สัมผัสวิถีชนเผ่าม้งเชียงดาว...ตามหาปราชญ์ช่างตีมีดและคนเป่าเฆ่ง EP2

สัมผัสวิถีชนเผ่าม้งเชียงดาว...ตามหาปราชญ์ช่างตีมีดและคนเป่าเฆ่ง EP1
สัมผัสวิถีชนเผ่าม้งเชียงดาว...ตามหาปราชญ์ช่างตีมีดและคนเป่าเฆ่ง EP2

ภูมิปัญญาชนเผ่าม้ง ที่น่าสนใจอีกอันหนึ่ง นั่นคือ เฆ่ง หรือแคนม้ง ว่ากันว่าท่วงทำนองของเฆ่งนั้นคือบทลำนำชีวิตและจิตวิญญาณ   

พ่อเฒ่าไซตุ๊ แซ่หาง นอกจากจะเป็นปราชญ์ชาวม้งเรื่องการตีมีดแล้ว พ่อเฒ่ายังถือว่าเป็นปราชญ์เรื่อง เฆ่ง หรือแคนม้ง อีกด้วย พอเสร็จจากการตีมีด พ่อเฒ่าไซตุ๊ ชอบมานั่งผ่อนคลายตรงลานดินหน้ากระท่อมไม้ไผ่ของเขา พอหายเหนื่อย อารมณ์ดี พ่อเฒ่าลุกเข้าไปในกระท่อม แล้วหยิบ ‘เฆ่ง’ แคนม้ง ออกมาเป่าด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลและเศร้า

การเป่าเฆ่ง (Qeej) หรือแคนม้ง นี้ ผู้เป่าจะต้องลุกขึ้นเต้นไปตามจังหวะทำนอง เยื้องย่างไปมาด้วย พ่อเฒ่าไซตุ๊ บอกว่า การเป่าเฆ่ง นี้ มันจะเป็นเหมือนบทเพลง คนม้งที่คุ้นเคย จะรู้ว่านี่คือเพลงอะไร บางครั้งเป็นเพลงที่มีความสุข สนุกสนาน บางครั้งก็เป็นเพลงเศร้า ใช้สำหรับเป่าในงานศพของชาวม้งกัน

เช่นเดียวกัน ที่หมู่บ้านห้วยลึก ก็มีปราชญ์ชาวม้งอีกคนหนึ่ง ที่ถือว่ามีทักษะในด้านการเป่าเฆ่ง แคนม้ง มากอีกคนหนึ่ง หมู่บ้านห้วยลึก เป็นชุมชนชนเผ่าม้งที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอเชียงดาว ที่อยากให้ทุกคนได้ไปเยือนกัน เป็นชุมชนที่หาไม่ยาก เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 107 ของถนนโชตนา สายเชียงใหม่-ฝาง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 95 อยู่ใกล้ๆ กับ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกนั่นเอง                             

ตรงปากทางเข้าหมู่บ้านห้วยลึก เป็นตลาดม้ง ที่นักเดินทาง นักท่องเที่ยวผ่านไปมาบนถนนสายนี้ จะต้องแวะเข้าไปเยี่ยมชมและเลือกซื้อ เพราะตลาดม้งแห่งนี้ มีพืชผัก ผลไม้ สินค้า อาหารที่เสาะหาได้จากป่า จากสวนจากไร่ของชาวบ้าน นำมาวางขายกันตามเพิงอย่างง่ายๆ จนกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้คนเข้ามาเที่ยวซื้อกันอย่างต่อเนื่อง                                 

เมื่อเดินเข้าไปในหมู่บ้าน จะมองเห็นวิถีชีวิตของชาวม้ง ส่วนใหญ่ยังคงใช้วิถีชีวิตกันเรียบง่าย บางครอบครัวยังผ่าฟืน ก่อไฟ ทำอาหารกันจนควันลอยฟุ้งไปทั่ว แม้ว่าบางครอบครัวนั้นเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายๆ กับคนเมืองทั่วไปมากขึ้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่ได้ทุกคนสัมผัสได้ คือ เสียงเฆ่ง หรือแคนม้ง กำลังดังกังวาน ที่พ่อเฒ่าซือลื่อ เลาหาง ปราชญ์ชาวม้งบ้านห้วยลึก กำลังนั่งอยู่ตรงลานดินหน้ากระท่อม

