สุรพศ ทวีศักดิ์: ทำไมรัฐไทยและพุทธไทยปฏิเสธเสรีภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กรณีตำรวจใช้กระสุนยางสลายการชุมนุมม็อบราษฎรหยุดเอเปค เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ดวงตาขวาของ “พายุ ดาวดิน” อาจสูญเสียการมองเห็น เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในร้อยพันตัวอย่างที่รัฐไทยใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างปราศจากอาวุธ อันเป็นการใช้เสรีภาพพื้นฐานตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ความรุนแรงของรัฐต่อการใช้เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก หรือการชุมนุม และ/หรือทัศนคติระแวงหรือกลัวการใช้เสรีภาพในเรื่องดังกล่าวที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย และในสถาบันการศึกษา ตั้งแต่ประถมยันมหาวิทยาลัย สะท้อน “ทัศนคติปฏิเสธเสรีภาพ” อย่างมีนัยสำคัญที่น่าตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์ให้มากขึ้น 

อันที่จริงทัศนคติที่ระแวงหรือปฏิเสธเสรีภาพ เป็นประวัติศาสตร์ของทุกสังคมในโลก การยอมรับ เคารพ และอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก และการชุมนุมเป็นวัฒนธรรมของสังคมเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่าสังคมที่เห็นคุณค่าของเสรีภาพ คือสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงความคิดและโครงสร้างทางการเมืองจากเผด็จการอำนาจนิยมมาเป็นประชาธิปไตย

การเปลี่ยนแปลงความคิดในสังคมตะวันตกจากเผด็จการอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ เป็นผลของการปะทะระหว่างศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ คือศาสนาสร้างระบบการเมืองการปกครองเผด็จการโดยอำนาจเทวสิทธิ์มายาวนานตลอดยุคกลาง การเปลี่ยนแปลงจึงต้องยกเลิกระบบการเมืองแบบศาสนา 

แต่จะเอาศาสนาออกไปจากความเชื่อของผู้คนและจากวัฒนธรรมทางสังคมย่อมไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องตีความคำสอนศาสนาใหม่ โดยไปดูว่าคำสอนที่เป็นสาระสำคัญของศาสนาที่มีความหมายเชิง “ปลดปล่อย” (liberate) มนุษย์จากการกดขี่มีอยู่บ้างไหม ถ้ามีจะตีความอย่างไรจึงจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสรีภาพทางการเมือง และเสรีภาพปัจเจกบุคคลได้มากขึ้น

เมื่อไปดูคำสอนศาสนาคริสต์ นักคิดตะวันตกก็พบความหมายที่ว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มี “เจตจำนง” หรือ “will” ไอเดียพื้นฐานนี้จึงสำคัญมาก เพราะเมื่อมนุษย์มี will เป็นของตนเอง will ของแต่ละคนย่อมจะ free หรือเสรี ดังนั้น เจตจำนงเสรีจึงเป็นธรรมชาติหรือ nature ของมนุษย์ การที่ free will เป็น nature ของมนุษย์ ย่อมหมายความว่าเป็น “ตัวตนที่แท้จริง” (real self) ของมนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนี้เจตจำนงเสรีจึงแบ่งแยกไม่ได้หรือถูกพรากไปจากความเป็นมนุษย์ไม่ได้ 

ถ้าพระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีเจตจำนงเสรี และเจตจำนงเสรีก็เป็นธรรมชาติ หรือตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ อำนาจเผด็จการของศาสนจักรและระบบกษัตริย์ ก็ย่อมขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ และขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้าด้วย ดังนั้น การตีความว่าพระเจ้าทรงมอบอำนาจเทวสิทธิ์แก่โป๊ปและกษัตริย์จึงผิด ที่ถูกคือพระเจ้ามอบสิทธิตามธรรมชาติแก่มนุษย์ และมอบหมายให้มนุษย์มีหน้าที่ปกป้องรักษาสิทธิตามธรรมชาติของตนเองและของกันและกันต่างหาก 

จากนั้นนักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ก็ตีความ “เสรีภาพ” แตกต่างหลากหลายมุมมอง แต่รากฐานก็คือการยอมรับ หรือยืนยันว่ามนุษย์มี “will” เป็นของตนเอง ส่วน will จะมี free หรือมีเสรีภาพในแง่ไหนอย่างไรบ้าง นักคิดต่างๆ ก็ถกเถียงกันไป ทว่าพื้นฐานเลยก็คือ เราแต่ละคนต้องมีเจตจำนงอิสระทางความคิดเห็น ทางศีลธรรม ทางการเมือง และการใช้ชีวิตส่วนตัวแบบใดๆ ก็ได้ ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่น

