วนราคาค่าห้องกลับมาอยู่ที่ 70-80% มีแนวโน้มราคาจะกระชากอีก 25-30% ในปี 2566 เพราะต้นทุนสูงขึ้น จะไม่มีของถูกอีกต่อไป

“เรามีโรงแรมทั้งหมด 50 แห่ง ครอบคลุมในประเทศไทย มาเลเซีย จีน ฮ่องกง มัลดัฟส์ บังคลาเทศ สปป.ลาว ในนี้มีประมาณ 15% ที่เป็นเจ้าของเอง ส่วนที่เหลือเป็นการรับบริหาร ในช่วงโควิดระบาด 2 ปี เราแย่มาก จนไม่รู้จะแย่ยังไง เพิ่งเริ่มดีขึ้นในปีนี้ ขณะนี้โรงแรมโอเรียลเต็ล เป็นระดับลักชัวรี่อัตราเข้าพักและราคาห้องรีโคฟเวอร์ตั้งแต่กรกฎาคมที่ผ่านมา ค่าห้องอยู่ที่ 20,000 บาทต่อคืน โรงแรมอมารีได้วอลุ่มกลับมาแล้ว 70-80% แต่ราคายังอยู่ที่ 70% โรงแรมโอโซ่เป็นระดับ 3-4 ดาว ยังกลับมาช้า ส่วนชามาเป็นเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ทั้ง 6 แห่ง ที่เราขายรายวันด้วยเป็นแบรนด์เดียวที่รอดจากโควิด เพราะมีลูกค้ากลุ่มต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทยอยู่แล้ว ทำให้รายได้กลุ่มโรงแรมปีนี้เราเริ่มไต่ระดับสูงขึ้นจากช่วงโควิด คาดว่าจะอยู่ทึ่ 3,000 ล้านบาทและในปี 2566 จะเพิ่มอีกเท่าตัวอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับก่อนมีโควิด”นายยุทธชัยกล่าว

นายยุทธชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการจะเริ่มฟื้นตัว แต่ในยังเจอปัญหาเรื่องปริมาณเที่ยวบินยังน้อย ทำให้ราคาตั๋วโดยสารแพง รวมถึงค่าแรงที่สูงขึ้นและแรงงานขาดแคลน หลังหลายธุรกิจเริ่มฟื้นทำให้มีความต้องการแรงงานมากขึ้น

โดยธุรกิจโรงแรมขาดแคลนทั้งแรงงานไม่มีทักษะ เช่น แม่บ้าน คนล้างจาน รวมถึงมีทักษะสูง จนเริ่มเห็นการแย่งซื้อตัวเกิดขึ้นในระบบ ซึ่งในส่วนของโรงแรมในเครือขณะนี้มีพนักงานกลับเข้ามาในระบบ 3,000 คน ยังขาดอยู่กว่า 1,000 คน ได้แก้ปัญหาโดยนำเข้าแรงงานจากประเทศในอาเซียนและอินเดีย เพราะเราพัฒนาคนไม่ทัน ขณะเดียวกันก็พยายามคุมกำเนิดไม่เพิ่มคนจำนวนมาก เพื่อบริหารต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าแรงและค่าใช้จ่ายต่างๆ

“ช่วงโควิด ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้มีเจ้าของโรงแรมระดับ 3-4 ดาวทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดมาเสนอขายให้เราอย่างต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ ราคาอยู่ที่แห่งละหลัก 100 ล้านบาท แต่เราก็ปฎิเสธไป เพราะราคาที่เสนอขายยังค่อนข้างแพง และเราเองก็ยังแย่อยู่ ขอโฟกัสเฉพาะโรงแรมในเครือก่อน รอให้ธุรกิจและเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ถึงจะมาพิจารณากันใหม่” นายยุทธชัยกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 24/11/2565

กรมพัฒนาฝีมือแรงาน ยกระดับทักษะฝีมือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคนพิการ สนับสนุนและเสริมประสิทธิภาพระบบการดูแลสุขภาพคนพิการ

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ พัฒนาศักยภาพกำลังแรงงาน ภายใต้นโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับที่ 3 ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการดูแลสุขภาพคนพิการการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝึกยกระดับฝีมือ "การพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงานคนพิการ" จำนวน 2 รุ่น รวม 88 คน รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 22 - 24 พ.ย. 2565 และรุ่นที่ 2 วันที่ 20 - 22 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคนพิการ ทุกระดับ ทุกองค์กร ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีทักษะฝีมือเพิ่มมากขึ้น สามารถนำกลับไปใช้ในการปฏิบัติงาน สนับสนุนและเสริมประสิทธิภาพระบบการดูแลสุขภาพคนพิการ ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ

นางณฐมน ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคนพิการ เพื่อให้มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ มีทัศนคติที่ดี สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ฝึกยกระดับฝีมือ หลักสูตร "การพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงานคนพิการ" รุ่นที่ 1 จำนวน 44 คน ประกอบด้วยบุคลากรเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคนพิการ อาสาบริบาล ที่ปฏิบัติงานให้หน่วยสาธารณสุขระดับท้องถิ่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำชุมชน ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีทีมผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลนครพิงค์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ และทักษะที่สำคัญ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึก สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง มีจิตบริการ และสามารถประดิษฐ์ ประยุกต์ เครื่องกายอุปกรณ์ อุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในชีวิตประจำวันอย่างง่ายได้ ได้แก่ ช้อนพิเศษสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว (Universal Cuff) อุปกรณ์ช่วยดันตัว อุปกรณ์บริหารนิ้ว อุปกรณ์ป้องกันเท้าตก(Foot sling) สเก็ตบอร์ดบริหารไหล่(Shoulder curve) รอกสำหรับออกกำลังกายหัวไหล่ และเบาะรองนั่งสำหรับ wheel chair อีกทั้งยังสามารถดูแล บำรุงรักษา ซ่อมแซมรถนั่งคนพิการ (Wheel chair) เบื้องต้นได้

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 23/11/2656

ไทยขานรับข้อตกลง APEC เร่งฝึกช่างขุดเจาะน้ำมันส่งไปซาอุฯ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้เดินทางเยือนประเทศไทยในโอกาสการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก 2565 (APEC 2022) และได้หยิบยกประเด็นด้านแรงงานมาหารือ

ซึ่งจากการหารือระหว่างไทยและซาอุฯ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ได้จัดทำความตกลงและบันทึกความเข้าใจที่สำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านแรงงานให้เป็นผลสำเร็จ และความร่วมมือด้านอื่น ๆ อีกด้วย

ดังนั้น จึงมีโครงการยกระดับสมรรถนะแรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศชาอุดีอาระเบีย และวันนี้ (23 พฤศจิกายน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงพื้นที่เยี่ยมและพบปะให้กำลังใจผู้เข้ารับการฝึกอบรมโครงการยกระดับสมรรถนะแรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย

โดยมีนายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายนิพัฒน์สิน ยิ้มแย้ม กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็มพีซี ฟิวเจอร์ จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา และผู้เข้ารับการฝึกอบรม ร่วมให้การต้อนรับ ณ บริษัท เอ็มพีซี ฟิวเจอร์ จำกัด จังหวัดสงขลา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวด้วยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายผลักดันความร่วมมือแรงงานระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ได้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ เจรจาหารือ เปิดโอกาสให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งประเทศซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานจากต่างชาติจำนวนกว่า 8 ล้านคน

จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการยกระดับสมรรถนะแรงงานไทยให้มีมาตรฐานฝีมือแรงงานสอดคล้องกับสาขาอาชีพที่นายจ้างในประเทศซาอุดีอาระเบียต้องการ โครงการยกระดับสมรรถนะแรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมฯ เป็นผลสำเร็จของการฟื้นความสัมพันธ์ไทยและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเริ่มเห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

ความร่วมมือทางด้านแรงงานเป็นอีกมิติที่เห็นความคืบหน้าอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากการสานต่อและผลักดันของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การดำเนินโครงการนี้จะเพิ่มโอกาสการทำงานให้แรงงานไทยรวมถึงช่วยยกระดับสมรรถนะแรงงานไทยให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขับเคลื่อนการจัดส่งแรงงานฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือเข้าสู่ระบบการจ้างงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต่อยอดไปยังความร่วมมือด้านอื่น ๆ จึงขอให้ทุกท่านตั้งใจฝึกอบรมให้เกิดทักษะจริง ๆ มีความรู้ความสามารถไปทำงานในด้านปิโตรเลียม ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

ด้านนายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า โครงการยกระดับสมรรถนะแรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศชาอุดีอาระเบียในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมแรงงานไทยก่อนไปทำงานต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพด้านทักษะฝีมือแรงงานและภาษาต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพในตำแหน่งงานที่ตลาดแรงงานต่างประเทศมีความต้องการ

เป็นกลยุทธ์ในการบริหารเพื่อขยายตลาดแรงงานใหม่ในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่แรงงานไทยมีความสามารถและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานต่างประเทศ โดยเริ่มดำเนินการฝึกเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ระยะเวลาการฝึกอบรม 144 ชั่วโมง เนื้อหาการฝึกประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานของการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ความปลอดภัยในการทำงานในแท่นขุดเจาะ ความรู้และเทคนิคในการทำงาน ความรู้พื้นฐานการดำรงชีวิตในต่างประเทศ ปัจจุบันได้ฝึกจบไปแล้ว 1 รุ่น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการฝึกรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 และสำหรับรุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 5 ต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/11/2565

กมธ.การแรงงาน สภาฯ รับเรื่องร้องเรียนจากอดีตพนักงานสายการบิน หลังถูกยึดเงินประกัน และจ้างงานไม่เป็นธรรม

นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องร้องเรียนจากนายกิตติคุณ จึงตระกูล อดีตพนักงาน ตำแหน่งนักบินผู้ช่วย บริษัท วิสดอม แอร์เวย์ จำกัด หรือสายการบินวิสดอม ประจำการที่จังหวัดเชียงใหม่ กรณีบริษัทฯ ไม่จ่ายเงินค่าจ้างและคืนเงินประกันการเข้าทำงาน จำนวน 5 แสนบาท หลังบริษัทฯ ปิดกิจการ

นายกิตติคุณ กล่าวว่า ปี 2561 ตนได้สมัครงานเข้ามาเป็นพนักงานของสายการบินในตำแหน่งนักบินผู้ช่วย ซึ่งตามนโยบายของผู้บริหาร จะต้องมีหลักประกันการเข้าทำงานเป็นเงินสด จำนวน 5 แสนบาท ซึ่งได้ทำการโอนจ่ายเงินไปเรียบร้อย จากนั้นเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมพนักงาน โดยบริษัทฯ แจ้งว่าใช้เวลา 1 เดือน แต่ความจริงต้องฝึกอบรมระยะเวลานานเป็นปี ทำให้เสียโอกาสในด้านต่าง ๆ อีกทั้งบริษัทฯ ยังเรียกไปใช้งานในตำแหน่งอื่น ๆ โดยไม่จ่ายค่าจ้างบ ต่อมาจึงได้แจ้งกับทางบริษัทฯ ว่าจะขอยกเลิกสัญญการจางงาน พร้อมขอให้คืนเงินประกันและจ่ายค่าจ้างตามที่สมควรจะได้รับ โดยบริษัทฯ ได้บ่ายเบี่ยงและให้ไปดำเนินการทางกฎหมายเรียกร้องเงินดังกล่าว ซึ่งตนและเพื่อนพนักงานที่เป็นผู้เสียหาย รวม 4 คน ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงขอให้คณะกรรมาธิการฯ ให้ความช่วยเหลือ โดยต้องการให้บริษัทจ่ายเงินที่ติดค้างและคืนเงินประกัน เนื่องจากตนและเพื่อนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ด้านนายสุเทพ กล่าวว่า ยินดีดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีบริษัทหลอกลวงให้วางเงินประกันการทำงาน ซึ่งในกฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีการเรียกเงินหรือวางเงินประกันใด ๆ ก่อนเข้าทำงาน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน นี้

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 23/11/2565

รมว.สาธารณสุข ยืนยันปรับเพิ่มค่าตอบแทนของกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวยืนยันการปรับเพิ่มค่าตอบแทนของกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข หรือโอที ในกลุ่มหมอพยาบาล และเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ไม่ใช่ของขวัญปีใหม่ เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่พึ่งได้ เนื่องจากการทำงานที่ทุ่มเทเสียสละที่ผ่านมา โดยใช้งบบำรุงโรงพยาบาล

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป็นการปรับในส่วนของค่าตอบแทน หรือโอที ของผลัดปฏิบัติงานนอกเวลา  8 ชม. เพิ่มขึ้น 8%  และปรับเพิ่มค่าเวรบ่าย-ดึก ที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน อีก 50 %  จากค่าตอบแทนเดิม หลังจากไม่ได้มีการปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2552 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยมีการหารือกันในวาระพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจ่ายเงินค่าตอบแทน ฉบับที่ 5  โดยงบประมาณส่วนนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท ใช้งบเงินบำรุงของโรงพยาบาล และเชื่อว่าในอนาคต ไม่เป็นภาระเรื่องงบประมาณในระยะยาวแน่นอน และแต่ละสถานพยาบาลสามารถจัดสรรเงินมาจ่ายให้กับบุคลากรเหล่านี้ได้ โดยขั้นตอนการพิจารณาจากนี้ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขผ่านคณะกรรมการเห็นชอบด้านการเงินการคลังอีกครั้ง จะใช้เวลาอีก 1 เดือนจะมีการเสนอต่อกระทรวงการคลังพิจารณา

สำหรับรายละเอียดของการปรับขึ้น ประกอบด้วย โอทีแพทย์, ทันตแพทย์ จาก 1,100 บาท เพิ่ม 8% จะได้รับ 1,200 บาท  ส่วนเภสัชกร จาก 720 บาท เพิ่มเป็น 780 บาท ส่วนเจ้าหน้าที่พยาบาลเทคนิค และเจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเทคนิค เพิ่ม 8 % จากเดิม 480 บาท เป็น 520 บาท ส่วนพยาบาลในส่วนผลัดบ่าย–ดึก เพิ่ม 50%  มีผลให้จากเดิมเวรละ 240 บาท เพิ่มอีก 120 บาท เป็น 360 บาท ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับอื่น ๆ ก็มีการปรับเพิ่มเช่นกัน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/11/2565

ไทยยูเนี่ยนจ้างที่ปรึกษาประเมินสภาพการทำงานของแรงงานในเรือประมงจัดหาวัตถุดิบ เพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพการทำงานของแรงงาน

รายงานข่าวจาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ไทยยูเนี่ยนฯ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจประเมินสภาพการทำงานบนเรือถ่ายลำรวมถึงสวัสดิภาพของแรงงานบนเรือเบ็ดราวเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ โดยการประเมินครั้งนี้เป็นการตรวจสอบเพิ่มเติมจากการตรวจปกติที่ไทยยูเนี่ยนดำเนินการบนฝั่งกับเรือประมง ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562

โดยที่ปรึกษาที่ทำการตรวจสอบในครั้งนี้คือ MRAG ซึ่งมีประสบการณ์ในการส่งผู้สังเกตการณ์และผู้ประเมินเข้าทำงานบนเรือประมงและเรือลำเลียงต่างๆ ที่ปรึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้ออกเดินทางไปกับเรือเพื่อสังเกตการณ์นั้น เป็นผู้ที่ได้ทำงานและตรวจประเมินเรือลำนั้นๆ บนฝั่งมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นเรือที่อยู่ในโครงการพัฒนาเรือประมงของไทยยูเนี่ยน

ไทยยูเนี่ยน มุ่งหวังว่าการตรวจประเมินนี้จะช่วยยกระดับการประเมินที่บริษัทได้ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบผ่านทางดาวเทียมและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงการตรวจสอบที่ท่าเรือ ให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare program) และแนวทางการปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้ใช้เป็นแนวทางในการตรวจประเมินเรือประมงทั่วโลกที่จัดหาปลาและอาหารทะเลอื่น ๆ ให้กับบริษัท สำหรับการดำเนินงานในครั้งนี้ที่ปรึกษาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในท้องทะเลเป็นเวลา 34 วัน เพื่อทำการประเมินเรือเบ็ดราว จำนวน 19 ลำ

บริษัทฯ ให้ความสำคัญและดำเนินโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะการทำงานตรวจประเมินเรือประมงที่ลอยอยู่กลางทะเลนั้นมีความเสี่ยง ผู้สังเกตุการณ์แรงงานประมงที่ทำงานอยู่กลางทะเลนั้นอาจตกเป็นเป้าโดนทำร้าย ข่มขู่ หรือในกรณีร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิต ตามข้อมูลจาก สมาคมผู้สังเกตุการณ์อาชีพ หรือ Association of Professional Observers (APO) พบว่าในช่วงปี 2558-2563 แต่ละปีมีผู้สังเกตุการณ์เสียชีวิตปีละ 1-2 คน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไทยยูเนี่ยนจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่มีความสามารถในการให้คำแนะนำแก่บริษัทและรับรองความปลอดภัยให้กับผู้สังเกตการณ์ได้

ทั้งนี้ หลังโครงการเสร็จสิ้น ไทยยูเนี่ยนสามารถต่อยอดผลการตรวจประเมินรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare program) โดยไทยยูเนี่ยนมีความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนามาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการตรวจประเมินเรือประมงกลางทะเล และการประเมินที่ท่าเรือ ซึ่งไม่เพียงแต่กระบวนการตรวจสอบในโครงการนี้เท่านั้น แต่เป็นการยกระดับและผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมประมงให้ดีขึ้น ไทยยูเนี่ยนยังมีแผนที่จะทำการประเมินเรือประมงในท้องทะเลในโครงการพัฒนาอื่น ๆ อีกด้วย โดยไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นผลักดันให้มีการทำประมงที่โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับบริษัทคู่ค้า แสดงถึงความรับผิดชอบและการสนับสนุนให้บริษัทคู่ค้าร่วมพัฒนาไปด้วยกัน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/11/2565

ครม.ไฟเขียว ถอนร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์รัฐวิสาหกิจ

22 พ.ย. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อความรอบคอบและให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

จึงขอนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกลับมาทบทวนและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นตามหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่สังกัดสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จำนวน 35 แห่ง และหัวหน้าศูนย์ประสานงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ประจำจังหวัด จำนวน 53 จังหวัด ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เพื่อคำนึงถึงผลกระทบของลูกจ้างตามหนังสือคัดค้าน สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤติโควิด-19

จึงเห็นชอบที่จะทบทวนบทบัญญัติต่างๆ ในร่างพระราชบัญญัตินี้ เพราะโดยที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ครม.มีมติเห็นชอบไปตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2563 และต่อมาอีก 2 ปี คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องเร่งด่วนให้เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

ต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ลูกจ้างโดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 35 แห่งและศูนย์ประสานงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ประจำจังหวัด 53 จังหวัดทำการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินี้โดยอ้างว่ามีหลักการที่ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างมากกว่ากฎหมายฉบับปัจจุบัน ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญและหลักการสากล

“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมาย ดังนั้นเพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของลูกจ้างจึงจะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกลับมาทบทวนและหารืออีกครั้ง” น.ส.ทิพานัน กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/11/2565

ตม.สงขลาแถลงจับนายหน้าเครือข่ายค้าแรงงานข้ามชาติ พบเงินหมุนเวียนกว่า 16 ล้านบาท

22 พ.ย. 2565 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา พ.ต.อ.ณรงค์ ชนะภัยกุล ผู้กำกับตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา และ พ.ต.ท.พงษ์ศิริ พิทักษ์ สารวัตรตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุม นายอาณัฐ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี ชาวไทย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสงขลา ข้อหาร่วมกันให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้พ้นจากการจับกุมของพนักงานเจ้าหน้าที่

โดยเจ้าหน้าที่ตามไปจับกุมได้ขณะหลบซ่อนตัวที่บ้านพักอาศัยในพื้นที่ อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี หลังจากที่ขยายผลมาจากการจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมืองในท้องที่ สภ.ทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รวมถึงการจับกุมชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง จำนวน 50 คน พร้อมคนนำพา 3 คน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ในพื้นที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โดยต่างให้การซักทอดว่าได้รับการติดต่องานมาจาก นายอาณัฐ ชุดสืบสวนจึงรวบรวมพยานหลักฐานจนกระทั่งศาลอนุมัติหมายจับและจับกุมตัวได้ในที่สุด

จากการสอบสวน นายอาณัฐ รับสารภาพว่าทำหน้าที่เป็นตัวกลางจัดหารถขนแรงงานเมียนมาหลบหนีเข้าเมืองเส้นทาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ - จ.สงขลา ได้ค่าประสานงานครั้งละ 5,000-7,000 บาท นอกจากนี้ยังรับว่ามีสมาชิกในเครือข่ายที่เคยถูก ตม.จังหวัดสงขลา จับกุมไปก่อนหน้านี้จำนวน 8 คน และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบมีเงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคารตั้งแต่ต้นปี 2565 จำนวนกว่า 16 ล้านบาท

ซึ่ง นายอาณัฐ ยอมรับว่าเป็นเงินที่รับโอนจากนายหน้าฝั่งประเทศเมียนมา โอนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการขนแรงงานเถื่อนทั้งค่าจ้างรถ ค่ากินค่าอยู่ ทุกอย่าง

หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจะควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ทุ่งลุง และ ขยายผลว่า นายอาณัฐ ยังมีความเชื่อมโยงคดีนำพาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่เกิดในพื้นที่จังหวัดสงขลาอีกหรือไม่ รวมไปถึงสืบสวนหาตัวผู้ร่วมกระทำความผิดรายอื่นที่มีความเกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/11/2565

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝึก Gig Worker ล็อคเป้าผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีค่าอาหารพร้อมมอบเครื่องมือประกอบอาชีพ เป้าหมายทั่วประเทศ 31,500 คน

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ใช้แนวทางประชารัฐประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะทางของแรงงานอิสระยุค 4.0 (Gig Worker) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ในการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผู้ลงทะเบียนกว่า 13 ล้านราย ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกลุ่ม GIG Worker ที่ทำงานในรูปแบบงานชั่วคราว รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้น เช่น งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ เป็นต้น

โดยมีเป้าหมายดำเนินการฝึกใน 8 กลุ่มอาชีพจำนวนไม่น้อยกว่า 31,500 คน เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ และมอบชุดเครื่องมือทำมาหากินให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการดังกล่าว

นายประทีป กล่าวต่อไปว่า ซึ่ง 8 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ (1) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยียานยนต์/ เครื่องกล (2) กลุ่มอาชีพเกษตรและอาหารแปรรูป (3) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีก่อสร้าง (4) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีดิจิทัล (5) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (6) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมศิลป์ (7) กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ และ (8) กลุ่มอาชีพ เทคโนโลยีงานเชื่อม มีการฝึกอาชีพถึง 38 หลักสูตร เช่น หลักสูตรการการบำรุงเครื่องจักรกลทางการเกษตร หลักสูตรการบำรุงรถจักรยานยนต์ หลักสูตรการทำประตู - หน้าต่างอะลูมิเนียม หลักสูตรเทคนิคการล้างและเคลือบสีรถยนต์ หลักสูตรการเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ หลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้า หลักสูตรช่างแต่งผม หลักสูตรผู้ประกอบอาหารไทย หลักสูตรบาริสต้ามืออาชีพ เป็นต้น

ทุกหลักสูตรจะใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง หรือ 5 วัน ปัจจุบันสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัด เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสำรวจข้อมูลความต้องการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย

“สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมนอกจากมีทักษะอาชีพติดตัวแล้ว ระหว่างการฝึกอบรมมีค่าอาหารให้วันละ 120 บาทอีกด้วย พร้อมกับประสานสำนักงานจัดหางานจังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน เพื่อให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดในการลงทุนต่างๆ และมอบชุดเครื่องมือทำหากินเพื่อการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเอง และครอบครัว เป็นต้น

ผู้สนใจที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถเข้าไปดูรายละอียดและสมัครได้ที่ www.dsd.go.th หรือติดต่อสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือโทรสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดีกพร.กล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 21/11/2565

สำนักงานประกันสังคม เปิดโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประกันสังคมสู่เครือข่าย "บวร"

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นประธานเปิดโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประกันสังคมสู่เครือข่าย “บวร” ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม  เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต กลุ่มผู้นำภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต และอำเภอกะทู้ ให้การต้อนรับ

นายบุญสงค์ กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ร่วมขับเคลื่อนนโยบายของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ได้ให้ความสำคัญในการสร้างหลักประกันทางสังคม และความเสมอภาคทางสังคมเพื่อให้ครอบคลุมการดูแลบริการ และสิทธิประโยชน์ของวัยแรงงานทุกเพศ ทุกวัย เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันชีวิตที่มั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้แก่ประชาชน ซึ่งตนได้มีโอกาสเป็นประธานจัดงาน “โครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประกันสังคมสู่เครือข่าย “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน โรงงาน)

เพื่อขับเคลื่อนโครงการขยายผลการให้ความคุ้มครองแรงงานภาคอิสระสู่ระดับพื้นที่ โดยมีเครือข่ายประกันสังคมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และอำเภอกะทู้ ร่วมเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้ประชาชน แรงงานทุกภาคส่วนได้รับรู้และมีความเข้าใจในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการคุ้มครองในระบบประกันสังคม

พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานภาคอิสระอาชีพอื่นๆ สมัครเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต ได้สนับสนุนกลุ่มเครือข่าย “บวร” ผ่านผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน คณะสงฆ์ สถานศึกษา และสถานประกอบกิจการ โดยมีกลุ่มสมาชิก บ้าน จำนวน 381 ราย วัด จำนวน 53 ราย โรงเรียน จำนวน 92 ราย โรงงาน จำนวน 3,991 ราย รวมทั้งสิ้น 4,517 ราย

นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า สำนักงานประกันสังคม พร้อมให้การสนับสนุนเกี่ยวกับสวัสดิการภาครัฐ ด้านการประกันสังคมให้แรงงานภาคอิสระเข้าถึงการมีหลักประกันความคุ้มครองทางสังคม และยังเป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในระดับพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนสนับสนุนการให้บริการประชาชน ได้มีหลักประกันความคุ้มครองประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและการบริการของจังหวัดภูเก็ตต่อไป

ที่มา: TNN, 21/11/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net