ท่วงทำนองของ ‘เฆ่ง’ นั้นดังก้องกังวาน เป็นเสียงดนตรีที่แฝงเจือความเศร้า ผ่านลำไม้ไผ่โค้งงอเรียวยาวหกลำ ทำให้หลายคนได้ยินได้ฟังต้องหยุดนิ่งฟัง

“จริงๆ แล้ว เครื่องดนตรีของม้งนั้นมีหลายอย่าง อย่างเช่น ปี่ ภาษาม้ง เรียกว่าซ่าม อีกอันหนึ่งก็จะใช้ดีดเอา เหมือนซึง แล้วก็มีแคนม้ง ภาษาม้งเรียกกว่า เฆ่ง” พ่อเฒ่าซือลื่อ บอกเล่าให้ฟัง    

‘เฆ่ง’ หรือแคนม้ง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องดนตรีที่มีคุณค่าต่อชีวิตและจิตวิญญาณของพี่น้องชนเผ่าม้งมาเนิ่นนานตั้งแต่บรรพบุรุษสืบต่อกันมา

“เฆ่ง หรือแคนม้งแบบดั้งเดิมจะทำด้วยไม้ไผ่ เฮาเรียกไม้ไผ่นี้ว่า ไม้ดัง เพราะเวลาเอามาเป่าแล้วมันมีเสียงดัง เอาไม้อย่างอื่นมาทำก็ไม่ดัง” พ่อเฒ่าซือลื่อ หยิบเอาเฆ่ง ที่ทำด้วยลำไม้ไผ่โค้งงอนั้นยื่นให้เราดู เมื่อสอบถามความเป็นมาของแคนม้ง พ่อเฒ่าซือลื่อ บอกว่า พอจำความได้ ก็เห็นคนเฒ่าคนแก่เขาเป่าเฆ่งกันแล้ว ก็มีการสืบทอดกันมาแบบนี้ ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายกันมาแล้ว

พ่อเฒ่าซือลื่อ เลาหาง ปราชญ์ชาวม้งบ้านห้วยลึก

“อย่างเฮานี่เรียนมาจากลุง พี่ชายของพ่อสอนมา ตอนนั้นจำได้ว่าตัวเองยังเป็นเด็กประมาณ 10 ขวบ” พ่อเฒ่าซือลื่อ บอกเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี                                                 

พ่อเฒ่าบอกว่า ตอนเล็กๆ ต้องใช้เวลาฝึกนานพอดู กว่าจะมาเป็นเพลงอย่างนี้ ก็เหมือนเด็กเรียนหนังสือเหมือนกัน มันเรียนยังไงก็ไม่จบ                                            

“อย่างคนไทยเขาเรียนจบดอกเตอร์กัน แต่เรียนเป่าเฆ่ง เรื่องแคนม้งนี่เรียนไม่มีวันจบ”                         

พ่อเฒ่าซือลื่อ เป็นปราชญ์ชาวม้ง และยังใช้เวลาเป็นครูถ่ายทอดความรู้เรื่องการเป่าเฆ่งให้กับเด็กๆ เยาวชน ลูกหลานชาวม้งอยู่ เพราะเขามีความมุ่งหวังว่า ต้องหาคนสืบทอดเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป                              

“คือถ้าเราไม่สอน ไม่มีคนเฒ่าสอนเขาแล้ว เด็กม้งเขาก็จะทำไม่ได้ วัฒนธรรมม้งของเราก็จะหายไป ยิ่งถ้าเป็นงานศพ ถ้าไม่มีใครเป่าเฆ่งตัวนี้ ก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว”