ถ้าเปรียบเทียบ จะเห็นว่ามุมมองแบบพุทธไทย "แยกศีลธรรมจากเสรีภาพ" และยืนยันว่า “ศีลธรรมสำคัญกว่าเสรีภาพ” ทั้งระแวงว่าการมีเสรีภาพมากทำให้คนละเมิดหลักศีลธรรม ดังนั้น การใช้เสรีภาพจึงต้องมีศีลธรรมกำกับเสมอ (พุทธทาสเน้นประเด็นนี้มาก)

แต่ความคิดปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ “ไม่แยกศีลธรรมกับเสรีภาพออกจากกัน” และไม่ได้เสนอไอเดียเสรีภาพขึ้นมาแบบโดดๆ แต่เสนอไอเดียเสรีภาพที่สัมพันธ์กับคุณค่าพื้นฐานอื่นๆ ด้วยเสมอ เช่น รุสโซเสนอว่าเสรีภาพคือรากฐานของศีลธรรม สิทธิ และหน้าที่ของมนุษยชาติ ปราศจากเสรีภาพศีลธรรมมีไม่ได้

คานท์เสนอว่า "เสรีภาพ ศีลธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นคนแยกจากกันไม่ได้" มนุษย์มีศีลธรรมและมีศักดิ์ศรีได้ ก็ต่อเมื่อเขาใช้เสรีภาพบัญญัติกฎศีลธรรมขึ้นใช้กับตนเองและใช้ร่วมกับทุกคนได้ เรามีศักดิ์ศรีความเป็นคน เพราะเรามีเสรีภาพที่จะคิด จะพูด หรือเสนออะไรต่างๆ ได้ และบัญญัติกฎกติกาต่างๆ ขึ้นมาใช้ร่วมกันได้

มิลล์ถือว่าเสรีภาพคือพื้นที่เพื่อความเติบโตของปัจเจกบุคคล ประโยชน์สุขส่วนรวม และความก้าวหน้าของมนุษยชาติ และรอลส์ยืนยันว่าเสรีภาพเป็นหลักความยุติธรรมสาธารณะของสังคมประชาธิปไตย เป็นต้น ดังนั้น เสรีภาพจึงมีคุณค่ามาก เป็นประเด็นพื้นฐานในการถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญาศีลธรรมและปรัชญาการเมืองสมัยใหม่

แน่นอนว่า กว่าที่สังคมไหนๆ จะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันเสรีภาพได้ และกว่าที่วัฒนธรรมทางความคิดของสังคมนั้นๆ จะให้คุณค่ากับการปกป้องรักษาเสรีภาพแบบจริงจัง ก็ย่อมต้องผ่านประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอื่นๆ สารพัด แต่ที่สำคัญก็คือสังคมนั้นๆ มีมรดกทางภูมิปัญญาแบบไหนที่ให้ “รากฐาน” หรือเป็นเชื้อให้เสรีภาพงอกเงยและเติบโตแข็งแรงขึ้นมาได้

สังคมไทยอยู่กับศาสนาพุทธ พราหมณ์ ผีมาหลายศตวรรษ (เหมือนสังคมตะวันตกอยู่กับคริสต์ศาสนามายาวนาน) ภูมิปัญญาพุทธ พราหมณ์ ผีจึงเป็นรากฐานของเรา ที่ว่าเป็น “รากฐาน” หมายความว่า ความคิดความเชื่อแบบพุทธ พราหมณ์ ผีอยู่ในหัวของเราแต่ละคนไม่มากก็น้อย อยู่ในประเพณีวัฒนธรรมทางสังคม ในศิลปวรรณกรรม ละครหลังข่าว ในระบบการศึกษาของรัฐ โดยเฉพาะอยู่ในระบบการเมืองการปกครองแบบกษัตริย์ธรรมราชา เทวราชา สมมติเทพ โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัวที่ “ปกครองโดยธรรม” มายาวนาน จึงทำให้ต้องบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่ากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ 

คำถามสำคัญคือ ในภูมิปัญญาแบบพุทธ พราหมณ์ ผีนิยามความหมายของ “ความเป็นมนุษย์” อย่างไร ในความเป็นมนุษย์มีเจตจำนงเสรีหรือไม่ ตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์คืออะไร หรือว่า “nature” ของมนุษย์เป็น “อนัตตา” ไม่มีตัวตน จึงไม่มีอะไรเป็นรากฐานของเสรีภาพ?

ปราชญ์พุทธอธิบายว่า มนุษย์มี “โพธิปัญญา” หรือปัญญารู้แจ้งเป็นศักยภาพที่สามารถฝึกฝนพัฒนาให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้ ซึ่งการหลุดพ้นหมายถึงมี “เสรีภาพทางจิต” ที่เรียกในภาษาบาลีว่า “วิมุติ” แต่เสรีภาพทางจิตถูกตีความสนับสนุนเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก หรือถูกตีความสนับสนุนเสรีภาพทางการเมือง และเสรีภาพปัจเจกบุคคลในสังคมสมัยใหม่หรือไม่ อย่างไร

อย่างที่เราเห็น ประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนายุคกลางก็กดขี่รุนแรงมาก แต่การที่คริสต์ปะทะกับปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ก็ทำให้เกิดการตีความคริสต์สนับสนุนแนวคิดเสรีภาพ และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพได้ พุทธไทยเองตั้งแต่ยุคอาณานิคมเป็นต้นมา ก็ปะทะกับวิทยาศาสตร์และความคิดปรัชญาตะวันตกมาตลอด เฉพาะหลังการปฏิวัติสยาม 2475 ถึงปัจจุบันก็เกือบศตวรรษแล้ว แต่ทำไมพุทธไทยยังเน้นย้ำแนวคิดเสรีภาพทางจิตที่เชื่อมโยงกับการเน้นเรื่อง “คนดี-คนชั่ว” ภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นด้านหลัก   

หากดูงานของปัญญาชนพุทธร่วมสมัย จะพบว่าเรายังคิดแบบยุค ร. 4 - 6 อยู่เลย คือคิดว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาตะวันตกก็แค่ “ความจริงทางโลก” หรือ “ความจริงระดับ “สมมติสัจจะ” ความจริงแบบพุทธจึงเหนือกว่า เพราะเป็นความจริงเหนือความจริงทางโลก หรือเป็น “โลกุตตระ” ทำให้พ้นจากการยึดติดสมมติแบบโลกๆ ได้ บรรลุนิพพาน หรือมี “เสรีภาพทางจิต” ที่เหนือกว่าเสรีภาพทางโลก 

ส่วนกรอบคิดหลักเรื่อง “คนดี-คนชั่ว” ก็ใช้หลักศีลธรรมพุทธ และความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยเฉพาะเกณฑ์หลังดูจะสำคัญกว่าเกณฑ์แรกเสียอีก เพราะให้คุณให้โทษทางกฎหมายได้ ให้ “ความไม่เจริญและความเจริญ” ในอาชีพทางการเมืองและราชการ หรือแม้แต่อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการได้ เป็นต้น 

เพราะมีความคิดพื้นฐานดังกล่าวนี้ จึงทำให้พุทธไทยไม่สามารถปรับตัวเข้ากับหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้ บางคนพยายามหา “คำสอนที่เป็นแก่นแท้” ในไตรปิฎกและนำมาแสดงว่าไม่ขัดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ก็ยังติดกับดัก “ความแท้-ความไม่แท้” อยู่ โดยลืมไปว่าอะไรก็ตามเมื่อถูกประยุกต์ใช้มันจะไม่เพียวอีกต่อไป แม้แต่วิทยาศาสตร์ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมและอื่นๆ ก็ถูกใช้ภายใต้ “วาระ” ของทุนนิยมและอื่นๆ 

แม้แต่ในไตรปิฎกเองก็บอกว่า พุทธะยอมรับว่า “หญิงและชายมีศักยภาพบรรลุธรรมได้เหมือนกัน” แต่เมื่อนำความคิดพื้นฐานนี้มาประยุกต์กับโอกาสฝึกตนให้บรรลุธรรมผ่านวิถีชีวิตนักบวช กลับอิง “บริบท” สังคมยุคนั้นที่ไม่ยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ จึงกำหนดเงื่อนไขการบวชภิกษุณีให้มีขั้นตอนที่ยากลำบากกว่าการบวชของเพศชายหลายเท่า และยังกำหนดให้สถานะของนักบวชหญิงต่ำกว่านักบวชชายอีกด้วย ดังนั้น “ความเสมอภาคทางศักยภาพบรรลุธรรม” จึงไม่ใช่รากฐานของความเสมอภาคทางสังคม (และการเมือง) 

อีกหลักการหนึ่งที่พุทธไทยยึดมั่นอย่างมาก คือหลักการ “อนุวัตรตามราชา” หรือหลักการคล้อยตามราชา หลักฐานที่ชัดเจนคือ การอนุวัตรตามราชานำมาสู่การยกให้ราชาเป็นสมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัวที่มีอำนาจปกครองคณะสงฆ์และให้คุณให้โทษเรื่องความประพฤติตามหลักธรรมวินัยของพระสงฆ์ กระทั่งปัจจุบันกำหนดให้พระทำหน้าที่สอนประชาชนให้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นต้น 

จะว่าไป ความคิดพื้นฐานของศาสนาสกุลอินเดียที่เน้น “การปลดปล่อย” ทางจิตวิญญาณโดยต้องปล่อยวางสมมติ ต่างเป็นศาสนาที่ “ย้อนแย้ง” เช่น พราหมณ์ฮินดูให้คุณค่ากับความหลุดพ้นหรือโมกษะเป็นจุดหมายสูงสุด แต่กลับสร้างระบบวรรณะสี่เป็นพันธนาการที่เข้มข้นในทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม พุทธศาสนาเน้นการปล่อยวางสมมติ และนิพพานหรือความพ้นทุกข์ทางใจเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่กลับสร้างสมมติเทพ และยึดอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ยิ่งกว่าการยึดติดสมมติใดๆ   

การปรับตัวต่อการท้าทายของแนวคิดปรัชญา วิทยาศาสตร์ และประชาธิปไตยโลกวิสัยที่มาจากตะวันตก จึงปรับตัวบนการปกป้องความคิดพื้นฐานที่ย้อนแย้งดังกล่าว มากกว่าที่จะตีความพุทธธรรมให้ไปกันได้ หรือสนับสนุน และเสริมเติมเต็มให้กับความงอกงามของเสรีภาพและประชาธิปไตย 

พูดอีกอย่าง การที่ความคิดพื้นฐานแบบพุทธไทยกับความคิดพื้นฐานแบบรัฐไทยเป็น “เนื้อเดียวกัน” มาแต่ไหนแต่ไร และเป็นความคิด ความเชื่อที่แพร่หลายในระบบการศึกษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตผู้คนมายาวนาน โดยเนื้อแท้ของความคิดเช่นนี้ระแวงและกลัวเสรีภาพโดยพื้นฐาน มันจึงง่ายที่จะทำให้รัฐไทยใช้ความรุนแรงกดปราบประชาชนที่ใช้เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกทุกยุค และง่ายที่จะมีพระสงฆ์และชาวพุทธรายบุคคลหรือกลุ่มบุคคลออกมาสนับสนุนความรุนแรงเช่นนั้น หรือเป็นเรื่องปกติมากที่ “คณะสงฆ์ไทย” หรือมหาเถรสมาคมจะเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่รัฐปราบปรามประชาชนที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย

ขณะที่ในประเทศประชาธิปไตยที่สังคมมีวัฒนธรรมปกป้องเสรีภาพเข้มแข็ง ประชาชนจะไม่เพิกเฉยต่อการที่รัฐละเมิดเสรีภาพและใช้ความรุนแรงต่อประชาชน แต่ความเพิกเฉยต่อการที่รัฐละเมิดเสรีภาพและใช้ความรุนแรงต่อประชาชนก็เป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ซ้ำยังมีนักบวช ปัญญาชน นักเคลื่อนไหว สื่อบางส่วนออกมาตรวจสอบประชาชนด้วยกันเองมากกว่าจะตรวจสอบอำนาจรัฐ หรือปกป้องอำนาจรัฐมากกว่าจะปกป้องเสรีภาพของประชาชนด้วยกันเอง

ที่ว่ามาเหมือนกล่าวโทษพุทธไทย แต่จริงหรือไม่ว่าความคิดพื้นฐานแบบพุทธไทยและแบบรัฐไทยเป็น “เนื้อเดียวกัน” ที่มีนัยยะสำคัญระแวงหรือปฏิเสธเสรีภาพ กลัวเสรีภาพ และพร้อมจะใช้ความรุนแรง และ/หรือเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดกับประชาชนที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยมาตลอด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท