Skip to main content
sharethis

ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้นายจ้างรับเหมาก่อสร้างอาคารโรงเรียนจากรัฐ จ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระให้แก่แรงงานข้ามชาติ 6 ราย จำนวน 35,260 บาท ทนายชี้ กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างขาดหลักการสำคัญในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการจัดซื้อจัดจ้างฯ ของภาครัฐ และยังมีกรณีแรงงานข้ามชาติอีกหลายรายต้องประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานในโครงการของรัฐ แต่นายจ้างไม่สามารถทำให้แรงงานเข้าถึงการเยียวยาภายใต้พระราชบัญญัติเงินทดแทนได้

 

25 พ.ย. 2565 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) รายงานว่า จากกรณีที่แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา จำนวน 6 ราย ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 ว่านายจ้างซึ่งประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างได้ว่าจ้างให้ลูกจ้างทั้ง 6 คน เข้าทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง ณ สถานที่ก่อสร้างอาคารโรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดพังงา โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ช่วงมกราคม-มีนาคม 2565

เมื่อครบกำหนดการจ่ายเงินค่าจ้าง นายจ้างยังค้างจ่ายค่าจ้างของแรงงานทั้ง 6 คน รวมเป็นเงิน 35,260 บาท แม้แรงงานพร้อมด้วยตัวแทนมูลนิธิ HRDF จังหวัดพังงา จะได้เข้าพบนายจ้างเพื่อทวงถามและนายจ้างตกลงจ่ายโดยการผ่อนชำระเป็นงวดจำนวน 4 งวด แต่นายจ้างไม่จ่ายตามที่ตกลงกัน  

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว พนักงานตรวจแรงงานจึงได้มีคำสั่งเลขที่ 9/2565 ลงวันที่ 1 ก.ค. 2565 ให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ นายจ้างได้รับทราบคำสั่งแล้วแต่ไม่ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลภายใน 30 วัน ทำให้แรงงานทั้ง 6 คน ยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานภาค 8 ขอให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน  

วันที่ 28 ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาคดีแต่นายจ้างขาดนัด ศาลจึงพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว พิพากษาให้นายจ้างชำระเงินค้างจ่ายแก่แรงงานข้ามชาติ 6 ราย เป็นเงิน 35,260 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 2 มี.ค. 2565 ให้แก่โจทก์ที่ 1-2 และให้แก่โจทก์ที่ 3-6 นับแต่วันที่ 21 มี.ค. 2565 จนกว่าจะชำระแสร็จแก่โจทก์ทั้งหกคน

กฤษดา สัญญาดี ทนายความ จากมูลนิธิ HRDF ได้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติ เข้าสู่ระบบการจ้างงานในกิจการรับเหมาก่อสร้างที่นายจ้างได้งานจากโครงการก่อสร้างอาคารของรัฐที่ต้องผ่านกระบวนการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยมาตรา 8 นั้นได้กำหนดไว้เพียงว่า การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐนั้นต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และสอดคล้องกับหลักการคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและตรวจสอบได้ในกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างฯ  

กฎหมายดังกล่าวยังคงขาดหลักการสำคัญในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการจัดซื้อจัดจ้างฯของภาครัฐ ซึ่งได้มีกรณีศึกษาที่มีการใช้แรงงานข้ามชาติในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ พบว่า มีแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติทั้ง 6 คนนี้ ซึ่งยังไม่รวมกรณีที่มีแรงงานข้ามชาติอีกหลายรายต้องประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานในโครงการของรัฐแต่นายจ้างยังไม่สามารถทำให้แรงงานเข้าถึงการเยียวยาภายใต้พระราชบัญญัติเงินทดแทน

รัฐควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวในส่วนที่ให้ภาครัฐมีหน้าที่ในการตรวจสอบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อองค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจที่ได้ประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจัดจ้างฯของภาครัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net