นอกจากพ่อเฒ่าซือลื่อ จะสอนเป่าเฆ่ง ในบ้านของตัวเอง เวลาเย็น บางวันก็ไปเป็นครูชาวบ้าน ไปสอนให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนมิตรมวลชน บ้านห้วยลึก ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มเด็กชาวม้งทั้งนั้นเลย       

“เป่าเฆ่ง นี่มันเป็นบทเพลงนะ มันมีบทกวีอยู่ในตัวเลยนะ” พ่อเฒ่าซือลื่อ เอ่ยออกมาด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

เฆ่ง ถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของชนเผ่าม้งเลยก็ว่าได้ เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการประกอบในพิธีศพและในพิธีที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว รวมทั้งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้นันทนาการผ่อนคลายได้อีกด้วย เสียงเพลงที่แว่วมาอย่างโหยหวน แสดงความสูญเสีย ที่สลับซับซ้อนนั้นเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ตายกับลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่

เสียงเฆ่งที่แว่วออกมาล้วนมีความหมายสอดแทรกบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กับดวงวิญญาณได้รับรู้ เช่น ให้เขารู้ว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ให้กลับมาทานข้าวเช้า มาทานข้าวเที่ยง มาทานข้าวเย็น ให้ผู้ตายนั้นรับรู้สิ่งต่างที่ลูกหลานมอบให้ ให้ผู้เสียชีวิตนั้นมีความสุขในภพต่อ ๆ ไป ให้เดินทางไปพบบรรพชนของตนเองได้

ดังนั้น ชนเผ่าม้งจึงถือว่าหากงานศพใดไม่มีการแสดงเฆ่ง (Qeej) งานศพนั้นก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะดวงวิญญาณไม่สามารถไปสู่สุคติได้ นอกจากนี้ เฆ่งยังสามารถนำไปแสดงงานรื่นเริงทั่วไปได้เช่นกัน จะพบได้มากที่สุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ม้ง และยังเป็นการแสดงเพื่อต้อนรับบุคคลสำคัญหรือแขกบ้านแขกเมืองได้อีกด้วย

สัมผัสวิถีวัฒนธรรมชนเผ่า ผ่านงานปีใหม่ม้ง

อีกมนต์เสน่ห์ของชนเผ่าม้ง นั่นคือประเพณีปีใหม่ม้ง นั่นเอง หากใครมาเยือนเชียงดาวในหน้าหนาว นอกจากจะได้สัมผัสความงามของธรรมชาติของผืนป่าอันอุดมของดอยหลวงเชียงดาว และต้นกำเนิดของแม่น้ำปิงกันแล้ว วิถีวัฒนธรรม ประเพณีของชนเผ่า ก็ถือเป็นมนต์เสน่ห์ที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมกันได้ในแต่ละปี

ประเพณีปีใหม่ม้ง เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของอำเภอเชียงดาวได้เป็นอย่างดีและถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของพี่น้องชาวม้ง ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี หลังจากมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย ว่ากันว่า เป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวนั้นจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า ผีป่า และผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง ดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย

แต่เดิมนั้น จะมีการจัดขึ้นในแต่ละหมู่บ้าน โดยมีการฉลองกันตามวัน เวลา ที่สะดวกของแต่ละชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดกันในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี แต่ในปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยน มีการรวมพี่น้องชนเผ่าม้ง จากหลายๆ หมู่บ้าน โดยมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามแต่ละหมู่บ้านที่มีความพร้อม

เมื่อปีก่อนๆ ได้มีการจัดงานประเพณีปีใหม่ม้ง ขึ้นที่บ้านม้งแม่มะกู้ ตั้งอยู่บริเวณถนนสายปิงโค้ง-พร้าว ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพี่น้องชนเผ่าม้ง จากหลายหมู่บ้าน หลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เดินทางเข้ามาร่วมงานกันอย่างคับคั่งนับพันคน ทำให้บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยผู้คนที่แต่งกายชุดประจำเผ่ากันอย่างงดงาม

สมโภชน์ ดำรงไพรวัลย์ ชาวบ้านชนเผ่าม้งบ้านแม่มะกู้ และเป็นแกนนำในการจัดงานปีใหม่ม้ง บอกว่า ปกติจะจัดขึ้นกันทุกปี โดยที่ผ่านมา ทางเครือข่ายม้งเชียงใหม่ จะมีการหมุนเวียนกันจัดงานปีใหม่ม้ง ตามหมู่บ้าน อำเภอต่างๆ ในแต่ละปี โดยมีการแบ่งเป็นโซนเหนือ โซนใต้

“เชียงดาวเราจะอยู่ในโซนเหนือ ร่วมกับหมู่บ้านม้งในพื้นที่อำเภอแม่แตง และพร้าว ปีใหม่ม้ง ตอนนั้นมีพี่น้องม้ง มาร่วมงานกันนับพันคน กลายเป็นงานใหญ่ไปเลย กิจกรรมครั้งนี้ นอกจากเราจะได้งบสนับสนุนจากเครือข่ายม้งแห่งประเทศไทยแล้ว แล้วยังได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลปิงโค้ง และทาง อบจ.เชียงใหม่อีกด้วย”

ประเพณีปีใหม่ม้ง หรือที่ชาวม้งเรียกกันว่า "น่อเป๊โจ่วฮ์" แปลตรงตัวได้ว่า "กินสามสิบ" สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้น ในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย (เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม

ในวันดังกล่าว หัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่างๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง เป็นต้น

การเล่นลูกช่วง หรือที่คนม้ง เรียกกันว่า "จุเป๊าะ" นั้นถือว่าเป็นการละเล่นเพื่อฉลองวันปีใหม่ม้งโดยเฉพาะ เลยทีเดียว ลูกช่วง นั้นจะมีลักษณะกลมเหมือนลูกบอลทำด้วยเศษผ้า มีขนาดเล็กพอที่จะถือด้วยมือข้างเดียวได้ การละเล่นลูกช่วง จะแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย โดยที่ก่อนจะมีการละเล่น ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่เอาลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย หรือญาติๆของฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่นำลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย เมื่อตกลงกันได้ก็จะทำการโยนลูกช่วงโดยฝ่ายหญิง และฝ่ายชายแต่ละฝ่ายจะยืนเป็นแถวหน้า กระดานเรียงหนึ่ง หันหน้าเข้าหากันมีระยะห่างกันพอสมควร แล้วโยนลูกช่วงให้กันไปมาและสามารถทำการสนทนากับคู่ที่โยนได้

"เขาโยนลูกช่วงกันไปมาทำไมเหรอ" นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นมักจะตั้งคำถามแบบนี้

"ก็เพื่อความสนุกสนาน แล้วหนุ่มสาวยังจะได้มีเวลาคุยกัน จีบกันไปด้วย" หนุ่มม้งบ้านแม่มะกู้ บอกอย่างนั้น

ว่ากันว่า การเล่นลูกช่วง นั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของหนุ่มสาวชาวม้ง เพราะนี่เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวชาวม้งได้รู้จักกัน เพื่อมิตรภาพที่ดีต่อกัน และที่สำคัญ ถ้าหนุ่มสาวพึงใจชอบพอกันแล้ว ก็นำไปสู่การแต่งงานกันในอนาคตได้

การเล่นลูกช่วง หรือ "จุเป๊าะ" เป็นการละเล่นเพื่อฉลองวันปีใหม่ม้ง

สมโภชน์ บอกเล่าให้ฟังว่า แม่หญิงม้ง ที่แต่งงานแล้ว เขาจะห้ามไม่ให้เล่นลูกช่วงอีก เพราะถือว่าผิดธรรมเนียมของม้ง แต่ฝ่ายชาย สามารถเล่นได้ แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายหญิงจะทำการยินยอมเล่นกับตนหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิงสาวคนนั้น

จุดเด่นของชนเผ่าม้ง ที่เราพบเห็น ทั้งหญิงและชาย ต่างพากันสวมชุดประจำเผ่ากันทุกคน ด้วยเครื่องแต่งกายอันวิจิตรงดงาม ซึ่งแต่เดิมนั้นจะนิยมสวมใส่เสื้อสีดำแขนยาว ปลายแขนเสื้อจะมีการปักลวดลายอย่างสวยงาม ขอบแขนเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยผ้าที่ต่างสีจากตัวเสื้อ นั้นคือจะเป็นผ้าสีฟ้า ขาว เหลือง เป็นต้น ส่วนด้านหน้าของตัวเสื้อ จะมีการปล่อยสาบเสื้อปักเป็นลวดลายอย่างสวยงาม ด้านหลังเสื้อจะมีปกเสื้อที่ปักเป็นสีสันลวดลาย ต่างๆไว้ด้านหลัง นิยมโชว์ด้านที่ปักไว้ด้านนอก ผู้หญิงม้งดำไม่นิยมใส่กางเกง ส่วนมากแล้วนิยมใส่กระโปรงมากกว่า พร้อมกับใช้ผ้าพันน่องขาไว้ด้วย

แต่งานปีใหม่ม้ง ในปัจจุบัน เราจะมองเห็นว่า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของหญิงม้งนั้นเริ่มมีหลากหลายสีสัน ทั้งเสื้อ กระโปรง เต็มไปด้วยสีที่ฉูดฉาด สดใส มีทั้งสีแดง ชมพู แสด เขียว ฟ้า ม่วง เหมือนกับการเป็นงานแฟชั่นของชนเผ่าไปเลยก็ว่าได้

นั่นทำให้ผู้ศึกษาวิถีชนเผ่าหลายคนเริ่มสับสนกันไปบ้าง เพราะแต่เดิม ชุดแต่งกายชนเผ่าม้ง นั้นสามารถบ่งบอกและแยกกลุ่มระหว่างม้งขาวกับม้งดำได้อย่างชัดเจน แต่ตอนนี้จึงแยกไม่ออกกันแล้ว นั่นจึงไม่แปลกใจเลยว่า ปีใหม่ม้งครั้งนี้ จึงมองเห็นสาวชาวม้งสวมใส่ชุดแต่งกายหลากสี ใส่รองเท้าหุ้มส้นสูง สวมแว่นตาดำ กางร่มกันแสงแดดจ้า บางคนถือโทรศัพท์มือถือเดินถ่ายรูปกันไปมาบนลานดินกว้าง ทำให้สัมผัสได้ว่า งานนี้มีทั้งความงามและความเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจริงๆ

ถัดไปบนลานดินใกล้ๆ กัน มองเห็นหนุ่มม้งหลายสิบคน กำลังยืนล้อมรอบกันเป็นวง ข้างในลาน กำลังมีการแข่งขันเล่นลูกข่าง หรือที่ชาวม้ง เรียกกันว่า "เดาต้อลุ" เป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่นิยมเล่นกันในวันขึ้นปีใหม่ของม้ง เป็นการละเล่นสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ

การเล่นลูกข่างในโอกาสเช่นนี้จะแยกเล่นเป็นวงผู้ใหญ่และวงเด็ก การละเล่นชนิดนี้ ก็เพื่อความสนุกสนานสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยกัน                  

หนุ่มชนเผ่าม้ง กำลังโชว์ลีลาการเล่นลูกข่าง

เมื่อหันไปมองข้างบนเวทีนั้น หญิงสาวม้งจากหลายหมู่บ้าน กำลังสับเปลี่ยนกันขึ้นไปเต้นรำประจำเผ่า ซึ่งการแสดงเต้นรำในเทศกาลปีใหม่ม้ง จะมีหลายรูปแบบและเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าม้ง เช่น การรำกระด้ง ว่ากันว่าเป็นการสื่อถึงเครื่องมือเครื่องใช้ของม้ง ซึ่งอดีตนั้นม้งนิยมใช้กระด้งในการฝัดข้าว หรือยังใช้กระด้งเป็นอุปกรณ์ในการทำขนมม้งอีกด้วย ซึ่งถือว่า กระด้งนั้นมีความสำคัญในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น ยังมีการรำเก็บใบชา ซึ่งจะมีการแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ม้ง และวันสำคัญต่างๆเท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของม้ง ซึ่งอดีตม้งนิยมเก็บใบชานำมาต้มเป็นน้ำชาดื่มในชีวิตประจำ ม้งจึงได้มีการรำลึกถึงคุณค่าของใบชา เป็นต้น

ในงานประเพณีปีใหม่ม้ง สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ "การเป่าขลุ่ยม้ง" จะแสดงในงานเทศกาลและวันสำคัญอื่นๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องดนตรีของม้ง และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของม้ง ซึ่งขลุ่ยนั้นเป็นเครื่องดนตรีคู่กายของชายม้งเลยทีเดียว ว่ากันว่า ในอดีตนั้น ชายม้งจะไม่ค่อยกล้าที่จะบอกรักสาว ดังนั้น จึงต้องอาศัย ขลุ่ยเป็นสื่อในการบอกรักสาว

พ่อเฒ่าชาวม้งกำลังเป่าขลุ่ย

จะเห็นได้ว่า ประเพณีใหม่ม้ง ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น ได้ช่วยสร้างสีสัน มีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองเชียงดาวให้คึกคักอีกครั้ง ซึ่งนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานนั้น นอกจากจะได้รับทั้งความเพลิดเพลินใจแล้ว ยังได้เรียนรู้ในวิถีชนเผ่าไปพร้อมๆ กันอีกด้วย รวมไปถึงการอนุรักษ์ส่งเสริมให้มีการรื้อฟื้นการตีมีด หรือการถ่ายทอดความรู้เรื่องการเป่าเฆ่ง หรือแคนม้ง เหล่านี้ล้วนคือคุณค่าทางวัฒนธรรมชนเผ่าม้ง ที่น่าส่งเสริมกันทั้งสิ้น

สมโภชน์ ดำรงไพรวัลย์ ชาวบ้านชนเผ่าม้งบ้านแม่มะกู้

และแน่นอน การจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบนี้ เป็นสิ่งที่รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรหันมาสนับสนุนและส่งเสริมกันอย่างจริงจัง เพราะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเช่นนี้ ไม่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลเพื่อลงทุนอะไรมากมายเลย เพราะทุกอย่างล้วนฝังอยู่ในรากเหง้า วิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชนเผ่าพื้นเมืองอยู่แล้วนั่นเอง

“ใช่แล้ว จริงๆ หมู่บ้านชนเผ่าม้ง ทั้ง 3 หมู่บ้านในเชียงดาว เราสามารถทำเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวได้เลยนะ ถ้าผู้นำชุมชนเข้าใจและให้ความสำคัญกันจริงจัง เพราะเรามีวัฒนธรรมประเพณีหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ อย่างเมื่อก่อน เคยมีพี่น้องม้งมีอาชีพเป็นไกด์ ชอบพานักท่องเที่ยว พาฝรั่งมาเที่ยว มากินมานอนบ้านพี่น้องม้ง ฝรั่งเขารู้สึกชอบใจ ประทับใจกันมาก” สมโภชน์ ดำรงไพรวัลย์ ชาวบ้านชนเผ่าม้งบ้านแม่มะกู้ บอกเล่าในตอนท้าย.

 

           

ข้อมูลประกอบ

  • วิถีชนคนปิงโค้ง,วารสารเทศบาลตำบลปิงโค้ง,ฉบับที่ 2,ปีที่ 1 กันยายน-พฤศจิกายน 2556
  • ฐานข้อมูล เรื่อง ชนเผ่าม้ง อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร,กำแพงเพชรศึกษา, สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, https://acc.kpru.ac.th
  • พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์
  • ภู เชียงดาว,ม้งเชียงดาว คนเป่าเฆ่งและตีเหล็ก,นิตยสารสารคดี ฉบับมกราคม 2565

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท